xs
xsm
sm
md
lg

หลุมดำ 5% แห่งการละเว้นการปฏิบัติ กลั่นแกล้ง ประพฤติมิชอบ ในกระทรวงสาธารณสุข

เผยแพร่:   โดย: ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
อาจารย์ประจำสาขาวิชา Business Analytics and Intelligence
และ Actuarial Science and Risk Management
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
อนุกรรมาธิการติดตามการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข วุฒิสภา


จะว่าไป หลุมดำ 5% นี้เกิดจากการเขย่าของผมมาก่อนที่ สปสช.

เหตุผลที่ผมต้องเขย่าก็เพราะว่า สปสช. ซึ่งไม่ใช่หน่วยบริการทางแพทย์และสาธารณสุข ละเมิดไปทำหน้าที่ที่ตัวเองไม่มิสิทธิ์จะทำคือการรวบอำนาจการจัดซื้อยาเป็นหมื่นล้านบาทมาไว้ที่ตนเอง

แล้วในยุคนั้นนายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน อดีตรองประธานบอร์ด สสส. คนที่ 2 เป็นทั้งกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และเป็นทั้งประธานบอร์ดองค์การเภสัชกรรม ได้ไปออกระเบียบองค์การเภสัชกรรมว่าด้วยเงินสนับสนุนกิจกรรมภาครัฐ ทำให้ สปสช. ได้เงิน rebate 5 % จากการซื้อยา

แต่แทนที่ สปสช. จะนำเงิน 5% นั้นกลับมาซื้อยาเพื่อรักษาประชาชนตามวัตถุประสงค์การใช้เงิน กลับนำเงินเหล่านั้นไปให้ NGO ไปให้ สปสช. นำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ เช่น ไปใช้ซื้อรถตู้ให้ สปสช. ใช้ ไปซื้อแบบฟอร์มให้พนักงาน สปสช. ใส่ พาพนักงาน/ผู้บริหาร สปสช. ไปดูงานเมืองนอกหรือส่งไปเรียนต่อปริญญาโท ดังนี้เป็นต้น ซึ่งผิดวัตถุประสงค์ที่ภาษีของประชาชนได้จ่ายมาเพื่อใช้สำหรับรักษาประชาชน และไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ของงบ ประมาณแผ่นดินที่ตั้งมาให้

ท้ายที่สุดหลังจากการเขียนบทความเรื่องนี้หลายครั้งหลายครา ก็นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง โดยที่ คตร. คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ที่ตั้งโดย คสช. สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ต่างมีวินิจฉัยว่าเป็นการกระทำที่ไม่ถูกกฎหมาย โปรดอ่านได้จาก ทวงลาภมิควรได้จาก สปสช. และ NGO ตระกูล ส เพื่อมารักษาชีวิตประชาชนผู้ใช้สิทธิบัตรทอง https://mgronline.com/daily/detail/9610000041363 กล่าวคือ สปสช. ซึ่งไปละเมิดซื้อยาเอง ต้องคืนอำนาจในการซื้อยาให้โรงพยาบาลราชวิถี เป็นตัวแทนของโรงพยาบาลทั่วประเทศในการซื้อยา และให้แต่ละโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขซื้อยาเองได้

เรื่องลาภมิควรได้ การละเมิด และผลประโยชน์ทับซ้อนจากการใช้เงินผิดวัตถุประสงค์นี้ เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกที่ สสส. จนผมกับ ศ.นพ.ดร.อภิวัฒน์ มุทิรางกูร ต้องเขียนบทความ การใช้กฎหมายให้ถูกวัตถุประสงค์หรือเจตนารมณ์จะแก้ไขปัญหา การใช้เงินผิดประเภทและผลประโยชน์ทับซ้อนในองค์กรอิสระทางสาธารณสุขซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ https://mgronline.com/daily/detail/9580000133490

แต่ผมเองก็นึกไม่ถึงว่า หลุมดำ 5% หรือเงิน Rebate ค่าซื้อยา 5% ที่กลับไปโรงพยาบาลแล้วนั้น แน่นอนว่าเกิดประโยชน์กับประชาชนมากกว่าให้ สปสช. เอาเงินหลุมดำเหล่านี้ไปแจกพวกตัวเองและแจก NGO กันเป็นว่าเล่น แต่ถ้าหากถามผมว่าโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขจัดซื้อยาเองแล้วได้เงิน Rebate 5% กลับมานี้จะสุจริตทุกโรงพยาบาลหรือไม่ ผมกล้ายืนยันเลยว่าไม่ มีหลายโรงพยาบาลที่เอาเงิน 5% นี้ใส่กระเป๋าผู้อำนวยการโรงพยาบาล อย่างไม่ถูกต้อง แต่กลับอยู่รอดปลอดภัย เพราะไร้หลักฐาน ทำชั่วแล้วได้ดี แต่คนทำดี เอาเงินที่เคยอยู่ใต้โต๊ะ ขึ้นมาวางบนโต๊ะให้ถูกต้องกลับถูกกลั่นแกล้งใส่ร้ายหรือไม่?

เงิน Rebate 5% ที่ผมต่อสู้จนทำให้โรงพยาบาลหรือหน่วยบริการได้รับคืนมานั้น จำนวนมากและส่วนใหญ่ได้นำกลับมาก่อสร้างอาคาร ซ่อมแซมตึก ซ่อมอุปกรณ์การแพทย์ที่ชำรุด หรือแม้จัดซื้ออุปกรณ์การแพทย์ กลับมาให้บริการประชาชน สมเจตนาหรือวัตถุประสงค์ในการใช้เงินเพื่อรักษาประชาชน

แม้กระทั่งการนำเงินดังกล่าวให้แพทย์หรือบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขในโรงพยาบาลได้ไปสัมมนาวิชาการ ทบทวนวิชาการ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ก็เป็นการรักษาประชาชนเช่นกัน เพราะได้นำความรู้ทางการแพทย์ใหม่ ๆ กลับมารักษาประชาชน มีความรู้เพิ่มขึ้น

แม้กระทั่งการใช้จ่ายด้านสวัสดิการให้กับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์หรือสาธารณสุข เช่น การเลี้ยงปีใหม่ เล็ก ๆ น้อย ๆ หรือการมอบหรีดให้กับญาติ พ่อแม่ ของบุคลากรที่เสียชีวิต ก็เป็นน้ำใจและเป็นการบำรุงขวัญและกำลังใจของบุคลากรที่ปฏิบัติงานด้วยความเสียสละเพื่อรักษาดูแลประชาชน การรักษาคนไม่ใช่แค่การแจกจ่ายยา และต้องมีบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่มีความรู้ความสามารถ มีขวัญและกำลังใจที่ดีในการปฏิบัติงานด้วยความเสียสละเพื่อประชาชนด้วยเช่นกัน ไม่นับว่าผิดวัตถุประสงค์แต่อย่างใด ไม่ได้เอาไปแจกให้เจ้าหน้าที่ สปสช. มีรถตู้พนักงานใช้ หรือเอาไปแจก NGO แต่เป็นสวัสดิการให้กับคนหน้างาน คนที่ทำงานให้บริการประชาชนอย่างแท้จริง ก็เป็นสิ่งที่มีเหตุผลอันสมควร

ยิ่งโรงพยาบาลใด ผู้อำนวยการ เอาเงินเหล่านี้เข้าโรงพยาบาลเปิดเผย ออกใบเสร็จรับเงินให้ และมีคณะกรรมการในการใช้จ่ายเงินอย่างถูกต้องโปร่งใส ยิ่งควรส่งเสริม และต้องถือว่าเป็นการกระทำอันสุจริตเสียด้วยซ้ำไป โปรดอ่านได้จากบทความ ขาว เทา ดำ จัดซื้อ (ยา) ของภาครัฐและการใช้กฎ กติกา https://mgronline.com/daily/detail/9630000062332

แต่ผมก็ไม่เคยคิดเลยว่า สิ่งที่ผมเขย่า คือ หลุมดำ 5% หรือเงิน rebate 5% ที่เคยอยู่ในมือ สปสช. เต็มไม้เต็มมือแล้วเมื่อกลับมาที่โรงพยาบาล จะกลายเป็นเครื่องมือ ที่ผู้บริหารที่ขาดธรรมาภิบาลและกลุ่มก๊วนแก๊งอ้างชนบท จะสมคบคิดกันนำมาใส่ร้ายป้ายสีและกลั่นแกล้งปฏิบัติไม่เป็นธรรม อันเป็นการประพฤติมิชอบในกระทรวงสาธารณสุข เพื่อรังแกคนที่มีฝีมือและสุจริต โปรดอ่านได้จาก เมื่ออดีตแพทย์ชนบทถูกกลั่นแกล้งรังแกโดยแพทย์อ้างชนบท : สังคมต้องขจัดคนพาล อภิบาลคนดี https://mgronline.com/daily/detail/9630000056236 “ชาญชัย-สุขุม-เกรียงศักดิ์ ถวิล-ยิ่งลักษณ์-เพรียวพันธ์” ใครจะต้องคดี ใครจะไม่มีแผ่นดินอยู่ รัฐนาวาลุงตู่จะอยู่หรือไป? https://mgronline.com/daily/detail/9630000057858 ชมรมแพทย์อ้างชนบทต้องการฆ่าปิดปากคดีหลุมดำ 5% โรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่นหรือไม่? https://mgronline.com/daily/detail/9630000059121

หลังเกิดเหตุการณ์โยกย้ายนายแพทย์ชาญชัย โดยกล่าวหาว่าทุจริตประพฤติมิชอบ อันเป็นการผิดวินัยร้ายแรง โดยที่กระบวนการสอบวินัย ดำเนินไปอย่างรวดเร็ว ข้ามขั้นตอน และไม่รอบด้าน อันเป็นการกระทำที่ไม่เป็นธรรมกับหมอชาญชัยเป็นอย่างยิ่ง หลังจากคำสั่งลับโยกย้ายราว 3-4 วันมีกรรมการของแพทยสมาคม ได้ capture ไลน์หลุดของไลน์ห้องกรรมการแพทยสมาคมมาให้ผมพิจารณา ผมคิดว่าควรมีการพิสูจน์ว่าไลน์นี้เป็นจริงหรือไม่ ซึ่งกรรมการแพทยสมาคมคงเป็นพยานให้ได้พอสมควร ผมคิดว่านายแพทย์สุขุม กาญจนพิมายมีพฤติกรรมการเป็นผู้บังคับบัญชาที่ขาดธรรมาภิบาล และกลั่นแกล้ง โดยเป็นการประพฤติมีชอบ ซึ่งในไลน์หลุดดังกล่าวนายแพทย์สุขุมได้กล่าวว่านายแพทย์ชาญชัย ทุจริต ทั้ง ๆ ที่ผลการสอบยังไม่ถือว่าเป็นที่สิ้นสุด เพราะถูกกล่าวหาว่าทำผิดวินัยร้ายแรงและกล่าวว่ามีการข่มขู่พยาน โดยกล่าวว่า “ทุจริต” และ “ปปช มาสอบแล้วครับ”

ยิ่งในภายหลังเกิดเหตุการณ์งงในงง ทำไมปลัดสุขุม ถึงได้ แต่งตั้งชาญชัย คนที่ตนเองแต่งตั้งกรรมการสอบลงโทษทางวินัยทุจริตร้ายแรง ฉ้อราษฎร์บังหลวง ข่มขู่พยาน สารพัด โดยได้บัตรสนเท่ห์เพียงใบเดียว ให้มารับผิดชอบทรัพยากรสำคัญของประเทศทั้งหมด ในการต่อสู้กับโควิด-19 ซึ่งสุดแสนจะสำคัญ ต้องการคนสุจริตและมีฝีมือ แต่ไม่ให้มีลูกน้องแม้แต่คนเดียว ไม่มีงบประมาณให้ แล้วจะทำงานกันได้อย่างไร นี่ยิ่งเป็นการกลั่นแกล้งหรือไม่?




ผมมีความเห็นว่านี่คือ หลุมดำ 5% แห่งการเลือกปฏิบัติ กลั่นแกล้ง ประพฤติมิชอบ ในกระทรวงสาธารณสุข และคิดว่านายแพทย์ สุขุม ปลัดกระทรวงสาธารณสุขกระทั่งนายอนุทิน ชาญวีรกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มีความผิดตามมาตรา 157 อาญา และผมคิดว่าเป็นการสมควรที่แพทย์หญิงเชิดชู อริยศรีวัฒนาได้รวบรวมหลักฐาน การเลือกปฏิบัติ การละเว้นการปฏิบัติหน้าที่และเป็นการประพฤติมิชอบ ของ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและปลัดกระทรวงสาธารณสุขและนำไปร้องเรียนที่ศูนยรับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล 1111

จดหมายฉบับแรกของแพทย์หญิงเชิดชู อริยศรีวัฒนา ต้องการให้มีการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีที่นายแพทย์ เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยมีหลักฐานการออกใบเสร็จรับเงินเข้ากองทุนเงินสวัสดิการของโรงพยาบาลชุมแพ โดยที่นายแพทย์เกรียงศักดิ์ ได้ออกมาสารภาพว่าได้รับเงินทอน 5% จากบริษัทยาดังกล่าวจริง โปรดอ่านได้จาก https://www.hfocus.org/content/2020/06/19536 “หมอเกรียงศักดิ์” ตอบชัด! ปมใบเสร็จเงินบริจาค รพ.ชุมแพ แต่เป็นใบเสร็จใบสุดท้ายและสั่งห้ามรับไม่ทันแล้ว และให้ย้ายหมอเกรียงศักดิ์ มาแขวนที่กระทรวงสาธารณสุขจนกว่าจะสอบเสร็จสิ้น แบบเดียวกับที่ปฏิบัติต่อนายแพทย์ชาญชัยแต่ละเว้นการปฏิบัติต่อนายแพทย์เกรียงศักดิ์ ทั้ง ๆ ที่นี่คือจดหมายอย่างเป็นทางการ เปิดเผย และไม่ใช่บัตรสนเท่ห์แต่อย่างใด จึงเป็นความไม่เป็นธรรมอย่างยิ่งหากจะละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ถือว่าเป็นการกลั่นแกล้งโดยชัดเจนหรือไม่




นอกจากนี้แพทย์หญิงเชิดชู อริยศรีวัฒนา ยังได้ยื่นจดหมายร้องทุกข์อีกฉบับเรียนนายกรัฐมนตรีให้มีบัญชาการให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและปลัดกระทรวงสาธารณสุข ดำเนินการสอบสวน นายแพทย์ วีระพันธุ์ สุพรรณไชยมาตย์ รองประธานบอร์ด สสส. คนที่ 2 อดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่น กรรมการมูลนิธิแพทย์ชนบท และกรรมการชมรมแพทย์ชนบท ซึ่งน่าจะมีการทุจริตและองค์การแพทย์ โรงพยาบาลขอนแก่นได้เคยส่งเรื่องร้องเรียนไปที่ ปปช. แล้ว และต้องการให้สอบสวนนายแพทย์วีระพันธุ์ และติดตามคดีที่ปปช เพราะมีหลักฐานการทุจริตหนักแน่นกว่าแต่กลับเลือกปฏิบัติ และละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ไม่มีการสอบสวน ไม่มีการติดตามคดีไปที่ ปปช อย่างที่ต้องกระทำ

ทั้งนี้เนื้อหาโดยสรุป พร้อมบทวิเคราะห์ ทั้งหมดมีดังนี้

เดือน มีนาคม 2558 มีหนังสือจาก สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น แจ้งมา รพ.ขอนแก่น เรื่อง มีหนังสือร้องเรียนว่า นพ.วีระพันธ์ สุพรรณไชยมาตย์ อนุมัติเบิกเงินสวัสดิการส่อไปในทางไม่โปร่งใส

ต่อมา ประมาณกลางเดือนมีนาคม 2558 มีเงินโอนมาเข้าบัญชีเงินสวัสดิการโรงพยาบาลขอนแก่น ประมาณ 11 ล้านบาท ระบุว่าเป็นเงินที่ นพ.วีระพันธ์คืนเงินยืม

ในระหว่างนั้นมีข้อพิพาทเรื่องที่ดินที่ซื้อ และโอนไม่ได้ จนเป็นคดีในศาล และนายแพทย์วีระพันธ์ ทยอยบริจาคที่ดินให้กรมธนารักษ์ โดยระบุว่าให้โรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่นใช้ประโยชน์ได้ แต่ไม่ทราบว่าได้มีการโอนให้จนครบทุกแปลงแล้วหรือไม่

อนึ่ง ขอตั้งข้อสังเกตว่านพ.วีระพันธ์ เกษียณอายุราชการเมื่อวันที่ 30 ก.ย.2557 แต่ทำไมอยู่ ๆ โอนเงินมาคืนเงินยืม ซึ่งจากข้อมูลทางบัญชีที่ นางรัมภา ส่งมอบงานบัญชีเงินสวัสดิการ รพ.ขอนแก่น ณ 30 กันยายน 2557 ให้เจ้าหน้าที่บัญชีรับงานต่อ โดยส่งมอบไฟล์ข้อมูลเดือนสุดท้ายที่ตนเองทำบัญชี เพียงอย่างเดียว ไม่มีหลักฐานการรับจ่ายในอดีตในการส่งมอบงานแต่อย่างใด

แล้วที่ดินที่บริจาคกรมธนารักษ์ แต่คืนเงินกลับมาในภายหลัง แล้วเอาเงินที่ไหนไปซื้อ ถ้ามีเงินซื้อที่บริจาคหลายสิบล้านบาท ร่ำรวยผิดปกติหรือไม่ ปปช ต้องปฏิบัติหน้าที่โดยการสอบสวนทรัพย์สิน แบบเดียวกับที่สอบสวนนายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม อดีตปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหรือไม่?

เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2560 ปปช.ได้ส่งหนังสือถึง ผอ.รพ.ขอนแก่น ขอสำเนาหลักฐานการจ่ายเงินสวัสดิการโรงพยาบาลขอนแก่น เดือน มกราคม-กันยายน 2557 ทางโรงพยาบาลขอนแก่น ได้ทำหนังสือส่งหลักฐานการจ่ายเงินให้ นพ.วีระพันธ์ จำนวน 8 ชุด

จากเอกสาร ทำให้ตั้งข้อสังเกตแห่งความไม่ชอบมาพากลได้ดังนี้

ประการแรก หนังสือนำส่ง ร่างและพิมพ์ โดย นางเดือนเพ็ญ รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหารในขณะนั้น แทบทั้งหมด

ประการที่สอง บันทึกขอเบิกเงิน พิมพ์และลงนามขอเบิกโดยนายกิตติ หัวหน้าการเงินในขณะนั้น ทุกฉบับและเป็นข้อความขอเบิกคล้ายกันทุกฉบับ

ประการที่สาม สัญญาเงินยืมที่แนบหลักฐานการจ่ายเงิน เขียนโดย นางเธียรศิริ เลขานุการส่วนตัว นายแพทย์วีระพันธ์ และเป็นคนที่รับเงินสวัสดิการจากโรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่นร่วมกับนายแพทย์วีระพันธ์ เป็นจำนวนมาก

ประการที่สี่ วันที่ขอเบิก/วันที่ยืม/วันที่จ่ายเช็ค เป็นวันที่เดียวกันทั้งหมด หรือห่างกันแค่วันสองวัน ทั้งนี้เอกสารแนบได้เรียงตามลำดับวันที่ขอเบิก วันที่ยืม และวันที่จ่ายเช็ค ของแต่ละยอดจากเงินสวัสดิการ

ประการที่ ห้าบันทึกขออนุมัติจ่ายเช็ค บางชุด ลงนามโดยนายกิตติ ทั้งหมด

ประการที่หก จากการตรวจสอบข้อมูล พบว่า สำเนาหลักฐานที่ส่งให้ ปปช. ขัดแย้งกับข้อมูลตามบัญชี เนื่องจาก พบว่า การจ่ายเช็คให้หมอวีระพันธ์ตามบัญชีรายจ่ายเงินสวัสดิการปี 57 เป็นลักษณะการจ่ายขาด ไม่ใช่การจ่ายเงินยืม ซึ่งหากเป็นการจ่ายเงินยืม การบันทึกบัญชีจะบันทึกไว้เป็นลูกหนี้เงินยืม และจะมีในรายงานลูกหนี้เงินยืมคงค้างประจำเดือน และเมื่อมีการส่งคืนเงินยืมถึงจะไปบันทึกล้างเงินยืมกับหลักฐานการคืนเงินยืม ทำไมจึงเป็นการจ่ายขาด ทำไมไม่มีการบันทึกในรายงานลูกหนี้ และ เงินยืมคงค้างประจำเดือน อันผิดหลักการบัญชีที่ได้รับการยอมรับโดยทั่วไป (Generally accepted accounting principle: GAPP) ซึ่งนักบัญชีต้องทำตามและยิ่งเป็นบัญชีราชการ ยิ่งถือว่าผิดปกติและส่อไปในทางทุจริตเป็นกระบวนการ

ประการที่เจ็ด ในเดือนมีนาคม 2558 เจ้าหน้าที่บัญชีได้รับแจ้งจาก นายกิตติ ว่าหมอวีระพันธ์ โอนเงินมาคืนเงินยืม ให้ทำการปรับปรุงบัญชีออก (โดยที่ไม่มีข้อมูลบัญชีลูกหนี้หมอวีระพันธ์ในบัญชีเลย) อันเป็นการสร้างหลักฐานเท็จหรือไม่?

ประการที่แปด การออกใบเสร็จรับคืนเงินยืม ดำเนินการโดยนายกิตติ หัวหน้าการเงินในขณะนั้น นายกิตติมีส่วนรู้เห็นหรือไม่

ประการที่เก้า มีการเปิดใบเสร็จรับเงินเล่มใหม่ เฉพาะรับคืนเงินยืมจากนายแพทย์วีระพันธุ์ รายการนี้โดยเฉพาะหรือไม่

ประการที่สิบ แล้วเรื่อง ป.ป.ช. ตรวจสอบกรณีหมอวีระพันธ์ สั่งจ่ายเช็คให้ตนเอง ก็เงียบหายไปหรือไม่ ทำไม่มีการดำเนินการสอบสวน ดำเนินคดีให้ถึงที่สุด เพื่อให้ความจริงปรากฎชัดเจนแก่สังคม รักษาธรรมาภิบาลของการเงินการคลังสาธารณสุข

ประการที่สิบเอ็ด ผมเองได้รับทราบจากเจ้าหน้าที่การเงินในโรงพยาบาลขอนแก่นด้วยวาจาว่า ขณะนี้หลักฐานการจ่ายเงินบัญชีเงินสวัสดิการโรงพยาบาลขอนแก่น เดือน มกราคม -กันยายน 2557 ได้หายไป มีการเข้ามาทำลายหลักฐานหรือไม่ หรือมีการสร้างหลักฐานใหม่หรือไม่ เป็นเหตุที่ต้องสงสัยยิ่ง

ประการที่สิบสอง ช่วงเวลา ดังกล่าว นางรัมภา เป็นผู้บันทึกบัญชี และนางรัมภา ได้ย้ายไปปฏิบัติงานที่ฝ่ายการเงิน ตั้งแต่ปี 58 มีความเป็นไปได้หรือไม่ว่า นางรัมภา หอบหลักฐานดังกล่าวไปด้วย ควรให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินลงตรวจอย่างละเอียดหรือไม่ เพื่อให้เกิดความโปร่งใส

ทั้งหมดนี้เป็นการวิเคราะห์ตามหลักการบัญชี/การเงิน และทำด้วยความสุจริตใจเพื่อประโยชน์สาธารณะและธรรมาภิบาลของผู้เขียนเอง

และขอถามว่า ณ ขณะนี้หลักฐานเจ้าปัญหานี้ ยังอยู่หรือโดนทำลายแล้วหรือไม่?

ผู้เขียนต้องขอขอบคุณแพทย์หญิงเชิดชู อริยศรีวัฒนา ผู้รวบรวมหลักฐานและกล้าหาญที่จะส่งจดหมายร้องเรียนไปที่นายกรัฐมนตรีเพื่อรักษาธรรมาภิบาลสาธารณสุขไทย ให้คนที่กระทำผิดต้องได้รับโทษ และไม่ให้เกิดการกลั่นแกล้งผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสุจริต ยุติธรรม อีกทั้งต้องขอขอบคุณเจ้าหน้าที่ภายในโรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่นที่ส่งเอกสารจำนวนมากมายให้ผมได้ลองวิเคราะห์ด้วยความรู้เท่าที่พอจะมีอยู่





ปัจฉิมลิขิต ทิ้งท้าย ผมขอคัดลอกข้อความจาก ชมรมแพทย์เพื่อวิชาชีพแพทย์ (ชพพ.) ซึ่งมีบทวิเคราะห์น่าสนใจดังนี้

คำสั่งย้าย นายแพทย์ชาญชัย ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่น

*ลักษณะจำเพาะ -รวดเร็วเร่งรีบ-รุนแรง ร้ายแรง -เป็นการกระทำซ้ำทั้งที่เคยมีปฏิกิริยาต่อต้านอย่างรุนแรง
*คำถามจากสาธารณะ -ทำไมต้องเป็นคนเดิม -ตั้งธงไว้ก่อนแล้วหรือไม่ -คำสั่งลักษณะอื่นที่เหมาะสมกว่า เช่นการย้ายไปช่วยราชการชั่วคราว ตั้งบุคลากรในโรงพยาบาลรักษาการแทนได้หรือไม่-กระบวนการพิจารณาทางปกครองถูกต้องแล้วหรือ
*สะท้อนถึงการใช้อำนาจบริหารได้คำนึงถึงผลกระทบต่อ -ผู้ถูกย้าย -โรงพยาบาล -ผู้ที่จะมาใหม่. ครบถ้วนแล้วหรือ
*ความยุติธรรมคือข้างที่เรายืน*


ผมเองก็อยากจะถามว่า หลุมดำ 5% แห่งการหลุมดำ 5% แห่งการละเว้นการปฏิบัติ กลั่นแกล้ง ประพฤติมิชอบ ในกระทรวงสาธารณสุข ผู้ที่ลงนามคำสั่งย้าย "นายแพทย์ชาญชัย" ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่น จะจบลงแบบเดียวกับ "ปลอดประสพ สุรัสวดี" และ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” หรือไม่?

ขอทบทวนให้ฟังทั้งสองกรณีดังนี้

กรณีนายปลอดประสพ สุรัสวดี กับ นายวิฑูรย์ ชลายนนาวิน

เมื่อปี 2546 นายปลอดประสพ สุรัสวดีขณะดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีคำสั่งยกเลิกการขึ้นดำรงตำแหน่งของนายวิฑูรย์ ชลายนนาวิน โจทก์ ในตำแหน่ง ผอ.สำนัก (นักวิชาการป่าไม้ 9) โดยมิชอบ ในวันที่ 5 พฤษภาคม 2563 นายปลอดประสพ สุรัสวดีต้องคำพิพากษาฎีกา ให้ลงโทษจำคุก 1 ปี 8 เดือน ไม่รอลงอาญา เนื่องจากศาลเห็นว่าการโยกย้ายตำแหน่งดังกล่าวไม่เป็นธรรมและทำลายระบบคุณธรรม-ธรรมาภิบาล เนื่องจากจำเลยมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ ทำให้ผู้อื่นได้รับความเสียหายตามมาตรา 157 ประกอบมาตรา 86 ฐานสนับสนุนเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ

กรณีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กับ นายถวิล เปลี่ยนศรี

เมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2554 นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีมีคำสั่งให้นายถวิล เปลี่ยนศรีไปปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี

ในวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2556 ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งของนายกรัฐมนตรีดังกล่าว และให้นายถวิล เปลี่ยนศรีกลับไปดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติตามเดิม

ในวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2557 ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้คืนตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ แก่นายถวิล เปลี่ยนศรี ภายใน 45 วัน

ในวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2557 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามีเหตุให้เชื่อได้ว่าการโยกย้ายเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ของพวกพ้อง ขาดคุณธรรมของการโยกย้ายข้าราชการพลเรือน ไม่คำนึงถึงความรู้ความสามารถ มีความเชื่อมโยงกับการแต่งตั้ง พล.ต.อ.เพียวพันธ์ มีเหตุให้เชื่อได้ว่าทำเพื่อผลประโยชน์ของตัวเองและพวกพ้อง มีผลประโยชน์ทับซ้อน และวาระซ่อนเร้น มิได้กระทำเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ และประชาชนแต่อย่างใด ด้วยการโยกย้ายข้าราชการเพื่อให้เครือญาติเข้ามาดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นการก้าวก่ายแทรกแซงกระบวนการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ ถือเป็นการกระทำที่ขาดจริยธรรม คุณธรรม ความถูกต้องชอบธรรมของการใช้อำนาจหน้าที่ตามบทบัญญัติของกฎหมาย

ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีมติเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ใช้สถานะการเป็นนายกรัฐมนตรี เข้าไปก้าวก่าย แทรกแซง การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการเพื่อประโยชน์ของตัวเอง ผู้อื่น พรรคการเมือง ต้องด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 266 (2) (3) และมาตรา 268 มีผลให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเป็นการเฉพาะตัว รวมถึงรัฐมนตรีที่ร่วมมีมติดังกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น