เมืองไทย 360 องศา
ยังต้องลุ้นระทึกกันต่อไปว่า ในที่สุดแล้วผลจากคดีของ นายวรยุทธ หรือ “บอส” อยู่วิทยา ทายาทมหาเศรษฐีอันดับต้นของเมืองไทย ที่เป็นเจ้าของธุรกิจเครื่องดื่มชูกำลังยี่ห้อหนึ่ง จะสามารถส่งผลสะเทือนต่อ “กระบวนการยุติธรรม” ได้มากน้อยแค่ไหน หรือจะเป็นเพียงแค่ “สายลมพัดผ่านไป” หายไปตามกาลเวลา เหมือนกับหลายเรื่องราวที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองนี้มานาน
ที่น่าจับตา ก็คือ ผลจากคดีดังกล่าวจะกลายเป็นแรงส่งสำคัญในการทำให้เกิดการปฏิรูปองค์กรตำรวจ ที่เป็นความปรารถนาของประชาชนมานานเต็มทีแล้วว่า จะประสบผลสำเร็จได้หรือไม่ และคราวนี้มีความพิเศษเพิ่มเติมขึ้นมาอีกนั่นคือ เป็นการ “พ่วง” เอาเสียงเรียกร้องกดดันให้มีการปฏิรูปสำนักงานอัยการสูงสุดเข้าไปอีกหน่วยงานหนึ่ง
ที่ผ่านมา แม้ว่าในการเรียกร้องให้ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมนั้น จะต้องการให้ปฏิรูปทั้งสองหน่วยงานดังกล่าวควบคู่กันไป เพราะทั้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ สำนักอัยการสูงสุด ถือว่าเป็นหน่วยงานยุติธรรมระดับต้นน้ำ และกลางน้ำ ที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กันแบบแยกไม่ออก เพราะเริ่มต้นจากการที่พนักงานสอบสวนจากฝ่ายตำรวจเป็นผู้ทำสำนวน ตรวจสอบหาพยานหลักฐาน แล้วสรุปส่งฟ้องไปที่พนักงานอัยการพิจารณา หากยังไม่เห็นพ้องด้วยอาจจะเห็นว่าสำนวนอ่อน หรือหลักฐานยังไม่ครบถ้วน ก็ส่งกลับไปให้พิจารณาใหม่ หรือบางคดีสำคัญก็มีการตั้งคณะกรรมการร่วม เพื่อพิจารณาสำนวน ก่อนส่งฟ้องต่อศาลในขั้นตอนสุดท้าย
ดังนั้น หากพิจารณาจากอำนาจหน้าที่และวิธีการทำงานก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าทั้งสองหน่วยงานนี้มีส่วนสำคัญในการชี้เป็นชี้ตาย ชี้อนาคตสำหรับผู้ต้องหาในคดี ว่าจะเสี่ยงคุกตะรางแค่ไหน
แน่นอนว่า ทุกองค์กร ทุกหน่วยงานย่อมมีทั้งคนดีคนเลว ปะปนกันไป ตำรวจและอัยการก็เช่นเดียวกัน ย่อมหลีกหนีเรื่องราวแบบนี้ไม่พ้น และที่ผ่านมา ก็มักมีเสียงนินทาในทางลบมากขึ้น จนมีเสียงเรียกร้องให้มีการ “ปฏิรูป” มาช้านาน โดยเฉพาะตำรวจ
ที่ผ่านมา ในยุครัฐบาล คสช. ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นผู้มีอำนาจเบ็ดเสร็จก่อนการเลือกตั้ง ก็มีเสียงเรียกร้องให้มีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม แต่ภาวะเร่งด่วนที่สุดในตอนนั้น ก็คือ การปฏิรูปตำรวจจนกระทั่งหากจำกันได้มีการตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อการปฏิรูปตำรวจ ที่มี นายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน และในที่สุดก็มีการยกร่างเป็นกฎหมายขึ้นมาเสร็จเรียบร้อยในปลายรัฐบาลชุดที่แล้ว
จะว่าไปแล้ว ร่างพระราชพระราชบัญญัติฉบับนี้ ถือว่ามีความก้าวหน้าพอสมควร มีการแยกอำนาจการสอบสวนออกมาอย่างชัดเจนและเป็นอิสระ มีการให้อำนาจและบทบาทของระดับผู้กำกับสถานีตำรวจ ซึ่งด้วยความคาดหวังว่าทุกอย่างจะเดินหน้าเสียที แต่ในที่สุดแล้ว ทุกอย่างก็ “ถึงทางตัน” เหมือนเช่นทุกครั้ง นั่นคือ “ปฏิรูปตำรวจไม่ได้”
ทำให้การแก้ปัญหาเรื่องการอำนวยความยุติธรรมในหน่วยงานตำรวจกับประชาชนจะขึ้นอยู่กับระดับผู้บังคับบัญชาสูงสุด นั่นคือ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) หากคราวใดที่มี ผบ.ตร. ที่มีภาพลักษณ์ดี สามารถทำตามกระแสของชาวบ้านได้ดี เสียงเรียกร้องให้ปฏิรูปอาจจะเบาลงหรือไม่ แต่หากพิจารณาจากสาระสำคัญถือว่า ชาวบ้าน “ไม่มีหลักประกัน” ในเรื่องของการได้รับความยุติธรรมได้เลย หากไม่มีการปฏิรูปในเชิงโครงสร้างเสียใหม่ เพราะนี่คือการแก้ปัญหาในแบบถาวร ไม่ใช่การแก้ปัญหาในแต่ละเรื่อง แต่ละกรณีเท่านั้น
อย่างกรณีที่เกิดขึ้นล่าสุดกับคดีของ “บอส” วรายุทธ อยู่วิทยา ทายาทมหาเศรษฐี ธุรกิจเครื่องดื่มชูกำลังยี่ห้อดังได้สร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับกระบวนการยุติธรรมครั้งใหญ่ อีกครั้ง และคราวนี้อย่างที่บอกตั้งแต่ต้นว่ามีการพ่วงเอาสำนักอัยการสูงสุดเข้าไปด้วย ไม่ใช่เพียงแค่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเพียงหน่วยงานเดียวเหมือนแต่ก่อน เพราะสังคมมองด้วยความสงสัย และตั้งคำถาม รวมไปถึง “เชื่อไปแล้ว” ว่า มีการกระทำที่มิชอบแน่นอน
สิ่งที่สร้างอารมณ์โกรธให้กับคนในสังคมอย่างมาก ก็คือ การ “ร่วมมือกันปิดเงียบ” ว่ามีการสั่งไม่ฟ้องในคดีที่เหลือที่เคยแจ้งข้อหาขับรถโดยประมาท ทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ที่มีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี อายุความ 15 ปี โดยจะหมดลงในวันที่ 3 กันยายน 2570 และทางฝ่ายตำรวจ ก็ไม่มีการโต้แย้งในดีสำคัญนี้มาตั้งแต่ วันที่ 18 มิถุนายน 2563 ที่ผ่านมาแล้ว รวมไปถึงมีการถอนหมายจับในต่างประเทศ เพิกถอนคำสั่งการติดตามจับกุมตามหมายจับของตำรวจสำนักงานตรวจคนเข้ามา แต่ไม่มีการแถลงให้ทราบ
จนกระทั่งความแตกเมื่อสื่อต่างประเทศได้รายงานข่าวนี้ เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม นี่เอง ทำให้คนไทยมีความรู็สึกหลากหลาย ทั้งอับอาย หดหู่ โกรธ หมดศรัทธา และมีความไม่พอใจอย่างรุนแรงในกระบวนการยุติธรรม ทำให้คำพูดเสียดสีที่ว่า “คุกไว้ขังคนจน” จึงดังกระหึ่ม
ขณะเดียวกัน ก็ปรากฏข้อพิรุธออกมาให้เห็นมากมายว่า มีขบวนการช่วยเหลือผู้ต้องหาให้พ้นผิด ทั้งข้อพิรุธในเรื่องของการ “ตั้งพยาน” ใหม่ ที่เพิ่งโผล่ขึ้นมาหลังจากเกิดเหตุผ่านมา 7 ปีแล้ว ที่ให้การว่า ขับรถตามหลัง ดาบวิเชียร กลั่นประเสริฐ ตำรวจราจรผู้เสียชีวิต ให้การว่า ดาบวิเชียร มีการประมาทเองที่ขี่จักรยานยนต์ไปปาดหน้า และผู้ต้องหาไม่ได้ขับรถเร็ว แต่เป็นเรื่องเหตุสุดวิสัย
อย่างไรก็ดี เวลานี้หากสำรวจอารมณ์ในสังคมกลายเป็นกระแสความไม่พอใจกระบวนการยุติธรรมสูงมาก และยิ่งได้เห็นทั้งฝ่ายตำรวจ และอัยการ มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนหาข้อเท็จจริง ล่าสุด ก็ยิ่งทำให้เกิดเสียงวิจารณ์ทางลบ ว่า เป็นเพียงการ “ยื้อเวลา” เหมือนทุกครั้งเท่านั้น แต่ที่น่าจับตาก็คือ เริ่มมีความรู้สึกมากขึ้นว่า คดีนี้มีความเชื่อมโยงไปถึง “บิ๊ก” ในรัฐบาล มันก็ยิ่งน่าหวั่นใจ และต้องลุ้นกันว่าจะรอด หรือลากกันตายหมู่ !!