เมืองไทย 360 องศา
หากย้ำในแบบทำความเข้าใจตรงกันอีกครั้งก็ต้องบอกว่า เวลานี้ “ความเสื่อมศรัทธา” ของประชาชนที่มีต่อหน่วยงานของรัฐ ก็บอกได้ทันทีว่าต้องเป็นสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสำนักอัยการสูงสุด ส่วนหน่วยงานไหนจะ “เสื่อม” มากน้อยกว่ากัน หรือไม่ได้ต่างกันค่อยมาว่ากันในรายละเอียดปลีกย่อย แต่เท่าที่สัมผัสได้ทั้งความเคลื่อนไหว ความรู้สึก ความเห็นต่าง พรั่งพรูออกมาล้วนทำให้สัมผัสได้ทันที
ที่น่าสนใจก็คือ คราวนี้ความเสื่อมศรัทธาจากประชาชน หรือสังคมภายนอกที่ก่อนหน้านี้ เราจะเห็นถึงเสียงวิจารณ์ในทางลบกับ “ตำรวจ” เสียเป็นส่วนใหญ่ ขณะที่ทางฝ่ายอัยการมักจะออกมาเป็นแบบ “เสียงนินทา” เป็นครั้งคราวในสายลม แล้วก็เงียบหายไป ไม่ค่อยจะเอาจริงเอาจังนักเมื่อเปรียบเทียบกับตำรวจ อาจเป็นเพราะว่าตำรวจปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวข้องกับชาวบ้านใกล้ชิดที่สุด โดยเฉพาะเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน ตั้งแต่งานจราจร ไปถึงการจับกุมคดีต่างๆ ซึ่งแน่นอนว่าหากใครก็ตามที่มาทำหน้าที่ “แบบตำรวจ” มันก็ย่อมถูกวิจารณ์วันยังค่ำ
แต่สำหรับอัยการแล้ว คราวนี้ถือว่าเป็นครั้งแรกก็ว่าได้ที่เรียกว่า “โดนเละ” ในแบบที่เรียกว่าถูก “กระแสสังคม” ไล่บี้จนแทบจะ“ติดมุม”เลยทีเดียว และกลายมาเป็นเสียงเรียกร้องจากสังคมให้มีการ “ปฏิรูป” ในแบบ “แพ็กคู่” นั่นคือ หากจะปฏิรูปแล้วก็ต้องจัดการไปพร้อมกันทั้ง “สองหน่วยงาน” เลยทีเดียว ซึ่งหากจะว่าไปแล้วหากมีการปฏิรูปจนเกิดผลสำเร็จ ก็น่าจะเกิดผลดีกับทุกฝ่าย นั่นคือทั้งฝ่ายตำรวจและอัยการ ที่จะต้องมีหลักประกันในด้านการทำงานที่ได้รับความเชื่อถือจากประชาชน
ขณะเดียวกัน เชื่อว่า ในแผนการปฏิรูปที่หากมีขึ้น จะต้องมีการพูดถึงเรื่องสวัสดิการ ค่าตอบแทน ความก้าวหน้าในหน้าที่อย่างแน่นอน และที่สำคัญ ยังเป็นการสร้างหลักประกันด้านกระบวนการยุติธรรมให้กับประชาชนอีกทางหนึ่งด้วย
หากพิจารณาจากความเป็นจริงดังที่ระบุข้างต้น ก็คือ เสียงเรียกร้องให้มีการกระบวนการยุติธรรมมาอย่างต่อเนื่อง แต่เสียงเรียกร้องจะพุ่งเป้าไปที่“ปฏิรูปตำรวจ”เป็นหลัก ซึ่งเหตุผลก็ไม่มีอะไรซับซ้อน เป็นเพราะการทำงานของตำรวจเกี่ยวข้องใกล้ชิดกับประชาชน และที่ผ่านมาก็จะมีการร้องเรียน เปิดโปงเรื่องการใช้ “อำนาจมิชอบ” ของตำรวจมากขึ้นเรื่อยๆ
ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะกำลังอยู่ในยุคโซเชียลฯ ที่ตำรวจมักถูกประจานจากหลักฐาน จากคลิปภาพและเสียงต่างๆ ออกมา ซึ่งหากมองในอีกมุมหนึ่ง พฤติกรรมในลักษณะดังกล่าวนี้อาจมีมานานแล้ว เพียงแต่ว่าไม่มีการใช้หลักฐานแบบนี้แฉออกมาให้เห็น ประกอบกับในยุคปัจจุบันสังคมมีความตื่นตัวในเรื่องสิทธิมากขึ้น และแม้ว่าตำรวจจะมีการปรับวิธีการทำงานมากขึ้นกว่าในอดีต แต่ด้วยด้วยโครงสร้างอำนาจ และการทำหน้าที่ รวมไปถึงอำนาจการบังคับบัญชาที่เป็นอยู่ ก็ยังถือว่ามีช่องว่าง สังคมก็ยังมองว่ายังไม่ได้ทำหน้าที่อำนวยความยุติธรรม รวมไปถึงการสร้างหลักประกันให้กับชาวบ้านได้อย่างเพียงพอ
และที่สำคัญ ด้วยโครงสร้างของตำรวจก็ยังถูกมองว่ายังไม่ได้สร้างความยุติธรรมให้กับตำรวจชั้นผู้น้อย การแต่งตั้งโยกย้ายที่มักมีข้อครหา บางปีถึงขนาดมีข่าวคราวอื้อฉาวในเรื่องการ “ซื้อขายตำแหน่ง” ออกมาให้เห็นอยู่เสมอ ซึ่งเหมือนกับว่ามีแต่การ “สะสมภาพลบ” มาเรื่อยๆ
อย่างไรก็ดี จากคดีของนายวรยุทธ หรือ “บอส” อยู่วิทยา ทายาทของกลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มกระทิงแดง ที่ทางอัยการสั่งไม่ฟ้อง และตำรวจไม่เห็นแย้ง ทำให้อารมณ์ของสังคม “ขาดผึง” ลงไปทันใด กำลังนำไปสู่ความเสื่อมศรัทธาต่อ “กระบวนการยุติธรรม” อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน จนเกิดเป็นพลังเรียกร้องอย่างหนักแน่น ให้มีการ “ปฏิรูป” โดยเร็ว โดยครั้งนี้คงไม่ใช่แค่ปฏิรูปตำรวจเพียงหน่วยงานเดียว แต่ต้องพ่วงด้วยการ “ปฏิรูปอัยการ” พร้อมกันไปด้วย
โดยความหวังที่เชื่อว่าสังคมอยากได้เห็น ก็คือ “ท่าที” และการเคลื่อนไหวของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ออกมาอย่างเป็นรูปธรรมอย่างไร เพราะที่ผ่านมา หากย้อนกลับไปตั้งแต่มีการเข้ามาควบคุมอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็มีคำยืนยันในเรื่องของการ “ปฏิรูป” จนนำไปสู่การตั้งคณะกรรมการพิจารณาการปฏิรูปตำรวจ ที่มี นายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน และมีการพิจารณาสรุปเสร็จเรียบร้อย แม้ว่าอาจจะไม่ได้ตามความต้องการของประชาชนได้เต็มร้อย แต่ก็ถือว่าประมาณ 70-80 เปอร์เซ็นต์ ก็ถือว่าใช้ได้ แต่ในที่สุดก็ถูก “แช่แข็ง” เอาไว้เช่นเดิม
นาทีนี้ถือว่าเป็นช่วงเวลา “วัดใจ” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี อีกครั้ง ว่า จะผลักดันให้เกิดการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบตามเสียงเรียกร้องของสังคมได้หรือไม่
ขณะเดียวกัน หากเป็นการรอจังหวะ ก็น่าจะรอผลของคณะกรรมการสอบหาความจริงที่มี นายวิชา มหาคุณ เป็นประธานเสียก่อนก็ได้ เพราะจะมีการชี้ให้เห็นถึง “ช่องโหว่” ทางกฎหมาย และการใช้อำนาจตามที่มีการระบุเป็นนัยให้เห็นล่วงหน้ามาแล้ว
ดังนั้น ก็ขึ้นอยู่กับท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ว่า จะเอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้มากแค่ไหน เพราะหากมีการผลักดันให้เกิดการปฏิรูปอย่างขนานใหญ่ ก็น่าจะได้เสียงชื่นชม และ “ได้ใจ” ชาวบ้าน ซึ่งในทางการเมืองก็ยังเหมือนกับการ “ปาดหน้า” ฝ่ายตรงข้ามนำหน้าไปไกลอีกด้วย ซึ่งเชื่อว่าเขารับรู้ถึงอารมณ์ของสังคมได้ดีอยู่แล้ว !!