ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เปิดวอร์ล่อกันฝุ่นตลบอีกแล้ว งานนี้ไม่บันเทิง เพราะแรงระเบิดลูกใหญ่กรณีย้าย “นพ.ชาญชัย จันทร์วรชัยกุล” ผู้อำนวยการโรงพยาบาลขอนแก่น จากบัตรสนเท่ห์ด้วยข้อกล่าวหาเรียกรับเงินบริจาคจากบริษัทยา 5% เข้ากองทุนพัฒนาโรงพยาบาล มีหวังเจอสะเก็ดที่แตกกระจายกระเจิดกระเจิงกันยกโขยงแน่ เพราะอยู่ดีๆ ก็ขยายวงให้ “พิสดารพันลึก” จนไม่รู้ว่า คิดกันอย่างไร เมื่อเปิดข้อมูลเรื่องโรงพยาบาลรัฐในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศ 180 กว่าแห่ง ต่างทำอีหรอบเดียวกัน
ถามว่า ถ้าจะเอาผิดตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช. ) ออกกฎมาป้องปรามทุจริตผลประโยชน์ต่างตอบแทนโรงพยาบาลรัฐรับเงินบริษัทยาอย่างที่ นพ.ชาญชัยเจอไปสดๆ ร้อนๆ และอาจจะรวมถึง “หมอเกรียงศักดิ์” - นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระปกเกล้า จังหวัดจันทบุรี ที่ไปนั่งรักษาการแทนในเวลานี้ด้วยนั้น มีคุกใหญ่พอจะขังหมอกับเจ้าหน้าที่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องหมดหรือไม่
ที่สำคัญคือการเปิดข้อมูลเรื่องโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข เรียกรับเงินบริษัทยาถึง 186 แห่ง มีทั้ง รพศ. รพท. และ รพช. ไม่ใช่มาแบบลอยๆ หากแต่เปิดมาในวงแถลงข่าวเรื่อง “แนวทางการรับเงินบริจาคของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)” เมื่อวันที่ 9 มิถุนายนที่ผ่านมา ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) โดย นพ.สุขุม กาญจนพิมาย” ปลัดกระทรวงเป็นโต้โผใหญ่อีกต่างหาก และ “มนู สว่างแจ้ง นักวิชาการสาธารณสุขอิสระ” ที่มาเปิดเรื่อง สืบไปสืบมาก็เป็น “อดีตบิ๊กของบริษัทยาชื่อดังอย่างไฟเซอร์” อีกต่างหาก จนคนสาธารณสุขงงเป็นไก่ตาแตกว่า กำลังเล่นอะไรกันอยู่
เมื่อเจอข้อมูลแบบนี้ ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ไล่มาตั้งแต่รัฐมนตรียันปลัดกระทรวง จะยังเอาเรื่อง “หมอชาญชัย” เพียงคนเดียวได้ยังไง ไม่เช่นนั้นจะเจอข้อครหาสองมาตรฐาน ถ้าสอบก็ต้องสอบกันหมดแทบยกกระทรวง และถ้าขุดโค่นกันแบบถึงรากถึงโคนรับรองพังกันเป็นแถบๆ
และที่น่าสนใจหนักไปกว่านั้นก็คือ การย้าย “หมอชาญชัย” จุดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างอึกทึกครึกโครม แม้แต่ “หมอมงคล” นพ.มงคล ณ สงขลา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข “พี่ใหญ่” ของชมรมแพทย์ชนบท ก็ออกโรงปกป้อง “หมอชาญชัย” คนดีที่ถูกทำลายชื่อเสียง แทนที่จะเป็น “หมอเกรียงศักดิ์”
กระทั่งเรื่องราวดูจะลุกลามกันไปใหญ่ “หมอสุขุม” คนสั่งย้าย “หมอชาญชัย” จึงกลับลำ ปรับท่าทีอ่อนลง อ้างที่สั่งย้าย “หมอชาญชัย” เข้ากรุยังไม่สรุปว่าผิด “....กระทรวงยังไม่ได้บอกว่า นพ.ชาญชัย ฉ้อราษฎร์บังหลวงแต่อย่างใด...”
ระเบียบที่ไม่สอดคล้องกับสภาพที่เกิดขึ้นจริงจึงเป็นเหมือนตลกร้าย อย่างที่ นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวในวันแถลงข่าวเรื่อง “แนวทางการรับเงินบริจาคของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข” ว่า .... รพ.ไม่สามารถมีข้ออ้างใดๆ ในการรับเงินใดๆ จากบริษัทยา ไม่ว่าจะรับมาแล้วนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อโรงพยาบาลหรือเอาไปใช้อย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ก็ตาม เพราะกฎหมายไม่อนุญาตให้นำเข้าเงินจากบริษัทยาตั้งแต่แรกอยู่แล้ว เป็นการปิดล็อกประตูห้ามนำเข้าแล้วตั้งแต่กันยายน 2560 ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงได้มีการส่งหนังสือเวียนเกี่ยวกับมาตรการนี้ไปยังผู้บริหาร สธ. ทุกระดับรับทราบ 3 ครั้งแล้ว คือ วันที่ 2 มีนาคม 2561 , ธันวาคม 2562 และกุมภาพันธ์ 2563
“ผมเองเคยถาม ป.ป.ช. เล่นๆ ว่าหลัง สธ. มีหนังสือเวียนวันที่ 2 มีนาคม 2561 ออกไปแล้ว 1-2 เดือน ทำไม ป.ป.ช.ไม่ไปตามตรวจสอบทุกโรงพยาบาล ก็ได้คำตอบจากป.ป.ช. ทำให้ผมสะอึกว่า หมอจะเอาคุกที่ไหนขังคนของหมอ และบอกให้รู้ไว้ว่าบริษัทยามีการส่งข้อมูลให้ป.ป.ช.ทุกเดือนว่ายังจ่ายเงินให้โรงพยาบาลที่ไหนอยู่บ้าง....” นพ.ยงยศ กล่าวถึงสภาพที่เกิดขึ้นจริง
ปมย้าย “หมอชาญชัย” คนดีที่ถูกทำลาย
นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข มีคำสั่งย้าย นพ.ชาญชัย จันทร์วรชัยกุล ผอ.โรงพยาบาลขอนแก่น มายังกองบริหารการสาธารณสุข กรณีเรียกรับเงินบริจาคบริษัทยาเข้ากองทุนพัฒนาโรงพยาบาล และตั้งนพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ผอ.โรงพยาบาลพระปกเกล้า จังหวัดจันทบุรี มารักษาการแทน ต่อมา นพ.นพ.ชาญชัย ขออุทธรณ์คำสั่งย้ายของปลัดกระทรวงฯ พร้อมๆ กับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ทำให้ นพ.สุขุม เปิดแถลงชี้แจงปมย้าย “หมอชาญชัย” เมื่อวันที่ 9 มิถุนายนที่ผ่านมา
ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ชี้แจงว่าไม่ได้ย้ายเพราะบัตรสนเท่ห์ใบเดียว แต่มีกระบวนการตรวจสอบทางวินัยหลังได้รับบัตรสนเท่ห์ เมื่อเดือนตุลาคม 2562 แล้วว่ามีมูล โดยมีนพ.อภิชาติ รอดสม สาธารณสุข นิเทศกระทรวงสาธารณสุขเขต 6 เป็นกรรมการตรวจสอบร่วมกับนิติกร โดยใช้เวลา 8 เดือน ก่อนออกคำสั่งย้าย กรณีการระบุว่าฉ้อราษฎร์บังหลวง ก็เป็นเพียงคำกล่าวหา แต่กระทรวงยังไม่ได้บอกว่า นพ.ชาญชัย ฉ้อราษฎร์บังหลวงแต่อย่างใด
ส่วนจะสอบหมอเกรียงศักดิ์ ด้วยหรือไม่ เนื่องจากเคยเข้าไปเป็น ผอ.รพ.ขอนแก่น ระยะหนึ่ง หมอสุขุม ก็ยืนยันว่า หากมีการสอบสวนแล้วเชื่อมโยงเกี่ยวพันธ์กับใคร ก็ต้องเรียกมาสอบขยายผลทั้งหมด
“หมออภิชาต” หนึ่งในคณะกรรมการตรวจสอบที่มีทั้งหมด 5 คน กล่าวถึงกระบวนการสอบสวนหมอชาญชัย ว่ามีการเรียกพยานหลักฐานมาดูทั้งพยานบุคคล พยานเอกสาร เรียกหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูล รวมถึงลงไปสอบข้อมูลที่โรงพยาบาลขอนแก่นตามเส้นทางของหลักฐานและบุคคลที่กล่าวถึง โดยเรื่องที่เป็นการรับเงินที่เป็นผลประโยชน์จากบริษัทมีมูลควรกล่าวหา กรรมการจึงได้เสนอมาที่ผู้บังคับบัญชา เบื้องต้นรายงานแค่ที่มีมูลกล่าวหาทางวินัย
นายเสมอ กาฬภักดี นิติกรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานเสริมสร้างวินัยและระบบคุณธรรม สธ. ก็ว่า คณะกรรมการได้พิจารณาแต่ละประเด็น มีทั้งเห็นควรยุติและเห็นว่ามีมูลอันควรกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยร้ายแรง จึงเสนอความเห็นต่อปลัดกระทรวง เพื่อพิจารณา ถ้าปลัดฯเห็นว่าเป็นความผิดวินัยร้ายแรงก็เสนอให้อนุคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนของกระทรวงฯ (อ.ก.พ.) กระทรวงฯ สธ. ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการ เป็นประธาน พิจารณาสำนวนสอบสวนว่าผิดหรือไม่ ก่อนจะลงโทษหรือสั่งยุติ หากผิดร้ายแรงก็ปลดออกหรือไล่ออก ซึ่งผู้ถูกลงโทษก็มีสิทธิ์อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม ภายใน 90 วัน และร้องต่อศาลปกครองเพื่อขอความเป็นธรรมได้
กางกฎระเบียบ กฎหมาย ไล่กันเป็นฉากๆ เพื่อเล่นงาน “หมอชาญชัย” กระทั่ง “หมอมงคล” ทนไม่ไหว ลุกขึ้นไลฟ์สด ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Mongkol Na Songkhla คนดีทำเพื่อส่วนรวมแต่กลับถูกทำลาย เล่าสภาพความจริงในการบริหารงานของผู้บริหารโรงพยาบาลในต่างจังหวัดว่าต้องเจอกับอะไรบ้าง ต้องมีค่าใช้จ่ายที่เบิกตามระเบียบงบประมาณไม่ได้
เอาง่ายๆ อย่างการเลี้ยงรับรองคณะผู้บริหารหรือนักการเมืองที่ลงไปเยี่ยมโรงพยาบาล ไม่นับค่าส่งศพ ค่าข้าวค่าน้ำญาติผู้ป่วยที่อนาถา ค่ายานอกบัญชีบางรายการที่สั่งให้ผู้หลักผู้ใหญ่ เอาไหนจ่าย ก็เงินพิเศษที่มีผู้บริจาคให้โรงพยาบาลนี่แหละ เป็นความยุ่งยากลำบากใจของผู้บริหารโรงพยาบาลเล็กใหญ่ ที่ทำงานภายใต้ระบบป้องกันคนโกงไม่กี่คน แต่ทำให้คนอีกกว่า 90% อึดอัดขัดข้องในเรื่องการทำงานไม่สะดวก
“ เราพยายามทำให้เห็นว่าเราบริสุทธิ์ใจ ไม่มีการโกง แต่เราไม่ยอมรับความจริง ไอ้คนที่โกงไม่เดือดร้อน ไอ้คนโกง ยิ่งโกงมากยิ่งผ่านฉลุย นี่เป็นสังคมที่น่าเกลียดที่สุดในสังคมไทย คนดีจะถูกทำลายไปเรื่อยๆ ผมไม่ได้มีปัญหาหรือชอบพอกับคุณหมอชาญชัย ผมไม่รู้จักด้วยซ้ำไป แต่ผมเห็นคุณหมอชาญชัย มายกมือไหว้ ใส่เสื้อสีเขียว ไหว้รัฐมนตรีอนุทิน (ชาญวีรกูล) น้ำตาคลอ ผมสะท้อนใจ คนๆนี้ทำทุกอย่างเพื่อส่วนรวม ไม่เคยนึกถึงตัวเองเท่าที่ผมทราบ แต่ไม่ได้รู้จักส่วนตัว ส่วนนพ.เกรียงศักดิ์ ผมก็สนิทสนมร่วมมา 40 ปีแล้ว ผมไม่ได้อคติกับคนหนึ่งคนใด แต่การที่คุณหมอชาญชัยถูกกระทำ ขาดฐานความคิดที่จะประกอบกุศล ผมอาจมีข้อมูลไม่เพียงพอ แต่ผมเข้าใจหลายครั้งเกิดกับข้าราชการที่มีความซื่อสัตย์ และไม่คิดจะโกง หรือเอาผลประโยชน์เป็นส่วนตัว....
“.... ผมไม่รู้ว่าขณะนี้การสอบสวนคุณหมอชาญชัย ไปถึงไหน แต่ที่ผมได้ข่าวก็ดูแล้วไม่ชอบมาพากล ก็อยากให้ผู้บริหารในกระทรวงสาธารณสุข ตรวจเรื่องของเนื้อหาสาระของการตั้งข้อหาตรงนี้ให้ดี และการย้ายข้าราชการที่ทำงานเป็นเวลาช้านาน ถูกย้ายมากระทรวง ชื่อเสียงหายไปหมด ถ้าสมมติสอบแล้วไม่มีอะไร แต่ตัวเขาเอง ลูกที่ไปโรงเรียน เขาขายหน้า ไม่สามารถชดใช้ได้ ขอให้เตรียมตัวเตรียมใจกันด้วย ไม่งั้นก็ต้องรอชาติหน้าหรือ แล้วชาตินี้จะพัฒนาอย่างไร
“.... ความจริงเป็นอย่างไร ก็ขอให้แถลงชัดเจนว่า มีส่วนไหนเอาไปใช้ประโยชน์ส่วนตัว แต่ถ้าทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวม เพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ก็แก้ไขเสีย อะไรที่ทำให้เจ็บปวด อย่าทำให้เจ็บปวดมากอีก วันนี้ผมอยากขอร้องทุกฝ่าย ขอให้ยับยั้งชั่งใจ ทำอะไรก็แล้วแต่ คงไม่นึกถึงว่าคนนั้นเป็นใคร แต่ขอให้นึกถึงความดีงามของแต่ละคน ว่าทำเพื่อผลลัพธ์ที่ดี ไม่ใช่ทำตามระเบียบที่ทำขึ้นป้องกันบางคน แต่คนดีๆ กลับทำอะไรไม่ได้ เพราะติดกับดักความชั่วร้ายที่ตรากันขึ้นมา กลายเป็นว่าคนดีถูกกระทำ แต่คนไม่ดีกลับรอดกับดักกฎหมาย
“หมอมงคล” ได้ขอความกรุณานักกฎหมาย คนร่างระเบียบดูผลลัพธ์ ดูเป้าหมาย อย่าให้คนดีไม่สามารถปฏิบัติงานด้วยความดีได้ ไม่เช่นนั้นก็จะติดอยู่กับคนที่หลงในความดี แต่ก็ไม่ได้ทำความดี ขอให้พวกเราช่วยกันติดตามเรื่องคุณหมอชาญชัย เพื่อเป็นกำลังใจ หากท่านไม่ได้ทำความผิดขอให้ท่านได้กลับไปบริหารงานเหมือนที่เคยทำมา เรื่องนี้จะได้เป็นอุทธาหรณ์ของคนทุกคน
กระแสร้อนแรงขึ้นตามลำดับ เพราะไม่แต่ “หมอชาญชัย” เท่านั้นที่ถูกเรียกสอบ “หมอเกรียงศักดิ์” ที่ไปรักษาการแทน ก็ถูกเรียกสอบเพราะเคยบริหารโรงพยาบาลขอนแก่นอยู่ด้วยเช่นกัน รวมไปถึงการเปิดข้อมูลของนายมนู สว่างแจ้ง ที่สำรวจพบว่ามีโรงพยาบาลต่างๆ ที่รับเงินบริจาคจากบริษัทยา 5% ถึง 180 กว่าแห่ง ซึ่งเมื่อปลัด สธ. ถูกถามจี้จะเอายังไงก็ตอบว่าคงต้องสอบกันหมด
เสียงอื้ออึงที่ชักไปกันใหญ่ดังถึงหู พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้มีข้อสั่งการลงมาผ่านทางนายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ว่า ห้ามย้ายขาดทั้งหมอชาญชัย และหมอเกรียงศักดิ์ จนกว่าผลสอบจะยุติ
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ส่งข้อความผ่านกลุ่มไลน์ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ว่า ขอสั่งการเป็นนโยบาย ห้ามออกคำสั่งย้ายขาดนายชาญชัย จันทร์วรชัยกุล ผอ.โรงพยาบาลขอนแก่น ออกจากตำแหน่ง และ ห้ามย้ายนายเกรียงศักดิ์ ออกจากตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระปกเกล้า จังหวัดจันทบุรี จนกว่าการสอบสวนวินัยร้ายแรงจะแล้วเสร็จ
นายอนุทิน ยังได้รายงานเรื่องที่เกิดขึ้นให้นายกรัฐมนตรี ทราบแล้ว และจะมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีที่เกิดขึ้นอีกชุดหนึ่ง เพื่อพิจารณาเรื่องทั้งหมด ทั้งการกล่าวหาเรียกรับผลประโยชน์ ทั้งการออกคำสั่งแต่งตั้งโยกย้ายผู้อำนวยการ 2 โรงพยาบาล และการดำเนินการที่เกี่ยวเนื่อง เพื่อให้มีความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย
ประเด็นที่ต้องขีดเส้นใต้เอาไว้ก็คือ นพ.ชาญชัยมิได้นำเงินดังกล่าวเข้าพกเข้าห่อเป็นการส่วนตัว หากแต่นำไปเข้าอย่างเปิดเผยในกองทุนพัฒนาของทางโรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่น ซึ่งแม้จะขัดกับมติ ครม. แต่โดยสำนึกแล้ว ก็ย่อมมิใช่การฉ้อราษฎร์บังหลวงอย่างแน่นอสน
เงินบริจาคบริษัทยา5% รพ.สังกัด สธ.รับกัน 186 แห่ง
วกกลับมาดูข้อมูลที่นายมนู สว่างแจ้ง อดีตผู้จัดการใหญ่ประจำประเทศไทย บริษัทไฟเซอร์ เปิดเผยในงานแถลงเรื่อง “แนวทางการรับเงินบริจาคของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)” เมื่อวันที่ 9 มิถุนายนที่ผ่านมา ตามคำเชิญของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งนายมนู สำรวจข้อมูลบริษัทขายยาในไทย หลังจากครม.มีมติเห็นชอบข้อเสนอของ ป.ป.ช. เมื่อปี 2560 ที่ห้ามโรงพยาบาลเรียกรับเงินจากบริษัทยา ร้อยละ 5 ว่า ช่วงแรกๆ ตัวเลขการจ่ายเงินของบริษัทให้โรงพยาบาลรัฐลดลงไปมาก แต่จากการสำรวจข้อมูลของสมาคมไทยอุตสาหกรรมผลิตยาแผนปัจจุบัน ณ วันที่ 28 ธันวาคม 2562 พบว่าตัวเลขเริ่มกลับมาเพิ่มมากขึ้นนับแต่ช่วงกลางปี 2562 เป็นต้นมา
ผลสำรวจจากจำนวน รพ. สังกัด สธ. ทั้งหมด 786 แห่ง แยกเป็นโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป(รพศ./รพท.) 116 แห่ง และโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) หรือ รพ.ประจำอำเภอ 670 แห่ง พบว่า เดือนมีนาคม 2562 มีการรับเงินรวม 12 แห่ง คิดเป็น 1.53% แยกเป็นรพศ./รพท. 2 แห่ง คิดเป็น 1.72 % รพช. 10 แห่ง คิดเป็น 1.49 % แต่ในเดือนพฤศจิกายน 2562 มีจำนวนรพ.ที่รับเงินเพิ่มขึ้นมาก โดยมีการรับเงินรวม 186 แห่งคิดเป็น 23.70% แยกเป็นรพศ./รพท. 22 แห่ง คิดเป็น 19 % และรพช. 164 แห่ง คิดเป็น 24.50 %
“เห็นได้ว่าช่วงเดือนพ.ย.2562 ซึ่งห่างจากการสำรวจรอบก่อนหน้า 8 เดือน กลับมีการรับเงินเพิ่มมากขึ้น ซึ่งน่าจะมาจากการเปลี่ยนผู้อำนวยการโรงพยาบาลใหม่ หรือละเลยเรื่องกฎระเบียบหรือไม่ ...” นายมนู ตั้งข้อสังเกต
อย่างไรก็ตาม เขาบอกว่าตั้งแต่ก่อนที่จะมีมติครม.ออกมา บริษัทยาให้ส่วนลดในการจัดซื้อยาแก่โรงพยาบาล 5% มาตลอด เรียกว่าเงินสวัสดิการ ซึ่งเงินบริจาคของบริษัทยาในปัจจุบันก็คือ เงินสวัสดิการนี้ เพราะเงินออกจากบริษัททุกเดือน เดือนละ 5 % ของยอดขาย มีทั้งการให้โอนเข้าบัญชีรพ.แบบมีใบเสร็จและไม่มีใบเสร็จ เป็นข้อพิสูจน์ว่าเป็นผลประโยชน์ต่างตอบแทน
นายมนู ได้เสนอว่าเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว กระทรวงสาธารณสุขและกรมบัญชีกลาง ควรหารือร่วมกันในการให้กรมบัญชีกลาง เป็นผู้จ่ายเงินค่ายาและเวชภัณฑ์ไปยังบริษัทยาโดยตรง เพื่อลดปัญหา และลดการตั้งเงื่อนไขการจ่ายค่ายาระหว่างบริษัทกับโรงพยาบาล
จากการสำรวจยังพบการเรียกรับเงิน มีทั้งในรูปแบบการต่อรองก่อนมีการสั่งซื้อหรือเอายาเข้า บางแห่งมีการข่มขู่ว่าจะเอายาออกจากบัญชียาของโรงพยาบาล โดยให้บริษัทนำเงินสดมาส่งให้ หรือให้บริจาคทุก 3 เดือน เข้ากองทุนสวัสดิการ
รายงานของสำนักข่าวอิศรา ระบุไม่แต่โรงพยาบาลในสังกัด สธ. เท่านั้นที่เรียกรับเงิน โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงกลาโหม มีการตั้งเงื่อนไขเรียกรับเงินเช่นเดียวกัน เช่นว่าถ้าไม่จ่ายเงินสวัสดิการ ก็จะไม่จ่ายเช็คที่ค้างอยู่ให้ เป็นต้น
ก่อนหน้านี้ ครม.มีมติเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2560 เห็นชอบตามที่ ป.ป.ช. เสนอในเรื่อง “มาตรการป้องกันการทุจริตในกระบวนการเบิกจ่ายยาตามสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ” ซึ่งมีข้อกำหนดไว้ว่า “ห้ามไม่ให้หน่วยงานที่ทำการจัดซื้อทำการหารายได้ในลักษณะผลประโยชน์ต่างตอบแทนทุกประเภทจากบริษัทยาเข้ากองทุนสวัสดิการสถานพยาบาล”
หลังการเปิดเผยข้อมูลของนายมนู ทาง “หมอสุขุม” ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ยืนยันว่า ข้อมูลที่พบว่ายังมีโรงพยาบาลในสักัด สธ. รับเงินจากบริษัทยาอยู่นั้น กระทรวงได้รับเรื่องแล้วและพร้อมจะตรวจสอบทั้งหมดว่า มีที่ไหน อย่างไร เงินบริจาคลักษณะนี้ถือว่าผิดระเบียบ
ถ้าหมอสุขุม เอาจริงอย่างว่า ฝุ่นตลบ สธ.แน่ และคงจะหาคนทำงานได้ยากขึ้น เพราะต้องระวังตัวเองไม่ให้ถูกกล่าวหาว่ากินสินบาทคาดสินบน เสียชื่อเสียง เพราะดูแล้ว การเรียกรับเงินบริจาคหรือจะเรียกเงินอะไรก็แล้วแต่ 5% จากบริษัทเข้ากองทุนสวัสดิการของโรงพยาบาลเพื่อใช้จ่ายจิปาถะตั้งแต่สากกะเบือยันเรือรบที่เบิกจ่ายจากเงินงบประมาณประจำปีไม่ได้ หรืองบประมาณมีไม่เพียงพอนั้น กลายเป็นจารีตประเพณีในการทำการค้าระหว่างบริษัทยากับโรงพยาบาลไปแล้ว
ประเด็นจึงขึ้นอยู่กับว่า เงินส่วนนี้เข้าส่วนกลางหรือเข้ากระเป๋าส่วนตัวอย่างที่ “หมอมงคล” ทักท้วง ให้แยกแยะและตรวจสอบบนหลักการเพื่อให้ “คนดี” ทำงานกันต่อไปได้ นั่นแหละ
ต้องไม่ลืมว่ามูลค่าอุตสาหกรรมยาแผนปัจจุบันของไทยมีมูลค่ามหาศาล เภสัชกรรมสมาคมแห่งประเทศไทย ประเมินว่า มีมูลค่าประมาณ 1.77 แสนล้าน และมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยประมาณ 5-6% ต่อปี โดยกลุ่มลูกค้าหลักของบริษัทยา คือ กลุ่มโรงพยาบาลรัฐ ประมาณ 75% ที่เหลือเป็นกลุ่มโรงพยาบาลเอกชนและร้านขายยา ดังนั้น กลยุทธ์การตลาดเพื่อจับกลุ่มโรงพยาบาลรัฐ ซึ่งถือเป็นคู่ค้ารายใหญ่ไม่ให้หลุดมือไปจึงเป็นเรื่องที่บริษัทยาต้องทำทุกวิถีทาง เงินบริจาค พาหมอทัวร์นอก ดูแลครอบครัวหมอและผู้บริหาร สธ. ดุจญาติมิตร ฯลฯ เกิดขึ้นเป็นปกติก็ว่าได้
หาก “หมอชาญชัย” ถูกตรวจสอบรับเงินบริจาคเข้ากองกลาง แล้วผอ.โรงพยาบาลขอนแก่นคนก่อนๆ เอาเข้ากระเป๋าไหน “หมอสุขุม” อย่ารอบัตรสนเท่ห์ รีบสาวลึกลงไป และสอบไปให้หมดทุกโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขที่ว่ารับเงินบริจาคกันครึกโครมกว่าร้อยแห่ง ส่วนโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงกลาโหม หรือโรงพยาบาลทหาร ก็ต้องสอบกันให้ถ้วนหน้า
ที่สำคัญคือการที่ หมอสุขุมเล่นใหญ่ขนาดนี้ยากจะเข้าใจ เพราะเห็นปลายทางชัดๆ ว่าจะพาพี่น้องพังกันยกกระทรวง ดังนั้น คงไม่ต้องถามว่า ไปกินอะไรมา เพราะทำท่าว่าต้นสายปลายเหตุของเรื่องทั้งหมดเป็นผลมาจาก “นักการเมือง” ตามเสียงร่ำลือที่ดังกระหึ่มเสียแล้วกระมัง