xs
xsm
sm
md
lg

ถอดบทเรียน Zipmex หยุดให้บริการ ก.ล.ต.จัดเบา แค่กล่าวโทษ ปรับแบบจิ๊บๆ ตั้งคำถามเกรงใจ 3 ตระกูลดัง?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ถอดบทเรียน “Zipmex” หยุดให้บริการ ความเสียหายเป็นวงกว้าง มูลค่าความเสียหายสูง แต่โดน ก.ล.ต.ลงโทษแค่จิ๊บๆ เพียงแค่กล่าวโทษ และปรับแค่ 2.6 ล้านบาท วงการร้องถามยุติธรรมหรือเปล่า? หรือเกรงใจแบ็คอัพบริษัทที่เป็นคนตระกูลใหญ่ทั้ง “ลิ่มพงศ์พันธุ์-ยิ้มวิไล-เครืองาม” พร้อมหวั่น Exchange อื่นเอาเยี่ยงอย่าง ยอมทำผิดเพื่อโกยกำไร แล้วค่อยมาเสียค่าปรับแบบมดกัดในตอนจบ

ผ่านพ้นมาครึ่งปีแล้ว สำหรับเหตุการณ์เมื่อวันที่ 20 ก.ค. 2565 ในช่วงเย็นจากกรณี “Zipmex Thailand” ประกาศระงับการเพิกถอนเงินบาท และเหรียญคริปโตเคอร์เรนซี โดยให้เหตุผลว่า เนื่องด้วยสถานการณ์ต่างๆ รวมถึงความผันผวนของตลาด ตลอดจนปัญหาทางการเงินที่เกิดขึ้นจากคู่ค้าทางธุรกิจหลัก อันอยู่นอกเหนือการควบคุมของบริษัท ดังนั้นเพื่อรักษาเสถียรภาพของแพลตฟอร์ม บริษัทฯจึงระงับการถอนทุกกรณีชั่วคราว

สำหรับ “Zipmex” เป็นแพลตฟอร์มซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่เดียวในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานภาครัฐถึง 4 ประเทศ ได้แก่ ไทย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และออสเตรเลีย ถือเป็นอีกหนึ่ง Exchange ที่มีเหตุการณ์ที่น่าสนใจเกิดขึ้นในปี 2565 ไม่น้อยหน้า Bitkub

หวังแผนจัดการเสร็จสมบูรณ์ 21 มี.ค. 2566

ล่าสุดวันที่ 23 ก.พ. 2566 Zipmex Thailand รายงานว่า ภายหลังศาลสูงประเทศสิงคโปร์ ได้อนุมัติขยายระยะเวลาพักชำระหนี้ออกไปจนถึงวันที่ 2 เมษายน 2566 นั้น บริษัท Zipmex Pte Ltd และ บริษัท Zipmex Australia Pty Ltd และ บริษัท Zipmex Asia Pte Ltd (รวมกันเรียกว่า “ซิปเม็กซ์”) ได้ดำเนินกระบวนการตามคำสั่งของศาลสิงคโปร์ รวมถึงการดำเนินการตามแผนการจัดการอย่างเคร่งครัด

ทำให้ในวันนี้ “ซิปเม็กซ์” ขอประกาศว่าบริษัททั้งสามได้ดำเนินการจัดให้เจ้าหนี้และลูกค้าซึ่งมีสินทรัพย์อยู่ใน Z Wallet(s) ลงคะแนนเสียงในแผนการจัดการโดยเสร็จสิ้นแล้วเมื่อวันที่ 21 ก.พ.ที่ผ่านมา โดยกระบวนการต่อไปคือการรอผลพิจารณาของผู้จัดการแผนซึ่งได้รับการแต่งตั้ง และคาดว่ากระบวนการดังกล่าวจะเสร็จสมบูรณ์และมีผลลัพท์ในทิศทางที่เป็นบวกภายในวันที่ 21 มีนาคม 2566

ทั้งนี้  “ซิปเม็กซ์” ยังคงตั้งมั่นที่จะกลับมาเปิดการเข้าถึงสินทรัพย์ใน Z-Wallets อย่างเต็มจำนวนอีกครั้ง โดยการดำเนินการดังกล่าวจะขึ้นอยู่กับผลการพิจารณาอนุมัติแผนการจัดการของศาลสิงคโปร์ และความสำเร็จในการบรรลุข้อตกลงในการลงทุนต่าง ๆ อันรวมถึงการที่สัดส่วนของคะแนนเสียงนั้นผ่านเกณฑ์ตามที่กฎหมายกำหนด โดยลูกค้าจะสามารถได้รับประโยชน์และสามารถเข้าถึง Z-Wallets ได้ในเวลาเดียวกัน

ใกล้ได้ข้อสรุปพันธมิตรร่วมทุน

สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า Zipmex วางแผนที่จะเริ่มต้นการถอนเงินของลูกค้าอีกครั้ง เมื่อข้อตกลงที่ลงนามกับบริษัทร่วมทุนเมื่อเดือนที่แล้วได้ข้อสรุป โดยขั้นตอนต่างๆของเจ้าหนี้ที่มีสิทธิ์ทั้งหมด จะต้องกรอกแบบฟอร์มพร้อมจำนวนเงินที่เป็นหนี้ภายในวันที่ 21 ก.พ. และมี KordaMentha ซึ่งเป็นบริษัทด้านการลงทุนทำหน้าที่เป็นผู้จัดการโครงการของบริษัท ซึ่งมีเป้าหมายที่จะเสร็จสิ้นการถอนเงินโดยมีเงื่อนไขว่าข้อตกลงการลงทุนจะปิดภายในวันที่ 21 มี.ค. ตามประกาศ

ด้าน “Marcus Lim” CEO ของ Zipmex บอกกับ CoinDesk ในอีเมล เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาว่า ข้อตกลงช่วยเหลือ ตอนนี้อยู่ในช่วงของการเจรจาในรายละเอียดซึ่งมีการลงนามบางอย่าง แต่ยังไม่สามารถปิดดีลได้ เพราะข้อตกลงยังไม่เสร็จสิ้น

บทลงโทษเบาไปหรือไม่?

อย่างไรก็ตามสิ่งที่น่าสนใจไม่น้อยกว่าความคืบหน้าในแผนการจัดการปัญหาของ Zipmex นั่นคือ บทลงโทษที่ Zipmex Thailand ควรได้รับจาก Regulator ให้เป็นอุทาหรณ์ หรือเป็นแบบอย่างไม่ให้ Exchange รายอื่นๆ ปฏิบัติตามนั้น ถือเป็นเรื่องอีกประเด็นที่น่าติดตามไม่น้อย เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่า การกล่าวโทษ และลงโทษปรับ Zipmex Thailand จาก ก.ล.ต.นั้นมีเม็ดเงินรวมกันเพียง 2.6 ล้านบาท ทำให้หลายต่อหลายคนในแวดวงตลาดทุน และตลาดคริปโตฯมองว่าเป็นการลงโทษที่น้อยนิดกับการกระทำที่สร้างความเสียหายแบบวงกว้างที่เกิดขึ้นในช่วงปลายเดือน ก.ค. ปีก่อน เพราะมีผู้เสียหายจำนวนมากที่ได้รับกระทบจากการระงับให้บริการของ Zipmex ที่เกิดขึ้น

ขณะเดียวกัน จากบทลงโทษชนิดเบาบางที่ Zipmex Thailand นั้นได้รับ ทำให้หลายฝ่ายอดคิดไม่ได้ว่าส่วนหนึ่งน่าจะหนีไม้พ้นจากการที่หุ้นส่วนทางธุรกิจของบริษัทเป็นคนจากตระกูลใหญ่ที่มีบทบาทต่อตลาดเงินตลาดทุนมาช้านาน เพราะมีความเป็นไปได้ที่ผู้ควบคุมกลไกและความถูกผิดของตลาด อาจเกิดความเกรงใจที่จะลงโทษสถานหนัก และสิ่งที่เกิดขึ้นนี้อาจกลายเป็นแบบอย่างที่ไม่ดี หรือกระตุ้นให้ Exchange อื่นๆเอาอย่าง เนื่องจากแม้หากกระทำผิดไปแล้วพบว่ามีความผิด หรือเกิดความเสียหาย แต่การกล่าวโทษ และการเปรียบเทียบปรับจาก Regulator ที่จะมีผลตามมานั้นเมื่อพิจารณาจากกรณี Zipmex ถือเป็นเรื่องที่น้อยนิดหรือเล็กน้อยที่จะได้รับเท่านั้น

ย้อนรอยการกล่าวโทษ 

1.หยุดให้บริการโดนปรับ 1.92 ล้าน

เหตุการณ์การกล่าวโทษของก.ล.ต. ต่อ Zipmex Thaila เริ่มขึ้นจาก วันที่ 31 ส.ค.2565 โดยสำนักงาน ก.ล.ต. ประกาศ เผยแพร่ข้อมูลการบังคับใช้กฎหมายในรอบ 3 เดือน โดยลงโทษปรับ บริษัท ซิปเม็กซ์ จำกัด ตามความผิดมาตรา 30 และ 31 แห่ง พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัล เป็นจำนวนเงิน 1,920,000 บาท จากเหตุหยุดให้บริการนักลงทุนโดยไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (trading rules) และระงับการให้บริการฝากถอนทรัพย์สินของลูกค้าใน Trade wallet และ Z-wallet

ทั้งนี้ แบ่งเป็นการพิจารณาเปรียบเทียบปรับ บริษัท บริษัท ซิปเม็กซ์ จำกัด (Zipmex) ในช่วงระหว่างวันที่ 20 - 28 ก.ค.2565 ในฐานะผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ประเภทศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลและนายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ระงับการให้บริการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลทั้งหมดหรือบางส่วน ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (trading rules) ของ Zipmex ที่ได้รับความเห็นชอบ และปฏิบัติไม่เป็นไปตามมาตรฐานในฐานะผู้มีวิชาชีพพึงกระทำ ทำให้สำนักงาน ก.ล.ต. มีคำสั่งเปรียบเทียบที่ 16/2565 ปรับเป็นเงินจำนวน 540,000.00 บาท

ส่วนอีกประเด็นที่ Zipmex ถูกเปรียบเทียบปรับคือ ระหว่างวันที่ 20 ก.ค. - 25 ส.ค. 2565 Zipmex ได้ระงับการให้บริการฝากถอนทรัพย์สินของลูกค้าใน Trade wallet และ Z-wallet โดยปฏิบัติไม่เป็นไปตามมาตรฐานในฐานะผู้มีวิชาชีพพึงกระทำและเป็นการไม่ให้บริการอย่างมีคุณภาพ ก.ล.ต.จึงมีคำสั่งเปรียบเทียบที่ 16/2565 ปรับเป็นเงินจำนวน 1,380,000.00 บาท รวมค่าปรับทั้งสิ้น 1,920,000 บาท

2.ถูกกล่าวโทษหลังประวิงเวลาส่งข้อมูล

ต่อมา วันที่ 7 ก.ย. 2565 ก.ล.ต.ได้กล่าวโทษ Zipmex และ นายเอกลาภ ยิ้มวิไล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Zipmex ต่อกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (บช.สอท.) กรณีไม่ปฏิบัติตามคำสั่งพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ ที่สั่งให้นำส่งข้อมูลกระเป๋าอิเล็กทรอนิกส์ (wallet) ที่ใช้เก็บทรัพย์สินของลูกค้า และรายละเอียดเกี่ยวกับรายการโอนหรือถอนสินทรัพย์ดิจิทัล

โดยจากการรวบรวมและตรวจสอบข้อเท็จจริง พบว่า พนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 51 แห่งพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 (พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ) ได้สั่งให้ Zipmex และนายเอกลาภ นำส่งข้อมูลเกี่ยวกับกิจการและการดำเนินงาน เช่น ข้อมูลกระเป๋าอิเล็กทรอนิกส์ (wallet) ที่ใช้เก็บทรัพย์สินของลูกค้า และรายละเอียดเกี่ยวกับรายการโอนหรือถอนสินทรัพย์ดิจิทัล แต่ Zipmex และนายเอกลาภมีพฤติการณ์ไม่นำส่งข้อมูลดังกล่าวภายในเวลาที่กำหนด และเมื่อได้รับการแจ้งเตือนก็ได้นำส่งข้อมูลเพียงบางส่วน ไม่ครบถ้วน รวมทั้งมีพฤติการณ์ประวิงเวลาไม่นำส่งข้อมูลตามที่พนักงานเจ้าหน้าที่ร้องขอ โดยที่ไม่มีเหตุอันควรหรือข้ออ้างไม่สมเหตุผล

การกระทำดังกล่าวของ Zipmex และนายเอกลาภเข้าข่ายเป็นการไม่ปฏิบัติตามคำสั่งพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งเป็นความผิดและมีระวางโทษตามมาตรา 75 แห่ง พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ ก.ล.ต. จึงกล่าวโทษ Zipmex และนายเอกลาภ ต่อ บช.สอท. เพื่อพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

3.ปรับเพิ่มฐานความเสี่ยงจาก ZipUp+ 

เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 2565 สำนักงานก.ล.ต.สรุปกรณีของ Zipmex ว่า ได้บังคับใช้กฎหมายแก่นายเอกลาภ ตามมาตรา 94 พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัล และ Zipmex ตามมาตรา 30 พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัล โดยเปรียบเทียบปรับเป็นเงินรวม 2,615,000 บาท โดยมีเนื้อเพิ่มเติมนอกเหนือการการเปรียบเทียบปรับครั้งแรก คือ

ก.ล.ต.ได้ดำเนินการกับบริษัท ซิปเม็กซ์ จำกัด ตามมาตรา 30 พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัล เนื่องจากในช่วงระหว่างวันที่ 7 เม.ย. - 19 ก.ค. 2565 Zipmex มีการเปิดเผยข้อมูลที่จำเป็นต่อการตัดสินใจเลือกใช้บริการหรือตัดสินใจลงทุนไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ประกาศกำหนด โดยข้อมูลที่ Zipmex ไม่เปิดเผยให้ครบถ้วนเป็นข้อมูลเกี่ยวกับการนำทรัพย์สินลูกค้าไปลงทุนต่อความเสี่ยงเกี่ยวกับโปรแกรม ZipUp+ รวมถึงความขัดแย้งทางผลประโยชน์และความสัมพันธ์ระหว่างกันของ Zipmex กับ Zipmex Asia Pte. Ltd. และ Zipmex Pte. Ltd. จึงได้มีคำสั่งเปรียบเทียบปรับเป็นเงิน 695,000 บาท

วิชญะ เครืองาม บุตรชาย นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ปรับ 2.6 ล้านกับความเสียหายกว่า 2 พันล้าน

จากข้อมูลข้างต้น ทำให้ชวนสงสัยว่า จากประกาศระงับการเพิกถอนเงินบาท และคริปโตเคอร์เรนซี ด้วยเหตุได้รับความเสียหายจากผลิตภัณฑ์ Zipup+ ของลูกค้าที่ถูกนำไปฝากไว้กับ Zipmex global สิงคโปร์ และนำไปลงทุนกับ Babel Finance และ Celsius จนประสบปัญหาไม่สามารถทำธุรกรรมใน Z Wallet ได้ สร้างความเสียหายมูลค่ากว่า 53 ล้านดอลาร์สหรัฐ หรือเกือบ 2 พันล้านบาท 

โดยมีความเสียหายของผู้ลงทุนที่ร้องเรียนกับ กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) เมื่อต้นเดือนส.ค. 2565 กว่า 744 คน หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 661 ล้านบาท แต่เมื่อเปรียบเทียบกับเม็ดเงินที่ ก.ล.ต.เปรียบเทียบปรับ Zipmex จำนวน 2.6 ล้านบาทนั้นถือว่าไม่เหมาะสมกับความเสียหายที่เกิดขึ้นนั่น  เพราะความผิดของ Zipmex นั้นมีหลายกระทงไล่ตั้งแต่ การหยุดให้บริการ การประวิงเวลาส่งข้อมูล และการนำสินทรัพย์ของนักลงทุนไปเผชิญความเสี่ยงจาก ZipUp+ ดังนั้นในแวดวงคริปโตฯ และตลาดทุนบางส่วนมองว่า เรื่องดังกล่าวน่าจะมีบทลงโทษที่รุนแรงหรือมากกว่านี้ เพื่อป้องกันไม่ให้ Exchange รายอื่นเอาเป็นเยี่ยงอย่าง

ย้อนเหตุการณ์จุดเริ่มต้นวิกฤต

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จนทำให้ Zipmex Thailand ระงับการซื้อขาย-ขาย ถอนเหรียญ บนศูนย์ซื้อขายเป็นการชั่วคราวเมื่อวันที่ 20 ก.ค. 2565 เวลา 19.00 น.นั้นเริ่มจากบริษัทอ้างว่า ประสบปัญหาจากกรณีที่ Zipup+ ที่นำฝากไปที่ Zipmex Global ที่เป็นคู่ค้ากับบริษัท บาเบลล์ ไฟแนนซ์ และเซลเซียส ที่ประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง ทำให้สินทรัพย์ดิจิทัล ใน Zipup+ ไม่สามารถถอนเงินออกมาได้

ทั้งนี้ Zipmex Thailand ได้ดำเนินคดีความ ฟ้องร้องแก่บริษัทซิปเม็กโกลบอล เพื่อนำสินทรัพย์ที่ได้รับความเสียหายกลับมาคืนลูกค้า นอกจากนั้น มีการวางแผนกับนักลงทุนและบริษัทที่สนใจซื้อบริษัทซิปเม็ก ไทยแลนด์ ที่ยังดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำเงินมาคืนลูกค้าทุกคนรวมทั้งเงินของคู่ค้าที่จ่ายคืนมาก็จะนำมาคืนลูกค้าที่ได้รับความเสียหาย

อย่างไรก็ตาม สาเหตุสำคัญของเรื่องดังกล่าวนั้นมาจากการเข้าลงทุนในโปรเจกต์ Terra-Luna ที่ล่มสลายไปแล้วในเดือน พ.ค.2565 ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ บริษัท เซลเซียส เน็ตเวิร์ค (Celsius Network) ถือเป็นแพลตฟอร์มการปล่อยกู้ยืมเงินสินทรัพย์ดิจิทัลแห่งแรก ที่ประกาศระงับการฝาก-ถอนในวันที่ 13 มิ.ย.2565 ท่ามกลางวิกฤติการขาดสภาพคล่อง โดย Zipmex มีการฝากเงินคงค้าง ไว้กับ Celsius ซึ่งประกาศล้มละลายในวันที่ 14 ก.ค. 2565 ประมาณ 5 ล้านดอลลาร์ หรือ 180 ล้านบาท

ขณะที่ บริษัท บาเบลล์ไฟแนนซ์ (Babel Finance) แพลตฟอร์มให้บริการกู้ยืมสินทรัพย์ดิจิทัลในฮ่องกง ระงับการถอนเงินในวันที่ 15 มิ.ย.2565 โดยเมื่อสิ้นสุดไตรมาสที่ 4 ปี 2564 โดยบาเบลล์มียอดปล่อยเงินกู้ราว 3 พันล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 1.09 แสนล้านบาท จากลูกค้าจำนวนกว่า 500 ราย โดย Zipmex มีเงินฝากคงค้างอยู่ราว 48 ล้านดอลลาร์ หรือ 1.7 พันล้านบาท

เดินหน้าพักหนี้เร่งหาผู้ร่วมทุนใหม่

ต่อมา Zipmex มีการยื่นขอพักชำระหนี้ (Moratorium relief) ต่อศาลสิงคโปร์ สำหรับกิจการในกลุ่มของ Zipmex รวมทั้ง Zipmex ในประเทศไทย นั่นทำให้กลุ่มผู้เสียหาย Zipmex Thailand ได้นัดหมายกันเพื่อยื่นข้อมูลและเข้าหารือกับผู้บริหารของ ก.ล.ต. โดยในช่วงเวลาดังกล่าว ก.ล.ต.ได้ตั้งข้อสังเกตว่า Zipmex อาจเข้าข่ายความผิด 3 ประการ ได้แก่ 1.ผิดกฎ Trading Rules คือระงับการซื้อขายในบัญชีซื้อขายโดยไม่มีเหตุอันควร เช่น การบำรุงรักษาระบบหรือเพิ่มความปลอดภัยในระบบ เนื่องจาก Zipmex ขออนุญาตซื้อขาย 24 ชม. 7 วัน ซึ่ง ก.ล.ต.ได้แจ้งให้ Zipmex เปิดซื้อขายทุกเหรียญในระบบเมื่อวันที่ 26 ก.ค.ที่ผ่านมา แต่ข้อมูลจากผู้เสียหายพบว่าเหรียญบางสกุลยังซื้อขายไม่ได้ การหารือครั้งนี้จะช่วยให้ทราบข้อมูลจากฝั่งผู้ใช้งาน/นักลงทุนมากขึ้น

2.เข้าข่ายประกอบธุรกิจอื่นที่ ก.ล.ต.ไม่ได้อนุญาต โดยเฉพาะ Zipup+ ซึ่งเชื่อมโยงกับการโอนเงินไปที่บริษัทแม่ที่สิงค์โปร์ แม้ว่า ก.ล.ต.ได้เรียกข้อมูลธุรกรรมจาก Zipmex ไปแล้ว ก็ได้เรียกตัวเลขเบ็ดเสร็จ หรือแบบ Lum Sum ทำให้พิจารณาความเสียหายได้ยาก และ 3.ความผิดตามกฎหมายอื่น ๆ ก.ล.ต.ได้ประสานงานและบูรณาการกับหน่วยงานอื่น ๆ เช่น ตำรวจไซเบอร์

แผนแก้ไขที่ไม่ค่อยเป็นใจ

ในช่วงเวลานั้น “เอภลาภ ยิ้มวิไล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ร่วมก่อตั้ง Zipmex Thailand ได้ออกมาชี้แจงเป็นระยะๆ ว่า อยู่ระหว่างร่วมกับสำนักงาน ก.ล.ต. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าว ด้วยความโปร่งใส และนำสินทรัพย์มาคืนให้ลูกค้า ประเด็นสำคัญคือ การดำเนินคดีกับคู่ค้า Babel Finance และ Celsius จะเร่งเจรจากขายกิจการเพื่อนำสินทรัพย์ดิจิทัล และเงินมาคืนให้แก่ผู้เสียหาย แต่พฤติกรรมผู้บริหารกลับตรงกันข้าม เนื่องจากการออกมาชี้แจงแต่ละครั้ง เป็นการพูดย้ำคำเดิมๆ ไม่สามารถตอบคำถามหรือข้อเรียกร้องของผู้เสียหายได้ แถมยังไม่มีแผนงานที่ชัดเจนและระยะเวลาที่แน่นอน

นอกจากนี้ยังเคราะห์ซ้ำกรรมซัด เมื่อจู่ๆ วันที่ 28 ก.ค. 65 เว็บไซต์ของ ซิปเม็กซ์ กรุ๊ป (www.zipmex.com) ขึ้นประกาศ ว่า บริษัทฯได้ยื่น "Moratorium relief" ต่อศาลสิงคโปร์ สำหรับกิจการในกลุ่มของ Zipmex รวมทั้ง Zipmex ในประเทศไทย หรือ พูดง่ายๆว่า ซิปเมกซ์สิงคโปร์ ยื่นขอศาลสิงคโปร์ให้คุ้มครองปลอดหนี้นั่นเอง

โดยระบุว่า 22 ก.ค.2565 ซิปเม็กซ์ กรุ๊ป ได้มอบหมายให้สำนักงานทนายความ มอร์แกน ลิวอิส สแตมฟอร์ด แอลแอลซี (Lewis Stamford LLC) ได้ยื่นคำร้อง 5 ฉบับ ตามมาตรา 64 ของรัฐบัญญัติการล้มละลาย, การปรับโครงสร้างกิจการ, และการยุบเลิกกิจการ ปี 2018 ของสิงคโปร์ เพื่อยื่นขออนุญาตหยุดพักชำระหนี้ เพื่อจะได้ห้ามและจำกัด ไม่ให้มีการเริ่มต้นหรือการดำเนินการอย่างต่อเนื่องของกระบวนการทางกฎหมายในการเรียกร้องเอากับบริษัทเหล่านี้ ภายในระยะเวลาหนึ่งซึ่งอาจจะนานถึง 6 เดือน

สำหรับ กิจการในเครือของ Zipmex Group ที่ขอความคุ้มครองด้วยการขอหยุดพักชำระหนี้ ตามคำร้องที่ยื่นไปครั้งนี้ได้แก่ 1. Zipmex Asia Pte Ltd 2. Zipmex Pte Ltd 3. Zipmex Company Limited (จดทะเบียนในประเทศไทย) 4. PT Zipmex Exchange Indonesia (จดทะเบียนในอินโดนีเซีย) และ 5. Zipmex Australia Pty Ltd (จดทะเบียนในออสเตรเลีย) ซึ่งตามกฎหมายของสิงคโปร์ บริษัทเหล่านี้ได้รับอนุญาตให้หยุดพักชำระหนี้โดยอัตโนมัติได้เป็นระยะเวลาช่วงหนึ่ง ซึ่งอาจจะเป็นเวลา 30 วัน หรือจนกระทั่งศาลสิงคโปร์มีคำตัดสินเกี่ยวกับคำร้องที่ยื่นไป แล้วแต่เวลาไหนจะน้อยกว่ากัน

แต่ประเด็นสำคัญดังกล่าว สำนักงาน ก.ล.ต. กลับไม่รู้เรื่องตั้งแต่อย่างใด เพียงรับทราบเมื่อสื่อนำเสนอข่าวในวันที่ 28 ก.ค. 65 ทั้งที่บริษัทได้ยื่นเรื่องต่อศาลไปตั้งแต่ 22 ก.ค. 65 ขณะที่ผู้เสียหายคนไทยที่เป็นผู้ได้รับความเสียหายจำนวนมากก็ได้ เพิ่งรับทราบจากการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนเช่นกัน

ทำให้ถูกตั้งข้อสังเกตว่า ในประกาศฉบับดังกล่าวระบุ เจ้าหนี้ที่สนใจเข้าร่วมฟังการหารือในวันที่ 29 ก.ค. จะต้องลงทะเบียนภายในเวลา 5 โมงเย็น ของวันที่ประกาศ (28ก.ค.) ซึ่งกระชั้นชิดเกินไป แถมวิธีการลงทะเบียนก็ไม่มีรายละเอียดเพียงพอ เพียงบอกว่าให้ส่งอีเมลล์ไปที่ MLSProjectZipmex@morganlewis.com. ประเทศสิงคโปร์

หรือนี่คือความโปร่งใส และแนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างจริงใจ เพื่อคืนความยุติธรรมและนำทรัพย์สินมาคืนให้แก่ผู้ที่ตกเป็น "เหยื่อ" ในครั้งนี้ ตามคำจำกัดความของ "เอกลาภ" ซีอีโอ ซิปเม็กซ์ ที่ย้ำทุกครั้งที่ออกมาชี้แจงความคืบหน้า

ต่อมาด้าน “เอกลาภ” ได้โพสต์เฟซบุ๊ก แจงกรณีดังกล่าวระบุ การยื่นขอพักชำระหนี้ (moratoriums relief) เป็นการดำเนินการของ Zipmex Asia Pte. Ltd (บริษัทแม่ของซิปเม็กซ์ซึ่งดำเนินการในประเทศสิงคโปร์) และ Zipmex Pte. Ltd. (บริษัทในเครือของซิปเม็กซ์ในประเทศสิงคโปร์) เพื่อให้ทั้ง 2 บริษัทสามารถดำเนินการเจรจาทางธุรกิจและบรรลุกระบวนการการลงทุนในกลุ่มบริษัท โดยนักลงทุนหรือบุคคลภายนอกอย่างปราศจากเหตุขัดข้องใด ๆ อันจะเป็นส่วนหนึ่งของแผนในกลุ่มบริษัท เพื่อนำไปสู่ข้อสรุปในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น

อย่างไรก็ตามเรื่องดังกล่าวทำให้คำถามที่ตามมา คือ ทำไม? Zipmex Asia Pte. Ltd ได้ยื่นคำร้องตั้งแต่ 22 ก.ค. 65 แต่เพิ่งประกาศเมื่อ 28 ก.ค. 65 และ ซิปเม็กซ์ ประเทศไทย เอง ไม่แจ้งให้นักลงทุนชาวไทยที่เป็นผู้ได้รับความเสียหายมากที่สุดรับทราบ เพื่อเตรียมตัวในการเข้าหารือวันที่ 29 ก.ค. 65 หรือเตรียมรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ถ้าจะอ้างว่าเป็นการดำเนินการของ Zipmex Asia Pte. Ltd ก็คงฟังไม่ขึ้น เพราะ "เอกลาภ" เองก็มีความสัมพันธ์อันใกล้ชิดกับผู้บริหาร รวมทั้งยังมีคนไทยเป็นผู้บริหารระดับสูง และถือหุ้นใน Zipmex Asia Pte. Ltd ด้วยเช่นกัน


เปิดรายชื่อตระกูลใหญ่

โดย ibit ได้สำรวจเครือข่ายความสัมพันธ์และโครงสร้างผู้ถือหุ้นระหว่าง Zipmex Asia Pte. Ltd และซิปเม็ก ประเทศไทย พบว่า บริษัท ซิปเม็กซ์ จำกัด หรือซิปเม็กซ์ ประเทศไทย ถือหุ้นโดย เอกลาภ ยิ้มวิไล ในสัดส่วน 51%, Zipmex Asia Pte. Ltd ถือหุ้น 49% และ ลิม เหว่ย ซีออง มาร์คัส (มาร์คัส ลิม) จำนวน 1 หุ้น ซึ่ง มาร์คัส ลิม ถือเป็นคีย์แมนคนสำคัญ ที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีบล็อกเซน และเป็นพาร์ทเนอร์คนสำคัญที่ "เอกลาภ" ชักชวนมาร่วมธุรกิจ และเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง Zipmex ด้วย

แต่หากพิจารณาอย่างละเอียดแล้ว กลับพบพิรุธสัดส่วนการถือหุ้น ซิปเม็กซ์ ประเทศไทย ที่เนื่องจากพบว่า “เอกลาภ” ไม่ได้ถือหุ้นโดยตรงแม้สักหุ้นเดียว เป็นแค่การถือหุ้นทางอ้อม ผ่าน 3 บริษัท คือ เอกลาภ ถือ 51% ในบริษัท ซิปเม็กซ์ ไทย โฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งถือ 51% ในบริษัท ซิปเม็กซ์ ไทย กรุ๊ป จำกัด ซึ่งถือ 51% ในบริษัท ซิปเม็กซ์ ไทย ซับซิเดียรี จำกัด และเป็นบริษัท ซิปเม็กซ์ ซับซิเดียรี จำกัด ที่ถือ 51% ในบริษัท ซิปเม็กซ์ จำกัด (ซิปเม็กซ์ ประเทศไทย) ดังนั้นเมื่อคำนวณอัตราส่วนการถือหุ้นออกมาแล้วพบว่า “เอกลาภ” ถือหุ้นทางอ้อมเพียง 6.77%

ขณะที่ Zipmex Asia Pte. Ltd ถือหุ้นใน ซิปเม็กซ์ ประเทศไทย ทางตรง 49% และทางอ้อมผ่านบริษัททั้ง 3 แห่ง ในสัดส่วน 49% เมื่อคำนวณและรวมกันแล้วทำให้ Zipmex Asia Pte. Ltd ถือหุ้น ซิปเม็กซ์ ประเทศไทย รวม 93.23%

โดยสรุป บริษัท ซิปเม็กซ์ จำกัด (ซิปเม็กซ์ ประเทศไทย) ถือหุ้นโดย Zipmex Asia Pte. Ltd 93.23% และเอกลาก 6.77% สำหรับโครงสร้าง Zipmex Asia Pte. Ltd มีทุนจดเบียนในส่วนของหุ้นสามัญจำนวน 2,800,945 หุ้น และหุ้นบุริมสิทธิ์ 1,887,150 หุ้น โดย Segway Ventures Pte.Ltd. ของ “มาร์คัส ลิม” เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ คิดเป็นหุ้นสามัญจำนวน 1,353,347 หุ้น

ขณะที่รายชื่อผู้ถือหุ้นสัญชาติไทย ที่ถือใน Zipmex Asia Pte. Ltd ประกอบด้วย เอกลาภ ยิ้มวิไล ถือหุ้น 232,220 หุ้น, พราว ลิ่มพงศ์พันธุ์ ถือ 162,811 หุ้น, ภาคย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ ถือ 85,470 หุ้น และพัชร ล้อจินดากุล ถือ 16,590 หุ้น

ส่วนหุ้นบุริมสิทธิ์นั้นมีทั้งในส่วนของบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลสัญชาติไทย เช่น นายเฉลิมชัย มหากิจศิริ ถือ 35,264 หุ้น และถือผ่านบริษัท วี เวนเจอร์ส เทคโนโลจีส์ จำกัด (บริษัทในเครือบมจ.โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ (TTA) อีกจำนวน 70,529 หุ้น, Pacharee Rak-Amnouykit ถือ 29,325 หุ้น บมจ.แพลน บี มีเดีย (PLANB) ถือ 51,133 หุ้น, บมจ.มาสเตอร์ แอด (MACO) ถือ 150,933 หุ้น และบจ.กรุงศรี ฟินโนเวต บริษัทในเครือธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ถือ 52,897 หุ้น

สำหรับ Zipmex Pte. Ltd (Zipmex Singapore) นั้น ทุนจดทะเบียนหุ้นสามัญจำนวน 7,449,940 หุ้น มี Zipmex Asia Pte. Ltd ถือหุ้นทั้งหมด 100% และบริหารงานโดย มาร์คัส ลิม

คนใหญ่คนโตรับเป็นที่ปรึกษา

ขณะเดียวกัน ibit ยังได้เข้าไปตรวจสอบรายละเอียดไวท์เปเปอร์การออกเหรียญ ZMT หรือ Zipmex Token พบว่า ZMT ออกโดย Zipmex ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่ได้รับใบอนุญาตในการทําธุรกรรมระหว่างประเทศในเอเชียแปซิฟิก ซึ่งอยู่ภายใต้การกํากับดูแลของหน่วยงานและเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องทั้งใน สิงคโปร์, ออสเตรเลีย, อินโดนีเซียและไทย จำนวนทั้งหมด 200 ล้านเหรียญ ทยอยปล่อยเหรียญหมุนเวียน 66 ล้านเหรียญ ในปี 64 และครบจำนวนในปี 66 สัดส่วนการจัดสรรเหรียญ Community Development 38% Team 22% Treasury 20% Private Sales 15% Partner, Advisors, Early Investors 5% โดยหัวเรือหลักคือ มาร์คัส ลิม และบุคคลสัญชาติไทย 2 คน คือ เอกลาภ ยิ้มวิไล และ พราว ลิ่มพงศ์พันธุ์ ส่วนที่เหลือเป็นต่างชาติ ได้แก่ James Tippett, Allan Timlin, Jonathan Low, Ken Tabuki, Kelvin Lam และ Nicholas Chan

แต่ประเด็นที่น่าสนใจคือ ทีมที่ปรึกษา จำนวน 3 คน ล้วนเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง หรือเกี่ยวข้องกับผู้มีชื่อเสียงระดับประเทศ คือ ไชยา ยิ้มวิไล บิดา เอกลาภ ยิ้มวิไล และยังดำรงตำแหน่งกรรมการผู้ช่วยรองนายกรัฐมนตรี (ดร.วิษณุ เครืองาม) ที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิของคณะกรรมการเตรียมการปฏิรูป

ส่วนคนที่ 2 คือ นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ บิดา พราว ลิ่มพงศ์พันธุ์ อดีตปลัดกระทรวงการคลัง และเคยดำรงตำแหน่งสำคัญมากมาย อาทิ ประธานกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ, ประธานกรรมการคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน, ประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, ประธานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย และประธานกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ เป็นต้น

ส่วนคนสุดท้าย วิชญะ เครืองาม บุตรชาย นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อีกทั้งเป็นนักกฎหมายและนักการเมืองผู้คร่ำหวอด ดำรงตำแหน่งสำคัญในรัฐบาลหลายชุดและในหลายหน่วยงาน และเป็นราชบัณฑิตสาขาวิชากฎหมายปกครอง ขณะที่ วิชญะ ผู้เป็นบุตรชาย ถือว่าเจริญตามรอยเท้าพ่อ เรียนจบนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่อปริญญาโท และเอก ดีกรีด็อกเตอร์จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กเลย์ และเป็นผู้คลุกคลีอยู่ในแวดวงกฎหมาย และรับตำแหน่งสำคัญทั้งในแวดวงราชการและเอกชน

มาตรฐานอยู่ตรงไหน?

จากข้อมูลข้างต้น น่าจะกล่าวได้ว่า ทีมบริหาร และทีมที่ปรึกษาของ Zipmex นั้นแข็งแกร่งไม่น้อย อีกทั้งแต่ละคนล้วนมีบทบาทที่สำคัญในเวทีการเงินและการเมืองของประเทศไทย ทำให้หลายฝ่ายต่างมองว่า เป็นเรื่องไม่น่าแปลกใจ หากก.ล.ต.จะดำเนินการลงโทษกับ Zipmex เพียงเล็กน้อย เมื่อเทียบกับความเสียหายที่เกิดขึ้น และนั่นทำไปสู่ข้อวิตกกังวลของแวดวงคริปโตฯว่าหากต่อไป Exchange อื่นกระทำผิดเช่นเดียวกับ Zipmex จะได้รับบทลงโทษแบบเบาเช่นนี้อีกหรือไม่ เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นก็น่าจะคุ้มค่าหากยอมกระทำผิดเพื่อกอบโกยผลกำไร และค่อยมาเสียค่าปรับเพียงเล็กน้อย

อ่านข่าวประกอบย้อนหลังเพิ่มเติม

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม>>> นักเทรดร้องเสียโอกาส Zipmex อ้างตลาดผันผวน แอปล่ม ปิดฝาก-ถอนเงินฝากและคริปโต

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม>>>ก.ล.ต.สั่ง "Zipmex" เร่งแจงปมระงับเพิกถอนเงินบาท - คริปโตฯ

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม>>> "เอกลาภ" ออกโรงแจงเหตุมีปัญหา ZipUp เจ๊งจาก Celsius ล้มละลาย ทำให้กระทบสภาพคล่อง

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม>>> นักวิชาการคาด Zipmex สูญเงินร่วม 5.5 พันล้านบาท หลัง Celsius ล้มละลาย

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม>>> ส่องถุงเงิน "ZIPMEX" กำไรปี 64 พุ่งแรง 273% คงสินทรัพย์ 178.59 ล้าน

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม>>> ZIPMEX เปิดตัวเลข ZipUp ที่ลงทุนใน Babel-Celsius กว่า 1.9 พันล้านบาท หลัง ก.ล.ต. สั่งชี้แจง

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม>>> "กรณ์" จี้ ก.ล.ต. 'สางปัญหา' Zipmex เหตุนำสินทรัพย์ดิจิทัลลูกค้าไปหาดอกผล-ให้คนอื่นยืม

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม>>> Zipmex แจง 5 ประเด็นปัญหา ZipUp เร่งเดินหน้าหาเงินมาคืนลูกค้า

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม>>> "อาคม" สั่ง ก.ล.ต. เร่งตรวจสอบ-ชี้แจงกรณีปัญหา Zipmex กังวลผลกระทบนักลงทุน

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม>>> "ซิปเม็กซ์" ตั้งใจมาโกย? แฉรู้ว่าคู่ค้าเจ๊งแต่ยังอัดแคมเปญรับฝาก เอฟเฟกต์ทำลายเชื่อมั่นคริปโตฯตามรอยบิทคับ

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม>>> ก.ล.ต. เปิดบายพาสให้นักลงใน Zipmex แจ้งผลกระทบความเสียหาย

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม>>> นักลงทุน ZIPMEX กว่า 700 คนบุกร้อง บช.สอท. เรียกค่าเสียหายร่วม 600 ล้านบาท

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม>>> ก.ล.ต.หารือร่วม DSI - ปอศ. บูรณาการด้านกฎหมายกรณี Zipmex

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม>>> ก.ล.ต. สั่ง ZIPMEX เปิดเทรดตาม Trading rules และฝาก-ถอนสินทรัพย์ดิจิทัล ภายใน 3 วัน

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม>>> ก.ล.ต. สั่ง ซิปเม็กซ์ ชี้แจงกรณียื่นพักชำระหนี้ต่อศาลสิงคโปร์

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม>>> สมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย ออกแถลงการณ์ต่อกรณี Zipmex

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม>>> "เอกลาภ" แจงผ่านเฟสบุ๊ค การยื่นพักชำระหนี้ในส่วนของ Zipmex Asia ไม่มีผลทางกฏหมายเพราะคนละส่วนกับ Zipmex Thailand

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม>>> ก.ล.ต. เล็งบังคับใช้กฏหมาย เรียกบอร์ด "ซิปเม็กซ์" ชี้แจงข้อมูลอย่างละเอียด หลังพบข้อมูลที่ขอมีแต่น้ำไม่มีเนื้อ

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม>>> ก.ล.ต. สั่ง zipmex แจ้งเจ้าหนี้กรณีการพักชำระหนี้ เพื่อช่วยเจ้าหนี้รักษาสิทธิให้ทันเวลา

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม>>> ก.ล.ต.จะกล้าหรือ? เครือข่าย Zipmex นามสกุลดังทั้งนั้น เครืองาม-ยิ้มวิไล-ลิ่มพงศ์พันธุ์



กำลังโหลดความคิดเห็น