xs
xsm
sm
md
lg

ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ตอนที่ ๓ : ข้อโต้แย้งว่าเงินถุงแดงไม่มีจริง หลักฐานฝ่ายไทยอันแสนจำกัด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์

ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
สาขาวิชาปัญญาและการวิเคราะห์ธุรกิจ
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์


นับตั้งแต่ผมไปออกรายการถามตรงๆ กับจอมขวัญ ที่มีน้องรุ้ง ปนัสยา เป็นคนดีเบตด้วย โดยผมได้เสนอว่าที่มาของทรัพย์สินพระมหากษัตริย์มาจากเงินถุงแดง หลังจากนั้นไม่นานก็มีรายการทางช่อง TPBS ชื่อรายการความจริงไม่ตาย ตอนเงินถุงแดง เมื่อวันที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๖๓ https://www.youtube.com/watch?v=x8_uaa5Ljmg ได้นำเสนอข้อเท็จจริงและหลักฐานใหม่ทางประวัติศาสตร์ว่าเงินถุงแดงนั้นอาจจะไม่ใช่เงินที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงค้าสำเภาได้เงินเหรียญปีกนกเม็กซิโกแล้วทรงสะสมไว้ที่พระคลังข้างที่ในถุงแดงตีตราครั่ง โดยมีนักเขียนและนักวิชาการอิสระชื่อ นายธีรภัทร เจริญสุขและ ผศ.อดิศร หมวกพิมาย อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้มาแสดงความคิดเห็นว่าไม่สามารถหาหลักฐานชั้นต้นในสมัยรัชกาลที่ 3 เกี่ยวกับเงินถุงแดงได้เลย เป็นแต่เรื่องเล่าในพระบรมวงศานุวงศ์ในราชวงศ์จักรี และนายธีรภัทร เจริญสุขได้ค้นคว้าว่าไทยได้จ่ายเงินค่าปฏิกรณ์สงครามให้กับฝรั่งเศสเป็นเงินตราต่างประเทศจริง แต่ที่มาของเงินน่าจะมาจากการปฏิรูประบบจัดเก็บภาษีอากรในสมัยรัชกาลที่ 5 เองมากกว่าที่จะเป็นเงินถุงแดง และมีข้อสันนิษฐานว่าเงินถุงแดงน่าจะเป็นเงินบรมราชโองการตามที่บันทึกไว้ในสมัยรัชกาลที่ 5 มากกว่า






ทั้งนี้หลักฐานฝ่ายไทยที่ปรากฏครั้งแรกเกี่ยวกับเงินถุงแดงคือสาส์นสมเด็จ จดหมายลายพระหัตถ์โต้ตอบกันระหว่างสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพกับสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ สองนักปราชญ์ของไทย ดังปรากฏในสาส์นสมเด็จเล่มที่ 13 หน้า 143-144 ตีพิมพ์โดยองค์การค้าครุสภา ที่ได้เขียนบันทึกไว้ว่า

“อนึ่งแต่โบราณถือว่าเงินพระคลังมหาสมบัติเป็นพระราชทรัพย์ ของพระเจ้าแผ่นดิน มูลของพระคลังข้างที่นั้นหม่อมฉันเคยได้ยินผู้หลักผู้ใหญ่เล่ากันมาว่า เดิมพระเจ้าแผ่นดินโปรดให้มีกำปั่นเงินไว้ข้างพระแท่นที่บรรทมใบหนึ่งสำหรับทรงหยิบพระราชทานผู้ใดหรือใช้จ่ายอันใดโดยลำพังพระองค์เอง คือไม่ต้องบอกให้ผู้อื่นรู้ จะเป็นประเพณีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา หรือมามีขึ้นในกรุงรัตนโกสินทร์ไม่ทราบแน่ เห็นจะเรียกกันว่าเงินข้างที่ และคงแบ่งไปจากคลังนั่นเอง ถึงสมัยรัชกาลที่ 3 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงเก็บหอมรอมริบเงินซึ่งเป็นส่วนพระองค์เพิ่มขึ้นในเงินข้างที่อีกมาก สำหรับทรงบำเพ็ญพระราชกุศลต่างๆ และมีเงินซึ่งเรียกกันว่า เงินถุงแดง สำรองไว้สำหรับใช้ในเวลาบ้านเมืองเกิดยุคเข็ญ กำปั่นเก็บเงินมีมากขึ้นหรือจะต้องไปเก็บในห้องหนึ่งต่างหากเหมือนอย่างคลัง จึงเรียกกันว่าคลังข้างที่เกิดขึ้นเมื่อรัชกาลที่ 2 แต่ดูเหมือนจะเรียกกันแต่ราชสำนักฝ่ายใน จนมาถึงรัชกาลที่ 4 จึงปรากฏเป็นทางการ....”

หม่อมเจ้าหญิงพูนพิสมัย ดิศกุล พระธิดาในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพก็ได้ทรงนิพนธ์เรื่องเงินถุงแดงนี้ไว้เช่นเดียวกันในหนังสือชุมนุมพระนิพนธ์


ภายหลัง อาจารย์ไกรฤกษ์ นานา ได้ค้นคว้าหลักฐานฝ่ายไทยเพิ่มขึ้นพบว่ามีการทำรายงานข่าวในหนังสือ ธรรมสาสตรวินิจฉัย เล่ม 2 วันอาทิตย์ที่ 21 พฤษภาคม ร.ศ.112 อันเป็นปีที่เกิดเหตุวิกฤติ ร.ศ.112 จนต้องชดใช้ค่าปฏิกรณ์สงครามเป็นเงินตราต่างประเทศให้กับฝรั่งเศส ซึ่งต้นฉบับนี้ได้มาจากห้องสมุดโรงเรียนนายเรือจังหวัดสมุทรปราการ หลักฐานนี้แสดงให้เห็นว่ามีการใช้เงินเหรียญปีกนกเม็กซิโกชำระให้ฝรั่งเศสจริง ๆ กว่าสามล้านฟรังก์ ในทันทีเป็นเงินวางประกัน อันนับว่าเป็นเงินที่มีมูลค่าสูงมากในยุคสมัยนั้น






เรื่องเงินถุงแดงนี้ อาจารย์ไกรฤกษ์ นานา ได้ค้นคว้าเอกสารในต่างประเทศมาหลายสิบปี พบว่าหนังสือพิมพ์และวารสารในยุโรปบันทึกเรื่องเงินถุงแดงไว้อย่างมากมายโดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาษาฝรั่งเศส ไม่ว่าจะเป็น Le Petit Journal, Le Forum, Le Monde Ilustre โดยมีการบันทึกว่าได้มีการชำระเงินเหรียญปีกนกเม็กซิโกที่บรรจุไว้ในถุงผ้าอันเปื่อยเก่าแก่คร่ำคร่า และเมื่อขนขึ้นเรือมาถุงแดงก็แตกหมดต้องเอาเงินเหรียญทองปีกนกเม็กซิโกนั้นมาใส่ไว้ในถังไม้ดังรูป










ผมเองได้รับชมรายการดังกล่าวแล้วลองตั้งข้อสังเกตและพิจารณาดังนี้
หนึ่ง เป็นไปได้หรือไม่ที่เอกสารชั้นต้นในสมัยรัชกาลที่ ๓ อาจจะไม่มีการบันทึกไว้ เพราะชาติไทยนิยมวรรณกรรมมุขปาฐะ (Oral literature) มากกว่าการจดบันทึก นอกจากนี้ยังเป็นเงินข้างที่ หรือคลังข้างที่ห้องพระบรรทม ใครจะเข้าไปตรวจนับและจดบันทึกไว้ได้ เพราะเป็นที่รโหฐานและเป็นการส่วนพระองค์จริง ๆ

สอง ทำไมสื่อตะวันตก โดยเฉพาะสื่อสิ่งพิมพ์ของฝรั่งเศสชาติผู้ชนะสงครามในวิกฤติ ร.ศ.112 จะต้องบันทึกรายละเอียดเรื่องเงินถุงแดงไว้มากมาย มีเหตุอันใดที่ต้องบันทึกเกียรติภูมิของชาติที่ยอมยุติสงครามกับมหาอำนาจอย่างชาติตน หากไม่เป็นเรื่องแปลกมหัศจรรย์ที่สยามชาติเล็ก ๆ ในเวลานั้นจะมีเงินถุงแดงเก่าเก็บสามารถนำมาชดใช้เป็นค่าปฏิกรณ์สงครามได้ทันที

สาม การปฏิรูประบบภาษีอากรในประเทศไทย เป็นเรื่องของการเก็บภาษีภายในประเทศ ที่ได้เงินเป็นเงินบาท ไม่ใช่เงินตราต่างประเทศ ซึ่งเราถูกสนธิสัญญาเบอร์นี่ สนธิสัญญาบาวน์ริ่งบังคับไว้อย่างมากมาย จนเก็บภาษีจากต่างประเทศได้ยากลำบากมากขึ้น และไม่ได้ผูกขาดกับพระคลังเหมือนเดิม จึงยากที่จะเก็บภาษีได้เป็นเงินตราต่างประเทศ

สี่ การต้องจ่ายเงินเป็นเงินตราต่างประเทศในทันทีในยุคสมัยนั้นเป็นเรื่องยุ่งยาก การแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศมูลค่าสามล้านฟรังก์ในสมัยโน้นถือว่าเป็นเรื่องใหญ่มาก ถึงแม้จะมีเงินไทยหรือเงินบาท จะนำไปแลกได้ที่ไหนอย่างไรให้ได้ถึงสามล้านฟรังก์เพื่อชำระชดใช้ค่าปฏิกรณ์สงครามโดยทันที

ห้า เรื่องการทำบัญชีของชาติไทย ไม่เป็นหลักฐานมั่นคงเลยมาแต่โบราณดังคำกราบบังคมทูลของพระยาไชยยศสมบัติ เจ้าพนักงานบัญชีพระคลังมหาสมบัติในรัชกาลที่ 5 ในหนังสือประวัติบาญชีกลาง ซึ่งกรมธนารักษ์พิมพ์แจกในการถวายผ้าพระกฐินหลวงพระราชทาน ณ วัดรัชฎาธิฐาน ธนบุรี พิมพ์ที่โรงพิมพ์ประชาช่าง พระนคร ในปี 2502 ความว่า

“โดยท่านแต่ก่อนที่เป็นพระไชยยศสมบัติ ตั้งแต่แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมาตราบเท่าถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ด้วยการบัญชีที่รับและจ่ายเงินจะมีสักกี่อย่าง กี่สกุล และปีหนึ่งได้รับเงินเท่าใดก็หาได้มีปรากฏไว้เป็นแบบอย่างสำหรับพระคลังมหาสมบัติไป ทุก ๆ คนมานั้นดับสูญไปแล้วบัญชีก็สูญหายไปหมดสิ้นเป็นอย่างนี้ทุก ๆ ไชยยศมา....”

ข้อนี้แสดงให้เห็นปัญหาว่าไทยไม่เคยทำบัญชีแผ่นดินอย่างเป็นระบบมาเลยแม้กระทั่งสมัยรัชกาลที่ ๕ แล้วก็ตาม เจ้าคุณพระยาไชยยศสมบัติคนแรกที่สำเร็จ Chartered Accountant เป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาติรายแรกของไทยคือพระยาไชยยศสมบัติ (เสริม กฤษณามระ) คณบดีผู้ก่อตั้งคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ก็กลับมารับราชการในสมัยรัชกาลที่ ๖ และเป็นผู้วางรากฐานระบบบัญชีให้กระทรวงพระคลังมหาสมบัติหรือกระทรวงการคลังในปัจจุบัน มีเรื่องเล่าต่อๆ กันมาว่าเจ้าคุณไชยยศสมบัติ สามารถสางบัญชีย้อนหลังไปจากช่วงเวลาที่ท่านกลับมารับราชการไปจนถึงปีแรกที่มีการก่อตั้งกระทรวงพระคลังมหาสมบัติในรัชกาลที่ ๕ ซึ่งย้อนหลังไปเกือบห้าสิบกว่าปี

อย่างไรก็ตามไม่ว่าเงินถุงแดงที่ชดใช้ค่าปฏิกรณ์สงครามให้กับฝรั่งเศสจะเป็นเงินที่พระเจ้าแผ่นดินรัชกาลที่ ๓ หรือรัชกาลที่ ๕ จะทรงเป็นผู้หามาก็ตาม แต่ทั้งหมดทั้งปวงก็เป็นทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ และทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ก้อนนี้ก็ได้กู้ชาติกู้แผ่นดิน ให้แผ่นดินมีเอกราช มีอิสรภาพ เป็นไท มาตราบจนปัจจุบัน สมควรจะรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระเจ้าแผ่นดินผู้ทรงสละทรัพย์สินพระมหากษัตริย์เพื่อทรงกู้ชาติบ้านเมืองผ่านปากเหยี่ยวปากกามาได้จนถึงทุกวันนี้


กำลังโหลดความคิดเห็น