xs
xsm
sm
md
lg

“ลุงตู่” ว่าไง! “หมอพรทิพย์” จี้ปฏิรูปตำรวจ พ.ต.อ.วิรุตม์ ลากไส้ “นิยายสอบสวน” มรดก “สฤษดิ์” “พี่ศรี” ชี้ขัด รธน.

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพ นายวราวุธ อยู่วิทยา หรือ “บอส” ประกอบเหตุการณ์ จากแฟ้ม
สั่งไม่ฟ้อง “บอส อยู่วิทยา” “หมอพรทิพย์” จวกยุติธรรม “ล้มเหลว” จี้ปฏิรูปตำรวจ พ.ต.อ.วิรุตม์ ลากไส้ อำนาจสอบสวนอยู่ในมือตำรวจแต่เพียงผู้เดียว สร้าง “นิยายสอบสวน” มาช้านาน ตั้งแต่ยุค “สฤษดิ์” “พี่ศรี” ชี้ขัด รธน.

น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (27ก.ค. 63) แพทย์หญิง คุณหญิง พรทิพย์ โรจนสุนันท์ ส.ว. และผู้เชี่ยวชาญด้านนิติวิทยาศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก แสดงความคิดเห็นกรณีอัยการสั่งไม่ฟ้อง “บอส อยู่วิทยา” หัวข้อ “ไม่ปฏิรูปคงไม่ได้แล้ว”

โดยระบุว่า “มีหลักฐานชัดเจนในคดี แต่ผู้ที่ทำสำนวนที่ทำให้เกิดความอ่อน จนท้ายสุดสั่งไม่ฟ้อง ทั้งผู้บริหารของอัยการ ทั้งตำรวจ ต่างไม่มองที่ความจริง ความยุติธรรม แต่มองที่ข้อกฎหมาย จึงปัดความรับผิดชอบกันให้วุ่นวาย ทุกคดีที่ล้มเหลวต้องมีคำตอบ ไม่ใช่โทษกันไปโทษกันมา และไม่ยอมให้คนนอกตรวจสอบ

นายกฯปรับ ครม.แล้ว เห็นทีจะปล่อยเรื่องนี้ให้ผ่านไปเฉยๆ ไม่ได้ เพราะท่านสัญญาต่อสภา ว่า จะปฏิรูปตำรวจ ความล้มเหลวของคดีนี้ เป็นเรื่องกระบวนการยุติธรรม ต้องคลี่ให้เห็นปัญหาทุกจุดทุกขั้นตอน

ภาพ แพทย์หญิง คุณหญิง พรทิพย์ โรจนสุนันท์ จากแฟ้ม
ยามนี้ กรรมาธิการการยุติธรรมของ ส.ส.กำลังขับเคลื่อน มีการตอบสนองต่อปัญหาเร็วมาก ต่างจากกรรมาธิการการยุติธรรมของ ส.ว.ที่นิ่งเฉย ทั้งที่มีหน้าที่ต้องปฏิรูป

อย่าปล่อยให้เรื่องเงียบหาย คดีน้องชมพู่ก็คือ ปัญหาในการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐาน

อ่านข่าวว่า อัยการส่งหนังสือแจ้งตำรวจว่า สั่งไม่ฟ้อง ตำรวจจึงออกหนังสือว่า จะถอนหมาย ทั้งที่แก่นของปัญหา คือ ความล้มเหลวที่ทุกฝ่ายต้องรับผิดชอบ

ที่สำคัญคือ สื่อต่างประเทศเป็นคนนำข้อมูลมาเปิดเผย ไม่ใช่สื่อไทย ไม่รู้สึกอายกันบ้างหรือ

เรื่องนี้ไม่มีทางจบง่ายๆ แน่นอน”

ภาพ พ.ต.อ.วิรุตม์  ศิริสวัสดิบุตร จากแฟ้ม
สอดคล้องกับความเห็นของ พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร คอมลัมนิสต์ “เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ” อดีตที่ปรึกษาอนุกรรมาธิการการปฏิรูปตำรวจ สภาปฏิรูปแห่งชาติ และปัจจุบันเป็นอนุกรรมาธิการการยุติธรรม ในคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน แห่งสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า

คดี นายวรยุทธ หรือ บอส อยู่วิทยา ถือเป็นรูปธรรมที่สำคัญ และชัดเจนของปัญหากระบวนการยุติธรรมอาญาไทยในชั้นสอบสวน ที่รัฐและสังคมปล่อยให้อยู่ในมือของตำรวจแต่เพียงฝ่ายเดียว ด้วยอำนาจเผด็จการยุคจอมพลสฤษดิ์ (ธนะรัชต์) มานานกว่าหกสิบปี ทำให้พนักงานสอบสวน ซึ่งเป็นข้าราชการตำรวจ ผู้มียศและวินัยแบบทหาร ต้องปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา ผู้มียศสูงกว่าจะสั่งให้รวบรวมหรือไม่รวบรวมพยานหลักฐานอะไรแค่ไหน

“การสอบปากคำพยานบุคคลจะถูกต้องตรงตามความเป็นจริงหรือไม่ พนักงานสอบสวนแทบทุกคนก็ต้องก้มหน้าทำโดยที่ไม่มีใครรับรู้ หรือสามารถตรวจสอบระหว่างการสอบสวนได้ แม้แต่พนักงานอัยการผู้มีหน้าที่ฟ้องคดีเอง ซึ่งจะรู้เห็นก็เฉพาะพยานหลักฐานที่ตำรวจรวบรวมไว้ หรือบันทึกให้ปรากฏ และส่งสำนวนไปแล้วเท่านั้น ที่ไม่ได้บันทึกไว้ ก็ไม่มีใครรู้?”

พ.ต.อ.วิรุตม์ กล่าวต่อว่า การสั่งให้สอบเพิ่มเติมของอัยการ ก็มีข้อจำกัดอย่างมาก สามารถทำได้เฉพาะจากพยานหลักฐานที่ปรากฏในสำนวนเท่านั้น ที่ไม่ปรากฏก็ไม่รู้ บางครั้งต้องหลับหูหลับตาสั่งคดีไปตามที่ตำรวจเสนอ ไม่ว่าจะเป็นคำสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้อง ที่หลายคดีเป็น “นิยายการสอบสวน” ทำให้ประเทศเรามีผู้บริสุทธิ์ตกเป็น “แพะ” มากมาย นอกจากนั้น เมื่อศาลยกฟ้องคนร้ายตัวจริงก็ลอยนวล สร้างความคับแค้นใจให้กับผู้เสียหายอีกด้วย!

“เป็นปัญหาใหญ่ที่นายกรัฐมนตรีต้องเร่งแก้ไข และปฏิรูประบบการสอบสวนคดีอาญาให้มีการตรวจสอบจากภายนอก ทั้งโดยฝ่ายปกครอง ผู้ว่าฯ นายอำเภอ รวมทั้งพนักงานอัยการในคดีสำคัญ หรือเมื่อมีการร้องเรียนเกิดขึ้น อีกทั้งต้องกำหนดให้มีการบันทึกภาพและเสียงการสอบปากคำบุคคลเป็นหลักฐานประกอบสำนวนการสอบสวนไว้ด้วย ซึ่งสามารถทำได้ด้วยการแก้ไขเพิ่มเติม ป.วิอาญาที่ผ่านความเห็นชอบในรายงานของสภาผู้แทนไปเมื่อเดือนที่แล้ว และเวลานี้อยู่ในมือของนายกรัฐมนตรีที่จะต้องเร่งเสนอเข้าสู่สภาตราเป็นกฎหมายโดยเร็วต่อไป” (จากไทยโพสต์ออนไลน์)

ภาพ นายศรีสุวรรณ จรรยา จากแฟ้ม
ขณะเดียวกัน นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เผยว่า ตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ออกมาแถลงยืนยันว่า พนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้อง นายวราวุธ อยู่วิทยา หรือ “บอส” ในข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายแล้ว และดำเนินการเพิกถอนหมายจับต่อไปนั้น

คดีดังกล่าว ถูกสังคมไทยวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง ถึงการใช้อำนาจที่อาจเข้าข่ายการเลือกปฏิบัติในการสั่งคดีของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาจเพราะผู้ถูกกล่าวหาเป็นทายาทของผู้มีสถานะทางสังคมที่สูง เป็นทายาทนักธุรกิจที่ร่ำรวยในลำดับต้นๆ ของประเทศ ซึ่งเหตุแห่งคดีไม่ได้มีข้อยุ่งยากในการสืบสวนสอบสวนแต่อย่างใด

ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ต้องหาในคดีที่มีลักษณะเดียวกัน เช่น คดีเสี่ยเบนซ์เมาชน รอง ผกก.เสียชีวิต อัยการกลับอุทธรณ์สู้จนถึงที่สุด แม้จำเลยจะชดใช้ดูแลบุตรผู้ตายแล้ว 45 ล้านบาทก็ตาม แต่ทว่าคดีที่ผู้ตายมียศเพียงแค่ดาบตำรวจ ผลการสั่งคดีกลับแตกต่างกัน ซึ่งชี้ให้เห็นถึงการใช้แท็กติกในการทำสำนวนคดี หรือประวิงเวลา

เมื่อมีการประวิงเวลาจนทำให้ผู้ต้องหาหลบหนีไปยังต่างประเทศ และตำรวจไม่สามารถนำตัวมาส่งให้อัยการยื่นฟ้องต่อศาลได้ ทำให้ฐานความผิดอย่างน้อย 4 ข้อหา ขาดอายุความไปแล้ว ส่วนข้อหาสุดท้าย คือ ข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ซึ่งมีอายุความ 15 ปี อัยการกลับมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้อง และตำรวจก็มิได้ทำความเห็นแย้งคัดค้านแต่อย่างใด

จึงถือเป็นข้อพิรุธที่สำคัญที่นายกรัฐมนตรีควรใช้อำนาจตาม ม.11(6) แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน 2534 ในการตั้งกรรมการมาสอบอัยการและตำรวจที่เกี่ยวข้องทั้งหมด จะอ้างว่า นายกฯไม่ได้เป็นผู้แต่งตั้งอัยการแล้วจะสั่งให้มีการตรวจสอบการใช้อำนาจของอัยการมิได้นั้น หาชอบด้วยกฎหมายไม่

แต่ประเด็นการสั่งคดีนี้ของอัยการนั้น แม้รัฐธรรมนูญ 2560 ม.248 วรรคสอง จะให้ความเป็นอิสระของอัยการในการพิจารณาสั่งคดี แต่ก็ต้องปฏิบัติหน้าที่ไปโดยรวดเร็ว เที่ยงธรรม ปราศจากอคติทั้งปวง แต่การประวิงเวลาการสั่งคดีมาจนกว่า 8 ปี ย่อมถือว่าไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตราดังกล่าว อีกทั้งตาม พ.ร.บ.องค์กรอัยการและพนักงานอัยการ 2553 ม.21 วรรคสอง ประกอบระเบียบสํานักงานอัยการสูงสุด ว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของอัยการ 2547 กำหนดให้อัยการต้องทำหน้าที่ให้เป็นที่เชื่อถือศรัทธาแก่ประชาชน

และระเบียบฯว่าด้วยการสั่งคดีอาญาที่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชน หรือจะมีผลประโยชน์อันสําคัญของประเทศ 2554 ได้กำหนดไว้ว่า คดีอาญาที่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชน หรือจะมีผลกระทบต่อผลประโยชน์อันสำคัญของประเทศ ให้เสนอต่ออัยการสูงสุดเพื่อมีคำสั่ง แต่กรณีของ บอส อยู่วิทยา ความปรากฏว่า อัยการสูงสุดไม่ทราบเรื่องแต่อย่างใด จึงชี้ให้เห็นว่า คำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องบอสในข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย น่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมายและขัดต่อรัฐธรรมนูญดังกล่าว

แน่นอน, ประเด็นสำคัญ อาจอยู่ที่การทำสำนวนของตำรวจ ว่า ถูกครอบงำด้วยอำนาจ หรือผลประโยชน์หรือไม่ และการสั่งไม่ฟ้องของอัยการ ซึ่งเป็นคำสั่งของรองอัยการสูงสุด เรื่องนี้มีคนเสนอให้สอบสวนพฤติการณ์การสั่งคดีของรองอัยการสูงสุด ผู้สั่งคดีว่าการสั่งคดีโดยสุจริตตามข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายหรือไม่ ซึ่งก่อนหน้านี้ รองอัยการสูงสุดท่านนี้ เคยสั่งไม่อุทธรณ์คดี “โอ๊ค” พานทองแท้ ชินวัตร กรณีทุจริตฟอกเงินปล่อยกู้แบงก์กรุงไทยมาแล้ว

และจิ๊กซอว์สำคัญอีกอย่าง มีการพูดถึงการใช้กรรมาธิการการกฎหมาย ยุค สนช. ซึ่งมีชื่อน้องชาย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นกรรมาธิการ รื้อคดีสอบเอง จนกลายเป็นจุดเปลี่ยนของคดี ทำให้เกิดคำถามว่า มีบิ๊กคนไหนเข้าไปสร้างกระบวนการฟอกผิดเป็นถูกให้กับทายาทมหาเศรษฐีหรือไม่

ทั้งหมด เมื่อประกอบกันเข้าก็พอจะมองเห็นได้ไม่ยากว่า เกิดอะไรขึ้นกับเรื่องนี้ และใครที่จะปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้


กำลังโหลดความคิดเห็น