xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการคาด Zipmex สูญเงินร่วม 5.5 พันล้านบาท หลัง Celsius ล้มละลาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


(ซ้าย) ณปภัช ปิยไชยกุล หรือ ด็อกเตอร์บิ๊ก อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ผู้เชี่ยวชาญทางด้านธุรกิจ วิศวกรรมไฟฟ้า และสังคมศาสตร์ (ขวา) นายเอกลาภ ยิ้มวิไล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท ซิปเม็กซ์ จำกัด (ZIPMEX)
นักวิชาการ ม.ธรรมศาสตร์ คาดมูลค่าความเสียหาย Zipmex พุ่งทะลุกว่า 5,500 ล้านบาท หลังการยื่นล้มละลายของ Celsius และ Babels finance และหลังจากนี้อาจมีธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัล ที่ทยอยล้มละลายเพิ่มเป็นโดมิโน่ในอุตสาหกรรมคริปโต จากปัญหาการขาดสภาพคล่องอย่างวิกฤติ ขณะที่ "เอกลาภ" ยันลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากลงทุนในผลิตภัณฑ์ Zipup+ มูลค่าน้อยกว่า 5 พันล้านมาก เผยอยู่ระหว่างหารือฝ่ายกฎหมายเรื่องเปิดเผยข้อมูล
 
จากกรณีที่ Zipmex หรือ 'ซิปเม็กซ์ ประเทศไทย' ได้ออกประกาศผ่านทางหน้าเพจ Zipmex Thailand เมื่อช่วงเย็นวานนี้ (20ก.ค.) โดยได้ระบุถึงการระงับการเพิกถอนเงินบาท และคริปโทเคอร์เรนซี ผ่านเฟซบุ๊กเพจ โดยให้เหตุผลว่า เนื่องด้วยสถานการณ์ต่างๆ รวมถึงความผันผวนของตลาด เหตุการณ์ต่างๆ ในอุตสาหกรรม และการเกิดปัญหาทางการเงินจากคู่ค้าทางธุรกิจหลัก ซึ่งอยู่นอกเหนือการควบคุมของบริษัท อย่างไรก็ตามเพื่อรักษาเสถียรภาพของแพลตฟอร์ม บริษัทจึงได้ระงับการถอนออกของเงินบาทและ คริปโทเคอร์เรนซี ทุกกรณีชั่วคราวจนกว่าจะมีประกาศเพิ่มเติม บริษัทขออภัย และขอขอบคุณสำหรับความเข้าใจ และความอดทนของท่านในระหว่างนี้

ล่าสุด ณปภัช ปิยไชยกุล หรือ ด็อกเตอร์บิ๊ก อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ผู้เชี่ยวชาญทางด้านธุรกิจ วิศวกรรมไฟฟ้า และสังคมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ Suthichai Podcast ถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับ Zipmex ว่าทำไม? Zipmex จึงต้องปิดระบบและระงับการถอนในวันที่ 20 ก.ค เนื่องจาก “Zipmex ต้องประกาศหยุดถอน เพราะเดดไลน์ในการลงทะเบียนฟ้องร้อง Celsius เป็นวันสุดท้าย เพื่อป้องกันไม่ให้คนเข้าใจว่า Zipmex เกี่ยวข้องด้วย และแห่ถอนเงินใน Zipmex ทั้งหมด”

ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ Celsius นั้น ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มให้กู้ยืมสินทรัพย์ดิจิทัลรายใหญ่อันดับต้นๆของโลก โดยย้อนกลับไปช่วงกลางเดือนที่ผ่านมา ( 14 มิ.ย.2565 ) ทาง Celsius ประกาศระงับการทำธุรกรรมระหว่างกันชั่วคราว หลังจากที่เกิดปัญหาตลาดคริปโตล่มสลาย มีการปรับตัวลดลงอย่างรุนแรงในทุกเหรียญ โดยล่าสุดวันที่ 14 ก.ค.2565 ที่ผ่านมาทาง Celsius ได้ยื่นขอล้มละลายอย่างเป็นทางการ พร้อมทั้งขอฟื้นฟูกิจการตามหมวดหมู่ที่ 11 กับเขตทางใต้ของนิวยอร์ก โดย Celsius มีมูลหนี้สูงกว่า 4,700 ล้านเหรียญสหรัฐ และมีเจ้าหนี้ทั่วโลกที่เข้าไปลงทุนกับ Celsius แล้วสูญเสียเงินกว่า 1 แสนราย

"มูลค่าความเสียหายของ Zipmex ที่ประเมินไว้ประมาณ 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดย Cointelegraph ได้กล่าวถึงทวิตเตอร์หนึ่งซึ่งอ้างว่า Zipmex Global ได้นำเงินไปลงทุนกับ Celsius และ Babels finance เป็นจำนวนเงินรวม 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 5,500 ล้านบาท" ณปภัช กล่าว

ณปภัช ยังได้ตั้งคำถามใน LIVE Suthichai Podcast ว่า “เวลาซื้อเหรียญดิจิทัลไป Exchange ได้เก็บเหรียญนั้นไว้อยู่หรือเปล่า หรือมีเพียงแต่ในระบบ เมื่อต้องการถอนและหากมันไม่มี และจะพิสูจน์ได้อย่างไร” ซึ่ง ก.ล.ต. ต้องเข้ามาดูในส่วนนี้ และป้องกันรูปแบบที่คล้ายกับ ZipUp+ ที่ยังไม่มีกฎหมาย ก.ล.ต. ควบคุม

อย่างไรก็ดีประเด็นที่นักลงทุนและประชาชนต่างตั้งคำถามต่อ ก.ล.ต. ว่าการกระทำของกระดานเทรดในลักษณะนี้ ‘ผิดกฎหมาย’ หรือไม่ ในกรณีนำสินทรัพย์ดิจิทัลของนักลงทุนไทย ไปปล่อยกู้เก็งกำไร หรือใช้ในวัตถุประสงค์อื่นๆ ซึ่งถึงแม้เราจะกด “ตกลง” ในการสมัครไปเรียบร้อยแล้ว ยังคงต้องเฝ้าติดตาม ก.ล.ต.ว่าตามกฎหมายจะมีผลหรือไม่ เพราะจริงแล้ว ก.ล.ต.อนุญาตให้ Exchange ไทยสามารถใช้ผู้ดูแลรับฝากทรัพย์สิน (Custodian) ได้ แต่ไม่อนุญาตให้นำสินทรัพย์ของนักลงทุนไปทำอย่างอื่น

โดยหากย้อนกลับไปช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมาลูกค้าของ Zipmex ที่เลือกการลงทุนในรูปแบบ ZipUp+ ได้รับอีเมล์แจ้งอัพเดตนโยบายทางอีเมลว่า ZipUp+ นั้นจะถูกย้ายการบริหารจัดการไปอยู่ภายใต้การดูแลของ Zipmex Asia ซึ่ง Zipmex Asia นั้นไม่ใช่บริษัทที่ถูกกำกับโดย ก.ล.ต. ทำให้สามารถเอาเงินลูกค้าไปปล่อยกู้ได้ และทำให้สารมารถสรุปได้ว่าคือการเข้าไปลงทุนที่ว่านั้นคือ Celsius นั่นเอง

ล่าสุดเมื่อเวลา 09.30 น. ราคา ZIPMEX Token (ZMT) ร่วงลงกว่า 34.09% มาอยู่ที่ 13.645 บาท ซึ่งคาดว่านักลงทุนที่ถือเหรียญ ZMT ได้กระหน่ำเทขาย Zipmex Token เพื่อเลี่ยงความเสี่ยงที่เกิดขึ้น

ขณะที่นายเอกลาภ ยิ้มวิไล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท ซิปเม็กซ์ จำกัด (ZIPMEX) เปิดเผยกับกรุงเทพธุรกิจว่า มูลค่าของลูกค้าที่ลงทุนในผลิตภัณฑ์ Zipup+ ซึ่งที่ได้รับผลกระทบที่ไม่สามารถถอนเงิน-คริปโตฯ ได้ มีมูลค่าความเสียหายไม่ถึง 5,000 ล้านบาท อย่างที่ในสื่อออนไลน์ระบุ

"มูลค่าที่ลูกค้าได้รับผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้นมีมูลค่าน้อยกว่า 5,000 ล้านบาทมาก ซึ่งขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างหารือกับฝ่ายกฎหมายว่าจะสามารถเปิดเผยมูลค่าได้หรือไม่"

ทั้งนี้บริษัทขอชี้แจงว่า ผลิตภัณฑ์ Zipup+ ไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ที่ ซิปเม็กซ์ (ประเทศไทย) เป็นผู้ออก แต่เป็นผลิตภัณฑ์ของ ทางซิปเม็กซ์โกลบอล

"จากที่เราเปิดให้ลูกค้าซื้อขายบนกระดานเทรดของเราเมื่อคืนตั้งแต่เวลา 20.00 น.ที่ผ่านมานั้น พบว่ายังมีลูกค้าฝากเงินเข้ามาเพื่อทำการซื้อขาย และมูลค่าการซื้อขายในกระดานของเราปรับตัวเพิ่มขึ้น" นายเอกลาภ กล่าวทิ้งท้าย


กำลังโหลดความคิดเห็น