xs
xsm
sm
md
lg

ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ตอนที่ ๑๖ : คดีที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวถูกฟ้องเรียกคืนทรัพย์สินพระมหากษัตริย์โดยไม่เป็นธรรม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์


ภาพจากหอสมุดรัฐสภา (library.parliament.go.th/en/thai-parliament-museum)
ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
สาขาวิชาพลเมืองวิทยาการข้อมูล (Citizen data sciences)
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์


ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสยุโรปได้ทรงนำเงินส่วนพระองค์ไปเปิดบัญชีเงินฝากธนาคารไว้ ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เป็นเงินประมาณสิบล้านบาท ในชื่อบัญชี The King of Siam.

เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงออกไปทรงพระอักษรที่ประเทศอังกฤษ ได้ทรงไปถอนเงินในบัญชีดังกล่าวออกมาประมาณสี่ล้านบาท

ในปี พ.ศ. ๒๔๖๘ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเถลิงถวัลย์ขึ้นครองราชย์สมบัติ

๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ เกิดการปฏิวัติสยาม เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นประชาธิปไตยโดยคณะราษฎร

๑๐ ธันวาคม ๒๔๗๕ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับถาวรฉบับแรก

หลัง ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ กรมพระคลังข้างที่ยังอยู่ในสังกัดกระทรวงวัง ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์เริ่มถูกยักยอกไปแบ่งปันกันในหมู่ผู้ก่อการคณะราษฎร โดยเฉพาะที่ดินและนำเงินไปตั้งธนาคารอีกสองธนาคาร โดยมีขุนนิรันดรชัย มือขวาของจอมพลแปลก พิบูลสงครามได้รับแต่งตั้งให้เข้ามาดำรงตำแหน่งผู้ช่วยราชเลขานุการในพระองค์

หลัง ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ การปฏิวัติสยาม ยังคงมีความขัดแย้งระหว่างรัชกาลที่ ๗ กับคณะราษฎรอยู่ เพราะทรงไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญของคณะราษฎร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของบทเฉพาะกาล

๑๒ มกราคม พ.ศ. ๒๔๗๖ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเดินทางออกไปรับการรักษาพระเนตรที่อังกฤษ และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๗ โดยเสด็จด้วย

ภายหลังที่เสด็จถึงประเทศอังกฤษเพื่อรักษาพระเนตร พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงถอนเงินที่เหลือราวหกล้านบาท ที่รัชกาลที่ห้าทรงฝากไว้ในนาม king of Siam ในลอนดอน ด้วยทรงถือว่าเป็นทรัพย์ส่วนพระองค์

เมื่อวันที่ ๒ มีนาคม ๒๔๗๗ (นับแบบเก่าก่อนเปลี่ยนวันปีใหม่เป็นวันที่ ๑ มกราคม) เวลา ๑๓ นาฬิกา ๔๕ นาที ความขัดแย้งระหว่างรัชกาลที่ ๗ และรัฐบาลดำเนินไปจนถึงขั้นแตกหัก พระองค์ทรงสละราชสมบัติในที่สุด

วันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๔๗๙ รัฐสภาตราพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พุทธศักราช ๒๔๗๙ มาตรา ๕ กำหนดให้ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์อยู่ในการดูแลของกระทรวงการคลังโดยปรึกษาคณะกรรมการคณะหนึ่งประกอบด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธานและกรรมการอีก ๔ นายซึ่งจะได้ตั้งขึ้นโดยพระบรมราชานุมัติ

๒๗ กรกฎาคม ๒๔๘o มีการอภิปรายทั่วไปเพื่อรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ ๙ ของสภาผู้แทนราษฎร ญัตติด่วน เรื่อง ญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปในนโยบายของรัฐบาลว่าด้วยการจัดการทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ อันนำไปสู่การลาออกของนายกรัฐมนตรี พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา

รัฐบาลได้ตั้งกรรมการขึ้นมาตรวจสอบบัญชีพระคลังข้างที่ ซึ่งต้องมาอยู่ในกำกับดูของกระทรวงการคลัง ตามพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พุทธศักราช ๒๔๗๙ ปรากฏว่าได้พบเงินหายไปหลายรายการ โดยเป็นเงินที่ฝากไว้ในนามของพระมหากษัตริย์ไทย ตั้งแต่ครั้งรัชกาลที่ ๕ ในธนาคารต่างประเทศ โดยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงโอนทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เข้าบัญชีส่วนพระองค์จำนวน ๖ ล้านบาท (ก่อนมีการตราพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พุทธศักราช ๒๔๗๙ นับตั้งแต่เสด็จถึงอังกฤษ)

ในปี ๒๔๘๒ รัฐบาลของคณะราษฎรได้ยื่นฟ้องร้องพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ เป็นจำเลยที่ ๑ และสมเด็จพระนางเจ้า รำไพพรรณี เป็นจำเลยที่ ๒ ให้ชดใช้เงินแก่กระทรวงการคลัง เป็นจำนวนทั้งสิ้น ๖,๒๗๒,๗๑๒ บาท ๙๒ สตางค์ (หกล้านสองแสนเจ็ดหมื่นสองพันเจ็ดร้อยสิบสองบาท เก้าสิบสองสตางค์) ซึ่งสร้างความตกใจให้ประชาชนคนไทยทั้งประเทศ เพราะไม่มีใครคิดว่ารัฐบาลนั้นจะกล้าฟ้องร้องพระมหากษัตริย์

ขอให้พึงตั้งข้อสังเกตว่า รัฐธรรมนูญ ๒๔๗๕ ยังมิได้มีมาตราที่ระบุว่า องค์พระมหากษัตริย์ทรงดํารงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใด ๆ มิได้ ซึ่งมีการระบุในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกมาตรายกเว้นฉบับแรก) ทั้งนี้รัฐบาลของคณะราษฎรได้เห็นว่าการถอนเงินดังกล่าวของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นการยักยอกทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ไปเป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์ คดีนี้จึงเป็นคดีแรกและคดีเดียวที่พระมหากษัตริย์ของไทยถูกฟ้องร้องเป็นจำเลย

ข้อน่าพิจารณาคือ พระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พุทธศักราช ๒๔๗๙ ประกาศใช้ในวันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๔๗๙ ดังนั้นในวันที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงไปถอนเงินออกจากธนาคารในกรุงลอนดอน ยังไม่มีกฎหมายฉบับนี้ และทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ก็ยังทรงเป็นของที่ทรงใช้ได้ส่วนพระองค์อยู่ หนึ่ง เนื่องจากการปฏิวัติสยาม ๒๔๗๕ นั้นมิใช่การปฏิวัติคอมมิวนิสต์หรือการปฏิวัติบอลเชวิค ไม่มีการยึดทรัพย์สมบัติส่วนตัวของใครแม้แต่ประชาชนมาเป็นของรัฐบาล ดังนั้นทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ก็ยังคงเป็นของพระมหากษัตริย์อยู่ตามเดิม สอง แม้กระทั่งในพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พุทธศักราช ๒๔๗๙ ก็ยังยืนยันหลักกรรมสิทธิ์ของพระมหากษัตริย์ในทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เอาไว้ ในมาตรา ๖ คือ รายได้จากทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ต้องนำขึ้นทูลเกล้าถวายเพื่อให้ทรงใช้ในฐานะพระมหากษัตริย์ และในมาตรา ๗ การโอนหรือจำหน่ายทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ได้ต้องได้รับพระบรมราชานุมัติเท่านั้น และสาม โดยปกติกฎหมายจะไม่มีผลย้อนหลังในทางที่ไม่เป็นคุณกับจำเลย

หลวงประดิษฐมนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) ได้ขอให้ศาลแพ่งสั่งยึดทรัพย์จำเลยทั้งสองคือพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีพระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๗ ระหว่างการพิจารณาโดยให้เหตุผลคือเกรงจำเลยทั้งสองจะยักย้ายถ่ายเททรัพย์สิน!

อธิบดีศาลแพ่ง คุณพระสุทธิอรรถนฤมนต์ “ไม่อนุญาต” แต่หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมในตอนนั้น มีคำสั่งย้ายพระสุทธิอรรถนฤมนตร์ ขึ้นไปดำรงตำแหน่งในศาลฎีกา และคุณพระสุทธิอรรถนฤมนต์ ต้องออกจากราชการฐานรับราชการนาน โดยออกจากราชการเป็นเวลา ๔ ปีเศษ ก่อนจะมีคำสั่งจากรัฐบาลนายควง อภัยวงศ์ ในภายหลังให้กลับเข้ารับราชการอีกครั้ง

การกระทำนี้น่าจะพิจารณานับว่าเป็นการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมของไทยอย่างโจ๋งครึ่ม โดยมีฝ่ายการเมืองเข้ามาสั่งศาลโดยตรง ในชั้นเรียนประวัติศาสตร์กฎหมายไทย หากมีการพูดถึงการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมโดยการเมืองก็มักจะพูดถึงคุณพระสุทธิอรรถนฤมนต์ว่าเป็นกรณีตัวอย่างของการถูกแทรกแซงดังกล่าว

คงเป็นที่แน่นอนว่าผลของการโยกย้ายคุณพระสุทธิอรรถนฤมนต์พ้นจากการเป็นอธิบดีศาลแพ่งหลังจากนั้นก็ปลดคุณพระสุทธิอรรถนฤมนต์ออกจากราชการฐานรับราชการนาน น่าจะสร้างผลสะเทือนต่อผู้พิพากษาที่เป็นองค์คณะหรือการจัดสรรผู้พิพากษามาเป็นองค์คณะใหม่ในคดีนี้เป็นอันมาก เพราะเกิดความหวาดกลัวและเกรงกลัวว่าจะถูกกลั่นแกล้งแบบคุณพระสุทธิอรรถนฤมนต์

ต่อมา น.อ.หลวงกาจสงคราม (พลโท กาจ กาจสงคราม เดิมชื่อ นายเทียน เก่งระดมยิง) คณะผู้ก่อการในคณะราษฎร ฝ่ายนายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งในเวลานั้นเป็นรัฐมนตรีอีกคนหนึ่งและเป็นกรรมการตรวจรับงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ด้วย ทำหน้าที่ตรวจบัญชีด้วย ได้นำเจ้าหน้าที่กองหมายของศาล และเจ้าหน้าที่ของรัฐไปที่วังศุโขทัย เพื่อทำการปิดหมายยึดทรัพย์ ทรัพย์สินทั้งหมด รวมอสังหาริมทรัพย์คือ ตัววังศุโขทัยด้วย แต่ก็มีมูลค่าเพียง ๓ ล้านกว่าบาทเท่านั้น

เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีพระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๗ ทรงถูกยึดทรัพย์ทำให้ไม่ทรงมีความสามารถในการต่อสู้คดีนี้ได้ ประกอบกับการเสด็จไปประทับที่อังกฤษทำให้การสู้คดียิ่งเป็นไปด้วยความยากลำบาก

การพิจารณาคดีดำเนินไปยาวนานหลายปี ในที่สุดศาลได้มีคำสั่งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ความแพ่งในระหว่างกระทรวงการคลัง โจทก์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จำเลยที่ ๑ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีพระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๗ จำเลยที่ ๒ ตามคดีหมายเลขคดีดำที่ ๑๙๗/๒๔๘๒ คดีหมายเลขคดีแดงที่ ๒๗๘/๒๔๘๒ ลงวันที่ ๒๑ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๘๒ ให้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีเป็นฝ่ายแพ้คดี

คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ฉบับเต็มในคดีนี้อ่านได้จาก https://th.wikisource.org/wiki/คำพิพากษาศาลอุทธรณ์_ในคดีแดงที่_278_พ.ศ._2482

ประเด็นแรก ศาลวินิจฉัยว่าจำเลยไม่มีสิทธิในทรัพย์สินที่ถอนออกจากธนาคารในต่างประเทศเพราะเป็นทรัพย์สินพระมหากษัตริย์มิใช่ทรัพย์สินส่วนพระองค์ ศาลจึงยึดหรืออายัดทรัพย์ของจำเลยได้

ประเด็นสอง การที่จำเลย โอนขายที่ดินโดยสมรู้ร่วมคิดกับคู่สัญญาซึ่งเป็นพระญาติ เพื่อจำหน่ายทรัพย์สินของจำเลยให้พ้นอำนาจศาล ซึ่งอาจบังคับเอาแก่จำเลยและเพื่อฉ้อโกงโจทก์ถือว่าไม่เป็นไปโดยสุจริตและเสียหายแก่โจทก์

ประเด็นสาม ศาลอุทธรณ์ให้อายัดหรือยึดทรัพย์จำเลยทั้งหมด และเงินวางศาลเพื่อประกันสำหรับค่าสินไหมทดแทน ให้จำเลยเป็นฝ่ายเสีย [1]

ผลจากคำพิพากษาศาลอุทธรณ์น่าจะไม่มีการร้องขอฎีกาต่อโดยจำเลยทั้งสอง

ทั้งนี้กรมโฆษณาการ (กรมประชาสัมพันธ์ในปัจจุบัน) ได้ย่อคำพิพากษาคดีดังกล่าวออกเผยแพร่ให้ประชาชนได้รับทราบตามรูปด้านล่างนี้


จากนั้นรัฐบาลยึดวังศุโขทัยและริบทรัพย์สินอื่นของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อนำไปขายทอดตลาด แต่ในที่สุดก็มิได้ขาย

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ ด้วยพระชนมพรรษาเพียง ๔๗ พรรษา ณ เซอร์รีย์ ประเทศอังกฤษ สหราชอาณาจักร

ในปี ๒๔๘๕ กระทรวงสาธารณสุขซึ่งเป็นกระทรวงที่ตั้งขึ้นใหม่ก็ได้ขอเช่าวังศุโขทัยจากกระทรวงการคลังในอัตรา ๕,๐๐๐ บาทต่อเดือน เพื่อใช้เป็นที่ทำการ จนกระทั่งย้ายออกไปในเดือนพฤศจิกายน ๒๔๙๓

วันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๔๘๙ รัฐบาลของพลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นายกรัฐมนตรีได้ทำให้เกิดสัญญาประนีประนอมประวัติศาสตร์ขึ้นระหว่างรัฐบาลกับสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีพระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๗ จำเลยที่ ๒ โดยให้บรรดาทรัพย์สินและหนี้สินทั้งหลายที่ผูกพันกันอยู่นั้น เป็นอันให้เลิกแล้วต่อกัน รัฐบาลได้มาแล้วเท่าไรก็เอาเท่านั้น [2]

ในปี พ.ศ. ๒๕๙๒ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๗ อัญเชิญพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวกลับสู่สยามประเทศ

ภาพจากหอสมุดรัฐสภา (library.parliament.go.th/en/thai-parliament-museum)
เมื่อเสด็จกลับนิวัติพระนคร สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๗ ไม่ทรงมีวังที่ประทับ เนื่องจากวังศุโขทัยได้กลายเป็นกระทรวงสาธารณสุขไปเสียแล้ว สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี กราบบังคมทูลเชิญเสด็จมาประทับด้วยกันที่วังสระปทุม

พ.ศ. ๒๔๙๓ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๗ เสด็จไปทรงหาซื้อที่ดินที่จันทบุรี เพื่อสร้างวังสวนบ้านแก้วเป็นที่ประทับ

พ.ศ. ๒๔๙๕ หลังจากที่กระทรวงสาธารณสุขได้ย้ายออกไป ทางการก็ได้ถวายวังศุโขทัยคืนแด่สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีเพื่อเป็นที่ประทับจนเสด็จสวรรคต

คดีที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีถูกฟ้องร้องโดยรัฐบาลมีจุดที่น่าสังเกตหลายประการ

ประการแรก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงถอนเงินจากบัญชี The King of Siam เมื่อเสด็จไปรักษาพระเนตรที่อังกฤษ ก่อนจะสละราชสมบัติและก่อนจะมีการตราพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ๒๔๗๙ ดังนั้นในเวลานั้นจึงยังไม่ได้มีการแยกบัญชีทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ออกจากทรัพย์สินส่วนพระองค์ และเนื่องจากการปฏิวัติสยาม ๒๔๗๕ มิได้มีการยึดทรัพย์สินของส่วนบุคคลใดเป็นของรัฐบาลดังนั้นทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ทั้งหมดจึงยังเป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์อยู่เต็มตามสิทธิมากกว่า

ประการที่สอง กฎหมายไม่ควรมีผลย้อนหลังในทางที่เป็นโทษกับจำเลย ในกรณีนี้การแบ่งแยกกองทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์และทรัพย์สินส่วนพระองค์เกิดขึ้นตามพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พุทธศักราช ๒๔๗๙ ภายหลังที่ทรงถอนเงินและภายหลังที่ทรงสละราชสมบัติแล้วด้วยซ้ำ อันเป็นเรื่องที่ถือว่าแปลกมาก

ประการที่สาม คดีนี้มีการโยกย้ายอธิบดีศาลแพ่งคือคุณพระสุทธิอรรถนฤมนต์ออกจากอธิบดีศาลแพ่ง และหลังจากนั้นปลดออกจากราชการฐานรับราชการยาวนาน น่าจะสร้างความสะพรึงหรือหวาดกลัวให้กับองค์คณะหรือผู้พิพากษาที่จะมาเป็นองค์คณะพอสมควรและน่าจะถือว่าเป็นการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมโดยการเมืองอย่างชัดเจน

ในภายหลังที่ได้กลับเข้ารับราชการใหม่คุณพระสุทธิอรรถนฤมนต์ (สุข เลขยานนท์) ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศและองคมนตรี [3] โดยได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดปฐมจุลจอมเกล้า เป็นบำเหน็จรางวัลแห่งความจงรักภักดีและการทำงานเพื่อชาติเพื่อแผ่นดิน

หมายเหตุ :
[1] https://www.facebook.com/boraannaanma/photos/ชกาลที่-๗-และพระราชินี-เคยถูกรัฐบาลฟ้องร้อง-ในเรื่อง-ทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริ/2731533547100788/
[2] บุญร่วม เทียมจันทร์. (๒๕๕๔). คดีฟ้อง ร. 7. กรุงเทพ: ฐานบัณฑิต.
[3] เที่ยวเมืองพระร่วง พระราชนิพนธ์ ใน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พระสุทธิอรรถนฤมนตร์ (สุธ เลขยานนท์)ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 18 มีนาคม พ.ศ.2521



กำลังโหลดความคิดเห็น