xs
xsm
sm
md
lg

ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ตอนที่ ๒๗ : ๑๒ คำถาม ๑๓ คำตอบเกี่ยวกับความเข้าใจผิดในทรัพย์สินพระมหากษัตริย์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์



ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
สาขาวิชาพลเมืองวิทยาการข้อมูล (Citizen data sciences)
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์


มีคำถามมากมายที่ถูกปลุกปั่นมาจากขบวนการบางขบวนการ ทำให้ผู้คนอดสงสัยหรือตั้งคำถามในทางลบเกี่ยวกับทรัพย์สินพระมหากษัตริย์มากมายหลายคำถาม ในบทความนี้จะมีการทบทวนคำถามและให้คำตอบตามความเป็นจริงดังนี้

คำถามที่หนึ่ง มีข้อโต้แย้งว่าเงินถุงแดงไม่มีจริง ดังนั้นทรัพย์สินพระมหากษัตริย์จึงมิใช่มรดกตกทอดสืบมาจากพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวแต่อย่างใด อันเป็นข้อทักท้วงจากนายธีรภัทร เจริญสุข โปรดอ่านได้จากบทความ ข้อโต้แย้งว่าเงินถุงแดงไม่มีจริง หลักฐานฝ่ายไทยอันแสนจำกัด https://mgronline.com/daily/detail/9650000054829

ซึ่งผมมีข้อสังเกตดังนี้

หนึ่ง หลักฐานฝ่ายไทยร่วมสมัยได้แก่ ธรรมสาสตรวินิจฉัย เล่ม 2 วันอาทิตย์ที่ 21 พฤษภาคม ร.ศ.112 ที่ค้นพบโดยอาจารย์ไกรฤกษ์ นานา

สอง เป็นไปได้หรือไม่ที่เอกสารชั้นต้นในสมัยรัชกาลที่ ๓ อาจจะไม่มีการบันทึกไว้ เพราะชาติไทยนิยมวรรณกรรมมุขปาฐะ (Oral literature) มากกว่าการจดบันทึก นอกจากนี้ยังเป็นเงินข้างที่ หรือคลังข้างที่ห้องพระบรรทม ใครจะเข้าไปตรวจนับและจดบันทึกไว้ได้ เพราะเป็นที่รโหฐานและเป็นการส่วนพระองค์จริง ๆ

สาม ทำไมสื่อตะวันตก โดยเฉพาะสื่อสิ่งพิมพ์ของฝรั่งเศสชาติผู้ชนะสงครามในวิกฤติ ร.ศ.112 จะต้องบันทึกรายละเอียดเรื่องเงินถุงแดงไว้มากมาย มีเหตุอันใดที่ต้องบันทึกเกียรติภูมิของชาติที่ยอมยุติสงครามกับมหาอำนาจอย่างชาติตน หากไม่เป็นเรื่องแปลกมหัศจรรย์ที่สยามชาติเล็ก ๆ ในเวลานั้นจะมีเงินถุงแดงเก่าเก็บสามารถนำมาชดใช้เป็นค่าปฏิกรณ์สงครามได้ทันที

สี่ การปฏิรูประบบภาษีอากรในประเทศไทย เป็นเรื่องของการเก็บภาษีภายในประเทศ ที่ได้เงินเป็นเงินบาท ไม่ใช่เงินตราต่างประเทศ ซึ่งเราถูกสนธิสัญญาเบอร์นี่ สนธิสัญญาบาวน์ริ่งบังคับไว้อย่างมากมาย จนเก็บภาษีจากต่างประเทศได้ยากลำบากมากขึ้น และไม่ได้ผูกขาดกับพระคลังเหมือนเดิม จึงยากที่จะเก็บภาษีได้เป็นเงินตราต่างประเทศ

ห้า การต้องจ่ายเงินเป็นเงินตราต่างประเทศในทันทีในยุคสมัยนั้นเป็นเรื่องยุ่งยาก การแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศมูลค่าสามล้านฟรังก์ในสมัยโน้นถือว่าเป็นเรื่องใหญ่มาก ถึงแม้จะมีเงินไทยหรือเงินบาท จะนำไปแลกได้ที่ไหนอย่างไรให้ได้ถึงสามล้านฟรังก์เพื่อชำระชดใช้ค่าปฏิกรณ์สงครามโดยทันที

หก เรื่องการทำบัญชีของชาติไทย ไม่เป็นหลักฐานมั่นคงเลยมาแต่โบราณดังคำกราบบังคมทูลของพระยาไชยยศสมบัติ เจ้าพนักงานบัญชีพระคลังมหาสมบัติในรัชกาลที่ 5 ในหนังสือประวัติบาญชีกลาง ซึ่งกรมธนารักษ์พิมพ์แจกในการถวายผ้าพระกฐินหลวงพระราชทาน ณ วัดรัชฎาธิฐาน ธนบุรี พิมพ์ที่โรงพิมพ์ประชาช่าง พระนคร ในปี 2502 ความว่า

“โดยท่านแต่ก่อนที่เป็นพระไชยยศสมบัติ ตั้งแต่แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมาตราบเท่าถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ด้วยการบัญชีที่รับและจ่ายเงินจะมีสักกี่อย่าง กี่สกุล และปีหนึ่งได้รับเงินเท่าใดก็หาได้มีปรากฏไว้เป็นแบบอย่างสำหรับพระคลังมหาสมบัติไป ทุก ๆ คนมานั้นดับสูญไปแล้วบัญชีก็สูญหายไปหมดสิ้นเป็นอย่างนี้ทุก ๆ ไชยยศมา....”

ข้อนี้แสดงให้เห็นปัญหาว่าไทยไม่เคยทำบัญชีแผ่นดินอย่างเป็นระบบมาเลยแม้กระทั่งสมัยรัชกาลที่ ๕ แล้วก็ตาม เจ้าคุณพระยาไชยยศสมบัติคนแรกที่สำเร็จ Chartered Accountant เป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาติรายแรกของไทยคือพระยาไชยยศสมบัติ (เสริม กฤษณามระ) คณบดีผู้ก่อตั้งคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ก็กลับมารับราชการในสมัยรัชกาลที่ ๖ และเป็นผู้วางรากฐานระบบบัญชีให้กระทรวงพระคลังมหาสมบัติหรือกระทรวงการคลังในปัจจุบัน มีเรื่องเล่าต่อๆ กันมาว่าเจ้าคุณไชยยศสมบัติ สามารถสางบัญชีย้อนหลังไปจากช่วงเวลาที่ท่านกลับมารับราชการไปจนถึงปีแรกที่มีการก่อตั้งกระทรวงพระคลังมหาสมบัติในรัชกาลที่ ๕ ซึ่งย้อนหลังไปเกือบห้าสิบกว่าปี

เจ็ด อย่างไรก็ตามไม่ว่าเงินถุงแดงที่ชดใช้ค่าปฏิกรณ์สงครามให้กับฝรั่งเศสจะเป็นเงินที่พระเจ้าแผ่นดินรัชกาลที่ ๓ หรือรัชกาลที่ ๕ จะทรงเป็นผู้หามาก็ตาม แต่ทั้งหมดทั้งปวงก็เป็นทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ และทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ก้อนนี้ก็ได้กู้ชาติกู้แผ่นดิน ให้แผ่นดินมีเอกราช มีอิสรภาพ เป็นไท มาตราบจนปัจจุบัน สมควรจะรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระเจ้าแผ่นดินผู้ทรงสละทรัพย์สินพระมหากษัตริย์เพื่อทรงกู้ชาติบ้านเมืองผ่านปากเหยี่ยวปากกามาได้จนถึงทุกวันนี้

คำถามที่สอง ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์มาจากการรีดนาทาเร้นภาษีอากรราษฎรและการกดขี่ข่มเหงแรงงาน

คำถามนี้มีบทความและนักวิชาการหลายท่านเช่น Workpoint Explainer ได้เขียนบทความ ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์อธิบายให้เข้าใจได้ง่าย เอาไว้ว่า

##################

3) โดยภาษีที่เก็บได้จากประชาชน รัชกาลที่ 5 จะจัดสรรเงินก้อนใหญ่เข้าคลังของประเทศ เพื่อใช้ในการบริหารบ้านเมือง ส่วนอีก 15% จะถูกนำส่ง “พระคลังข้างที่” เปรียบเสมือนหน่วยงานที่รับผิดชอบทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ โดยพระคลังข้างที่จะเอาเงินที่ได้มา ไปลงทุนในธุรกิจต่างๆ เช่นการรถไฟ การเดินเรือ การธนาคาร ฯลฯ เพื่อทำให้ทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์มีความเติบโตมากขึ้น
ที่มา https://today.line.me/th/v2/article/1lZoGm

##################

เช่นเดียวกันกับ รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

##################


1. ก่อน 2475 ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ มีชื่อเรียกว่าพระคลังข้างที่ รายได้ของพระคลังข้างที่มาจากอะไรบ้าง มาจากการเก็บภาษีในรูปแบบต่าง ๆ การเกณฑ์แรงงานไพร่มาทำงานให้กษัตริย์ (3-6 เดือน/ปี แล้วแต่รัชสมัย) การผูกขาดการค้าต่างประเทศ การเป็นเจ้าของที่ดินขนาดใหญ่ในกรุงเทพ การลงทุนสารพัดที่มาจากเงินภาษีของประชาชน ฯลฯ


2. รายได้จากข้อ 1 เกิดขึ้นได้เพราะก่อน 2475 กษัตริย์มีสถานะเป็น “รัฐ” หรือ “องค์อธิปัตย์” จึงมีอำนาจในการกระทำการต่างๆ ตามกฎหมายที่กษัตริย์บัญญัติขึ้น ทรัพย์สินที่เพิ่มพูนขึ้นจึงไม่ได้มาจากความสามารถส่วนบุคคลล้วน ๆ ขณะที่ราษฎรปกติไม่มีอำนาจพิเศษนี้ ทรัพย์สินที่ราษฎรได้มาจึงต้องถือว่าเป็นทรัพย์สินส่วนบุคคลอย่างแท้จริง จะเอาหลักการนี้มาใช้กับทรัพย์สินของกษัตริย์ไม่ได้
ที่มา >> shorturl.at/fhEOT

##################

ข้อสังเกตดังกล่าวหาได้เป็นจริงไม่ ทั้งนี้ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีขุนนางบางคนเสนอให้หักรายได้แผ่นดินจากภาษีอากรมาเป็นเงินพระคลังข้างที่ร้อยละ ๑๕ แต่ที่ปรึกษาราชการแผ่นดินต่างประเทศในเวลานั้นชื่อนายอินเนส (Mitchell Inness) ไม่ได้ยอมให้ทรงทำเช่นนั้น และมีตัวเลขจากกรมบาญชีกลางที่แสดงเลยว่าได้ไม่ได้คงที่ร้อยละ ๑๕ และไม่ถึงร้อยละ ๑๕ แต่อย่างใด อาจจะมีเกินบ้างเป็นบางปีแต่ส่วนใหญ่ต่ำกว่ามาก

ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตั้งสมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาท (พระอัยกาของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง) เป็นเสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ กรมพระจันทบุรีนฤนาททรงเป็นผู้ทัดทานการใช้เงินของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวอยู่เป็นนิตย์ และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงฟังคำทัดทานเหล่านั้นเพราะทรงถือว่ากรมพระจันทบุรีนฤนาททรงเป็นพระเชษฐาผู้มีความปรารถนาดีต่อพระองค์เอง

ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ The great depression ไปทั่วโลก ทรงตัดเงินงบประมาณกระทรวงวังของพระองค์เองลงไปเป็นอันมาก เกิดการดุลย์ข้าราชการกระทรวงวังออกไปมากมายเพื่อให้งบประมาณแผ่นดินเข้าสู่สมดุลโดยที่ทรงยอมลดหน่วยงานและข้าราชการในส่วนของพระองค์เองก่อนใครทั้งหมด

อีกประการหนึ่งบูรพกษัตริย์ได้ทรงพยายามยกเลิกภาษีต่างๆ ที่จัดเก็บเพื่อเป็นรายได้เข้าคลัง ได้แก่

ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงยกเว้นอากรน้ำและอากรตลาด

ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงจ้างกุลีจีนและเก็บเงินผูกปี้ ได้มากมาย นอกจากนี้ พระเจ้าแผ่นดินยังทรงค้าสำเภาหารายได้มาเป็นของแผ่นดิน และทรงประกอบกิจการอื่นๆ อีกมาก โดยเฉพาะพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงค้าสำเภาเก็บเงินกำไรใส่ไว้ในถุงแดงข้างพระที่บรรทม

ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงยกเลิกอากรบ่อนเบี้ย เพราะทรงไม่ต้องการให้คนไทยเป็นทาสการพนัน ทรงรังเกียจมาก ทรงยอมสละรายได้ของประเทศจำนวนครึ่งหนึ่ง (คิดดูเอาแล้วกันว่าคนไทยชอบเล่นพนันขนาดไหน) เพื่อให้คนไทยเลิกอบายมุขให้ได้

นอกจากนี้ข้อหาที่กล่าวว่าทรัพย์สินพระมหากษัตริย์มาจากการรีดนาทาเร้นแรงงานไพร่ ก็เกินไปจากความเป็นจริงมากดังนี้

ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงลดการเข้าเวรแรงงานไพร่จากหกเดือน เหลือสามเดือน ท้ายที่สุดก็เลิกเกณฑ์แรงงานไพร่

ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเลิกทาสได้อย่างละมุนละม่อม ด้วยทรงต้องการให้ประชาชนได้เป็นไทแก่ตน ได้ทำมาหากินเลี้ยงชีพโดยสุจริตได้

และสมัยรัตนโกสินทร์แม้กระทั่งอยุธยาก็จ้างกุลีจีนและทหารต่างชาติจำนวนมากมาย พระเจ้าแผ่นดินไทยไม่ได้โหดร้ายเป็น feudal lord แบบยุโรป ไม่ได้กดขี่อะไร เช่นนั้น

โปรดอ่านรายละเอียดได้จาก ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์หาได้มาจากแรงงานไพร่-ทาสทั้งสิ้นไม่ https://mgronline.com/daily/detail/9650000061548

คำถามที่สาม เมื่อเป็นทรัพย์สินในพระปรมาภิไธย/ตามพระราชอัธยาศัยแล้ว จะยักย้ายถ่ายเทอย่างไรก็ได้

ข้อกล่าวหาและคำถามนี้มาจากนายอานนท์ นำภา โปรดอ่านได้จาก เรื่องเท็จเกี่ยวกับวัดพระแก้วฯ จากปาก “นายอานนท์ นำภา” ว่าด้วยทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ https://mgronline.com/daily/detail/9630000120557

คำถามเช่นนี้เป็นคำถามที่หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เพราะดูหมิ่นพระสติปัญญาของพระเจ้าแผ่นดินว่าไม่ทรงทราบเลยหรือว่าพระแก้วมรกต วัดพระแก้ว และพระบรมมหาราชวัง หาใช่เป็นเพียงทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ แต่เป็นทรัพย์สมบัติอันมีค่าทางวัฒนธรรม ประเพณี ประวัติศาสตร์ ศิลปะ และทางจิตใจของคนไทยทุกหมู่เหล่า ไม่มีทางที่จะทรงยักย้ายถ่ายเทให้เป็นสมบัติของชาติใดชาติหนึ่ง คนใดคนหนึ่ง ในทางตรงกันข้ามพระเจ้าแผ่นดินและเจ้านายทุกพระองค์ได้ทรงมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ ต่อยอด บำรุงรักษาสมบัติของแผ่นดินอันเป็นทรัพย์สินพระมหากษัตริย์เหล่านี้ไว้สืบไปชั่วลูกหลาน

นอกจากนี้นับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงถือทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ไว้ในพระปรมาภิไธยก็มิได้ทรงยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินเหล่านั้นไปไหน ในทางตรงกันข้ามกลับพระราชทานที่ดินมูลค่านับแสนล้านบาทให้กับหน่วยราชการและพระราชทานเงินเพื่อช่วยเหลือประชาชน ซื้ออุปกรณ์การแพทย์ และนำไปทรงใช้ประโยชน์เป็นสาธารณกุศลอีกมากมาย อันเป็นเรื่องที่น่าชื่นชมยินดีและตรงข้ามกับคำกล่าวร้ายอย่างสิ้นเชิง

คำถามที่สี่ สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ไม่ใช่หน่วยราชการ ลักลั่นเพราะเป็นการรวบอำนาจ และไม่เป็นประชาธิปไตย

ข้อคำถามนี้มาจากสมศักดิ์ เจียมธีรสกุลจากบทความในหนังสือพระพรหมช่วยอำนวยให้ชื่นฉ่ำ ของสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันและมีแนวคำพิพากษาศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบกลางได้วินิจฉัยไว้ว่า สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ทำงานถวายพระราชา ดังนั้นสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์จึงถือว่าเป็นหน่วยราชการ ทำให้สำนักงานทรัพย์สินฯ อยู่ในขอบเขตอำนาจของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตพ.ศ. ๒๕๖๑ และสามารถประทับรับฟ้องคดีที่เจ้าหน้าที่ของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์รับสินบนโดยไม่สุจริตจากนายสกุลธร จึงรุ่งเรืองกิจได้

ส่วนข้อกล่าวหาที่ว่าลักลั่นเป็นการรวบอำนาจนั้น ก็ฟังไม่ขึ้นเพราะการบริหารทรัพย์สินพระมหากษัตริย์มีคณะกรรมการตามที่ทรงแต่งตั้ง เมื่อเป็นทรัพย์สินของสถาบันพระมหากษัตริย์ก็ต้องได้รับการดูแลจัดการโดยคณะกรรมการที่ทรงไว้วางพระราชหฤทัย ไม่จำเป็นต้องเป็นประชาธิปไตย การบริหารทรัพย์สินโดยทั่วไปก็ไม่ได้มีความเป็นประชาธิปไตย เช่นการประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทต่างๆ ผู้ที่ถือหุ้นมากก็ย่อมมีสิทธิออกเสียงมาก ไม่เคยมีที่ประชาชนทั่วไปจะเข้าไปลงมติออกเสียงได้ หากไม่ได้เป็นผู้ถือหุ้น จึงเป็นคำกล่าวหาที่เลื่อนลอย ไม่สอดคล้องกับการจัดการทรัพย์สินตามหลักการทางการเงินและการบัญชีโดยทั่วไป ทั้งนี้โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์เป็นหน่วยงานของรัฐสามารถถูกฟ้องร้องหรือตรวจสอบได้หรือไม่? https://mgronline.com/daily/detail/9640000053200

คำถามที่ห้า การปฏิวัติ 2475 ทำให้ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ถูกยึดเป็นของประชาชน จนหมดสิ้นแล้วโดยสมบูรณ์

รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เขียนไว้ว่า

##################



4. เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 กษัตริย์ไม่ได้มีสถานะเป็นรัฐหรือองค์อธิปัตย์อีกต่อไป ทรัพย์สินทั้งหลายที่ได้มาด้วยกลไกอำนาจ “รัฐ” จึงต้องถูกโอนย้ายมาอยู่ใต้การกำกับดูแลของรัฐบาล ซึ่งเป็นองค์กรที่ใช้อำนาจอธิปไตยแทนประชาชน shorturl.at/io289

##################

การปฏิวัติ 2475 ไม่ใช่ปฏิวัติคอมมิวนิสต์ ไม่ใช่ปฏิวัติบอลเชวิค ไม่มีการยึดทรัพย์ของประชาชน ไม่มีการทำนารวม ไม่มีระบบคอมมูน ทุกคนรวมถึงพระมหากษัตริย์ยังคงถือทรัพย์สินเป็นการส่วนตัวได้ นอกจากนี้ยังไม่มีการล้มล้างราชวงศ์จักรี และไม่มีการยึดพระราชทรัพย์ของพระเจ้าแผ่นดินแบบเดียวกันกับที่เกิดขึ้นกับราชวงศ์ชิงและราชวงศ์โรมานอฟในจีนและรัสเซีย ดังนั้นกรรมสิทธิ์และหลักกรรมสิทธิ์ยังคงอยู่กับทรัพย์สินพระมหากษัตริย์และทรัพย์สินส่วนพระองค์ แม้ว่าจะมีการปล้นชิงพระคลังข้างที่ โดยมีขุนนิรันดรชัย เป็นตัวการหลัก แต่ก็เกิดการอภิปรายไม่ไว้วางใจในสภาผู้แทนราษฎรจนกระทั่งรัฐบาลพันเอกพระยาพหลพลหยุหเสนา ต้องลาออกทั้งคณะ ได้มีการออกกฎหมายเพื่อลิดรอนพระราชอำนาจในการบริหารและการใช้จ่ายพระราชทรัพย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกำหนดให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจในการดูแลทรัพย์สินพระมหากษัตริย์โดยตรง ต่อมาแก้ไขให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นผู้ที่มีอำนาจดูแล แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงผู้ที่มีอำนาจดูแลทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ไปกี่คนก็ตามแต่ดอกผลและผลประโยชน์ยังเป็นของเจ้าของกรรมสิทธิ์คือพระเจ้าแผ่นดินดังเดิม โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้จากบทความ หลักกรรมสิทธิ์/หลักกฎหมายหุ้นส่วน/บริษัท/กองทุนในทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ https://mgronline.com/daily/detail/9650000081331

คำถามที่หก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแพ้คดีที่ถูกฟ้องเรียกคืนทรัพย์สินพระมหากษัตริย์

คดีนี้ทำให้กลุ่มคณะราษฎร 2475 ให้กรมโฆษณาการ (กรมประชาสัมพันธ์) ได้ออกข่าวว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแพ้คดีที่รัฐบาลเป็นผู้ฟ้องร้อง ทั้ง ๆ ที่เป็นคดีที่มีความผิดปกติหลายประการ หนึ่งมีการ ตัดสินให้กฎหมายมีผลย้อนหลังในทางที่ไม่เป็นคุณกับจำเลย และสอง น่าจะมีการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมอย่างร้ายแรง ขอให้ลองพิจารณาไทม์ไลน์ของคดีนี้ดังนี้

1. ปฏิวัติ 24 มิถุนายน 2475 และ พระราชทานรัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม 2475
2. รัชกาลที่ 7 พร้อมพระราชินี เดินทางออกไปรับการรักษาพระเนตรที่อังกฤษ เมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ.2476
3. ทรงถอนเงินที่เหลือราว 6 ล้าน ที่รัชกาลที่ 5 ฝากไว้ในนามking of Siam ในลอนดอน และรัชกาลที่ 6 ถอนออกไปทรงใช้แล้ว 4 ล้าน ด้วยทรงถือว่าเป็นทรัพย์ส่วนพระองค์
4. รัชกาลที่ 7 สละ ราชสมบัติในที่สุด เมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ.2477 เวลา 13 นาฬิกา 45 นาที!
5. พระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พุทธศักราช 2479 และเริ่มใช้บังคับตั้งแต่ 15 มิถุนายน 2479
6. ปี 2482 รัฐบาลยื่นฟ้องรัชกาลที่ 7 เป็นจำเลยที่ 1 และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี เป็นจำเลยที่ 2 ให้ชดใช้เงินแก่กระทรวงการคลัง เป็นจำนวนทั้งสิ้น 6,272,712 บาท โดยรัฐบาลถือว่าเป็นการยักยอกทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ไปเป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์ กฎหมายใดจึงมีผลย้อนหลังได้หนอ?
7. หลวงประดิษฐมนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) ได้ขอให้ศาลสั่งยึดทรัพย์จำเลยระหว่างการพิจารณาโดยอ้างเหตุผลคือเกรงจำเลยทั้งสองจะยักย้ายถ่ายเททรัพย์สิน!
8. อธิบดีศาลแพ่ง คุณพระสุทธิอรรถนฤมนต์ “ไม่อนุญาต” จึงมีคำสั่งให้คุณพระสุทธิอรรถนฤมนต์ ออกจากราชการฐานรับราชการนาน!
9. คดีหมายเลขดำที่ 242/2482 คดีหมายเลขแดง ที่ 404/2484 ลงวันที่ 20 กันยายน พ.ศ.2484 (พิพากษาหลังสวรรคตแล้ว) ให้ล้นเกล้าทั้งสองพระองค์แพ้คดี!
10. รัฐบาลยึดวังศุโขทัยและริบทรัพย์สินอื่นของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเพื่อนำไปขายทอดตลาด แต่ในที่สุดก็ไม่ได้ขาย
11. พ.ศ.2485 กระทรวงสาธารณสุขขอเช่าวังศุโขทัยจากกระทรวงการคลังในอัตรา 5,000 บาทต่อเดือน จนย้ายออกไปในเดือนพฤศจิกายน 2493
12. วันที่ 26 พฤศจิกายน 2489 รัฐบาลของพลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เกิดสัญญาประนีประนอมประวัติ ศาสตร์ขึ้นระหว่างรัฐบาลกับจำเลยที่ 2 บรรดาทรัพย์สินและหนี้สินทั้งหลายที่ผูกพันกันอยู่นั้น เป็นอันให้เลิกแล้วต่อกัน รัฐบาลได้มาแล้วเท่าไรก็เอาเท่านั้น
13. ปี 2492 สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 อัญเชิญพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวกลับสยามประเทศ ไม่ทรงมีวังที่ประทับ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี กราบบังคมทูลเชิญเสด็จมาประทับด้วยกันที่วังสระปทุม
14. สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 เสด็จไปทรงหาซื้อที่ดินที่จันทบุรี เพื่อสร้างวังสวนบ้านแก้วเป็นที่ประทับ
15. ปี 2495 หลังจากที่กระทรวงสาธารณสุขได้ย้ายออกไป ทางการก็ได้ถวายวังศุโขทัยคืนแด่สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีเพื่อเป็นที่ประทับจนเสด็จสวรรคต รายละเอียดโดยพิสดารโปรดอ่านได้จาก คดีที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวถูกฟ้องเรียกคืนทรัพย์สินพระมหากษัตริย์โดยไม่เป็นธรรม https://mgronline.com/daily/detail/9650000071701 คำถามที่เจ็ด การถือหุ้นในบริษัทเอกชนของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ทำให้เกิดการได้เปรียบและเกิดการผูกขาด ไม่เกิดการแข่งขัน

สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ เข้าไปลงทุนในกิจการต่างๆ ไม่ใช่เพื่อให้เกิดกำไรแต่เพียงอย่างเดียว หลายการลงทุนเป็นการลงทุนเพื่อการพัฒนาประเทศและลงทุนในธุรกิจที่ไม่มีใครกล้าลงทุนในเวลานั้น ยกตัวอย่างเช่น การลงทุนในธนาคารสยามกัมมาจลทุนจำกัดหรือธนาคารไทยพาณิชย์ในปัจจุบัน อันเป็นธนาคารพาณิชย์แห่งแรกของประเทศไทย เป็นการลงทุนเพื่อต่อสู้มิใช่การเงินและการธนาคารของไทยตกอยู่ในมือของธนาคารพาณิชย์ของชาติตะวันตกและระบบโพยก๊วนของจีนทั้งหมด เพื่อให้การเงินการคลังและการธนาคารของประเทศไทย อยู่ในมือคนไทยและเกิดความมั่นคงต่อชาติ โปรดอ่านได้จากบทความจากทรัพย์สินพระมหากษัตริย์สู่สยามกัมมาจลทุนสร้างรากฐานการเงินการธนาคารไทย https://mgronline.com/daily/detail/9650000061640

การลงทุนในปูนซิเมนต์ไทยในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อให้ประเทศไทยสร้างนวัตกรรมผลิตปูนซิเมนต์พอร์ตแลนด์ได้ด้วยตนเอง ทดแทนการนำเข้า และช่วยให้มีโครงสร้างพื้นฐานในการพัฒนาบ้านเมือง โดยเฉพาะการก่อสร้างสาธารณูปโภค ถนนหนทาง ตึกรามบ้านช่อง ทั้งนี้เครือซิเมนต์ไทยได้ผลักดันนวัตกรรมเพื่ออนาคตมาโดยตลอด โปรดอ่านได้จากบทความ จากพระราชวิสัยทัศน์สู่นวัตกรรมแห่งอนาคต-เครือซิเมนต์ไทย https://mgronline.com/daily/detail/9650000062730 หรือแม้แต่การลงทุนในบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ก็เพื่อความมั่นคงทางสาธารณสุขและการแพทย์ของไทยให้ ประเทศไทยสามารถพึ่งพาตนเองได้ในการผลิตยาด้วยเทคโนโลยีชีววัตถุ (Biosimilar) ซึ่งต่อมาได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีทำให้สามารถผลิตวัคซีนโควิด-19 ได้ในวิกฤติมหาโรคระบาด เป็นการช่วยชีวิตคนไทยในภาวะวิกฤติโรคระบาดที่เกิดขึ้นทั่วโลก โปรดอ่านได้จากบทความทรัพย์สินพระมหากษัตริย์เพื่อขาดทุนคือกำไร จิตใจไม่สูงพอคงไม่เข้าใจ https://mgronline.com/daily/detail/9650000072062
ทั้งนี้กิจการที่สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์เข้าไปลงทุน ไม่ใช่กิจการที่มีการผูกขาด ธนาคารพาณิชย์ของไทยมีประมาณ 20 ธนาคาร ธนาคารไทยพาณิชย์เป็นหนึ่งในนั้น และมีธรรมาภิบาลที่ดี ได้รับการยอมรับยกย่องและได้รับรางวัลมากมาย เครือซิเมนต์ไทยเองก็มิได้เป็นกิจการผูกขาดในทางตรงกันข้าม ซิเมนต์ไทยเคมิคัลช่วยลดการผูกขาดในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและเม็ดพลาสติกเสียด้วยซ้ำ ทำให้เกิดการแข่งขัน และเครือซิเมนต์ไทยก็ได้รับรางวัลด้านธรรมาภิบาล (Good governance) เป็นจำนวนมากมายอีกเช่นกัน

ดังนั้นคำถามที่ว่าการถือหุ้นในบริษัทเอกชนของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ทำให้เกิดการได้เปรียบและเกิดการผูกขาด
ไม่เกิดการแข่งขันจึงไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด

คำถามที่แปด ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์เกื้อหนุนทุนของชนชั้นกระฎุมพี


คำถามนี้มาจากวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของ ผศ.ดร. ปวงชน อุนจะนำ แห่งมหาวิทยาลัยนเรศวร ซึ่งได้ตีพิมพ์วิทยานิพนธ์ปริญญาเอกเป็นหนังสือชื่อ Royal Capitalism: Wealth, Class, and Monarchy in Thailand ซึ่งได้แปลเป็นภาษาไทยในชื่อทุนนิยมเจ้า โดยสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน และมีบทสัมภาษณ์ในประเด็นทุนนิยมเจ้านี้ในชื่อบทความ เจ้าฟ้า-เจ้าสัว: จากความมั่งคั่งบนสายสัมพันธ์ สู่การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ‘ปวงชน อุนจะนำ’ https://www.the101.world/puangchon-unchanam-interview/ โดยมีข้อวิพากษ์ว่ากษัตริย์ของไทยเป็น กษัตริย์กระฎุมพี (Bourgeois Monarchy) โดยมีทุนนิยมกระฎุมพีโคจรอยู่รอบตลอดเวลา ทุนนิยมกระฎุมพีสนับสนุนกษัตริย์นิยมผ่านทุน ในขณะที่กษัตริย์กระฎุมพีก็เกื้อหนุนทุนนิยมกระฎุมพีเช่นเดียวกันทำให้ประชาชนและชนชั้นแรงงานไม่สามารถปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ได้ ขัดขวางการเกิดรัฐสวัสดิการ ทั้งกษัตริย์กระฎุมพีและทุนนิยมกระฎุมพีต่างเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประชาธิปไตย

คำถามนี้ไม่ให้ความยุติธรรมต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ที่จะเลือกโปรดเกล้าเฉพาะคนบางชนชั้นก็ย่อมไม่ได้ ต้องโปรดเกล้าเสมอกันไม่ว่าประชาชนจะยากดีมีจน จะเป็นกระฎุมพีหรือไม่เป็นกระฎุมพีก็ตาม ย่อมได้รับพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณเสมอหน้ากันทั้งสิ้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยมหาราช โปรดเสด็จประพาสต้นปลอมเป็นคนธรรมดา ทรงมีเพื่อนต้นมากมาย ไม่ได้โปรดทรงคบแต่ขุนนางข้าราชการ เจ้านาย หรือพ่อค้า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงโปรดประชาชนผู้ยากไร้ เสด็จไปยังถิ่นแดนทุรกันดารเพื่อเยี่ยมเยียนประชาชน ภาพในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงน้อมพระองค์ลงไปยังแม่เฒ่าตุ้ม จันทนิตย์ หญิงรชราชาวจังหวัดนครพนม ที่ถือดอกบัวสายมารอรับเสด็จตั้งแต่เช้าจนดอกบัวเหี่ยวเฉาแต่กลับได้รับพระมหากรุณาธิคุณ ตรัสด้วยอย่างละมุนละไม และทรงรับดอกบัวสายนั้นไว้ เป็นภาพที่คนไทยต่างซาบซึ้งดีในพระราชจริยวัตร

ภาพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงสนทนากับชายชาวมุสลิมไม่สวมเสื้อ ชื่อว่า วาเด็ง พระสหายแห่งสายบุรี ที่จังหวัดนราธิวาส ก็เป็นภาพที่อยู่ในหัวใจคนไทย พระมหากษัตริย์ไทยไม่ใช่แต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าเฉพาะชนชั้นทุนนิยมกระฎุมพี ในความเป็นจริงทรงโปรดเกล้าราษฎรที่ยากจนและยากไร้ ทรงใกล้ชิดประชาชนผู้ยากจน ผู้ตกทุกข์ได้ยากลำบากพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวเองก็ทรงงานแบบปิดทองหลังพระ กรณีเด็กทีมฟุตบอลหมูป่าอคาเดมี่ติดถ้ำขุนน้ำนางนอน เด็กเหล่านี้หลายคนไม่ได้มีสัญชาติไทยเป็นคนชายขอบก็ได้รับพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณ ทรงจัดหาอุปกรณ์ดำนำ ทรงช่วยติดต่อนักดำน้ำในถ้ำ (Cave diver) ระดับโลกให้มาช่วยกู้ภัยและกู้ชีวิต การวิจารณ์โดยลากทฤษฎีชนชั้นและทฤษฎีฝ่ายซ้าย มาอธิบายเพียงด้านเดียวและเลือกเสนอเฉพาะมุมมองที่คับแคบดังกล่าวจึงไม่เป็นธรรมต่อสถาบันพระมหากษัตริย์เลยแม้แต่น้อยและไม่รอบคอบไม่รอบด้านตามหลักวิชาการ

คำถามที่เก้า มีการควบรวมทรัพย์สินส่วนพระองค์กับทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เข้าเป็นกองเดียวกันจริงหรือไม่?


คำถามนี้เป็นคำถามที่หลายคนรวมถึงรุ้ง ปนัสยาเข้าใจผิดว่าเป็นการรวมทรัพย์สินสองกองคือทรัพย์สินส่วนพระองค์กับทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เข้ามาเป็นกองเดียวกัน ในความเป็นจริง พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ในปี ๒๕๖๑ ได้รวมหน่วยงานสองหน่วยงานคือสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระองค์และสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เข้ามาเป็นหน่วยงานเดียวกันในนามสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ แต่กองทุนสองกองทุนนี้ยังแยกกันอย่างชัดเจนแต่มีผู้บริหารและคณะกรรมการเป็นชุดเดียวกัน โปรดอ่านเพิ่มเติมได้จาก ทำไมจึงต้องแก้ไขพรบ. จัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ในปี
๒๕๖๑ https://mgronline.com/daily/detail/9650000077678

คำถามที่สิบ การตรวจสอบสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ไม่สามารถทำได้ใช่หรือไม่?
สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ซึ่งทำหน้าที่Auditor ของแผ่นดินได้เข้าตรวจสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์และให้การรับรองงบการเงินของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ทั้งนี้เป็นการทำตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ต้องการให้เกิดความโปร่งใส แน่วแน่แก้ไขในสิ่งผิด ทั้งๆ ที่สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ไม่จำเป็นต้องได้รับการตรวจจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ทั้งนี้ผู้ที่มีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบเงินของแผ่นดินได้ทำหน้าที่อยู่แล้ว สำหรับประชาชนโดยทั่วไปจะทำหน้าที่ตรวจสอบสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ได้หรือไม่นั้น คงไม่มีความจำเป็น เพราะสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์มิได้ใช้งบประมาณแผ่นดินเลยแม้แต่บาทเดียวมาโดยตลอด ดังนั้นการเข้าไปตรวจสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ก็มิอาจจะทำได้ เช่นเดียวกันกับที่ประชาชนไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบทรัพย์สินของคนทั่วไปไม่ได้ เพราะถือว่าเป็นเรื่องส่วนบุคคล ทั้งนี้สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้จากบทความสำนักงานทรัพย์สินพระมหา กษัตริย์เป็นหน่วยงานของรัฐสามารถถูกฟ้องร้องหรือตรวจสอบได้หรือไม่? https://mgronline.com/daily/detail/9640000053200

คำถามที่สิบเอ็ด สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ถูกฟ้องร้องได้หรือไม่
?
สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์สามารถถูกฟ้องร้องได้ โปรดอ่านได้จากบทความ The
king can do no wrong. ในการจัดการทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ https://mgronline.com/daily/detail/9650000091000

ทั้งนี้ตาม พ.ร.บ. จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. ๒๕๖๑ ได้ระบุถึงหลักการThe king can do no wrong. เอาไว้ในมาตรา ๖ ดังนี้

มาตรา ๖ การจัดการ การดูแลรักษา การจัดหาผลประโยชน์ และการดาเนินการอื่นใดอันเกี่ยวกับทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย เพื่อการนี้ พระมหากษัตริย์จะทรงมอบหมายให้สานักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ บุคคลใด หรือหน่วยงานใดเป็นผู้จัดการทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ สำหรับทรัพย์สินใดภายใต้เงื่อนไขอย่างใดก็ได้

เมื่อได้ทรงมอบหมายให้สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ บุคคลใด หรือหน่วยงานใดเป็นผู้จัดการทรัพย์สินพระมหากษัตริย์สำหรับทรัพย์สินใดแล้ว ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

ในกรณีทั้งปวงเกี่ยวกับทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ห้ามมิให้ระบุพระปรมาภิไธยหรือข้อความใดอันแสดงหรืออนุมานได้ว่าพระมหากษัตริย์เป็นคู่กรณีหรือคู่ความ ให้ระบุเพียงชื่อผู้ได้รับการมอบหมายดังกล่าวแล้ว และในกรณีที่ทรงมอบหมายให้บุคคลหรือหน่วยงานอื่นใดที่มิใช่สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์เป็นผู้จัดการ ให้ต่อท้ายด้วยคำว่า “ผู้จัดการทรัพย์สินในพระองค์” หรือ
“ผู้จัดการทรัพย์สินในพระมหากษัตริย์” แล้วแต่กรณี สำหรับทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ที่สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์มีหน้าที่เป็นผู้จัดการ ให้สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์เป็นคู่กรณีหรือคู่ความ

จะเห็นได้ว่ามาตรา ๖ วรรค ๓ เป็นไปตามหลักการThe king can do no wrong. ต้องมีคู่กรณีแทนองค์พระมหากษัตริย์

ในทางตรงกันข้าม สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ก็สามารถฟ้องร้องบุคคลหรือหน่วยงานได้เช่นกัน ดังกรณีปรากฏในคดีที่ สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ฟ้องชนะคดีปล้นพระคลังข้างที่ ๒๔๗๕ https://mgronline.com/daily/detail/9650000090962

คำถามที่สิบสอง หากเกิดการผลัดแผ่นดิน การถือครองทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ในพระปรมาภิไธย จะเกิดปัญหาหรือไม่?


มีหลายคนห่วงว่าหากเกิดการผลัดแผ่นดินแล้วก็ที่ทรงถือทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ไว้ในพระปรมาภิไธยจะเกิดปัญหาหรือไม่
ในกรณีนี้ พ.ร.บ.ภาษีการรับมรดก พ.ศ. ๒๕๕๘ มาตรา ๑๒ ได้ระบุไว้ว่า

ผู้ได้รับมรดกจากเจ้ามรดกแต่ละราย ไม่ว่าจะได้รับมาในคราวเดียวหรือหลายคราว ถ้ามรดกที่ได้รับมาจากเจ้ามรดกแต่ละรายรวมกันมีมูลค่าเกินหนึ่งร้อยล้านบาท ต้องเสียภาษีเฉพาะส่วนที่เกินหนึ่งร้อยล้านบาท

มูลค่ามรดกตามวรรคหนึ่ง หมายถึงมูลค่าของทรัพย์สินทั้งสิ้นที่ได้รับเป็นมรดกหักด้วยภาระหนี้สิน อันตกทอดมาจากการรับมรดกนั้น

ให้มีการพิจารณาทบทวนมูลค่ามรดกตามวรรคหนึ่งทุกห้าปี โดยนําอัตราการเปลี่ยนแปลงดัชนีราคาผู้บริโภคที่กระทรวงพาณิชย์คํานวณเพื่อใช้ในราชการในรอบระยะเวลานั้นมาประกอบการพิจารณาด้วยโดยการกําหนดมูลค่ามรดกขึ้นใหม่ให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา

มาตรา ๑๓ บทบัญญัติในมาตรา ๑๒ ไม่ใช้บังคับแก่
(๑) บุคคลผู้ได้รับมรดกที่เจ้ามรดกแสดงเจตนาหรือเห็นได้ว่ามีความประสงค์ให้ใช้มรดกนั้นเพื่อประโยชน์ในกิจการศาสนา
กิจการศึกษา หรือกิจการสาธารณประโยชน์
(๒) หน่วยงานของรัฐและนิติบุคคลที่มีวัตถุประสงค์เพื่อกิจการศาสนา กิจการศึกษา หรือกิจการ สาธารณประโยชน์
(๓) บุคคลหรือองค์การระหว่างประเทศตามข้อผูกพันที่ประเทศไทยมีอยู่ต่อองค์การสหประชาชาติ หรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ หรือตามสัญญาหรือตามหลักถ้อยทีถ้อยปฏิบัติต่อกันกับนานาประเทศ

ทั้งนี้ เฉพาะตามประเภทหรือรายชื่อที่กําหนดในกฎกระทรวง โดยในกฎกระทรวงดังกล่าว จะกําหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีตรวจสอบติดตามไว้ด้วยก็ได้

โดยได้มีการประกาศกฎกระทรวงเมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๖๐ เอาไว้ว่าบุคคลที่ระบุไว้ในมาตรา ๑๓ (๑) คือบุคคลซึ่งได้รับเงินปีพระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่ชั้นพระองค์เจ้าขึ้นไป ตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการจ่ายเงินเดือน เงินปี บำเหน็จบำนาญ
และเงินอื่นในลักษณะเดียวกัน พ.ศ. ๒๕๓๕

ดังนั้นการถือทรัพย์สินในพระปรมาภิไธยจึงไม่มีปัญหาแต่ประการใดเมื่อมีการผลัดแผ่นดิน เพราะจะไม่มีปัญหาเรื่องการต้องเสียภาษีมรดกเนื่องจากเป็นไปตามมาตรา ๑๓ วรรค ๑

ทั้งหมดคือคำถาม ๑๒ ข้อและคำตอบ ๑๒ ข้อเกี่ยวกับทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ทั้งนี้ คำตอบที่ ๑๓ จึงอยู่ที่ผู้อ่านต้องตอบคำถามกับตนเองให้ได้ว่าจะเลือกเชื่อความจริงหรือเชื่อสิ่งที่ถูกบิดเบือน




กำลังโหลดความคิดเห็น