xs
xsm
sm
md
lg

"ซิปเม็กซ์" ตั้งใจมาโกย? แฉรู้ว่าคู่ค้าเจ๊งแต่ยังอัดแคมเปญรับฝาก เอฟเฟกต์ทำลายเชื่อมั่นคริปโตฯตามรอยบิทคับ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กระดานเทรดคริปโตฯ “ซิปเม็กซ์” ตามรอย “บิทคับ” ไปติดๆ ทำลายเครดิตเชื่อมั่นคริปโตฯ จับพิรุธปมระงับธุรกรรมช้าทั้งๆ ที่รู้ Babel และ Celsius เจ๊ง แถมยังอัดแคมเปญระดมรับฝากสินทรัพย์ลูกค้าต่อเนื่อง อนาคตมืดมน คอยเบสน์เซย์โนซื้อกิจการ เหยื่อกว่า 3,800 รายแล้ว เปิดโซเชียลระดมรวมตัวเรียกร้องค่าเสียหาย-ฟ้องร้องดำเนินคดี 25 ก.ค.นี้ ตั้งข้อสังเกตเจตนาฉ้อโกงหรือไม่ ตอนนี้สินทรัพย์อยู่ที่กระเป๋าใคร? เผยขาดทุนเหรียญ ZMT แล้วกว่า 88%

กรณี บริษัท ซิปเม็กซ์ จำกัด เจ้าของแพลตฟอร์ม ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (EXCHANGE) “Zipmex” ประกาศระงับการเพิกถอนเงินบาท และคริปโตเคอร์เรนซี เป็นการชั่วคราว เมื่อวันที่ 20 ก.ค.2565 ซึ่งกระทบต่อความเชื่อมั่นของตลาดคริปโตฯและลูกค้านักลงทุนเป็นวงกว้าง โดยบริษัทฯยอมรับว่า  เบื้องต้นมีความเสียหายเกิดขึ้นราว 2 พันล้านบาท แต่นักวิเคราะห์คาดว่า อาจจะสูงกว่า5 พันล้านบาท ขณะที่ผู้ลงทุนเหรียญขาดทุนกว่า 88%

จับโป๊ะ รู้ทั้งรู้คู่ค้าเจ๊งจากลูน่า

สิ่งที่เกิดขึ้นกับ ซิปเม็กซ์ เอกลาภ ยิ้มวิไล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ร่วมก่อตั้ง Zipmex ประเทศไทย ระบุว่า มาจากปัจจัยที่ “อยู่เหนือการควบคุม” ทั้งความผันผวนของตลาดคริปโตฯ เหตุการณ์ต่างๆ ในอุตสาหกรรม ตลอดจนปัญหาทางการเงินที่เกิดขึ้นจากคู่ค้าทางธุรกิจหลัก แต่คำถามก็มีว่า ปัจจัยทั้งหมด “อยู่เหนือการควบคุม” ของซิปเม็กซ์ จริงหรือ?

หากไล่เรียงเรื่องที่เกิดขึ้นตามที่ เอกลาภ ให้ข้อมูลที่ต้องระงับการเพิกถอนเงินบาท และคริปโตเคอร์เรนซี เพราะว่า บริษัทประสบปัญหากับผลิตภัณฑ์กับตัว “Zipup+” ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ลูกค้าไทยฝากสินทรัพย์ไว้ที่ Zipmex global สิงคโปร์ และนำไปลงทุนในแฟลตฟอร์มสินเชื่อคริปโต ได้แก่บาเบลล์ไฟแนนซ์ (Babel Finance) และ เซลเซียส (Celsius ) ซึ่งทั้งสองแห่งต่างประสบปัญหาจากการล่มสลายของเหรียญ LUNA จนทั้งสองบริษัทต้องประกาศระงับการถอนเงินไปก่อนซิปเม็กซ์

นั่นทำให้สินทรัพย์ดิจิทัลที่อยู่ใน Zipup+ โดยเฉพาะ บิทคอยน์(BTC), อีเธอเรียม (ETH), USDTและ USDC เป็นต้น ไม่สามารถทำธุรกรรมได้

CEO ของซิปเม็กซ์ ยังเปิดเอกสารอย่างเป็นทางการ ระบุว่าZipmex ได้นำสินทรัพย์ไปฝากไว้ที่คู่ค้า Babel Financeจำนวน 48 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ Celsius จำนวน 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมมูลค่า 53 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทย ณ อัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบันประมาณ 1,956.39 ล้านบาท

ประเด็นคือ ซิปเม็กซ์รู้ตั้งแต่เมื่อไหร่ ว่า คู่ค้าธุรกิจ อย่าง Babel Financeและ Celsius เจ๊ง? แล้วช่วงเวลาที่ผ่านมาทำอะไร? 

Celsius - Babel Finance ระงับถอน 12 และ 17 มิ.ย.

คำให้การของ เอกลาภ ยิ้มวิไลCEO ซิปเมกซ์ที่ได้ไลฟ์สดผ่านทาง Facebook ชี้แจงเมื่อคืนวันศุกร์ (22 ก.ค.) ยังระบุว่า หลังจากวันที่ 17 มิ.ย. มีการประกาศระงับการถอนของ Babel Financeและทาง Zipmex Globalได้ติดต่อกับทางสำนักกฎหมาย และพูดคุยกับ Babel Finance เพื่อเรียกร้องสินทรัพย์ในการนำกลับมาคืนให้ลูกค้าโดยเร็วที่สุด พร้อมทั้งมีการเจรจาเพื่อทำแผนการจ่ายเงินคืน โดยชี้แจงใน5 ประเด็นหลักดังนี้

ประเด็นที่ 1 จากการเจรจาตกลงระหว่าง Zipmex กับ Babel Financeไม่สามารถหาข้อสรุปได้ และเป็นไปในเชิงลบ ทำให้ Zipmex ต้องประกาศปิดการถอนเงินบาทและคริปโต ในวันที่ 20 ก.ค. ทันที พร้อมทั้งแจ้งปัญหาที่เกิดขึ้นให้ ก.ล.ต. ทราบโดยด่วน

ประเด็นที่ 2 การสื่อสารคลาดเคลื่อนกรณี Zipmex Thailand จะทำการฟ้อง Zipmex Globalความจริงคือ Zipmex Thailandจะร่วมมือกับ Zipmex Globalในการฟ้องร้อง Babel Finance รวมถึงขอให้ลูกค้าทั้งหมดที่ได้รับผลกระทบรวบรวมเอกสารหลักฐานจากความเสียหายมาร่วมกันทำการฟ้องแบบกลุ่ม หรือclass action

ประเด็นที่ 3 ส่วนความเสียหายในฝั่งของ Celsius ประมาณ 5 ล้านดอลลาร์ ซึ่งมีจำนวนไม่มาก เป็นมูลค่าที่ทางบริษัทสามารถรับผิดชอบและชดใช้ค่าเสียหายให้ลูกค้าก่อนได้ และจะดำเนินการฟ้องร้องกับ Celsius ควบคู่กับการฟ้องร้อง Babel Finance เช่นกัน

ประเด็นที่ 4 Zipmex ไม่ได้มีสิทธิพิเศษใดๆ จาก ก.ล.ต. ยืนยันการดำเนินธุรกิจอย่างโปร่งใส ซึ่งพร้อมให้ความร่วมมือกับ ก.ล.ต. ทั้งหมด และยินดีตอบทุกคำถาม ทุกข้อสงสัยของ ก.ล.ต. ถึงปัญหาที่เกิดขึ้น และแนวทางแก้ไข

ประเด็นที่ 5 การขายกิจการเพื่อนำเงินมาคืนลูกค้า โดยอัปเดตล่าสุดมีนักลงทุนหลายรายสนใจในธุรกิจ Zipmex Thailand และสนใจที่จะซื้อบริษัท ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการร่างสัญญา และหากสำเร็จจะนำเงินในส่วนนั้นมารับผิดชอบและชดใช้ให้ลูกค้าของ Zipmex โดยเร็วที่สุด

มีรายงานว่า สำหรับ Celsius Networkแพลตฟอร์มให้บริการซื้อขายและกู้ยืมคริปโต ประกาศระงับการถอน 12 มิถุนายน 2565

เอกลาภ ยิ้มวิไล ซีอีโอ ซิมเม็กซ์ ยังคงอัดแคมเปญกระตุ้นการรับฝากสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง ทั้งๆที่รู้ว่าคู่ค้าอย่าง บาเบลล์ไฟแนนซ์ และ เซลเซียส กำลังประสบปัญหา
อนาคตมืดมน Coinbase เซย์โน

สำหรับคำถามที่ว่า แล้วอนาคตของซิปเม็กซ์จะเป็นอย่างไรต่อไป

แน่นอนว่า เหตุการณ์ดังกล่าว สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) นอกจากจะมีหนังสือให้ Zipmex ชี้แจงรวมถึงผลกระทบที่มีต่อลูกค้าสั่งการให้คุ้มครองประโยชน์ของลูกค้า ตลอดจนการปฏิบัติตามกฎหมายและหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด ก้าวย่างแต่ละก้าวต้องบอกว่า ลำบาก ขณะที่ผู้บริหาร เอกลาภ นั้นยืนยันว่า เขาจะไม่หนีไปไหน

บริษัท ซิปเม็กซ์ จำกัด จดทะเบียนก่อตั้งเมื่อวันที่ 25 ต.ค. 61 ปัจจุบันทุนจดทะเบียน 112 ล้านบาท ประกอบธุรกิจการบริการเป็นตลาดกลางในการซื้อขายสินค้าหรือบริการโดยวิธีใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต (e-Marketplace) มีนายเอกลาภ ยิ้มวิไล ถือหุ้นจำนวน 3,161,999 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน51% ,ซิปเม็กซ์ เอเซีย พีทีอี ลิมิเต็ด (Zipmex Asia Pte Ltd.)จำนวน 3,038,000 หุ้น สัดส่วน49% และลิม เหว่ย ซีออง มาร์คัส จำนวน 1 หุ้น กรรมการประกอบด้วย นายเอกลาภ ยิ้มวิไล และนายตรัยคุณ ศรีหงส์

ฐานะและผลการดำเนินงานล่าสุด ปี2564 มีสินทรัพย์รวม 178,592,151 บาท เพิ่มขึ้น431% รายได้รวม 86,881,208 บาท เพิ่มขึ้น878% รายจ่ายรวม 78,404,920 บาท เพิ่มขึ้น444% และกำไรสุทธิ 9,579,404 บาท เพิ่มขึ้น273%

ที่ผ่านมา ซิปเม็กซ์ ได้ประกาศการระดมทุนรอบ Series Bด้วยมูลค่า 41 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า1.3 พันล้านบาท โดยมีบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เข้าร่วมทุน อาทิ บมจ. แพลน บี มีเดีย(PLANB) หรือ ลงทุน51,133 หุ้น หรือ0.96% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด มูลค่า 1.93 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ64 ล้านบาท บมจ.มาสเตอร์ แอด(MACO) ลงทุน 150,933 หุ้น หรือ2.82% มูลค่า 5.71 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ190 ล้านบาท และบริษัท กรุงศรี ฟินโนเวต จำกัด ในเครือธนาคารกรุงศรีฯ ลงทุนไม่ถึง1% รวมถึงบริษัทระดับโลกร่วมลงทุนด้วย

หนึ่งในแนวทางการแก้ปัญหาเพื่อหาทางนำเงินมาชดใช้ความเสียหาย ซีอีโอ ซิปเม็กซ์ ได้พูดหลายครั้งว่า จะขายกิจการเพื่อนำเงินมาคืนให้ลูกค้า โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจา และการร่างสัญญา 

หนึ่งในนั้นคือ คอยเบสน์(Coinbase) ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลยักษ์ใหญ่ในสหรัฐฯ ที่เคยเจรจาแล้วครั้งต้นปี 65 ที่ผ่านมา เสนอซื้อด้วยมูลค่า 2.2 หมื่นล้าน แต่ในสถานการณ์ปัจจุบัน บวกกับตลาดคริปโตอยู่ในช่วงขาลงราคาซื้อขายอาจจะต้องปรับลดลงมา

อย่างไรก็ตาม CoinDesk รายงานว่า ได้รับการยืนยันจาก Coinbase เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (20 กรกฎาคม) ว่าดีลดังกล่าวไม่เกิดขึ้นแล้ว

นักลงทุนถามฉ้อโกงหรือไม่

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าผู้บริหาร ได้พยายามออกมาชี้แจงแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นระยะและต่อเนื่อง แต่ก็ไม่ได้สร้างความมั่นใจให้แก่นักลงทุน เพราะเหตุการณ์ดังกล่าวได้สร้างความเสียหายแก่นักลงทุนจำนวนมาก และกังวลจะไม่ได้รับการชดเชยค่าเสียหายที่เกิดขึ้น การบริหารงานไม่โปร่งใสของบริหาร รวมทั้งประเมินความเสียหายอาจจะมากกว่าที่ผู้บริหารออกมาชี้แจงเพียง 53 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณเกือบ 2,000 ล้านบาทเท่านั้น

ผู้เสียหายจึงได้ออกมาเคลื่อนไหวรวมตัวจัดตั้งกลุ่มในสื่อโซเชียล ทั้งไลน์กรุ๊ป และเฟซบุ๊ก “ผู้เสียหาย Zipmex Thailand" โดยเฉพาะไลน์กรุ๊ป มีผู้เสียหายเข้าร่วมแล้วกว่า 3,800 คน วิพากวิจารณ์ แลกเปลี่ยนข้อมูลความเสียหายที่เกิดขึ้น พร้อมนัดรวมตัวหารือเพื่อดำเนินการฟ้องร้องค่าเสียหายจากผู้บริหารซิปเม็กซ์ ในวันที่ 25 ก.ค. นี้ เวลา10.00 น. ณ อาคารบี ชั้น 4 ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ

โดยกล่มผู้เสียหายได้เสนอให้ผู้บริหารซิปเม็กซ์ และสำนักงาน ก.ล.ต. ออกมาชี้แจงประเด็นหลัก ที่กลุ่มผู้เสียหายได้ตั้งข้อสังเกตการกระทำผิด และพฤติกรรมที่ส่อเค้าไปในทางทุจริต ดังนี้

1.การที่ซิปเม็กซ์ นำสินทรัพย์ดิจิทัล ของลูกค้าประเทศไทยฝากสินทรัพย์ไว้ที่ Zipmex global สิงคโปร์ ไปลงทุนใน Celcius และ Babel ที่ล้มละลาย และก่อให้ความเสียหายนั้น ก.ล.ต.รับทราบหรือไม่ และผิดเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ของ ก.ล.ต. หรือไม่

ทั้งนี้ ก.ล.ต. กำหนดห้ามนำทรัพย์สิน เงินและสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้า ไปใช้เพื่อประโยชน์ของลูกค้ารายอื่น และต้องมีการสอบทานสินทรัพย์ลูกค้าเพื่อความถูกต้องทุกวันทำการ หรือ ห้ามนำสินทรัพย์ของลูกค้าไปหาดอกผลด้วยวิธีการอื่น นอกจากฝากไว้ที่ธนาคารพาณิชย์ แต่สามารถตกลงกับลูกค้าเพื่อกำหนดอัตราดอกผลที่จ่ายให้ลูกค้าได้ โดยต้องไม่เกินอัตราดอกเบี้ยที่ได้รับจริงจากธนาคารพาณิชย์

ส่วนสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้า ห้ามนำไปหาดอกผล รวมถึงการนำไปฝาก และให้บุคคลอื่นยืม เว้นแต่นำไปลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลโดยผู้ที่มีใบอนุญาตเป็นผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัล

2. Celciusและ Babel ประกาศเริ่มมีปัญหาสภาพคล่องตั้งแต่กลางเดือน มิ.ย. 65 แต่บริษัทยังคงมีการทำประชาสัมพันธ์ระดมรับฝากสินทรัพย์ดิจิทัล ผู้บริหารบริษัทฯ มีเจตนาไม่บริสุทธิ์หรือไม่ และสินทรัพย์ที่ระดมได้หลังจากนั้น คงไม่ได้นำไปลงทุนในแพลตฟอร์มทั้ง 2 แห่ง ไม่ทราบมีจำนวนเท่าใด และตอนนี้อยู่ที่ไหน

3. มูลค่าความเสียหายที่จริง แม้ว่าผู้บริหารได้ออกมีชี้แจงตัวเลขความเสียหายรวม 53 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเกือบ 2,000 ล้านบาท แบ่งเป็นความเสียหายจากการลงทุน Celcius ประมาณ 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ Babel อีก 48 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ผู้บริหารต้องนำหลักฐานอย่างเป็นทางการออกมาเปิดเผยต่อสาธารณชน และต้องกำหนดแนวทางการเยียวยาหรือชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นให้ชัดเจน เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้เสียหาย


ขาดทุนเหรียญ ZMT แล้วกว่า 88%

ขณะเดียวกัน นักลงทุนยังได้รับความเสียหายจากราคาเหรียญ ZMT ที่ตกลงอย่างฮวบฮาบ จากราคาซื้อเพื่อล็อกไว้กับบริษัทเมื่อเดือน เม.ย. – พ.ค. 65 ที่อยู่ประมาณ 90-100 บาท ราคาได้ปรับตัวลงต่อเนื่อง ณ วันประกาศระงับการถอนอยู่ที่ประมาณ 13 บาท ล่าสุดลดลงมาอยู่ที่ ประมาณ 11.17 บาท หากสมมุติล็อกเหรียญไว้ที่ราคาเฉลี่ย 95 บาท ส่งผลทำให้นักลงทุนขาดทุนไปแล้ว 83-84 บาทต่อ 1 ZMT หรือ 88.24%

มีคำถามตามมาว่า ในระหว่างราคา ZMT ที่เคลื่อนไหวอยู่ในระดับสูงนั้น ได้มีผู้บริหาร หรือนักลงทุนรายใหญ่ ใช้จังหวะนี้ฉวยโอกาสเทขายออกมาทำกำไร ก่อนที่ราคาจะปรับตัวลดลงมาอย่างหนักหรือไม่

พบ 3 บจ.ได้ผลกระทบจากลงทุน

จากปัญหา Zipmex มีรายงานว่า 3 บริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยได้รับผลกระทบจากการลงทุนทางตรง ประกอบด้วย 1.บมจ.แพลน บี มีเดีย (PLANB) โดยใส่เงินลงทุนประมาณ 70 ล้านบาท 2.บมจ.มาสเตอร์ แอด (MACO) เงินลงทุน 197 ล้านบาท และ 3.บมจ.ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) ใส่เงินลงทุนราว 1% ของทุนจดทะเบียนชำระแล้วของ Zipmex โดยทั้ง 3 บริษัทคาดว่าคงไม่ต้องตั้งสำรองขาดทุนจากเงินลงทุนดังกล่าว เพราะเป็นจำนวนไม่มากนักทำให้ผลกระทบจากปัญหาที่เกิดขึ้นน้อย

ขณะที่ ฝ่ายวิจัย บล.เอเซีย พลัส เปิดเผยผ่านบทวิเคราะห์ว่า ประเด็น Zipmex ได้กดดันให้เหรียญ ZMT ลงแรง และสร้าง Sentiment เชิงลบให้บริษัทจดทะเบียนที่เข้าไปลงทุนใน Zipmex เพื่อต่อยอดธุรกิจอย่าง PLANB ที่เข้าลงทุนใน Zipmex 70 ล้านบาท และ MACO เข้าลงทุนมูลค่า 140 ล้านบาท

บล.เอเซียพลัสยังได้รวบรวมบริษัทจดทะเบียนไทย ที่ทำธุรกิจที่เกี่ยวข้อง Crypto currency พบ มี 22 บริษัท แบ่งเป็น 4 ประเภท คือ

1.ICO portal มีบริษัทที่ดำเนินธุรกิจและประกาศแผน ดังนี้ ธนาคารกสิกรไทย (คิวบิกซ์ดินิทัล แอสเซท), ธนาคารไทยพาณิชย์ (โทเคน เอกซ์), บมจ.เอ็กซ์ สปริง แคปปิตอล, บมจ.จัสมิน เทคโนโลยี โซลูชั่น, บมจ.คันทรี่ กรุ๊ป โฮลดิ้ง(ถือหุ้นในบริษัทคริปโทมายต์)

2.บริษัทที่รับคริปโตเคอร์เรนซี หรือโทเคนชำระค่าสินค้าบริการ คือ บมจ.แสนสิริ, บมจ.อนันดา ดิเวลลอปเม้นท์, บมจ.เอสซี แอสเสท, บมจ.ออริจิน, บมจ.แอสเสทเวิลด์, บมจ.เมเจอร์ ดีเวลลอปเม้นท์, บมจ.อาร์เอส (Popcoin), บมจ.แพลนบี มีเดีย, บมจ.มาสเตอร์ แอด, บมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น(Inthanin), บมจ.บีทีเอส, บมจ.เจมาร์ท, บมจ.ทิพยประกันภัย, บมจ.เมเจอร์ ดีเวลลอปเม้นท์

3.บริษัทที่ลงทุนใน Crypto โดยตรง บมจ.บรุ๊คเคอร์ กรุ๊ป

4.บริษัทที่ลงทุนขุดเหรียญ Bitcoin คือ บมจ.จัสมิน เทคโนโลยี โซลูชั่น ทั้งนี้ ผลตอบแทนตลาดคริปโตที่ผันผวนมาก กับเหตุการณ์ต่างๆอาจเกิดความไม่มั่นใจต่อความหวังจากการลงทุนต่อยอดในธุรกิจคริปโตเพิ่มขึ้นได้ ถือเป็นSentiment เชิงลบ

ทำลายความเชื่อมั่นคริปโตฯซ้ำรอยบิทคับ

นี่เป็นอีกเหตุการณ์สำคัญในวงการสินทรัพย์ดิจิตอลที่ตอกย้ำว่า “Exchange” ในไทยเกือบทุกรายมีปัญหาในเรื่องประสิทธิภาพ ธรรมาภิบาล ในการดำเนินธุรกิจ บ่อนทำลายความน่าเชื่อถือ ความเชื่อมั่นในอุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิตอล ไม่ต่างอะไรจาก “บ่อนพนัน”

ก่อนหน้านี้ บิทคับ Exchange รายใหญ่ที่ก่อตั้งโดย นายจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา และ ธนาคารไทยพาณิชย์ ต้องการจะซื้อกิจการ ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก จากการทำธุรกิจที่ไร้ประสิทธิภาพและขาดธรรมาภิบาลจนถูก ก.ล.ต.ลงโทษมากกว่า 10 ครั้ง ทั้งเรื่องของระบบการซื้อขาย การเปิดบัญชีที่การตรวจสอบตัวตน ปล่อยให้มี “บัญชีม้า” และ “นอมินี” ผู้บริหารปล่อยคนนอกเข้ามายุ่มย่ามกับกิจการ ร่วมมือกับ “มาร์เกตเมกเกอร์” สร้างดีมานด์เทียมในการซื้อขายเหรียญ การนำเหรียญตัวเอง KUB เข้าเทรดแบบมีผลประโยชน์ขัดแย้ง จนผู้บริหารถูกสั่งปรับและสั่งแบนไม่ให้บริหารเป็นเวลาหลายเดือน

ขณะที่มีข้อครหาการเทรดเหรียญโดยเฉพาะเหรียญไทยที่มีอยู่ในตลาด ปล่อยให้มีการสร้างราคา ปั่น และ ทุบเหรียญ ซึ่งก.ล.ต.อยู่ระหว่างการตรวจสอบ

ความเป็นจริงเหล่านี้สวนทางกับการทำตลาดชวนเชื่อหาลูกค้าอย่างบ้าคลั่ง ป้ายบิลบอร์ด LED ติดอยู่เต็มบ้านเต็มเมือง แทรกซึมไปทุกที่ เข้าไปเป็นสปอนเซอร์อีเวนต์ใหญ่ๆ โดยเฉพาะแคมเปญที่ปลุกปั่นให้ “เยาวชน” เข้ามาเป็นลูกค้า ลงทุนจ้างอินฟูลเอนเซอร์เข้าไปถึงสถานศึกษา มหาวิทยาลัย และโรงเรียนมัธยม บนพื้นฐานความไม่รู้ 10 บาทก็ลงทุนได้ อวดอ้างเทคโนโลยีใหม่ ให้ผลตอบแทนสูง จะเข้ามา “เชื่อมต่อโลกอนาคต” ให้กับผู้ประกอบการธุรกิจและนักลงทุน

แต่สุดท้ายกลายมาเป็น สิ่งหลอกลวง และ ล่อ “เหยื่อ” เข้าไปติดกับ เพื่อโกยกำไร โดยเจ้าของตลาดร่ำรวยอู้ฟู้อยู่ผู้เดียว มากกว่าที่จะพัฒนาทำให้คริปโตฯเป็นประโยชน์อย่างแท้จริง


Zipupไม่ต่างจาก “แชร์ลูกโซ่”

Zipup และ Zipup+ ต้นตอที่ก่อให้เกิดปัญหาการขาดสภาพคล่อง จนส่งผลกระทบเป็นวงกว้างในขณะนี้ คืออะไร? Zipupคือ แพลตฟอร์มสำหรับการฝากสกุลเงินดิจิทัล บนเงื่อนไขที่ผู้ฝากสินทรัพย์จะต้องซื้อและล็อกเหรียญ Zipmek Token (ZMT)โดยได้รับผลตอบแทนเป็นโบนัสในอัตราขั้นบันได ขึ้นอยู่กับจำนวนZMT ที่ล็อกไว้ และสกุลเงินดิจิทัลที่นำมาฝาก ในอัตราสูงสุด 8%

สำหรับสกุลเงินที่รับฝากทั้งหมด 7 สกุลเงิน คือ BTC, ZMT, ETH, LTC, USTC, USTDและ GOLD ไม่กำหนดเหรียญขั้นต่ำในการฝาก ไม่กำหนดระยะเวลา ฝากถอนเมื่อไหรก็ได้ การจ่ายโบนัสคำนวณทุกวันตามยอดคงเหลือในกระเป๋าเงิน และได้รับโบนัสเป็นเงินสกุลเดียวกันกับสกุลเงินที่ฝากไว้ มีการประกันสินทรัพย์กับ BitGo ผู้ให้บริการระดับโลก วงเงินคุ้มครองถึง 100 ล้านเหรียญสหรัฐ

ขณะที่ Zipup+ เป็นการเพิ่มพัฒาการอีกขั้น หรืออัปเกรดมาจาก Zipup เมื่อวันที่ 22 มี.ค.65 ที่เพิ่มผลตอบแทนโบนัสเพิ่มขึ้น สูงสุดถึง 10% โดยกำหนดให้ผู้สมัครเข้าโปรแกรม Zipup+ จะต้องโอนสินทรัพย์ไปที่กระเป๋า Z Wallet (ตารางประกอบ)

ต่อมา 7 เม.ย. 65บริษัท ซิปเม็กซ์ จำกัด ได้ทำหนังสือถึงลูกค้า Zipup+ บริษัทขอแจ้งข้อมูลการเปลี่ยนแปลงข้อกำหนดและเงื่อนไข Zipup+ โดยระบุว่า การให้บริการตามข้อกำหนดและเงื่อนไขของ Zipup+ ภายใต้การบริการของ “ซิปเม็กซ์” จะยุตติลง ตั้งแต่ 8 พ.ค. 65เป็นต้นไป และเพื่อให้การเปลี่ยนแปลงเป็นไปอย่างราบรื่นจึงเสนอทางเลือกให้ใช้บริการ Zipup+ ต่อไปได้ ภายใต้การให้บริการของ Zipmex Asia Pte.,LTD.และ/หรือบริษัทในเครือที่กำหนด

แน่นอนว่า กลยุทธ์เพื่อให้เติบโตอย่างรวดเร็วของ Zipmex คือการการันตีผลตอบแทนที่สูง แต่ด้วยผลตอบแทนที่บริษัทจำเป็นจะต้องจ่ายคืนให้กับผู้ลงทุน ส่งผลให้บริษัทจำเป็นจะต้องนำสินทรัพย์ที่มีอยู่ไปลงทุนผู้รับตอบแทนส่วนเพิ่มเช่นกัน  ซึ่ง Zipmex Thailandได้นำสินทรัพย์ที่รับฝากจากลูกค้ามาไปลงทุนกับ Zipmex Globalที่สิงคโปร์ ซึ่งได้นำสินทรัพย์เหล่านี้ไปลงทุนต่อ

สำหรับโมเดลการบริการ ZipUp+ มีการประเมินว่ากลไกเหมือนแชร์ลูกโซ่ โดยลูกค้าจะนำเหรียญคริปโตไปฝาก และบริษัทแม่ของ Zipmex ที่ต่างประเทศจะนำเหรียญไปหาผลประโยชน์ต่อ เช่นอาจนำเหรียญคริปโตหรือแปลงเป็นสกุลเงิน (Fiat Currency) เอาไปลงทุนกับแพลตฟอร์ม Celsius และ Babel ซึ่งแพลตฟอร์มนี้ทำหน้าที่เสมือนเป็นตัวกลางทางการเงินหาคนกู้กับคนฝาก โดยผู้ฝากจะได้รับผลตอบแทนเป็นเปอร์เซนต์ (Zipmex ประเทศไทยการันตีผลตอบแทนไว้ที่ 7%) ดังนั้นเวลาที่เหรียญเป็นขาขึ้นผู้ฝากจะได้รับผลตอบแทนอย่างต่อเนื่อง แต่พอเหรียญอยู่ในทิศทางขาลงแพลตฟอร์มดังกล่าวอาจเกิดปัญหาในการนำเงินมาคืนให้กับผู้ฝาก

ที่ผ่านมา โมเดลการให้บริการ ZipUp+ ยังไม่มีกฎหมายรองรับ อีกทั้งยังไม่รู้ว่าประเภทธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลสามารถให้ผลตอบแทนในรูปดอกเบี้ย ทำให้ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าหน่วยงานใดระหว่าง ธปท. กับ ก.ล.ต.ที่จะเข้ามาดูแลและควบคุมธุรกิจดังกล่าว ขณะที่นับวันด้วยตลาดเหรียญคริปโตฯกำลังอยู่ในขาลงหลายๆเหรียญขนาดใหญ่ประสบปัญหาพังทลาย อาทิ TERRA และ LUNA ยิ่งเป็นสัญญาณให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งดำเนินการควบคุมเรื่องดังกล่าว และปัจจุบันพบว่ายังมีหลาย Exchange ที่มีวิธีดังกล่าวคือ นำเงินที่ลูกค้าไปฝากไปลงทุนต่อ

โดยหนึ่งในนั้นคือ บริษัทเซลเซียส เน็ตเวิร์ค (Celsius Network) เป็นแพลตฟอร์มการปล่อยกู้ยืมเงินสินทรัพย์ดิจิทัลแห่งแรก ที่ประกาศระงับการฝาก-ถอนในวันที่ 13 มิ.ย.2565 ท่ามกลางวิกฤติการขาดสภาพคล่อง ซึ่งบริษัทรายงานว่ามีสินทรัพย์ทั้งหมด(AUM) รวมกว่า 11.7 พันล้านดอลลาร์ และในปีที่แล้วสามารถทำกำไรให้กับลูกค้ารวม 8 พันล้านดอลลาร์ รวมทั้งเสนออัตราผลตอบแทนต่อปี (APY) สูงถึง 17% ของเงินฝากสกุลเงินดิจิทัล

เรื่องดังกล่าวนักวิเคราะห์หลายคนต่างเตือนว่าควรระวังความเสี่ยงของแพลตฟอร์มที่ให้ผลตอบแทนสูง และให้ถอนเงินออกจากแพลตฟอร์มต่าง ๆ โดยเร็ว และในขณะนี้เซลเซียสได้ยื่นคำร้องต่อศาลสหรัฐฯเพื่อขอพิทักษ์ทรัพย์ตามมาตรา 11 รวมทั้งทยอยคืนเงินกู้อย่างเงียบ ๆ ส่วนด้านบริษัทบาเบลล์ไฟแนนซ์ (Babel Finance) แพลตฟอร์มให้บริการกู้ยืมสินทรัพย์ดิจิทัลในฮ่องกง ระงับการถอนเงินในวันที่ 15 มิ.ย.2565 โดยเมื่อสิ้นสุดไตรมาสที่ 4 ปี 2564 บาเบลล์มียอดปล่อยเงินกู้ราว 3 พันล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 1.09 แสนล้านบาท จากลูกค้าจำนวนกว่า 500 ราย ซึ่งในขณะนี้บาเบลล์ไฟแนนซ์ยังคงระงับการถอนเงินของลูกค้า และในตอนนี้อยู่ในระหว่างการฟื้นฟูบริษัทเพื่อปรับโครงสร้างใหม่

โดยทั้ง 2 บริษัทดังกล่าว ถือเป็นบริษัทที่ Zipmex ใช้คำว่า ‘คู่ค้า’ และปัญหาที่เกิดขึ้นเนื่องมาจากการนำเงินไปฝากไว้กับบาเบลล์เพื่อรับผลตอบแทน กล่าวคือ เป็นการปล่อยกู้ให้กับบาเบลล์นั่นเอง


อ่านรายละเอียดข่าวที่เกี่ยวข้องกับ Zipmex

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม>>>นักเทรดร้องเสียโอกาส Zipmex อ้างตลาดผันผวน แอปล่ม ปิดฝาก-ถอนเงินฝากและคริปโต

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม>>> ก.ล.ต.สั่ง "Zipmex" เร่งแจงปมระงับเพิกถอนเงินบาท - คริปโตฯ

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม>>> "เอกลาภ" ออกโรงแจงเหตุมีปัญหา ZipUp เจ๊งจาก Celsius ล้มละลาย ทำให้กระทบสภาพคล่อง

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม>>> นักวิชาการคาด Zipmex สูญเงินร่วม 5.5 พันล้านบาท หลัง Celsius ล้มละลาย

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม>>> ส่องถุงเงิน "ZIPMEX" กำไรปี 64 พุ่งแรง 273% คงสินทรัพย์ 178.59 ล้าน

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม>>> ZIPMEX เปิดตัวเลข ZipUp ที่ลงทุนใน Babel-Celsius กว่า 1.9 พันล้านบาท หลัง ก.ล.ต. สั่งชี้แจง

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม>>> "กรณ์" จี้ ก.ล.ต. 'สางปัญหา' Zipmex เหตุนำสินทรัพย์ดิจิทัลลูกค้าไปหาดอกผล-ให้คนอื่นยืม

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม>>> Zipmex แจง 5 ประเด็นปัญหา ZipUp เร่งเดินหน้าหาเงินมาคืนลูกค้า

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม>>> "อาคม" สั่ง ก.ล.ต. เร่งตรวจสอบ-ชี้แจงกรณีปัญหา Zipmex กังวลผลกระทบนักลงทุน

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม>>> ก.ล.ต. เปิดบายพาสให้นักลงใน Zipmex แจ้งผลกระทบความเสียหาย

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม>>> นักลงทุน ZIPMEX กว่า 700 คนบุกร้อง บช.สอท. เรียกค่าเสียหายร่วม 600 ล้านบาท

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม>>> ก.ล.ต.หารือร่วม DSI - ปอศ. บูรณาการด้านกฎหมายกรณี Zipmex

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม>>> ก.ล.ต. สั่ง ZIPMEX เปิดเทรดตาม Trading rules และฝาก-ถอนสินทรัพย์ดิจิทัล ภายใน 3 วัน


กำลังโหลดความคิดเห็น