เมืองไทย 360 องศา
คดี “บอส” นายวรายุทธ อยู่วิทยา ทายาทในเครือธุรกิจกลุ่มกระทิงแดง ที่ล่าสุดทางอัยการสูงสุด สั่งไม่ฟ้องในคดีขับรถชนตำรวจจราจรถึงแก่ความตาย และทางผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติไม่มีความเห็นแย้ง ทำให้ทุกคดีต้องจบลงไปท่ามกลางกระแสความไม่พอใจ และความเสื่อมศรัทธาต่อทั้งสององค์กรในเวลานี้
ลักษณะอารมณ์ร่วมของสังคมในเวลานี้ไม่ต่างกับการเพิ่มความสะสมความเสื่อมศรัทธาที่มากขึ้นเรื่อยๆ ขณะเดียวกันอีกด้านหนึ่งจากกรณีดังกล่าว ก็จะกลายเป็นแรงส่ง หรือแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้เกิดกระแสกดดันให้เกิดการ “ปฏิรูป” ในระบบกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะการปฏิรูปตำรวจ และอัยการได้เร็วขึ้น หลังจากที่ผ่านมาถูก “ยื้อ” จนต้องเงียบหายไปตามกาลเวลาทุกครั้งไป
เหมือนกับความต้องให้เกิดการปฏิรูปสำนักงานตำรวจแห่งชาติก่อนหน้านี้ ที่มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณา และยกร่างกฎหมายมาหลายชุด หลายรัฐบาล แต่ที่ “ดูเหมือน” จะใกล้เคียงกับความจริงมากที่สุด ก็คือ ในยุครัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่นำโดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นี่แหละ เพราะมีการตั้งคณะ
กรรมการขึ้นมาศึกษา รวบรวมรับฟังความคิดเห็นมาแล้ว
กระทั่งล่าสุด มีการตั้งคณะกรรมาธิการในชุดที่มี นายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน ซึ่งคณะกรรมาธิการชุดนี้ ถือว่ามีการศึกษารวบรวมความเห็นที่ถือว่าใกล้เคียงความจริงมากที่สุด และอาจถือว่าก้าวหน้าที่สุดเท่าที่เคยศึกษากันมาในเรื่องการปฏิรูปตำรวจในอดีต เพราะมีคณะกรรมการที่มาจากฝ่ายที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยงาน มีการสัมมนาตามสถานที่ต่างๆ หมดงบประมาณไปจำนวนไม่น้อย จนกระทั่งได้ข้อสรุป มีการยกร่างเป็นกฎหมาย แต่ทุกอย่างก็ไม่สำเร็จอยู่ดี
นั่นเป็นข้อเสนอที่เคยร้อนแรงในเรื่องการ “ปฏิรูปตำรวจ” ในช่วงที่ผ่านมา แม้ว่าจะพยายามพ่วงให้ “ปฏิรูปอัยการ” เข้าไปด้วยในคราวเดียวกัน แต่ก็สู้กระแสอย่างแรกที่ร้อนแรงกว่า และอยู่ในความสนใจของชาวบ้านได้ดีกว่า ทั้งที่ในการทำงานด้านอำนวยการยุติธรรมทั้งสองหน่วยงานดังกล่าวย่อมต้องมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน
อย่างไรก็ดี กรณีเกิดขึ้นล่าสุดที่มีการสั่งไม่ฟ้อง นายวรายุทธ หรือ “บอส” อยู่วิทยา ของอัยการสูงสุด และไม่มีความเห็นแย้งของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ทำให้เข้าพ้นจากคดีอาญาในทุกข้อหา สร้างความไม่พอใจกับสังคมอย่างมาก จนกลายเป็น “กระแสปฏิรูป” ขึ้นมาอีกครั้ง แต่คราวนี้ต้องการพ่วงเอาสำนักงานอัยการสูงสุดเข้ามาด้วย
สิ่งที่ทำให้กระแสความต้องให้เกิดการปฏิรูปหน่วยงานดังกล่าว ดังเห็นได้จากความเห็นเป็นเอกภาพขององค์กรภาคประชาชน ภาคเอกชนที่ทำงานด้านการตรวจสอบ เช่น องค์กรต่อต้านการคอร์รัปชัน รวมไปถึงนักเคลื่อนไหวทางสังคมต่างๆ รวมไปถึงคณาจารย์ในมหาวิทยาลัย ที่มีกการเรียกร้องกดดันไปยังตำรวจและอัยการ ให้มีการชี้แจงและเปิดเผยสำนวนการสอบสวน และเหตุผลในการสั่งไม่ฟ้องในครั้งนี้
เรียกว่าเป็นครั้งแรกที่กระแสสังคมมีการกดดันอย่างเป็นเอกภาพ และวิพากษ์วิจารณ์ที่แสดงให้เห็นถึงความเสื่อมศรัทธาอย่างต่อเนื่อง และแม้ว่าล่าสุดทั้งตำรวจ คือผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา จะมีการสั่งตั้งคณะคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยให้รายงานผลภายใน 15 วัน ขณะเดียวกันทางอัยการสูงสุดก็มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบเรื่องนี้เช่นเดียวกัน แม้ไม่ได้ระบุเวลาว่าจะเสร็จสิ้นเมื่อใด แต่ก็คงต้องเร็วที่สุด
อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาจากอารมณ์และความเห็นจากสังคมในเวลาเดียวกัน กลับไม่ค่อยสนองตอบเท่าใดนัก โดยส่วนใหญ่มองเห็นตรงกันว่าเป็นเพียงการ “ซื้อเวลา” เพื่อดับอารมณ์โกรธออกไป เหมือนกับหลายกรณีที่หน่วยงานของรัฐมักใช้วิธีการ “ตั้งคณะกรรมการ” ขึ้นมาตรวจสอบ เมื่อเวลาผ่านไป เรื่องเงียบ ทุกอย่างก็หายเข้ากลีบเมฆ หรือไม่มีใครมีความผิด
แต่กรณีนี้เมื่อพิจารณาจากแนวโน้มแล้วอาจจะไม่ได้เป็นไปตามนั้นก็ได้ เพราะหากสังเกตจากช่วงเวลาที่ผ่านมา แม้ว่าสังคมจะมองเห็นว่ามีความพยายามใช้ “แท็กติก” ทางกฎหมายมาช่วยเหลือ รวมไปถึงข้อกล่าวหาในเรื่อง “ปัจจัย” อื่นมาร่วมด้วย สังคมก็ยัง “กัดไม่ปล่อย” และคราวนี้ก็เหมือนกับเกิดอารมณ์ “ขาดผึง” ขึ้นมาทันที และกำลังลามไปสู่ความเสื่อมศรัทธากับฝ่ายรัฐบาล ที่ล่าสุดมีความเชื่อมโยงไปถึง “ผู้มีอำนาจ” ในระดับ “บิ๊กบราเธอร์” หลังจากพบว่ามีความพยายามพลิกคดีมาตั้งแต่ในคณะกรรมาธิการด้านกฎหมายในยุค สนช. และบังเอิญว่า ประธานคณะกรรมาธิการกฎหมาย ในยุค สนช. ก็คือ “พล.ร.อ.ศิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ” ที่ปัจจุบันเป็น ส.ว. และเป็นน้องชายของ “พี่ใหญ่” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ นั่นเอง ทุกอย่างจึงโยงมาถึงรัฐบาลได้ไม่ยาก
งานนี้ถึงได้บอกว่าน่าหวั่นใจเหมือนกัน เพราะทำไปทำมาจะกลายเป็นว่าเกิดแรงกระเพื่อมมาถึงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่กำลังเกิดปัญหาในเรื่องความเชื่อมั่นจากการปรับคณะรัฐมนตรี ที่เกิดภาพลักษณ์ในเรื่องการแย่งเก้าอี้ และเมื่อต้องมาเจอกับคดีไม่ฟ้อง “บอส” ซ้ำเติมเข้าไปอีก เพราะกลายเป็นว่ากระบวนการพลิกคดีและ “ปั้นพยาน” เริ่มเป็นจริงเป็นจัง มาจากกรรมาธิการในยุค สนช. ที่เกี่ยวพันมาถึง “พี่ใหญ่” จนได้ จึงเชื่อได้ว่า หลังจากเปิดราชการขึ้นมา กระแสกดดันในเรื่องการปฏิรูปทั้งสองหน่วยงานจะดังกระหึ่มขึ้นไปอีก !!