ตามที่ปรากฏข้อเท็จจริงต่อสื่อสาธารณะว่าบริษัท ซิปเม็กซ์ จำกัด ในฐานะผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลและนายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลได้ประกาศระงับการถอนสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้าเป็นการชั่วคราว อันเนื่องมาจากปัญหาผลิตภัณฑ์ ZipUp+ นั้น ทางสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทยขอแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อบุคคลที่เกี่ยวข้องต่อปัญหาในปัจจุบัน ดังนี้
1.ผู้เสียหาย: ผู้เสียหายควรจัดเตรียมพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความเป็นผู้เสียหายและจำนวนความเสียหายที่ได้รับอย่างละเอียดเพื่อใช้ประกอบการพิจารณาดำเนินคดีต่อไป เช่น หลักฐานการเป็นลูกค้า หลักฐานที่แสดงจำนวนสินทรัพย์ดิจิทัลที่ถูกระงับ เป็นต้น
เนื่องจากข้อมูลโดยส่วนใหญ่จัดเก็บโดยบริษัท ซิปเม็กซ์ จำกัด ดังนั้น หากบริษัท ซิปเม็กซ์ จำกัด จะเป็นผู้สรุปข้อมูลและจัดทำหนังสือรับรองการเป็นลูกค้าและจำนวนสินทรัพย์ดิจิทัลที่ถูกระงับ พร้อมจัดส่งให้ลูกค้าจัดเก็บไว้เป็นหลักฐาน ทางสมาคมฯ ก็เล็งเห็นว่าจะเป็นการลดภาระให้แก่ผู้เสียหายได้
2.สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และหน่วยงานภาครัฐอื่น : เนื่องจากพยาน หลักฐานที่ใช้พิสูจน์การกระทำความผิดโดยส่วนใหญ่จัดเก็บอยู่ในรูปข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเจ้าของข้อมูลหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องอาจแก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือทำลายได้โดยง่าย สมาคมฯ จึงขอเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งตรวจสอบข้อมูลและรวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องเพื่อป้องกันมิให้พยานหลักฐานสูญหายหรือถูกทำลายไป
3.บริษัท ซิปเม็กซ์ จำกัด: เนื่องจากบริษัท ซิปเม็กซ์ จำกัด เป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น สมาคมฯ จึงขอเรียกร้องให้บริษัท ซิปเม็กซ์ จำกัด เปิดเผยข้อมูลที่จำเป็น เพียงพอเหมาะสม และทันต่อเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแสดงความโปร่งใสเกี่ยวกับรูปแบบ จำนวน และสถานที่เก็บรักษาสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้า พร้อมให้ความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐในการตรวจสอบและรวบรวมพยานหลักฐาน
ทั้งนี้ เพื่อนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาชำระคืนให้แก่นักลงทุน และเพื่อนำผู้กระทำความผิดมาลงโทษต่อไป
ในกรณีที่สินทรัพย์ดิจิทัลซึ่งอยู่ในผลิตภัณฑ์ ZipUp+ มิได้เสียหายทั้งหมด บริษัท ซิปเม็กซ์ จำกัด ควรสรุปจำนวนสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้าที่เสียหายและสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้าที่คงเหลืออยู่ว่ามีสัดส่วนเท่าใด พร้อมเจรจากับบุคคลผู้มีอำนาจเพื่อให้นักลงทุนสามารถถอนสินทรัพย์ดิจิทัลของตนเองตามสัดส่วนที่เหลืออยู่โดยเร็ว เพื่อเป็นการแสดงถึงเจตนาที่จะบรรเทาความเสียหายที่เกิดขึ้นให้แก่นักลงทุนในเบื้องต้น
สมาคมฯ เห็นว่า แม้ความเสียหายดังกล่าวจะมีปัจจัยบางส่วนที่เกิดขึ้นจากปัจจัยภายนอกซึ่งไม่สามารถควบคุมได้ เช่น ราคาสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีความผันผวนอย่างสูงในช่วงที่ผ่านมา แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจัยภายในซึ่งผู้ประกอบธุรกิจทุกคนสามารถลดหรือขจัดความเสี่ยงได้ก็เป็นส่วนสำคัญที่ก่อให้ความเสียหายเช่นกัน เช่น การกำหนดมาตรการตรวจสอบผู้เก็บรักษาทรัพย์สินของลูกค้าที่ได้มาตรฐาน หรือการตรวจสอบปริมาณสินทรัพย์ดิจิทัลที่จัดเก็บกับผู้เก็บรักษาทรัพย์สินของลูกค้าอย่างสม่ำเสมอ เป็นต้น
ดังนั้น สมาคมฯ จึงขอเสนอมาตรการป้องกันความเสียหายในอนาคต โดยเสนอให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่เก็บรักษาทรัพย์สินของลูกค้าควรจัดให้มีการตรวจสอบมาตรฐานของผู้เก็บรักษาทรัพย์สิน พร้อมตรวจสอบปริมาณสินทรัพย์ดิจิทัลที่จัดเก็บกับผู้เก็บรักษาทรัพย์สินของลูกค้าเป็นประจำโดยการตรวจสอบควรดำเนินการโดยบุคคลที่สามซึ่งมิได้มีส่วนได้เสียกับผู้ประกอบธุรกิจ เพื่อช่วยลดความเสี่ยงในการเก็บรักษาทรัพย์สินของลูกค้า และเรียกความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อวงการสินทรัพย์ดิจิทัลให้กลับคืนมา
สมาคมฯ มีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมให้อุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัลพัฒนาได้อย่างยั่งยืน ซึ่งรวมถึงการผลักดันให้เกิดมาตรฐานการปฏิบัติงานที่ดี (best practice) โดยรวบรวมความคิดเห็น อุปสรรค และข้อเสนอแนะของผู้ประกอบวิสาหกิจต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง วัตถุประสงค์ดังกล่าวนั้นเป็นจุดยืนที่สมาคมฯ ตระหนักและดำรงไว้เสมอมา
สมาคมฯ จึงมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะเป็นตัวกลางในการให้ข้อมูล ความรู้ และความร่วมมือที่จำเป็น ทั้งต่อนักลงทุนซึ่งประสงค์จะลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล ผู้เสียหายซึ่งอยู่ระหว่างการติดตามทวงคืนทรัพย์สินของตน หน่วยงานภาครัฐซึ่งอยู่ระหว่างการตรวจสอบ และรวมถึงผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลซึ่งต้องการความร่วมมือจากสมาคมฯ ทุกราย