ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
สาขาวิชาพลเมืองวิทยาการข้อมูล (Citizen data sciences)
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
ก่อนที่ผมจะไปดีเบตกับน้องรุ้ง ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ในรายการถามตรงๆ กับจอมขวัญ ซึ่งมีคุณจอมขวัญ หลาวเพ็ชร์ ทำหน้าที่พิธีกร ในประเด็นทรัพย์สินพระมหากษัตริย์นั้น ผมได้ศึกษา พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ทั้ง ๕ ฉบับ (พ.ศ. ๒๔๗๙, ๒๔๘๔, ๒๔๙๑, ๒๕๖๐ และ ๒๕๖๑) มาแล้วอย่างละเอียดลออ ได้อ่านหนังสือ พระพรหมช่วยอำนวยให้ชื่นฉ่ำ ที่เป็นหนังสือรวมบทความว่าด้วยทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ของสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันซึ่งเป็นสำนักพิมพ์ที่มีความโน้มเอียงไปทางต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์ ได้อ่านบทความในประชาไท BBC ที่โจมตีกรณีทรัพย์สินพระมหากษัตริย์จนครบถ้วนเท่าที่พอจะหามาได้ โดยใช้เวลาศึกษาราว หนึ่งสัปดาห์ และได้สอบถามผู้รู้และผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายอีกหลายท่าน ได้ปรึกษากุนซือมือดีด้านวาทวิทยาและการโต้วาที หลังจากนั้น ผมก็ได้ข้อสรุปว่า พวกปฏิกษัตริย์นิยม เอาหลักกฎหมายมหาชน-กฎหมายปกครองมาใช้โจมตีทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ เป็นสำคัญ แทบทุกบทความเป็นมุมมองการปกครองกับหลักมหาชน ซึ่งผมเคยเรียนมาน้อยมาก และไม่ชำนาญเท่าอย่างแน่นอน
ดังนั้นก็จำเป็นต้องรื้อสร้าง (destruct-reconstruct) ใหม่ตามแบบ post-modern ด้วยสิ่งที่ผมมีความชำนาญมากกว่า นั่นคือการตีความกฎหมาย พ.ร.บ. จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ด้วยหลักกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ผมได้เรียนมามากพอสมควรเมื่อเป็นนิสิตปริญญาตรีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และด้วยสัญชาตญาณหยั่งรู้ที่แม่นยำว่าไม่ว่าใครก็ตามที่จะมาดีเบตกับผม ก็จะโน้มเอียงไปทางซ้าย หรือเป็นสาวกของฝ่ายซ้าย หรือมีฝ่ายซ้ายเป็นศาสดา ถนัดในมุมมองกฎหมายปกครองและมหาชน แต่จะไม่ชำนาญเรื่องแพ่งและพาณิชย์หรือกฎหมายธุรกิจเลย
ผมนั่งกราบรำลึกพระคุณคณาจารย์กฎหมายที่เคยสอนผมมาทุกท่าน ว่าผมจะนำความรู้ที่เรียนมาอันน้อยนิดมาประยุกต์ใช้ ผมนั่งขบคิดจนคิดได้ว่า อธิบายเรื่องทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ด้วยหลักกรรมสิทธิ์ และหลักของกฎหมายหุ้นส่วนบริษัท การถือหุ้น ย่อมได้เปรียบอีกฝั่งที่จะมาดีเบตด้วยด้วยเหตุผลหลายประการ
ประการแรก หลักกรรมสิทธิ์และหลักของกฎหมายหุ้นส่วนบริษัท จับต้องได้ชัดเจน มีความเป็นรูปธรรมสูงมากกว่าหลักกฎหมายปกครองหรือกฎหมายมหาชน เพราะฉะนั้นผมจะอธิบายให้ชาวบ้านเข้าใจได้ง่ายกว่า เพราะอิงหลักการง่ายๆ ในการถือครองสินทรัพย์ที่ทุกคนก็เคยถือมาบ้างไม่มากก็น้อย
ประการสอง อีกฝั่งที่จะมาดีเบตด้วยไม่น่าจะชำนาญเท่าผม โดยเฉพาะประเด็นหลักกฎหมายหุ้นส่วนบริษัทที่มีรายละเอียดทางการเงิน/การบัญชี ยุบยิบยับ และผมได้เรียนมาทั้งการเงินและการบัญชีมาอย่างละเอียดดีพอสมควร อย่างไรก็รู้มากกว่าอีกฝั่งที่มาดีเบตด้วยอย่างแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นการเลือกกรรมการบริษัท การประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นสามัญประจำปี voting rights และประเด็นอื่นๆ ที่ถึงอย่างไรผมก็น่ารู้เรื่องธุรกิจ/การเงิน/การบัญชี ดีกว่า
ประการสาม การเลือกเนื้อหาที่จะดีเบตเหมือนกับการกำหนดกติกาในการแข่งขัน หากเราเลือกดีเบตในประเด็นที่คู่ต่อสู้ไม่ชำนาญเลย โอกาสที่เราจะชนะมีมากกว่า
ผมเลยตีความพ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ โดยใช้หลักกรรมสิทธิ์ และหลักกฎหมายหุ้นส่วน/บริษัทเป็นหลัก พยายามพูดกับตัวเอง ซ้อมพูดเพื่อหาวิธีอธิบายให้ง่ายที่สุด ให้ชาวบ้านเข้าใจได้ง่ายที่สุด แล้วก็ลงมือเขียนบทความเพื่อให้คุณจอมขวัญได้อ่านแล้วจะต้องมาเชิญผมไปดีเบตในที่สุด คือบทความ 12 ความจริงของภาษีกูที่หนู (ปลดแอก) ยังเข้าใจไม่ถูกต้อง https://mgronline.com/daily/detail/9630000120902 และบทความเรื่องเท็จเกี่ยวกับวัดพระแก้วฯ จากปาก “นายอานนท์ นำภา” ว่าด้วยทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ https://mgronline.com/daily/detail/9630000120557
ผมได้อธิบายให้ง่ายโดยเปรียบเทียบว่า ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ เปรียบเสมือนกองทุน (Fund) กองทุนหนึ่ง ที่มีคณะกรรมการกองทุน และผู้จัดการกองทุน แต่ผู้เป็นเจ้าของตัวจริงเสมอคือพระมหากษัตริย์ พ.ร.บ. จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์แต่ละยุคสมัย ก็เป็นแค่การเปลี่ยนคณะกรรมการกองทุนและผู้จัดการกองทุน ดังแสดงในตารางด้านล่างนี้
พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ.๒๔๗๙ ฉบับแรก มีรมว.คลังเป็นประธานกรรมการกองทุนและมีกรรมการกองทุนอีก 4 ท่านโดยพระบรมราชานุมัติ ส่วนผู้จัดการกองทุนคือกระทรวงการคลัง
พ.ร.บ. จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. ๒๔๘๔ มีรมว.คลังเป็นประธานกรรมการกองทุนและมีกรรมการกองทุนอีกอย่างน้อย 4 ท่านโดยพระบรมราชานุมัติ ส่วนผู้จัดการกองทุนคือกระทรวงการคลัง
เช่นเดียวกันกับ พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ.๒๔๙๑ มีรมว.คลังเป็นประธานกรรมการกองทุนและมีกรรมการกองทุนอีกอย่างน้อย 4 ท่านโดยพระบรมราชานุมัติ ส่วนผู้จัดการกองทุนมีสองคนแยกกันคือผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระองค์ ซึ่งมีการก่อตั้งขึ้นในรัชกาลที่ ๙
ส่วน พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ ๒๕๖๐ มีกรรมการกองทุนคือ คณะกรรมการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ประกอบด้วย ประธานกรรมการและกรรมการอื่น ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามพระราชอัธยาศัย ส่วนผู้จัดการกองทุนคือสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ดังกฎหมายบัญญัติไว้ว่าให้สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ บุคคลใด หรือหน่วยงานใดเป็นผู้จัดการ ทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์สำหรับทรัพย์สินใดภายใต้เงื่อนไขอย่างใดก็ได้ โดยมีผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เป็นผู้จัดการ นอกจากนี้ยังมีผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระองค์
พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. ๒๔๙๑ มีการยุบสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระองค์ให้สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ดูแลจัดการทั้งทรัพย์สินในพระมหากษัตริย์และทรัพย์สินในพระองค์ ซึ่งเรียกรวมกันว่าทรัพย์สินพระมหากษัตริย์
สำหรับหลักกรรมสิทธิ์ ในทรัพย์สินพระมหากษัตริย์นั้น หลักใหญ่สำคัญประการแรก คือผู้ใดได้รับผลประโยชน์ (Beneficiary) ผู้นั้นเป็นผู้ทรงกรรมสิทธิ์ ซึ่ง พ.ร.บ. จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ต่างมีมาตรายืนยันว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้รับผลประโยชน์และใช้สอยดอกผลกำไรจากทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ได้ แม้จะมีรายละเอียดปลีกย่อยแตกต่างกันเล็กน้อยก็ตาม เช่น ใน พ.ร.บ. พ.ศ. ๒๔๙๑ กำหนดไว้ว่าดอกผล/กำไรจำหน่ายใช้สอยได้ก็แต่โดย พระมหากษัตริย์ตามพระราชอัธยาศัย ไม่ว่าในกรณีใด ๆ ส่วน พ.ร.บ. พ.ศ. ๒๕๖๐ เขียนระบุไว้ว่า รายได้จากทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ให้สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์นำไปจ่าย หรือลงทุนได้ ทั้งนี้ตามที่ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตแล้ว ส่วนที่เหลือจะจำหน่ายหรือใช้สอยได้ ก็แต่โดยพระมหากษัตริย์ตามพระราชอัธยาศัย
หลักกรรมสิทธิ์สำคัญหลักใหญ่ประการที่สอง คือ ผู้ใดสามารถมีสิทธิ์ขาดในการโอน/จำหน่าย/ทำให้สิ้นสุดซึ่งสภาพของทรัพย์สินนั้นได้คือผู้ทรงกรรมสิทธิ์ ในที่นี้ พ.ร.บ. ทั้ง ๕ ฉบับได้กำหนดให้พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจนี้ดังนี้ พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. ๒๔๗๙ กำหนดไว้ว่าการจำหน่าย/โอนทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ทำได้โดยได้รับพระบรมราชานุมัติเพื่อสาธารณประโยชน์หรือเพื่อประโยชน์แก่ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ในขณะที่ พ.ร.บ. จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ.๒๔๙๑ ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์จะโอนหรือ จำหน่ายได้ก็แต่เพื่อประโยชน์แก่ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และโดยได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาติหรือเพื่อสาธารณประโยชน์อันได้มีบทกฎหมายให้โอนหรือจำหน่ายได้เท่านั้น และ พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ.๒๕๖๐ กำหนดไว้ว่า การใดที่มีผลทำให้สิ้นสุดการเป็นทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์จะกระทำมิได้ เว้นแต่จะได้รับ
หลักกรรมสิทธิ์สำคัญหลักใหญ่ประการที่สาม คือ ผู้ใดมีเงินได้จากทรัพย์สินย่อมต้องเสียภาษีเงินได้ อันเป็นหลักฐานการแสดงว่าเป็นผู้ทรงกรรมสิทธิ์นั้น สำหรับประเด็นนี้ทำให้พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชประสงค์ที่ต้องการแก้ไข พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ใน พ.ศ.๒๕๖๐ และ ๒๕๖๑ เพราะก่อนหน้านี้ พ.ร.บ. จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ ๔ ฉบับที่ใช้มาก่อนหน้านี้ ได้กำหนดไว้ว่าทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ยกเว้นการเก็บภาษีอากร ส่วนทรัพย์สินส่วนพระองค์เสียภาษีอากร ส่วน พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. ๒๕๖๐ และ ๒๕๖๑ ได้กำหนดไว้ว่า ทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์จะต้องเสียภาษีอากรหรือได้รับยกเว้นภาษีอากร ย่อมเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น ไม่มีการยกเว้นภาษีอากรแต่ประการใด ยิ่งทำให้เห็นได้ชัดเจนว่าทรัพย์สินพระมหากษัตริย์เป็นผู้ทรงกรรมสิทธิ์ของทรัพย์สินในพระมหากษัตริย์เพราะได้ทรงเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแล้วจากกำไร/ดอกผลจากทรัพย์สินในพระมหากษัตริย์