xs
xsm
sm
md
lg

สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์เป็นหน่วยงานของรัฐสามารถถูกฟ้องร้องหรือตรวจสอบได้หรือไม่?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์



ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
สาขาวิชา Business Analytics and Intelligence
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)


วันนี้มีน้องเกริกพล ศุภเสรีภาพ สำนักงานเลขานุการตำรวจแห่งชาติ สำนักงานตำรวจแห่งชาติส่งข้อความมาถามผมหลังไปเข้ารับการอบรมด้านกฎหมายปกครอง ผมเห็นว่าคำถามที่ถามมาเป็นคำถามที่น่าสนใจและน่าจะเป็นประโยชน์ต่อความรู้ความเข้าใจของส่วนรวม จึงขอเอามาเขียนตอบเป็นบทความ คำถามมีอยู่สามประเด็นดังนี้ครับ

ปุจฉา:
วันนี้ผมอบรมในวิชาการปฏิบัติราชการปกครอง เกิดปัญหาอภิปรายในการศึกษาที่ว่า สรุปแล้วสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ เป็นหน่วยงานราชการ หรือเป็นหน่วยงานของรัฐหรือไม่ หรือมีสถานะเป็นอื่นใด และหากเกิดปัญหาฟ้องร้อง จะสามารถฟ้องร้องสำนักงานทรัพย์สินฯ ได้หรือไม่ เพราะมีมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่าพระมหากษัตริย์ทรงดำรงสถานะที่ผู้ใดละเมิดมิได้ครับผม และการตรวจสอบสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์สามารถกระทำได้ไหม เช่นเดียวกันกับการตรวจสอบหน่วยราชการอื่นๆ

วิสัชนา : หนึ่ง สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์เป็นหน่วยงานของรัฐหรือไม่?
ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มีการบัญญัติถึงราชการในพระองค์ในหลายมาตรา ได้แก่ มาตรา 15

การแต่งตั้งและการให้ข้าราชการในพระองค์พ้นจากตำแหน่ง ให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย

การจัดระเบียบราชการและการบริหารงานบุคคลของราชการในพระองค์ ให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัยตามที่บัญญัติไว้ในพระราชกฤษฎีกา

จึงมีแนวความคิดว่าสมควรให้มีส่วนราชการในพระองค์เพื่อปฏิบัติราชการถวายพระมหากษัตริย์โดยตรง จึงตราพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการในพระองค์ โดยโอนส่วนราชการเดิม เช่น สำนักพระราชวัง มาเป็นส่วนราชการในพระองค์ และปรับปรุงพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ให้สำนักงานทรัพย์สินฯเป็นหน่วยงานในพระองค์ ส่วนราชการและหน่วยงานดังกล่าวจึงยังคงเป็นหน่วยงานของรัฐ แต่มีรูปแบบการบริหารเป็นการเฉพาะขึ้นตรงต่อพระมหากษัตริย์ เพื่อถวายงานให้สอดคล้องกับพระราชกรณียกิจที่จะต้องทรงงานตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และในฐานะประมุขของรัฐ

เนื่องจาก สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์จัดตั้งโดยมีพระราชบัญญัติเฉพาะ จึงไม่เป็นหน่วยราชการ ทั้งนี้สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ เป็นหน่วยงานในพระองค์ขึ้นตรงต่อองค์พระมหากษัตริย์ ถือว่า เป็นหน่วยงานของรัฐ เช่นกัน

หากจะเปรียบเทียบก็เหมือนกับ มหาวิทยาลัยต่างๆ ที่ออกนอกระบบราชการ องค์การมหาชน และองค์กรอิสระที่ ไม่เป็นหน่วยราชการ แต่เป็นหน่วยงานของรัฐ สิ่งที่แตกต่างคือสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์เป็นหน่วยงานในพระองค์และไม่เคยเป็นหน่วยราชการหรือส่วนราชการมาตั้งแต่ก่อตั้งตามพระราชบัญญัติฉบับแรกในปี 2479 หาใช่การออกนอกระบบราชการ หรือการจัดตั้งองค์การมหาชน หรือองค์การอิสระที่เพิ่งตั้งกันมาในภายหลังโดยอาศัยรัฐธรรมนูญไม่

ข้อนี้ทำให้สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์แตกต่างจาก หน่วยราชการในพระองค์ ที่จัดตั้งตามพระราชกฤษฎีกาจัดระเบียบราชการและการบริหารงานบุคคลของราชการในพระองค์พ.ศ. ๒๕๖๐ ซึ่งประกอบด้วย สำนักพระราชวัง สำนักองคมนตรี และหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ซึ่งมีฐานะเป็นส่วนราชการในพระองค์อย่างชัดเจน

ข้อแตกต่างสำคัญอีกประการคือ สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ มิได้รับเงินงบประมาณแผ่นดินใด ๆ จากภาษีของประชาชนเลยแม้แต่บาทเดียว เพราะเป็นหน่วยงานในพระองค์ มิใช่หน่วยราชการในพระองค์

รายรับและรายจ่ายของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ขึ้นอยู่กับการจัดการของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์เองทั้งหมดมาโดยตลอด

อย่างไรก็ตามเนื่องจากเจ้าหน้าที่หรือผู้บริหารของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ทำงานในหน่วยงานในพระองค์ซึ่งถือว่าเป็นหน่วยงานของรัฐ จึงต้องถือว่าเป็นเจ้าพนักงานของรัฐ ดังมีคำพิพากษาศาลอาญาทุจริตประพฤติมิชอบกลาง 76/2562 ได้พิพากษาวินิจฉัยรับฟ้องคดีที่เจ้าหน้าที่ของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์รับสินบนค่าที่ดินจากนายสกุลธร จึงรุ่งเรืองกิจ ซึ่งต้องวินิจฉัยก่อนว่า สำนักงานทรัพย์สินฯ เป็นหน่วยงานของรัฐหรือไม่ เพื่อให้ทราบว่าอยู่ในขอบเขตอำนาจศาลหรือไม่ จึงจะประทับรับฟ้องได้ ศาลได้วินิจฉัยและให้เหตุผลว่า

เนื่องจากสำนักงานทรัพย์สินฯ จัดตั้งตาม พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พ.ศ.2561 และอาศัยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2561 มาตรา 1 ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกมิได้ มาตรา 2 ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และมาตรา 3 อํานาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุข ทรงใช้อํานาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ

ในการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐ โดยหน่วยงานของรัฐนั้นหมายถึงกิจการของรัฐทุกส่วนที่รวมกันขึ้นเป็นรัฐซึ่งมิได้หมายความรวมถึงคณะรัฐบาลหรือองค์การการบริหารเท่านั้น แต่ยังหมายความรวมถึงสถาบันอื่นด้วย เช่น สถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของรัฐด้วย ดังนั้นสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์จึงถือได้ว่าเป็นหน่วยงานของรัฐ

สำหรับส่วนตัวผมขออธิบายจากความหมายของศัพท์ คำว่า ราชการ มาจาก ราชา+การ แปลว่ากิจของพระราชา หน่วยงานของรัฐมีหน้าที่ทำงานของพระราชา คือการทำงานถวายพระมหากษัตริย์ สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์มีหน้าที่รับผิดชอบบริหารทั้งทรัพย์สินในพระมหากษัตริย์และทรัพย์สินในพระองค์ จึงวินิจฉัยว่าเป็นหน่วยงานในพระองค์ขึ้นตรงกับองค์พระมหากษัตริย์ ถือว่าเป็นหน่วยงานของรัฐจึงสามารถรับฟ้องกรณีเจ้าหน้าที่ของรัฐรับสินบนได้

สำนักงานทรัพย์สินฯ จึงอยู่ในขอบเขตอำนาจของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตพ.ศ. ๒๕๖๑ และสามารถประทับรับฟ้องคดีที่เจ้าหน้าที่ของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์รับสินบนโดยไม่สุจริตจากนายสกุลธร จึงรุ่งเรืองกิจได้

สอง การฟ้องร้องสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์สามารถทำได้หรือไม่
การฟ้องร้องสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์สามารถทำได้ แต่การฟ้องร้ององค์พระมหากษัตริย์ไม่สามารถทำได้

แต่การฟ้องร้องนั้นต้องยึดหลัก The king can do no wrong. อันเป็นปกติปฏิบัติ (Common practice) ของระบอบราชาธิปไตยที่มีรัฐธรรมนูญ (Constitutional monarchy) หรือที่แปลกันอย่างไม่ตรงนักในประเทศไทยว่าเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (โปรดอ่านได้จากบทความ ราชาธิปไตยที่มีรัฐธรรมนูญ (Constitutional monarchy) ใน https://mgronline.com/daily/detail/9640000041441)

แต่มิใช่การฟ้องร้ององค์พระมหากษัตริย์ ซึ่งจะไปขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 6 วรรคสอง องค์พระมหากษัตริย์ทรงดํารงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้

ทั้งนี้ พ.ร.บ. จัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์พ.ศ. 2561 มาตรา 6 ได้บัญญัติไว้ดังนี้

การจัดการ การดูแลรักษา การจัดหาผลประโยชน์ และการดำเนินการอื่นใดอันเกี่ยวกับทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย เพื่อการนี้ พระมหากษัตริย์จะทรงมอบหมายให้สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ บุคคลใด หรือหน่วยงานใดเป็นผู้จัดการทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ สำหรับทรัพย์สินใดภายใต้เงื่อนไขอย่างใดก็ได้

เมื่อได้ทรงมอบหมายให้สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ บุคคลใด หรือหน่วยงานใดเป็นผู้จัดการทรัพย์สินพระมหากษัตริย์สำหรับทรัพย์สินใดแล้ว ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

ในกรณีทั้งปวงเกี่ยวกับทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ห้ามมิให้ระบุพระปรมาภิไธยหรือข้อความใดอันแสดงหรืออนุมานได้ว่าพระมหากษัตริย์เป็นคู่กรณีหรือคู่ความ ให้ระบุเพียงชื่อผู้ได้รับการมอบหมายดังกล่าวแล้ว และ ในกรณีที่ทรงมอบหมายให้บุคคลหรือหน่วยงานอื่นใดที่มิใช่สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์เป็นผู้จัดการ ให้ต่อท้ายด้วยคำว่า “ผู้จัดการทรัพย์สินในพระองค์” หรือ “ผู้จัดการทรัพย์สินในพระมหากษัตริย์” แล้วแต่กรณี สำหรับทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ที่สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ มีหน้าที่เป็นผู้จัดการ ให้สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์เป็นคู่กรณีหรือคู่ความ

จะเห็นว่าวรรคสามของมาตรา 6 ของ พ.ร.บ. ได้กำหนดห้ามมิให้เอ่ยพระปรมาภิไธย ห้ามระบุว่าองค์พระมหากษัตริย์เป็นคู่ความ ซึ่งสอดคล้องและไม่ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พศ. 2561 มาตรา 6 และในกรณีที่เกิดคดีฟ้องร้องผู้ที่ต้องรับผิดชอบคือ “ผู้จัดการทรัพย์สินในพระองค์” หรือ “ผู้จัดการทรัพย์สินในพระมหากษัตริย์” แล้วแต่กรณี สำนักงานทรัพย์สินฯ จึงอาจจะถูกฟ้องร้องได้ แต่ฟ้ององค์พระมหากษัตริย์ตามหลัก The king can do no wrong. ไม่ได้

จึงอาจเทียบได้ว่า “ผู้จัดการทรัพย์สินในพระองค์” หรือ “ผู้จัดการทรัพย์สินในพระมหากษัตริย์” เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการหรือเป็นผู้รับผิดชอบ

สาม การตรวจสอบสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์สามารถทำได้หรือไม่?
ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่ามาตรา ๔ ในพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ 2561 แบ่งออกเป็นสองส่วนคือ

“ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์” หมายความว่า ทรัพย์สินในพระองค์และทรัพย์สินในพระมหากษัตริย์
“ทรัพย์สินในพระองค์” หมายความว่า ทรัพย์สินที่เป็นของพระมหากษัตริย์อยู่แล้วก่อนเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ ทรัพย์สินที่รัฐทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย และทรัพย์สินที่ทรงได้มาไม่ว่าในทางใดและเวลาใดอันเป็นการส่วนพระองค์ ทั้งนี้ รวมถึงดอกผลที่เกิดจากบรรดาทรัพย์สินเช่นว่านั้นด้วย
“ทรัพย์สินในพระมหากษัตริย์” หมายความว่า ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์นอกจากทรัพย์สินในพระองค์

กล่าวง่ายๆ คือ ทรัพย์สินในพระองค์เป็นทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ในฐานะบุคคล (The king as a person) และทรัพย์สินในพระมหากษัตริย์เป็นทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ในฐานะสถาบัน (The king as an institution)

ในทางปฏิบัติ ณ ปัจจุบันนี้ กลุ่มเจ้าหน้าที่ของสำนักงานทรัพย์สินฯ ที่บริหารทรัพย์สินในพระองค์และทรัพย์สินในพระมหากษัตริย์ เป็นคนละกลุ่มงานกัน และมีการแยกกองทรัพย์สินออกจากกันอย่างชัดเจน แต่มีคณะกรรมการทรัพย์สินพระมหากษัตริย์เป็นชุดเดียวกัน

ประเด็นสำคัญมากสุดประการหนึ่งคือ สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์มิได้รับเงินงบประมาณแผ่นดินจากภาษีประชาชนเลยแม้แต่บาทเดียวมาตั้งแต่เริ่มต้น ดังนั้นเมื่อไม่ได้ใช้เงินงบประมาณแผ่นดินเลยแม้แต่บาทเดียว และเป็น private property จะถือสิทธิหรือความชอบธรรมอันใดในการเข้ามาตรวจสอบ

ขอให้พึงตระหนักว่าการตรวจสอบทรัพย์สินส่วนบุคคลไม่อาจจะทำได้ ยกเว้นผู้มีอำนาจตามกฎหมายจะปฏิบัติหน้าที่ราชการ ดังนั้นการตรวจสอบทรัพย์สินในพระองค์ก็ไม่อาจจะทำได้ เพราะเป็นการละเมิดพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. ๒๕๖๒ เสียด้วยซ้ำ ซึ่งตามมาตรา 19 ของพ.ร.บ. นี้ต้องได้รับการยินยอม (Consent) จากผู้เป็นเจ้าของข้อมูลเสียก่อน จึงจะกระทำได้ มิเช่นนั้นจะเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย

ขอให้พึงสำเหนียกว่าสิทธิและเสรีภาพที่ถูกต้องตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญต้องไม่ไปล่วงละเมิดสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่น เช่นเดียวกัน (รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 25) และในมาตรา 37 ของรัฐธรรมนูญ 2560 ก็ได้บัญญัติสิทธิและเสรีภาพในการถือครองทรัพย์สินไว้เช่นเดียวกัน

มาตรา ๓๗ บุคคลย่อมมีสิทธิในทรัพย์สินและการสืบมรดก

นอกจากนี้ก็ไม่ใช่หน้าที่ของประชาชนทั่วไปหรือนักการเมืองหากจะไปตรวจสอบการเสียภาษีของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ต้องพึงศึกษาประมวลรัษฎากร มาตรา 10 และ 13 ของกรมสรรพากร ที่กำหนดไว้ชัดเจนว่า

มาตรา 10 “เจ้าพนักงานผู้ใดโดยหน้าที่ราชการตามลักษณะนี้ได้รู้เรื่อง กิจการของผู้เสียภาษีหรือของบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้อง ห้ามมิให้นําออกแจ้งแก่ผู้ใด หรือยังให้ทราบกันไปโดยวิธีใดเว้นแต่จะมีอํานาจที่จะทําโดยชอบด้วยกฎหมาย”

มาตรา 13 “เจ้าพนักงานผู้ใดฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรา 10 มีความผิด ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 500 บาท หรือจําคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือทั้งปรับทั้งจํา”

หรือพูดให้เข้าใจได้ง่ายว่า ข้าราชการกรมสรรพากรเอง หากไปเปิดเผยข้อมูลการเสียภาษีของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ก็มีความผิดเช่นกัน ดังนั้นประชาชนทั่วไปหรือแม้แต่ข้าราชการที่ไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง หากไปละลาบละล้วงตรวจสอบทรัพย์สินและการเสียภาษีของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์จะเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายอย่างแน่นอน

นอกจากนี้การจะไปละลาบละล้วงตรวจสอบทรัพย์สินส่วนบุคคล นอกจากจะผิดกฎหมายแล้ว ยังเป็นการกระทำอันมิสมควร (มิบังควร ในกรณีทรัพย์สินพระมหากษัตริย์) อาจจะมีคนแย้งว่านักการเมืองยังสามารถตรวจสอบได้ แต่ทำไมจะตรวจสอบทรัพย์สินในพระองค์มิได้ ก็ขออภิปรายให้ทราบว่า

หนึ่ง พระมหากษัตริย์ทรงอยู่เหนือการเมือง เจ้านายตั้งแต่ชั้นหม่อมเจ้าขึ้นไปทรงอยู่เหนือการเมือง ตามพระบรมราชวินิจฉัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และประกาศสถาบันพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ลงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

สอง พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พระบรมราชินี มิได้ทรงรับเงินปีที่รัฐบาลจัดถวายทั้งสองพระองค์มาตั้งแต่ต้นรัชกาล

ทั้งนี้ในปัจจุบันไม่ทรงรับเงินปีที่เป็นเงินที่รัฐบาลจัดถวายให้พระราชทานพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ด้วย อันเป็นธรรมเนียมปฏิบัติสืบทอดมาตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงใช้ทรัพย์สินในพระองค์พระราชทานเป็นเงินปีพระบรมวงศานุวงศ์ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับงบประมาณแผ่นดินและภาษีของประเทศแต่ประการใดเลย

ดังนั้นไม่มีเงินส่วนใดที่ได้รับการถวายจากรัฐบาลมาเพื่อใช้สอยในพระองค์เลยแม้แต่นิดเดียว จึงไม่มีเหตุผลอันใดที่จะต้องเข้ามาตรวจสอบทรัพย์สินในพระองค์

สาม มีกฎหมายที่บัญญัติไว้ชัดเจนว่าการไปตรวจสอบทรัพย์สินส่วนบุคคลของคนที่ไม่ได้มีหน้าที่ราชการ หรือไม่ได้รับความยินยอมเป็นความผิดทางกฎหมาย ดังที่ยกตัวอย่าง พ.ร.บ. ข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ประมวลรัษฎากร และ มาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 การไปตรวจสอบทรัพย์สินในพระองค์น่าจะเป็นการก้าวล่วงหรือละเมิด

ในส่วนของทรัพย์สินในพระมหากษัตริย์ หรือทรัพย์สินที่เป็นส่วนของสถาบันพระมหากษัตริย์นั้น เป็นทรัพย์ของแผ่นดินที่จะตกทอดไปในพระมหาบรมราชจักรีวงศ์ต่อไปในภายภาคหน้าสำหรับพระเจ้าแผ่นดินในอนาคตจะได้ทรงใช้ในกิจการบ้านเมือง

ทรัพยสินพระมหากษัตริย์ไม่ได้เกี่ยวข้องกับหน่วยราชการในพระองค์อย่างที่นางสาวปนัสยา (น้องรุ้ง) เข้าใจผิดในรายการถามตรงๆ กับจอมขวัญ แต่อย่างใด ขอให้ประชาชนไม่ต้องกลับไปทำการบ้านเช่นน้องรุ้ง แต่ศึกษาประเด็นในบทความนี้ให้เข้าใจถ่องแท้ ทั้งหน่วยราชการในพระองค์ประกอบด้วยสามหน่วยงานคือ สำนักพระราชวัง สำนักองคมนตรี และหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์

ในปัจจุบันนี้หน่วยราชการในพระองค์ทั้งสามหน่วยงานเบิกจ่ายงบประมาณแผ่นดินในส่วนค่าจ้างเงินเดือน แต่ไม่ได้เบิกจ่ายในส่วนของงบประมาณลงทุนเลยแม้แต่บาทเดียว โปรดชม การโกหกด้วยสถิติเรื่อองภาษีกูและงบที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ https://www.facebook.com/watch/?v=232131448654332 ซึ่งมีการใช้สถิติบิดเบือนในการรายงานข่าวเรื่องงบประมาณที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่ทำให้คนเข้าใจผิดว่าพระเจ้าแผ่นดินใช้เงินสุรุ่ยสุร่าย อันเป็นข้อความเท็จ

หน่วยราชการในพระองค์ทั้งสามหน่วยงานดำเนินการจ่ายเงินผ่านระบบ GFMIS ของกรมบัญชีกลาง การของบประมาณดำเนินการผ่านสำนักงบประมาณ และการตรวจสอบการเงินและบัญชีดำเนินการโดยสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)

โปรดอ่านเพิ่มเติมได้จาก 12 ความจริงของภาษีกูที่หนู (ปลดแอก) ยังเข้าใจไม่ถูกต้อง ได้จากhttps://mgronline.com/daily/detail/9630000120902 หรือเพื่อความรู้ที่เพลิดเพลินให้ย้อนกลับไปชมถก พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ 2561 (2) ในรายการ ถามตรงๆกับจอมขวัญ ในวันที่ 27 พ.ย. 63 https://www.youtube.com/watch?v=gdYDT7AFzkU ก็ได้เช่นกัน

ทั้งนี้สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ได้รับพระราชดำริจากพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวให้ ขอให้ทางสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน เข้ามาตรวจสอบเป็นประจำทุกปี และได้รับการรับรองงบการเงินจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่งเป็นผู้ตรวจสอบบัญชีรับอนุญาตของภาครัฐ (ขอแจ้งให้ทราบว่ามีหน่วยราชการ เช่น มหาวิทยาลัยหลายแห่ง สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินไม่ยอมลงนามรับรองงบการเงิน แต่อย่างใด)

นอกจากนี้ พ.ร.บ. จัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ 2561 มาตรา 9 ได้บัญญัติไว้ว่า ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์จะต้องเสียภาษีอากร หรือได้รับยกเว้นภาษีอากรย่อมเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น

ซึ่ง กรมสรรพากรทำหน้าที่เจ้าพนักงานในการตรวจสอบการเสียภาษีและทรัพย์สินของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์อยู่แล้วตามอำนาจหน้าที่

สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ได้เสียภาษีอย่างถูกต้องตามกฎหมายในทุกกรณี ได้แก่ การเสียภาษีที่ดิน ภาษีบำรุงท้องที่ ภาษีเงินได้ ตามที่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริให้เป็นเช่นนี้ แม้กระทั่งเงินเดือน ค่าจ้าง ของเจ้าหน้าที่/ผู้บริหารสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ก็ต้องเสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา อย่างครบถ้วนทุกคนทุกบาท


กล่าวโดยสรุปคือมีผู้ที่มีอำนาจหน้าที่หรือได้รับมอบหมายให้ตรวจสอบสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ โดยตรงอยู่แล้ว หากผู้ใดจะเข้ามาละลาบละล้วงตรวจสอบทรัพย์สินในพระองค์หรือทรัพย์สินในพระมหากษัตริย์ ก็ให้พึงระวังการกระทำผิดกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ประมวลรัษฎากร และรัฐธรรมนูญมาตรา 6 ด้วย