xs
xsm
sm
md
lg

ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ตอนที่ ๘ : ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์หาได้มาจากแรงงานไพร่-ทาสทั้งสิ้นไม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์

ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
สาขาวิชาพลเมืองวิทยาการข้อมูล (Citizen data sciences)
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์


ประเด็นที่มีนักวิชาการบางคน เช่น รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้ความเห็นว่า ทั้งทาสและการเกณฑ์แรงงานไพร่ ทำให้ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ทั้งหมดนั้นมาจากประชาชนเป็นของส่วนบุคคลของประชาชนหรือไม่นั้น ดังที่เธอได้แสดงความคิดเห็นเอาไว้ว่า

#################

ขอพูดประเด็นเดียว - ต้องอธิบายให้ประชาชนเข้าใจว่าทำไมทรัพย์สินของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ไม่ใช่ทรัพย์สินส่วนตัวของกษัตริย์องค์ใดองค์หนึ่ง

ฝ่ายรอยัลลิสต์ย้ำแล้วย้ำอีกว่าทรัพย์สินข้างต้นเป็นทรัพย์สินส่วนตัวของกษัตริย์ จะใช้อย่างไรก็ได้ คณะราษฎรไปปล้นเอามาจากกษัตริย์ (ทั้ง ๆ ที่ก่อนปี 2560 เมื่อมีการเรียกร้องให้เปิดเผยรายรับรายจ่าย พวกนี้เถียงว่าในเมื่อมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธาน ดูแลการบริหาร ต้องถือว่าสนง.ทรัพย์สินเป็นของรัฐ)

สิ่งที่ควรทำความเข้าใจคือ

1. ก่อน 2475 ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ มีชื่อเรียกว่าพระคลังข้างที่ รายได้ของพระคลังข้างที่มาจากอะไรบ้าง มาจากการเก็บภาษีในรูปแบบต่าง ๆ การเกณฑ์แรงงานไพร่มาทำงานให้กษัตริย์ (3-6 เดือน/ปี แล้วแต่รัชสมัย) การผูกขาดการค้าต่างประเทศ การเป็นเจ้าของที่ดินขนาดใหญ่ในกรุงเทพ การลงทุนสารพัดที่มาจากเงินภาษีของประชาชน ฯลฯ

2. รายได้จากข้อ 1 เกิดขึ้นได้เพราะก่อน 2475 กษัตริย์มีสถานะเป็น “รัฐ” หรือ “องค์อธิปัตย์” จึงมีอำนาจในการกระทำการต่างๆ ตามกฎหมายที่กษัตริย์บัญญัติขึ้น ทรัพย์สินที่เพิ่มพูนขึ้นจึงไม่ได้มาจากความสามารถส่วนบุคคลล้วน ๆ ขณะที่ราษฎรปกติไม่มีอำนาจพิเศษนี้ ทรัพย์สินที่ราษฎรได้มาจึงต้องถือว่าเป็นทรัพย์สินส่วนบุคคลอย่างแท้จริง จะเอาหลักการนี้มาใช้กับทรัพย์สินของกษัตริย์ไม่ได้

ที่มา: https://www.facebook.com/puangthong.r.pawakapan/


#################

นับว่าเป็นความเข้าใจผิดที่คลาดเคลื่อนไปมาก

ประการแรก ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์กับทรัพย์สินส่วนพระองค์แยกออกจากกันอย่างเด็ดขาด แม้จะอยู่ภายใต้การดูแลของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ด้วยกันเพราะมีการยุบสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระองค์ไปเมื่อต้นรัชกาลที่ 10

ประการที่สอง ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์เป็นทรัพย์สินของสถาบันพระมหากษัตริย์ที่จะเป็นขององค์พระมหากษัตริย์ในภายภาคหน้าทุกพระองค์ที่จะทรงดูแลต่อและใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อชาติบ้านเมืองและประชาชน การถือทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ในพระปรมาภิไธยเป็นการถือครองเพื่อส่งต่อไปยังอนาคต

ประการที่สาม ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์หรือพระคลังข้างที่เดิมนั้นไม่ได้งอกเงยมาจากแรงงานไพร่หรือทาสทั้งหมด ก็หาไม่ การเกณฑ์แรงงานไพร่ก็เพื่อทำงานราชการ งานโยธา ต่างๆ หรืองานราชการไม่ใช่เพื่อสะสมความมั่งคั่งให้กับทรัพย์สินพระมหากษัตริย์แต่ถ่ายเดียว แม้จนทุกวันนี้ทุกประเทศก็ยังมีการเกณฑ์แรงงานไพร่ในรูปแบบการเกณฑ์ทหาร (Military draft) กันแทบทั้งสิ้น จึงไม่เป็นเหตุที่จะกล่าวอ้างได้ว่าทรัพย์สินพระมหากษัตริย์เติบโตงอกเงยมาจากแรงงานไพร่และทาส

ประการที่สี่ พระมหากษัตริย์สมัยกรุงรัตนโกสินทร์นับแต่รัชกาลที่ 3 ถึงรัชกาลที่ 5 ทรงพระราชอุตสาหะพยายามลด-ละ-เลิก ระบบทาสและการเกณฑ์แรงงานไพร่อย่างจริงจัง จนคลี่คลายมาเป็นการเกณฑ์ทหารดังสมัยปัจจุบัน จึงไม่นับว่าสอดคล้องกับข้ออ้างของข้อความข้างต้น

ประการที่ห้า ข้ออ้างที่ว่าราษฎรไม่มีอำนาจพิเศษในการสะสมความมั่งคั่งของทรัพย์สินเช่นสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นประเด็นที่ตีขลุมว่าทุกคนเท่ากันหมด ฟ้าเดียวกัน เป็นเรื่องที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง แม้กระทั่งในโลกทุนนิยมในปัจจุบัน ผู้กล่าวเช่นนี้ต้องไปอยู่ในระบบคอมมิวนิสต์แบบคอมมูนเท่านั้น แม้กระทั่งผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ก็ยังเป็นชนชั้นปกครองที่มีสถานะและฐานะเหนือกว่าประชาชนอยู่ดี ข้ออ้างเช่นนี้เป็นสิ่งที่ไม่สอดคล้องกับสภาพสังคมในความเป็นจริงแม้แต่น้อย

เรามาลองศึกษาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการเลิกทาสและการเกณฑ์แรงงานไพร่ การกล่าวอ้างว่าแรงงานทาสหรือไพร่ทำให้เกิดทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ทั้งหมดนั้นออกจะตีขลุมไปไกลกว่าข้อเท็จจริงไปเป็นอันมากดังนี้

ส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ไทยที่ยิ่งใหญ่ที่สุดและแสดงให้เห็นถึงพระเมตตา พระปรีชาสามารถ และพระราชกรณียกิจอันยิ่งใหญ่ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยมหาราช ก็คือการทรงประกาศเลิกทาสให้เป็นไททั้งหมด

การเลิกทาสของพระปิยมหาราช เป็นไปอย่างละมุนละม่อม ใช้เวลายาวนานเกือบ 30 ปี โดยปราศจากการนองเลือด สงครามกลางเมือง หรือการสูญเสียอย่างเช่นการเลิกทาสในสหรัฐอเมริกา

ในปี 2417 พระปิยมหาราชทรงออก "พระราชบัญญัติพิกัดกระเษียรอายุลูกทาษลูกไทย" [1] เดิมทีหากพ่อแม่เป็นทาส ลูกก็ตกเป็นทาสในเรือนเบี้ยตามกัน ทรงออกกฎหมายแก้ไขพิกัดค่าตัวทาสใหม่ โดยค่อยๆ ให้ลดค่าตัวทาสลงตั้งแต่อายุ 8 ขวบ จนกระทั่งหมดค่าตัวทาสเมื่ออายุได้ 20 ปี เมื่ออายุได้ 21 ปี ผู้นั้นก็จะเป็นอิสระ มีผลกับทาสที่เกิดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2411 เป็นต้นมา และห้ามมิให้มีการซื้อขายบุคคลที่มีอายุมากกว่า 20 ปีเป็นทาสอีก วิธีการดังกล่าวนี้เท่ากับจะไม่มีทาสใหม่เพิ่มขึ้นอีกหลังปีพ.ศ.2417 เป็นต้นมา และจำนวนลูกทาสก็จะค่อยๆ หมดไป เพราะจะได้เป็นไทแก่ตัวในท้ายที่สุดเมื่ออายุได้ 21 ปี อันเป็นวิธีการอันชาญฉลาดและไม่ทำให้เกิดการต่อต้านการเปลี่ยนแปลง เพราะเป็นวิธีการที่ค่อยเป็นค่อยไป ไม่หักด้ามพร้าด้วยเข่า

เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2448 พระปิยมหาราชทรงออก "พระราชบัญญัติทาษ ร.ศ. 124" [2] ให้ลูกทาสทุกคนเป็นไท ส่วนทาสที่มิใช่ทาสในเรือนเบี้ย ทรงให้ลดค่าตัวเดือนละ 4 บาท นับตั้งแต่เดือนเมษายน พ.ศ. 2448 เป็นต้นไป ห้ามมิให้ขึ้นค่าตัวทาส เท่ากับเป็นผลให้ทาสค่อยๆ หมดไปจากสังคมไทยในท้ายที่สุด

วิธีการเลิกทาส (Emancipation) ที่ทรงเลือกใช้กุศโลบายอันนุ่มนวลแยบยลนั้น แม้จะใช้เวลานานกว่าสามสิบปี แต่ก็เป็นการเปลี่ยนผ่านสังคมไทยที่ไม่มีการสูญเสีย แม้ว่าสยามในเวลานั้นจะมีทาสมากถึงหนึ่งในสามของจำนวนประชากรก็ตาม

รูปวาดปูนเปียกเฟรสโก้ที่โดมองค์กลางของพระที่นั่งอนันตสมาคมวาดโดยศิลปินชาวอิตาเลียนแสดงพระราชกรณียกิจในการเลิกทาสของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้สังเกตว่าทาสจะมีผิวสีดำตามความคิดของชาวตะวันตกที่ทาสมักจะมาจากทวีปแอฟริกา
นอกจากทาสแล้ว ในอดีตประเทศไทยก็มีการเกณฑ์แรงงานไพร่โดยที่มีมานับแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ประชาชนเพศชายในวัยแรงงานจะถูกเกณฑ์แรงงานปีละหกเดือน การเกณฑ์แรงงานเริ่มตั้งแต่อายุ 18 ปีจนถึง 70 และวัดความสูงจากเท้าถึงไหล่ได้อย่างน้อยสองศอก แต่มาสมัยรัตนโกสินทร์นั้นการเกณฑ์แรงงานไพร่ก็ยังคงมีอยู่แต่ก็ค่อยๆ ลดลงไป

ไพร่นั้นสามารถแบ่งออกได้เป็นสามประเภทคือหนึ่งไพร่ส่วย สองไพร่สม สามไพร่หลวง ไพร่ส่วยคือไพร่ที่เสียเงินแทนการเข้าเวรเป็นอากรที่ทำให้ไม่ต้องเกณฑ์แรงงาน ไพร่สมหรือไพร่สมกำลัง เป็นไพร่ที่มีมูลนายต้นสังกัดเป็นชนชั้นสูงเช่นเจ้านายหรือขุนนาง ทำหน้าที่รับใช้เจ้านายหรือขุนนาง ถือว่าเป็นไพร่ที่มีฐานะความเป็นอยู่ที่ดีกว่าและอยู่ในบ้านเรือนของเจ้านายต้นสังกัด เพราะมูลนายต้นสังกัดจะเลี้ยงดู ดูแลข้าวปลาอาหารและที่อยู่อาศัยให้เป็นส่วนใหญ่ และหากไม่ต้องการถูกเข้าเวรเกณฑ์แรงงานก็สามารถเสียอากรเป็นส่วยเช่นไพร่ส่วย แทนการเข้าเวรได้เช่นกัน และไพร่หลวงคือไพร่ที่สังกัดกลางของหลวง จะถูกสักเลขตามลำตัวว่าสังกัดกรมใด เช่นกรมม้า กรมช้าง กรมช่าง เป็นต้น [3] ไพร่หลวงหากถูกเกณฑ์แรงงานมักจะไม่ได้รับการดูแล ต้องหากินเองและต้องถูกเกณฑ์แรงงานไปทำงานด้วย

การเกณฑ์แรงงานไพร่ มักให้ไปทำงานโยธาหรือหาส่วยที่เป็นของป่าเช่น ตัดไม้ซุง หายางรัก หรือวัสดุอื่นๆ เช่น การก่อสร้างพระเมรุมาศต้องอาศัยวัสดุเหล่านี้ก็เกณฑ์ไพร่ตามหัวเมืองต่างๆ ให้หาของป่าเข้ามาเมืองหลวงเพื่อสร้างพระเมรุมาศ เป็นต้น

สำหรับไพร่ส่วยนั้นภายหลังคลี่คลายมาเป็นภาษีรัชชูปการอันแปลว่าเงินบำรุงแผ่นดินเพื่อละเว้นการเกณฑ์แรงงานต้องเสียในอัตรา 6 บาทต่อปี แต่มายกเลิกไปในปี 2482

นับแต่รัชกาลที่ 2 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงลดการเข้าเวรแรงงานไพร่จากหกเดือน เหลือสามเดือน ท้ายที่สุดก็เลิกเกณฑ์แรงงานไพร่อย่างสมบูรณ์เมื่อมีการเกณฑ์ทหารแทนในรัชกาลที่ 6

รัชกาลที่ 3 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงแต่งสำเภาไปค้าขายกับจีนหารายได้มาเป็นของแผ่นดิน และทรงประกอบกิจการอื่นๆ อีกมาก ทรงค้าสำเภาเก็บเงินกำไรใส่ไว้ในถุงแดงข้างพระที่บรรทม ทำให้ไม่ต้องเกณฑ์แรงงานไพร่มากนัก เพราะทรงจ้างกุลีจีนแทนการเกณฑ์แรงงานไพร่และทรงเก็บเงินผูกปี้จากแรงงานจีน ได้มากมาย คำว่าปี้ในที่นี้คือเชือกผูกข้อมือแล้วตีตราด้วยครั่งสีแดงเรียกว่าปี้ แสดงว่าเป็นกุลีจีนที่ได้เสียภาษีแล้ว

การเกณฑ์แรงงานไพร่ นั้นค่อยๆ ลดลงไปเรื่อยๆ โดยในปี 2442 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงออก "ประกาศกำหนดอายุบุคคลที่เปนฉกรรจ์ แลปลดชะรา รัตนโกสินทร์ศก 118" โดยเปลี่ยนเกณฑ์ในการคัดเลือกไพร่จากความสูงนับจากตีนถึงไหล่มาเป็นอายุ 18 ปี บริบูรณ์ขึ้นไป (ไม่กำหนดความสูง) และกำหนดอายุปลดชราไว้ที่ 60 ปีจากเดิม 70 ปี

ในปี 2448 อันเป็นช่วงปลายรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงออก "พระราชบัญญัติลักษณะเกณฑ์ทหาร รัตนโกสิทร์ศก 124" กำหนดให้ชายฉกรรจ์รับราชการทหารกองเกิน 2 ปี แล้วเข้ารับราชการทหารกองประจำการอีก 2 ปี แล้วปลดจากกองประจำการเป็นกองหนุนขั้นที่ 1 อายุ 5 ปี แล้วปลดไปอยู่ในกองหนุนขั้นที่ 2 อายุ 10 ปี แล้วให้ถือว่าหมดหน้าที่รับราชการทหาร อันทำให้ปลดจากการเกณฑ์แรงงานเร็วมากขึ้น ไม่ใช่ต้องทำงานไพร่จนถึง 70 ปี หรือ 60 ปีดังเดิม เป็นอันว่าการเกณฑ์ทหารได้เข้ามาทดแทนการเกณฑ์แรงงานไพร่อย่างสิ้นเชิง

สิ่งที่เราประชาชนได้เห็นจากข้อเท็จจริงนั้นคือพระมหากษัตริย์ไทยทรงพยายามอย่างยิ่งยวดที่จะปลดปล่อยแรงงานทาส-ไพร่ ให้เป็นไทแก่ตัวเพื่อให้ทำมาหากินและสะสมทรัพย์สินความมั่งคั่งเพื่อให้เศรษฐกิจในภาพรวมเติบโตได้ ความพยายามในการปลดปล่อยแรงงานทาส-ไพร่ดังกล่าวใช้เวลายาวนาน ทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป ละมุนละม่อมเพื่อไม่ให้เกิดสงครามกลางเมือง ไม่เกิดรอยปริแตกร้าวในสังคมไทย อันเป็นสิ่งที่สังคมไทยควรตระหนักและเลิกทำตัวเป็นทาส-ไพร่ทางความคิดที่ถูกคนที่ไม่หวังดีสนตะพายแล้วปล่อยไม่ไปต่างหากเล่า

หมายเหตุ :
[1] https://th.wikisource.org/wiki/ประชุมกฎหมายประจำศก/เล่ม_8/ภาค_6/เรื่อง_14
[2] http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2448/001/9.PDF
[3] อ่านรายละเอียดได้จาก ชัย เรืองศิลป์. (2527). ประวัติศาสตร์ไทยสมัยพ.ศ. 2352-2453 ด้านเศรษฐกิจ. กรุงเทพ: ไทยวัฒนาพานิช. ซึ่งได้เรียบเรียงการเกณฑ์ไพร่ไว้อย่างละเอียดจากรัชกาลที่ 1 จนถึงรัชกาลที่ 5


กำลังโหลดความคิดเห็น