นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ออกมาแถลงยืนยันว่าพนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องนายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือบอส ในข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายแล้ว และดำเนินการเพิกถอนหมายจับต่อไปนั้น
คดีดังกล่าวถูกสังคมไทยวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางถึงการใช้อำนาจที่อาจเข้าข่ายการเลือกปฏิบัติในการสั่งคดีของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาจเพราะผู้ถูกกล่าวหาเป็นทายาทของผู้มีสถานะทางสังคมที่สูง เป็นทายาทนักธุรกิจที่ร่ำรวยในลำดับต้นๆ ของประเทศ ซึ่งเหตุแห่งคดีไม่ได้มีข้อยุ่งยากในการสืบสวนสอบสวนแต่อย่างใด เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ต้องหาในคดีที่มีลักษณะเดียวกัน เช่น คดีเสี่ยเบนซ์เมาชนรอง ผกก.เสียชีวิต อัยการกลับอุทธรณ์สู้จนถึงที่สุดแม้จำเลยจะชดใช้ดูแลบุตรผู้ตายแล้ว 45 ล้านก็ตาม แต่ทว่าคดีที่ผู้ตายมียศเพียงแค่ดาบตำรวจ ผลการสั่งคดีกลับแตกต่างกัน ซึ่งชี้ให้เห็นถึงการใช้แทกติกในการทำสำนวนคดี หรือประวิงเวลา
เมื่อมีการประวิงเวลาจนทำให้ผู้ต้องหาหลบหนีไปยังต่างประเทศ และตำรวจไม่สามารถนำตัวมาส่งให้อัยการยื่นฟ้องต่อศาลได้ ทำให้ฐานความผิดอย่างน้อย 4 ข้อหา ขาดอายุความไปแล้ว ส่วนข้อหาสุดท้าย คือข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ซึ่งมีอายุความ 15 ปี อัยการกลับมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้อง และตำรวจก็มิได้ทำความเห็นแย้งคัดค้านแต่อย่างใด จึงถือเป็นข้อพิรุธที่สำคัญที่นายกรัฐมนตรีควรใช้อำนาจตามมาตรา 11(6) แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน 2534 ในการตั้งกรรมการมาสอบอัยการและตำรวจที่เกี่ยวข้องทั้งหมด จะอ้างว่านายกรัฐมนตรีไม่ได้เป็นผู้แต่งตั้งอัยการ แล้วจะสั่งให้มีการตรวจสอบการใช้อำนาจของอัยการมิได้นั้น หาชอบด้วยกฎหมายไม่
แต่ประเด็นการสั่งคดีนี้ของอัยการนั้น แม้รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 248 วรรคสอง จะให้ความเป็นอิสระของอัยการในการพิจารณาสั่งคดี แต่ก็ต้องปฏิบัติหน้าที่ไปโดยรวดเร็ว เที่ยงธรรม ปราศจากอคติทั้งปวง แต่การประวิงเวลาการสั่งคดีมาจนกว่า 8 ปี ย่อมถือได้ว่าไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตราดังกล่าว อีกทั้งตาม พ.ร.บ.องค์กรอัยการและพนักงานอัยการ 2553 มาตรา 21 วรรคสอง ประกอบระเบียบสํานักงานอัยการสูงสุด ว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของอัยการ 2547 กำหนดให้อัยการต้องทำหน้าที่ให้เป็นที่เชื่อถือศรัทธาแก่ประชาชน และระเบียบฯ ว่าด้วยการสั่งคดีอาญาที่จะไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชน หรือจะมีผลประโยชน์อันสําคัญของประเทศ 2554 ได้กำหนดไว้ว่า คดีอาญาที่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชน หรือจะมีผลกระทบต่อผลประโยชน์อันสำคัญของประเทศ ให้เสนอต่ออัยการสูงสุดเพื่อมีคำสั่ง แต่กรณีของบอส อยู่วิทยา ความปรากฏว่าอัยการสูงสุดไม่ทราบเรื่องแต่อย่างใด จึงชี้ให้เห็นว่าคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องบอสในข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย จึงน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมายและขัดต่อรัฐธรรมนูญดังกล่าว