ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
อาจารย์ประจำสาขาวิชา Business Analytics and Intelligence
และ Actuarial Science and Risk Management
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
จะคดีลูกกระทิงแดงขับรถชนตำรวจตาย แต่หลักฐานสำคัญเช่น การวิเคราะห์ความเร็วอย่างตรงไปตรงมาไม่เข้าไปในสำนวน ตลอดจนผลการตรวจเลือดโดยหน่วยนิติเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี พบว่ามีการเสพโคเคนและการดื่มแอลกอฮอล์ ในขณะเกิดเหตุก็ไม่เข้าไปในสำนวน ทำให้อัยการสั่งไม่ฟ้อง นอกจากนี้จู่ ๆ พยานที่เห็นเหตุการณ์ก็เสียชีวิตกระทันหัน ทำให้สังคมกังขาว่าเสียชีวิตจริงหรือไม่ หรือจัดฉาก หรือบังคับฆ่าตัวตาย หรือฆ่าปิดปาก หรืออย่างไรกันแน่ ล้วนแต่สร้างความกังขาให้กับสังคม
ล่าสุดมีการยิงกันตายสี่ศพในบ่อนแถวพระราม 3 มีคลิปหลุดมาว่าปีนเก็บกล้องทำลายหลักฐาน ศพยังนอนอยู่ที่พื้น ยกโต๊ะพนันออกไปหมด และตำรวจออกมาแถว่าไม่เป็นบ่อน น่าจะเป็นโต๊ะพนันเคลื่อนที่เพราะมีโต๊ะเดียว คนที่ถูกยิงตายก็เป็นตำรวจระดับสารวัตรหนึ่งศพ
ฝีตำรวจนั้นถ้าจะว่าไปก็แตกมาเป็นระยะ ๆ แต่เที่ยวนี้หนักหนาหน่อย ฝีแตกหลายเม็ด เม็ดใหญ่ ๆ ในเวลาเดียวกัน พร้อม ๆ กัน เหม็นเน่าไปทั้งประเทศ คนไทยพากันออกมาแสดงความเห็นว่าเรื่องแบบนี้เกินกว่าจะยอมรับได้ สิ่งที่เห็นว่าเป็นเอกฉันท์ไม่ว่าจะการเมืองฝั่งใด สีใดก็ตาม คือต้องการปฏิรูปตำรวจและกระบวนการยุติธรรมของไทยให้ดีกว่าเดิม อาจจะเป็นประเด็นเดียวที่ประชาชนต่างความเห็นทางการเมืองมีจุดยืนร่วมกันที่ชัดเจน ถ้ารัฐบาลจะฉวยโอกาสนี้ปฏิรูปตำรวจที่ฝีแตกแล้วให้ดีขึ้น จะลงมีดกรีดฝีที่ยังไม่แตกให้สิ้นซากจนพรุนไปทั้งร่างตำรวจก็คงจะไม่มีใครตำหนิแต่อย่างใด ในทางตรงกันข้ามจะได้รับความชื่นชมและการยอมรับมากขึ้น โปรดอย่าลืมว่าตำรวจเป็นต้นธารของกระบวนการยุติธรรม หากน้ำเน่าแต่ต้นทางแล้ว ปลายทางแห่งกระบวนการยุติธรรมก็ยากที่จะบริสุทธิ์ยุติธรรม เป็นน้ำดีไม่ได้เลย
เรื่องนี้ประชาชนทุกฝ่ายคาดหวัง ความอยุติธรรมในกระบวนการยุติธรรมของไทย ทุกคนอยากให้มันจบที่รุ่นเราทั้งนั้น เพราะหากยุติธรรมไม่มี สามัคคีไม่เกิด แล้วเราจะต้องทนอยู่กันในประเทศไทยที่ไร้ความยุติธรรมกันอย่างนี้จริง ๆ หรือ เรายอมรับสภาพเช่นนี้ได้กันจริงหรือ
ผมได้เขียนถึงการปฏิรูปตำรวจในความเห็นของผมไว้หลายครั้ง เช่น
ปฏิรูปตำรวจเพื่อหยุดความเจ็บปวดจากกระบวนการอยุติธรรมในประเทศไทย https://mgronline.com/daily/detail/9610000073545
“ปฏิรูปตำรวจ” เริ่มต้นต้องหยุดการซื้อขายตำแหน่ง https://mgronline.com/daily/detail/9620000035662
5D เพื่อการปฏิรูปตำรวจไทย https://mgronline.com/daily/detail/9590000069879
ปัญหาจากกรณีคดีลูกกระทิงแดง หากจะแก้ไขให้เกิดความยุติธรรมได้ ผมคิดว่าอย่างน้อยที่สุดต้องลดและแบ่งแยกอำนาจตำรวจไทย ที่มีมากเกินไป
ไม่มีประเทศไหนในโลกที่ตำรวจมีอำนาจมากเท่าตำรวจไทย ในบางรัฐบาลประเทศไทยแทบจะเป็นรัฐตำรวจ เช่นสมัยนายกรัฐมนตรีคือนักโทษชาย ดร.ทักษิณ ชินวัตร ตำรวจได้ดิบได้ดีในราชการ ไปนั่งตำแหน่งใหญ่ในหน้าที่ราชการพลเรือนเต็มไปหมด มีการฆ่าล้างยาเสพติดที่มีผู้บริสุทธิ์ถูกฆ่าไปเป็นจำนวนมากเช่นกัน (และมีพ่อค้ายาเสพติด ถูกฆ่าไปมากเช่นกัน)
วิธีการลดอำนาจตำรวจ และแบ่งแยกfอำนาจตำรวจที่ง่ายที่สุด และทำได้รวดเร็วที่สุดและจะทำให้ตำรวจเดินได้ตรงมากขึ้น ทำได้ง่ายและทำได้ทันที มีความเป็นมาตรฐานสากล ทำให้เกิดความยุติธรรมได้มากและเร็วที่สุดคือการตั้งสำนักงานสอบสวนคดีแห่งชาติ ให้เป็นองค์กรอิสระ/มหาชน แยกออกมาเอกเทศจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไม่ขึ้นกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้เป็นอิสระ และทำงานร่วมกันกับสำนักงานอัยการสูงสุด โดยที่ให้สำนักงานอัยการสูงสุดสามารถเข้ามาร่วมในกระบวนการสอบสวนได้
เรียกว่าปฏิรูปตำรวจโดยลงแรงน้อยที่สุด แต่ได้ผลมากที่สุด
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยังมีอำนาจเต็มมือ ไม่ว่าจะเป็นการสืบสวน การป้องกัน การปราบปราม การจับกุม ยังคงมีตำรวจน้ำ ตำรวจทางหลวง ตำรวจรถไฟ ตำรวจท่องเที่ยว และตำรวจอะไรอีกสารพัด ที่อาจจะไม่ใช่พันธกิจหลักของตำรวจก็ยังคงอยู่เหมือนเดิม ให้พอมีอำนาจมากเหมือนเดิมแต่ไม่เท่าเดิม จะได้เกิดการต่อต้านจากผู้มีอำนาจในวงการตำรวจไม่มากนัก จนแตะอะไรไม่ได้เลย ปฏิรูปอะไรไม่สำเร็จเลยสักอย่าง
ทำไมต้องแยกอำนาจการสอบสวน ออกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และให้สำนักงานอัยการสูงสุดเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการสอบสวน?
ประการแรก การสอบสวนเป็นต้นธารของสำนวนคดีที่จะถูกพิจารณาสั่งฟ้องโดยอัยการและตัดสินพิพากษาโดยศาล หากต้นทางไม่ขาดสะอาดแล้ว ปลายทางไม่มีวันขาวสะอาดยุติธรรมได้ การลดและการแบ่งแยกอำนาจพนักงานสอบสวนออกมาเป็นอิสระแยกขาดออกมาจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะทำให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติทำงานอื่น ๆ อย่างรอบคอบ สุจริตมากขึ้น เช่น จะไม่ปราบปราม หรือสืบสวน อย่างใส่ร้ายป้ายสีหรือไม่กล้าจะจับแพะ เพราะพนักงานสอบสวนที่อยู่แยกหน่วยงานเป็นอิสระแก่กัน จะไม่ทำสำนวนส่งฟ้องให้ จำนวนสำนวนส่งฟ้องจะลดลงเพราะจะมีการกล่าวหาหรือจับแพะลดลง สำนวนคดีจะมีคุณภาพมากขึ้น ไม่ใช่ยื่นส่งไปอัยการแล้วสั่งไม่ฟ้องมากมายเช่นปัจจุบันนี้
ประการที่สอง การสอบสวนของตำรวจไทย ไม่มีการตรวจสอบถ่วงดุล และถูกแทรกแซงจากตำรวจมากเหลือเกิน
พนักงานสอบสวนถูกกดดันจนฆ่าตัวตายไปก็มาก ความล้มเหลวจากคดีลูกกระทิงแดง ขับรถชนคนตาย สะท้อนให้เห็นปัญหา การสอบสวนคดี ที่ไม่นำหลักฐานพยานเข้าคดี ทำให้สำนวนอ่อนปวกเปียก ในความเป็นจริงเป็นที่ทราบกันดีว่า พนักงานสอบสวนเขียนสำนวนอะไรไปหากผู้กำกับไม่ลงนามก็จะกดดันให้พนักงานสอบสวนแก้ไขสำนวนจนเป็นที่พอใจของผู้กำกับ โดยที่ผู้กำกับอาจจะไปรับสินบนหรือรับผลประโยชน์ต่าง ๆ มา และพนักงานสอบสวนอาจจะไม่ได้มีผลประโยชน์อะไรเลยก็ได้ แต่ก็ต้องทำ เพราะนายสั่ง ยิ่งไปกว่านั้นพนักงานสอบสวนก็อาจจะทำเสียเองก็ยังได้ เพราะขาดการตรวจสอบถ่วงดุล
การที่ให้สำนักงานอัยการสูงสุดเข้ามามีส่วนร่วมในการสอบสวนได้ ในทุกกรณี จะทำให้เกิดการตรวจสอบถ่วงดุลกันเอง และสำนักงานอัยการสูงสุด โดยอัยการจะได้ไม่มีทางพ้นผิดด้วยการโบ้ยปัดความรับผิดชอบออกไปพ้นตัวได้ง่าย ๆ เพียงแค่พูดว่า ตำรวจทำสำนวนมาเช่นนี้ ก็ต้องวิเคราะห์ไปตามที่พนักงานสอบสวนทำมา จะอ้างเช่นนั้นให้เป็นความผิดของตำรวจต่อไปไม่ได้แล้ว
อีกประการหนึ่ง การที่มีคนนอกหน่วยงานเข้ามาร่วมในการสอบสวน จะทำให้เจ้าพนักงานสอบสวนจะทำอะไรก็ต้องระมัดระวังมากขึ้น จะหลบซ่อนหลักฐานต่าง ๆ ก็ไม่ได้ง่ายนัก แม้ผู้ที่จะจ่ายสินบนให้เจ้าพนักงานก็ต้องจ่ายทั้งพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการพร้อม ๆ กัน ทำให้จ่ายสินบนได้ยากขึ้น และการที่มีสองหน่วยงานทำงานร่วมกันจะทำให้เกิดการระแวงกันเอง และไม่กล้าที่จะทำผิดหรือทุจริตเพราะกลัวอีกฝ่ายปูดข้อเท็จจริงที่ไม่ถูกต้องในการทำงานหรือหักหลังกันในภายหลังได้
การทำงานร่วมกันยังช่วยให้เกิดความละเอียดรอบคอบ ป้องกันอคติ และลดการลุแก่อำนาจในการใช้อำนาจหรือวิจารณญาณในทางที่มิชอบลงไปได้
ประการที่สาม ในประเทศที่พัฒนาแล้ว และมีกระบวนการยุติธรรมที่ดีกว่าประเทศไทย การที่พนักงานอัยการจะเข้าร่วมในการสอบสวนกับพนักงานสอบสวนถือว่าเป็นแนวทางปฏิบัติสากล ในขณะเดียวกันการแยกอำนาจพนักงานสอบสวนออกจากตำรวจก็เป็นสิ่งที่พึงทำ อันที่จริงประเทศต่าง ๆ ในโลกส่วนใหญ่ไม่มีสำนักงานตำรวจแห่งชาติเสียด้วยซ้ำ
ประการที่สี่ การแยกสำนักงานสอบสวนคดีแห่งชาติออกมาเป็นพลเรือน เป็นหลักการที่ถูกต้อง แท้จริงแล้วงานตำรวจเป็นงานพลเรือน ไม่จำเป็นต้องใช้วิธีการปกครองแบบทหาร ที่มีชั้นยศ เป็นนายพัน นายพล ควรเป็นพลเรือนเพื่อลดอำนาจในการสั่งการแทรกแซงแก้ไขของผู้บังคับบัญชา การมีชั้นยศมากเกินไปไม่มีความจำเป็นแบบทหาร เพราะไม่ได้สั่งให้ไปรบ แต่ทำหน้าที่สอบสวน ควรเป็นมืออาชีพแบบพลเรือน ว่ากันด้วยข้อเท็จจริงตามหลักฐานที่พิสูจน์ได้ มีความเป็นวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่จะมาสั่งกันง่าย ๆ ให้ทำตามชั้นยศที่สูงกว่าแบบทหารได้ ไม่เช่นนั้นจะไม่เกิดความยุติธรรม
ประการที่ห้า เส้นทางอาชีพ การพัฒนา และความก้าวหน้า ของพนักงานสอบสวน จะดีขึ้นมาก การทำงานจะราบรื่นขึ้นมีการแทรกแซงลดลง หากมีการแยกหน่วยงานออกมาเป็นองค์การอิสระชัดเจน
แท้จริงแล้วอาชีพพนักงานสอบสวน เป็นงานที่ต้องใช้ความรู้เยี่ยงนักวิจัย ต้องค้นหาหลักฐาน วิจัย สอบสวน และต้องเรียบเรียงเขียนสำนวน เล่าเรื่องให้ครบถ้วน ติดตามได้เข้าใจ วิเคราะห์และสังเคราะห์จนได้สำนวนที่ถูกต้องครบถ้วน มีหลักฐาน มีเหตุมีผล อันเป็นงานที่ใช้ความรู้ทักษะขั้นสูง ทั้งความรู้ในด้านกฎหมาย ความรู้ในด้านเนื้อหาวิชาการที่เกี่ยวกับคดีนั้น ๆ สารพัดด้าน ความสามารถทางนิติวิทยาศาสตร์ ความรู้ด้านการวิจัย ทักษะในการวิเคราะห์สังเคราะห์ ทักษะในการเรียบเรียงและเขียน ตลอดจนการเล่าเรื่อง ทักษะและความรู้ทั้งหมดเหล่านี้เป็นทักษะและความรู้ชั้นสูงที่จำเป็นในการทำงาน และเป็นงานที่มีภาระหนัก
พนักงานสอบสวนจึงเป็นงานชั้นสูงและมีความสำคัญยิ่งต่อกระบวนการยุติธรรม ต้องมีหลักวิชาการ มีหลักสุจริต มีค่าตอบแทนที่ดีเพียงพอโดยที่จะยังชีพโดยชอบเพื่อให้ทำหน้าที่ได้อย่างเที่ยงตรง ไม่จำเป็นต้องแสวงผลประโยชน์อย่างอื่น
พนักงานสอบสวนในสำนักงานตำรวจแห่งชาติในปัจจุบัน มีโอกาสก้าวหน้าน้อยกว่ามาก ทั้งนี้การออกคำสั่ง คสช.ที่ ๗/๒๕๕๙ แก้ไข พ.ร.บ.ตำรวจ ให้ยุบตำแหน่งพนักงานสอบสวนทุกระดับลงทั่วประเทศตามที่ตำรวจผู้ใหญ่เสนอไปให้หัวหน้า คสช.ลงนามหลังยึดอำนาจ! โปรดอ่านได้จาก https://www.nationweekend.com/columnist/21/1914 ล้วนสร้างปัญหามากมาย ตำรวจที่ไม่ได้ต้องการทำงานสอบสวนอันเป็นงานหนักและต้องใช้ทักษะความรู้เฉพาะก็ต้องมาทำงานสอบสวนทั้งๆ ที่ตนเองไม่มีความสามารถและไม่ต้องการทำงาน ในขณะที่พนักงานสอบสวนที่มีความสามารถ แต่ซื่อสัตย์สุจริต และแข็งขืนไม่ทำสำนวนตามสั่งก็ถูกย้ายพ้นไปทำหน้าที่อื่น ความก้าวหน้าในสายงานพนักงานสอบสวนนั้นหาได้ยากยิ่ง หากยังอยู่ในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไม่ออกไปเป็นองค์กรอิสระ
เมื่อใดก็ตามที่อำนาจการสอบสวนแยกออกไปจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และให้สำนักงานอัยการสูงสุดเข้ามามีส่วนร่วมในการสอบสวนคดีได้ทันทีที่ต้องการ เพื่อไม่ให้อัยการโบ้ยความผิดให้พนักงานสอบสวนได้อีก กระบวนการยุติธรรมของไทยจะใสสะอาดขึ้นมาในทันที และเป็นจุดเริ่มการปฏิรูปตำรวจที่ยิ่งใหญ่ที่สุดและลงมือทำน้อยที่สุด ส่งผลดีต่อประชาชนและประเทศไทยในทันที