xs
xsm
sm
md
lg

ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ตอนที่ ๒๖ : The king can do no wrong ในการจัดการทรัพย์สินพระมหากษัตริย์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์



ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
สาขาวิชาพลเมืองวิทยาการข้อมูล (Citizen data sciences)
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์


รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ๒๕๖๐ ได้บัญญัติไว้ในมาตรา ๒ ว่า ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

สำหรับผมแล้วคิดว่าเป็นคำที่ไม่ตรงนักเพราะเราแปลมาจาก Constitutional Monarchy ผิดเพี้ยนไป ซึ่งความจริงน่าจะแปลว่าราชาธิปไตยที่มีรัฐธรรมนูญมากกว่า โปรดอ่านได้จากบทความราชาธิปไตยที่มีรัฐธรรมนูญ (Constitutional monarchy) https://mgronline.com/daily/detail/9640000041441

และเนื่องจากองค์พระมหากษัตริย์ทรงเป็นองค์รัฎฐาธิปัตย์ (Sovereignty) ตามรัฐธรรรมนูญมาตรา ๓ แต่มิทรงใช้พระราชอำนาจด้วยพระองค์เองดังที่บัญญัติว่า มาตรา ๓ อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุข ทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ

เนื่องจากมิได้ทรงใช้พระราชอำนาจในการปกครองบ้านเมืองด้วยพระองค์เองแต่มีผู้แทนหรือผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ทำให้ทรงมีพระสถานะเหนือการเมือง เป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องมิได้ ดังบัญญัติไว้มาตรา ๖ องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใด ๆ มิได้

รัฐธรรมนูญมาตรา ๓ และ ๖ นี้เป็นพื้นฐานของหลักการ The king can do no wrong. ในการบริหารราชการแผ่นดิน โดยที่รัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๘๒ ได้บัญญัติไว้ว่า บทกฎหมาย พระราชหัตถเลขา และพระบรมราชโองการอันเกี่ยวกับราชการแผ่นดิน ต้องมีรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ เว้นแต่ที่มีบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นในรัฐธรรมนูญ เพื่อให้รักษาหลักการ The king can do no wrong. ไว้โดยมีผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแทนพระมหากษัตริย์

ในส่วนของทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สินในพระองค์หรือทรัพย์สินในพระมหากษัตริย์ เพื่อป้องกันมิให้เกิดปัญหาหรือการฟ้องร้ององค์พระมหากษัตริย์จึงจำเป็นต้องมีผู้แทนหรือผู้ที่ลงนามแทนองค์พระมหากษัตริย์ในการบริหารทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ซึ่งมีความเสี่ยงสูงในการเกิดขัดแย้ง ดังนั้นหลักการ The king can do no wrong. ในทรัพย์สินพระมหากษัตริย์จึงสำคัญยิ่ง และจำเป็นต้องมีเพื่อให้ทรงอยู่ในสถานะที่เคารพสักการะสูงสุดผู้ใดจะล่วงละเมิดไม่ได้

พ.ร.บ. จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ.๒๔๗๙ และ พ.ศ.๒๔๘๔ ไม่มีการระบุหลักการ The king can do no wrong. ไว้เพราะได้บัญญัติว่ากระทรวงการคลังเป็นผู้จัดการกองทุนทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ เมื่อหน่วยราชการเป็นผู้รับผิดชอบก็สามารถฟ้องร้องหน่วยราชการได้ จึงไม่จำเป็นที่จะต้องมีหลักการ The king can do no wrong. ปรากฏอยู่ในกฎหมาย

พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ.๒๔๙๑ มีการตั้งสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เป็นนิติบุคคลเพิ่มขึ้นมา มีคณะกรรมการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธานโดยตำแหน่ง และมีผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นคณะกรรมการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ด้วยหนึ่งคน

ในมาตรา ๕ วรรค ๓ พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. ๒๔๙๑ ได้บัญญัติไว้ว่า

ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์มีอำนาจหน้าที่ตามที่คณะกรรมการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์มอบหมาย และมีอำนาจลงลายมือชื่อเป็นสำคัญ ผูกพันสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

และในมาตรา ๕ ทวิ ของ พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. ๒๔๙๑ ได้บัญญัติไว้ว่า

เมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตามพระราชอัธยาศัยแต่งตั้งให้บุคคลใดเป็นผู้ดูแลรักษาและจัดหาผลประโยชน์ทรัพย์สินส่วนพระองค์ให้นายกรัฐมนตรีประกาศการแต่งตั้งนั้นในราชกิจจานุเบกษา

เมื่อได้มีการประตามความในวรรคก่อนแล้ว ในกรณีทั้งปวงเกี่ยวกับทรัพย์สินส่วนพระองค์ ห้ามมิให้ระบุพระปรมาภิไธยหรือข้อความใดๆ อันแสดงหรืออนุมานได้ว่า พระมหากษัตริย์เป็นคู่กรณีหรือคู่ความ ให้ระบุเพียงชื่อบุคคลผู้ได้รับการแต่งตั้งดังกล่าวแล้วต่อท้ายด้วยคำว่า “ผู้จัดการทรัพย์สินส่วนพระองค์” เท่านั้น

ดังนั้น มาตรา ๕ ทวินี้จึงเป็นหลักการ The king can do no wrong. สำหรับทรัพย์สินส่วนพระองค์ โดยมีตัวแทนคือผู้จัดการทรัพย์สินส่วนพระองค์เป็นผู้รับผิดชอบกรณีเกิดปัญหาหรือข้อพิพาท

สำหรับพ.ร.บ. จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. ๒๕๖๐ ได้ระบุถึงหลักการ The king can do no wrong. เอาไว้ในมาตรา ๖ ดังนี้

มาตรา ๖ การจัดการ การดูแลรักษา การจัดหาผลประโยชน์ และการดำเนินการอื่นใดอันเกี่ยวกับทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย เพื่อการนี้พระมหากษัตริย์จะทรงมอบหมายให้สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ บุคคลใด หรือหน่วยงานใดเป็นผู้จัดการทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์สำหรับทรัพย์สินใดภายใต้เงื่อนไขอย่างใดก็ได้

เมื่อได้ทรงมอบหมายให้สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ บุคคลใด หรือหน่วยงานใดเป็นผู้จัดการทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์สำหรับทรัพย์สินใดแล้ว ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

เมื่อได้มีการประกาศตามวรรคสองแล้ว ในกรณีทั้งปวงเกี่ยวกับทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ห้ามมิให้ระบุพระปรมาภิไธยหรือข้อความใด อันแสดงหรืออนุมานได้ว่าพระมหากษัตริย์เป็นคู่กรณีหรือคู่ความ ให้ระบุเพียงชื่อผู้ได้รับการมอบหมายดังกล่าวแล้ว และในกรณีที่ทรงมอบหมายให้บุคคลหรือหน่วยงานอื่นใดที่มิใช่สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นผู้จัดการ ให้ต่อท้ายด้วยคำว่า “ผู้จัดการทรัพย์สินส่วนพระองค์” หรือ “ผู้จัดการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์” แล้วแต่กรณี สำหรับทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ที่ทรงมอบหมายให้สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นผู้จัดการ ให้สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นคู่กรณีหรือคู่ความ

สำหรับพ.ร.บ. จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. ๒๕๖๑ ได้ระบุถึงหลักการ The king can do no wrong. เอาไว้ในมาตรา ๖ ดังนี้

มาตรา ๖ การจัดการ การดูแลรักษา การจัดหาผลประโยชน์ และการดาเนินการอื่นใดอันเกี่ยวกับทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย เพื่อการนี้ พระมหากษัตริย์จะทรงมอบหมายให้สานักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ บุคคลใด หรือหน่วยงานใดเป็นผู้จัดการทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ สาหรับทรัพย์สินใดภายใต้เงื่อนไขอย่างใดก็ได้

เมื่อได้ทรงมอบหมายให้สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ บุคคลใด หรือหน่วยงานใดเป็นผู้จัดการทรัพย์สินพระมหากษัตริย์สำหรับทรัพย์สินใดแล้ว ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

ในกรณีทั้งปวงเกี่ยวกับทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ห้ามมิให้ระบุพระปรมาภิไธยหรือข้อความใดอันแสดงหรืออนุมานได้ว่าพระมหากษัตริย์เป็นคู่กรณีหรือคู่ความ ให้ระบุเพียงชื่อผู้ได้รับการมอบหมายดังกล่าวแล้ว และในกรณีที่ทรงมอบหมายให้บุคคลหรือหน่วยงานอื่นใดที่มิใช่สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์เป็นผู้จัดการ ให้ต่อท้ายด้วยคาว่า “ผู้จัดการทรัพย์สินในพระองค์” หรือ “ผู้จัดการทรัพย์สินในพระมหากษัตริย์” แล้วแต่กรณี สำหรับทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ที่สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์มีหน้าที่เป็นผู้จัดการ ให้สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์เป็นคู่กรณีหรือคู่ความ

หลักการ The king can do no wrong. ในทรัพย์สินพระมหากษัตริย์นั้น นอกจากจะเป็นการปกป้ององค์พระมหากษัตริย์ให้เป็นไปตามมาตรา ๖ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแล้ว ยังช่วยทำให้คนที่เกี่ยวข้องได้เข้าใจชัดเจนว่าหากมีกรณีพิพาทหรือจำเป็นต้องฟ้องร้อง ใครคือคู่ความหรือคู่กรณีที่ระบุไว้ตามกฎหมาย เป็นการปกป้องคนที่เกี่ยวข้องไว้เช่นเดียวกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น