xs
xsm
sm
md
lg

ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ตอนที่ ๑๐ : จากพระราชวิสัยทัศน์สู่นวัตกรรมแห่งอนาคต-เครือซิเมนต์ไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์

ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
สาขาวิชาพลเมืองวิทยาการข้อมูล (Citizen data sciences)
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์


เมื่อร้อยกว่าปีก่อน พระมหากษัตริย์พระองค์หนึ่งคือพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชวิสัยทัศน์อันยาวไกลว่าประเทศไทยต้องผลิตปูนซิเมนต์ใช้เองได้ แทนที่จะต้องนำเข้าจากต่างประเทศ เพราะในประเทศไทยมีวัตถุดิบสำหรับการผลิตปูนซิเมนต์ได้อย่างเหลือเฟือ และประเทศไทยเราต้องสร้างสาธารณูปโภคมากมายอันได้แก่ ถนน สะพาน อาคาร สถานที่ต่างๆ ด้วยเหตุนี้จึงทรงมีพระบรมราชานุญาตให้พระคลังข้างที่ใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ให้จัดตั้งโรงงานผลิตปูนซิเมนต์ที่บางซื่อและนี่คือพระราชวิสัยทัศน์อันยาวไกลเมื่อร้อยกว่าปีก่อน และถือเป็นจุดกำเนิดของบริษัทปูนซิเมนต์ไทยจำกัดสินใช้ หรือเครือซิเมนต์ไทยในปัจจุบัน

ทั้งนี้โลกเมื่อร้อยกว่าปีก่อนการผลิตปูนซิเมนต์ชนิดที่เรียกว่าปูนซิเมนต์พอร์ตแลนด์ (Portland Cement) จัดว่าเป็นนวัตกรรมอันยิ่งใหญ่และเปลี่ยนโลกไปอย่างมากมาย ปูนซิเมนต์พอร์ตแลนด์นั้นเกิดจากการเผาหินปูน และดินเหนียว จนเกิด clinker แล้วนำมาบดรวมกันกับยิปซั่ม (Gypsum) จึงได้ปูนซิเมนต์พอร์ตแลนด์ออกมา ทำให้สามารถก่อสร้างสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างสะดวกรวดเร็วและแข็งแรง และยังเป็นวัสดุหลักที่ใช้ในการก่อสร้างมาจนถึงทุกวันนี้

บริษัทปูนซิเมนต์ไทยจำกัดสินใช้ หรือ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) Siam Cement Group ชื่อย่อ: SCG ในปัจจุบัน ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ ๑๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๕๖ และจดทะเบียนบริษัทในวันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๖ นับว่าเป็นการลงทุนมูลค่าสูงมหาศาลและมีความเสี่ยงสูงมากเมื่อร้อยกว่าปีก่อน อีกทั้งคนไทยยังไม่รู้วิธีการผลิตปูนซิเมนต์พอร์ตแลนด์ จึงต้องจ้างฝรั่งผู้เชี่ยวชาญมาถ่ายทอดเทคโนโลยีและบริหารบริษัทปูนซิเมนต์ไทย ดังจะเห็นได้จากกรรมการผู้จัดการ ๔ คนแรกของปูนซิเมนต์ไทยล้วนเป็นนายฝรั่งต่างชาติ ๑.Oscar Schultz (๒๔๕๗-๒๔๖๘) ๒. Erik Thune (๒๔๖๘-๒๔๗๗) ๓. Carsten Friis Jespersen (๒๔๗๘-๒๕o๒) ๔. Viggo Fred Hemmingsen (๒๕o๒-๒๕๑๗) และคุณบุญมา วงศ์สวรรค์ เป็นกรรมการผู้จัดการคนแรกที่เป็นคนไทย


คนไทยเราคุ้นเคยกับปูนตราช้าง และปูนตราเสือ เป็นอย่างดี ตราสัญลักษณ์ของเครือซิเมนต์ไทยก็เป็นรูปช้าง


โรงงานผลิตปูนซิเมนต์ไทยเมื่อแรกตั้งนั้นอยู่ที่บางซื่อ อันเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่เครือซิเมนต์ไทยในปัจจุบัน กรุงเทพมหานครเป็นแหล่งดินเหนียว และดินขาวอันจำเป็นสำหรับการผลิตปูนซิเมนต์พอร์ตแลนด์ ดังภาพด้านล่าง แม้จะย้ายโรงงานผลิตปูนซิเมนต์ออกไปจากบางซื่อแล้วแต่ก็ยังคงรักษาปล่องไฟทั้งห้าไว้อีกหลายสิบปี จนเมื่อไม่กี่ปีมานี้มีความจำเป็นต้องขยายสำนักงานใหญ่จึงทำให้ในปัจจุบันไม่เหลือปล่องเตาเผาปูนซิเมนต์ทั้งห้าปล่องนี้แล้ว




กิจการของเครือซิเมนต์ไทย เติบโตและขยายไปควบคู่กับการพัฒนาประเทศและเศรษฐกิจไทย หุ้นของปูนซิเมนต์ไทยเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และราคาตลาดขึ้นมาโดยตลอดจนเป็นหุ้นที่มีราคาสูงเกือบพันห้าร้อยบาทก็ได้แตกพาร์หรือ stock split ให้ราคาต่อหุ้นหรือราคาพาร์ลดลงเพื่อเพิ่มสภาพคล่องของหุ้น (Stock liquidity) มูลค่าหุ้นปูนซิเมนต์ไทยเพิ่มขึ้นนับร้อยเท่าจากวันที่เข้าตลาดและมีการแตกพาร์หลายครั้งมาก เนื่องจากกิจการเครือซิเมนต์ไทยมีการเติบโตสูง มีผลกำไร มีการจ่ายเงินปันผล ทำให้ได้รับความสนใจจากนักลงทุน และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้มูลค่าของทรัพย์สินพระมหากษัตริย์มีมูลค่าสูงขึ้นนับร้อยเท่าจากในอดีตเมื่อร้อยปีก่อน

จากพระราชวิสัยทัศน์ของรัชกาลที่ ๖ เมื่อร้อยกว่าปีก่อนที่ทรงต้องการให้ไทยสามารถผลิตปูนซิเมนต์พอร์ตแลนด์ได้เพื่อทดแทนการนำเข้า และยี่สิบปีหลังนี้เครือซิเมนต์ไทยมีกลยุทธ์บรรษัทที่เน้นการสร้างนวัตกรรมแห่งอนาคต อันนับว่าเป็นการสืบสานพระราชวิสัยทัศน์ของรัชกาลที่ ๖ เป็นอย่างยิ่ง

กิจการเครือซิเมนต์ไทยแบ่งออกเป็นสามหน่วยกลยุทธ์ทางธุรกิจ (Strategic Business Unit: SBU) คือ หนึ่งธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง สอง ธุรกิจเคมิคอลส์ และสาม ธุรกิจแพคเกจจิ้ง ทั้งสามหน่วยกลยุทธ์ทางธุรกิจเหล่านี้ได้สร้างนวัตกรรมแห่งอนาคตไว้มากมาย ทำให้คุณภาพชีวิตของคนไทยดีขึ้น และขยายกิจการไปลงทุนทางตรงในต่างประเทศมากมาย ไม่ว่าจะเป็น กัมพูชา เวียดนาม อินโดนีเซีย และอื่นๆ มีการวิจัยและพัฒนา (Research and development) และร่วมลงทุนกับหน่วยงานอื่นเพื่อสร้างนวัตกรรม ร่วมมือกับภาคการศึกษา อาทิ มหาวิทยาลัยและหน่วยงานวิจัยภายนอก

โดยที่เครือซิเมนต์ไทยมีเป้าหมายว่าจะมีรายได้จากการขายสินค้าและบริการที่มีมูลค่าสูง เป็น ๕o% จากรายได้การขายรวม ซึ่งสินค้าและบริการที่มีมูลค่าสูงคือสินค้าหรือบริการที่มีนวัตกรรม

กลยุทธ์นวัตกรรมของเครือซิเมนต์ไทยคือ หนึ่ง นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เป็นเครื่องมือเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การขนส่ง และการให้บริการลูกค้า สอง ขยายการลงทุนในการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมโมเดลธุรกิจใหม่ๆ ด้วยกระบวนการและเครื่องมือใหม่ สาม มุ่งสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอกและสถาบันวิจัยต่างๆ เพื่อสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีอย่างสร้างสรรค์ สี่ ส่งเสริมวัฒนธรรมนวัตกรรมที่มีพนักงานเป็นพลังสร้างสรรค์ธุรกิจรูปแบบใหม่ และห้า ประยุกต์ใช้หลักเศรษฐกิจหมุนเวียนมาขับเคลื่อนนวัตกรรมและโมเดลธุรกิจใหม่

สโลแกนของเครือซิเมนต์ไทยในการสร้างนวัตกรรมสู่อนาคตนั้นคือ Passion for Better นับว่าเป็นการสืบทอดพระราชปณิธานแห่งองค์พระผู้ก่อตั้งเครือซิเมนต์ไทยอย่างแท้จริง

เครือซิเมนต์ไทยในวันนี้เกิดจากพระราชวิสัยทัศน์สู่นวัตกรรมแห่งอนาคตตามที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าได้ทรงตั้งพระทัยไว้และทรงลงทุนกับเครือซิเมนต์ไทยด้วยเงินพระคลังข้างที่หรือทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ เมื่อร้อยปีก่อน โดยที่ในปัจจุบันพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงถือหุ้นบริษัทปูนซิเมนต์ไทยจำกัด (มหาชน) ในพระปรมาภิไธยอยู่ร้อยละ ๓๓.๖๔

ที่มา : รายงานประจำปี บมจ ปูนซิเมนต์ไทย ๒๕๖๒
ทั้งนี้ในวันที่ ๒o มี.ค. ๒๕๖๕ เวลา ๑๘.๑๙ น. พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ์ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่ง จากพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ไปยัง บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ เอสซีจี สำนักงานใหญ่ เขตบางซื่อ กรุงเทพมหานครฯ เพื่อทรงประกอบพิธีเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระมงกฎุเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๖)
พระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวองค์นี้ ทรงฉลองพระองค์บรมขัตติยราชภูษิตาภรณ์ เครื่องทรงสำหรับพระมหากษัตริย์ในพระราชพิธีสำคัญ พร้อมทรงพระมหาพิชัยมงกุฏ ประทับบนพระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์ นับเป็นพระบรมรูปรัชกาลที่ ๖ แบบประทับบนพระราชบัลลังก์แห่งแรกในประเทศไทย



ที่มา : https://mgronline.com/onlinesection/detail/9650000027341


กำลังโหลดความคิดเห็น