xs
xsm
sm
md
lg

ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ตอนที่ ๒๕ : สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ฟ้องชนะคดีปล้นพระคลังข้างที่ ๒๔๗๕

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์



ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
สาขาวิชาพลเมืองวิทยาการข้อมูล (Citizen data sciences)
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์


ศึกชิงพระคลังข้างที่ ๒๔๗๕ ได้เกิดขึ้นแทบจะทันทีที่มีการปฏิวัติสยาม เหล่าสมาชิกคณะราษฎรหลายคนได้ปล้นที่ดินพระคลังข้างที่มาแบ่งขายหรือให้ผ่อนกันในราคาถูกแสนถูก อันเป็นการปล้นพระราชทรัพย์ และมีบางกรณีที่ยืดเยื้อมายาวนานจนมีคำพิพากษาศาลฎีกาในปี ๒๕๑๖ ซึ่งสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ โดยพลตรีหม่อมทวีวงศ์ถวัลย์ศักดิ์ ผู้อำนวยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง เรือเอก ว. จำเลยที่ ๑ ผู้เป็นสมาชิกคณะราษฎร

คดีพิพาทที่ดินถนนประแจจีน (พญาไท) ขนาด ๓๖๔ ตารางวา จำเลยที่ ๑ ได้ทูลเกล้าถวายหนังสือขอพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณซื้อที่ดินแปลงพิพาทเพื่อปลูกบ้านอยู่อาศัยต่อคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์และได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ขายที่ดินแปลงนี้แก่จำเลยในปี ๒๔๗๙ ในราคา ๔,๔๐๐ บาท ได้ทำหนังสือยอมรับสภาพหนี้ และให้ผ่อนส่งกับสำนักงานพระคลังข้างที่ แต่จำเลยมิเคยผ่อนส่งเลย ต่อมามีการตรวจสอบพบว่าหนังสือพระราชทานพระบรมราชานุญาตไม่มีผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ จึงมีผลเป็นโมฆะ โจทก์ได้ทำหนังสือให้จำเลยที่ ๑ ส่งมอบคืนที่ดินให้แต่จำเลยที่ ๑ ก็เพิกเฉยเสีย

ที่ดินแปลงพิพาทนั้นมีเรือนไม้สองชั้นสองหลังและจำเลยที่ ๑ ได้รื้อถอนออกไปเสีย โดยที่โจทก์ตีราคาเรือนไม้สองหลังนั้นไว้ ๑๐๐,๐๐๐ บาท จำเลยที่ ๑ กระทำการไม่สุจริต และต่อมาจำเลยที่ ๑ คือเรือเอก ว ได้นำที่ดินแปลงพิพาทดังกล่าวไปจำนองกับธนาคารกสิกรไทยจำกัด จำเลยที่ ๒ โดยไม่ชอบ เพราะจำเลยที่ ๑ ยังไม่ได้ถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินแต่อย่างใด

โจทก์ขอให้นิติกรรมจำนองระหว่างจำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๒ เป็นโมฆะ และให้จำเลยที่ ๑ ส่งคืนที่ดินแปลงพิพาทในสภาพเดิมให้แก่โจทก์ โดยปลอดจำนอง หากไม่สามารถคืนสภาพเรือนไม้สองชั้นสองหลังที่รื้อถอนออกไปแล้วให้ใช้เงินแทน ๑๐๐,๐๐๐ บาท

จำเลยทั้งสองให้การว่าที่ดินแปลงพิพาทมิใช่ที่ดินสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์แต่เป็นทรัพย์สินในบัญชีประกันไฟอันเป็นอันเป็นบัญชีเงินทุนกองกลางระหว่างทรัพย์สินส่วนพระองค์ พระบรมวงศานุวงศ์ และวัดวาอารามต่าง ๆ โดยสำนักงานพระคลังข้างที่เป็นผู้จัดการผลประโยชน์ และสำนักงานพระคลังข้างที่ได้ซื้อที่ดินพิพาทแปลงนี้มาจากการขายทอดตลาดทรัพย์ของศาล ลงชื่อสำนักพระราชวัง (สำนักงานพระคลังข้างที่บัญชีประกันไฟ) เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ หลังจากนั้นได้โอนขายที่ดินแปลงนี้ให้จำเลยที่ ๑ จำเลยแย้งว่าได้ที่ดินพิพาทมาโดยนิติกรรมโดยการทำสัญญาซื้อขายกับสำนักพระราชวัง อีกทั้งการซื้อขายที่ดินพิพาทนี้มิได้เป็นราชการแผ่นดิน ไม่จำเป็นต้องมีผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ อีกทั้งจำเลยที่ ๑ ได้ครอบครองที่ดินดังกล่าวมาโดยสงบเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันมาเป็นเวลา ๒๘ ปี ย่อมได้กรรมสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ การที่จำเลยที่ ๑ ไปจำนองที่ดินกับจำเลยที่ ๒ ต่างกระทำไปโดยสุจริต ระหว่างพิจารณาคดี จำเลยที่ ๑ ได้ไถ่ถอนการจำนองจากจำเลยที่ ๒ และได้จดทะเบียนไถ่ถอนเรียบร้อยแล้ว

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าพระราชหัตถเลขาที่ไม่มีการรับสนองพระบรมราชโองการไม่มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย โจทก์ย่อมขอให้ศาลเพิกถอนได้ การอ้างการครอบครองปรปักษ์ของจำเลยไม่ถูกต้อง เพราะตามพรบ. จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ ๒๔๙๑ นั้นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์จะโอนหรือจำหน่ายโดยมิได้รับพระบรมราชานุมัตินั้นมิได้ จำเลยที่ ๑ ต้องส่งคืนทรัพย์สินให้กับโจทก์ การที่จำเลยที่ ๑ สร้างสิ่งก่อสร้างอื่นในที่ดินแปลงพิพาทนั้นเป็นการกระทำโดยมิชอบต้องส่งมอบทรัพย์สินคืนให้กับโจทก์ในสภาพเดิมทุกประการ

ศาลฎีกาพิพากษายืน โดยให้เหตุผลว่าที่ดินพิพาทดังกล่าวเป็นกรณีที่ถูกนำไปอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลในสภาผู้แทนราษฎรและเมื่อไม่มีผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการย่อมเป็นโมฆะ สำนักงานพระคลังข้างที่ได้เรียกคืนที่ดินดังกล่าวคืนจากการซื้อขาย ๑๔ ราย เหลือเพียงจำเลยที่ ๑ ที่เพิกเฉยไม่ยอมคืน มี ๑ รายคือขุนนิรันดรชัยได้ทูลเกล้าถวายหนังสือขอพระราชทานซื้อใหม่อีกครั้งในราคาใหม่ โปรดเกล้าให้ขายที่ดินนั้นแก่ขุนนิรันดรชัยโดยมีรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการถูกต้องตามกฎหมาย แต่จำเลยที่ ๑ นั้นมิได้จัดการประการใด

ศาลฎีกาโดยมติของที่ประชุมใหญ่ได้พิเคราะห์ว่า แม้ที่ดินพิพาทอยู่ในบัญชีประกันไฟอันเป็นส่วนหนึ่งของทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ย่อมต้องเป็นทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ การซื้อขายที่ดินทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ย่อมเป็นราชการแผ่นดินต้องมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ โดยต้องมีพระบรมราชานุญาตเสียก่อนจึงจะโอนหรือซื้อขายได้ แม้จำเลยที่ ๑ จะครอบครองปรปักษ์มาเป็นเวลานานถึง ๒๘ ปีแต่ก็ไม่เป็นเหตุอันเป็นการเปลี่ยนกรรมสิทธิ์ เพราะต้องได้รับพระบรมราชานุญาตก่อนจึงจะโอน/จำหน่ายได้ตาม พ.ร.บ. จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ ๒๔๙๑

การที่จำเลยที่ ๑ อ้างว่าการซื้อขายและการจำนองนั้นเป็นไปโดยสุจริตนั้นไม่สมอ้าง เพราะจำเลยที่ ๑ เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทสอง เคยดำรงตำแหน่งเลขานุการสำนักพระราชวังและเคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานพระคลังข้างที่ จำเลยที่ ๑ ย่อมรู้ดีว่ามีการตั้งกระทู้ถามอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลในการซื้อขายที่ดินพระคลังข้างที่โดยมิชอบดังกล่าวนี้ดี การกระทำของจำเลยที่ ๑ ย่อมมิได้เป็นไปโดยสุจริต

ศาลฎีกาพิพากษายืน ให้จำเลยที่ ๑ คืนที่ดินพิพาทในสภาพเดิม และให้จำเลยที่ ๑ และ ๒ ร่วมกันชดใช้ค่าธรรมเนียมฤชาแทนโจทก์

จึงเป็นอันว่าสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ฟ้องชนะคดีศึกชิงพระคลังข้างที่ ๒๔๗๕ ไปหนึ่งคดีและแสดงให้เห็นว่าขบวนการศึกชิงพระคลังข้างที่ได้ใช้วิธีการอันไม่สุจริต กลอุบายต่าง ๆ หาใช่วิญญูชนในการพยายามที่จะได้มาซึ่งพระราชทรัพย์โดยมิชอบไปเป็นของตน


กำลังโหลดความคิดเห็น