เมืองไทย 360 องศา
สังเกตหรือไม่ว่า ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา บรรดาม็อบนักเรียน นักศึกษา หรือที่เรียกว่า “ม็อบมุ้งมิ้ง” ดูเหมือนจะ “ขาดช่วง” ไป จนแทบไม่ปรากฏให้เห็นเลย หลังจากก่อนหน้านี้มักจะออกมาชุมนุมในลักษณะ “แฟลชม็อบ” กระจายในรั้วมหาวิทยาลัย โรงเรียนบางแห่ง รวมไปถึงในที่สาธารณะตามหัวเมือง ในกรุงเทพมหานคร ทั้งที่ก่อนหน้านี้ ก็มักจะได้เห็น “แกนนำขาประจำ”บางคน อย่าง นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ “เพนกวิน” อะไรนั่น รวมไปถึงอีกบางคนที่คุ้นหน้าคุ้นตา ก็เดินสายขึ้นเวทีปราศรัยตามสถานที่ต่างๆ ไปทั่ว
แน่นอนว่า ก่อนหน้านี้ หลายคนมองว่า การชุมนุมของพวกเด็กๆ เยาวชนพวกนี้น่าจะ “จุดติด” แล้ว และข้อเรียกร้อง 3 ข้อหลักๆ คือ แก้ หรือร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ยุบสภา และให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลาออก รวมไปถึงให้หยุดคุกคามประชาชน เป็นต้น
อย่างไรก็ดี จะด้วยสถานการณ์รอบตัวที่ยังไม่ปกติ โดยเฉพาะจากบรรยากาศการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้การชุมนุมต้องเว้นระยะห่างเอาไว้บ้าง และในความเป็นจริงก็ทำให้หลายคนไม่กล้าไปร่วมการชุมนุม เพราะกังวลในเรื่องของการติดเชื้อ แม้ว่าจะมีการวัดอุณหภูมิ และสวมหน้ากากอนามัย แต่ขณะเดียวกัน ก็ได้เห็นว่ามีจำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้สวมหน้ากากอนามัย และมีการเบียดเสียด ซึ่งถือว่ามีความเสี่ยง แต่อีกบางส่วนอาจเห็นว่า เรื่องสิทธิ เสรีภาพ และ “ประชาธิปไตย” สำคัญกว่า และเผด็จการกำลังคุกคามหนัก ทนไม่ไหวแล้วต้องออกมา อะไรประมาณนั้น
แต่หากสังเกตให้ดี ตามความเป็นจริงก็พอมองเห็นว่า มันมีการ “ปั่นกันเกินจริง” แม้ว่าจะมีคนไม่ชอบรัฐบาล ไม่ชอบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ ไม่ชอบ “ลุงป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ก็ตาม แต่กับข้อเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ ลาออก และยุบสภา มันก็ยังมีคนไม่เห็นด้วยอีกเยอะเหมือนกัน อาจเป็นเพราะว่า หนึ่งสถานการณ์ยังไม่สุกงอมพอ อย่างน้อยก็ยังพอเห็นผลงานในการรับมือกับโรคระบาดได้ดี แม้ว่าจะต้องลำบากกับภาวะเศรษฐกิจ แต่เมื่อเทียบกับหลายประเทศทั่วโลก ที่มีคนป่วย เจ็บ ตาย เขายังแย่กว่าเรา อีกทั้งยังมองไม่ออกว่าจะมีใครที่โดดเด่นเมื่อเทียบกับ “บิ๊กตู่” ในเวลานี้
ทำให้เกิดความรู้สึกประมาณว่า แม้ว่าจะรู้สึก “คับข้องใจ” ไม่ค่อยแฮปปี้นัก แต่ถึงอย่างไรก็ยังพอกัดฟันทนไปให้ถึงที่สุดไปก่อน
ขณะเดียวกัน เมื่อสำรวจตามเวทีชุมนุมของบรรดาเด็กๆ ที่เรียกว่าเป็น “เด็กรุ่นใหม่” ที่ว่า อาจจะพลาดในเรื่องของความก้าวร้าว มีการปล่อยให้พวกโจมตีจาบจ้วงสถาบันฯ ปะปนเข้ามา จนทำลายความรู้สึกและเกิดความรู้สึกแบ่งแยกขึ้นมา อีกทั้งสังคมไม่น้อยก็มองออก และมองว่ามีความเชื่อมโยงกับบางพรรค โดยเฉพาะกับกลุ่มของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และนายปิยบุตร แสงกนกกุล ซึ่งในทางการเมืองก็อ่านเกมว่า กำลังใช้ม็อบเด็กๆ พวกนี้เพื่อสร้างกระแสแบบ “กินสองเด้ง” นั่นคือ สร้างแรงกดดันให้มีการแก้ไขหรือยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ หรือหาก “ฟลุ๊ก” จุดติด ลุกลามทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงก็ถือว่ากำไรแบบไม่ต้องลงทุน และประการที่สอง ก็คือ เป็นการ “เลี้ยงกระแส” เพื่อหวังใช้ประโยชน์ในการสร้างบรรยากาศต่อเนื่องไปถึงช่วงการเลือกตั้งท้องถิ่นในราวปลายปีนี้ ที่พวกเขาหมายมั่นปั้นมือ เพื่อสร้างฐานเสียงทั่วประเทศ
แต่อย่างที่บอก ในเมื่อถูกมองว่าเป็นม็อบที่เชื่อมโยงถึงใคร ม็อบที่มีพวกจาบจ้วง “ล้มเจ้า” ปะปนกันอยู่ในม็อบ มันก็ทำให้เกิดการแบ่งแยก เป็นม็อบ “แบ่งวัย” ซึ่งคนสูงวัยในยุคนี้เชื่อว่าไม่น้อยไม่ได้ล้าหลัง อย่างน้อยก็มีความรู้ มีการศึกษา จบปริญญาตรี ปริญญาโท ไม่ต้องให้บรรดานักศึกษา นักเรียนชี้นำเหมือนในยุค 14 ตุลาฯ ที่ผ่านมา
ที่สำคัญ สถานการณ์ยังไม่สุกงอมพอ โดยเฉพาะพวกพรรคการเมืองหลายพรรค ไม่เว้นแม้แต่พรรคเพื่อไทย รวมไปถึงคนในพรรคก้าวไกล เวลานี้เอาเข้าจริงคงไม่อยากให้ยุบสภา นักหรอก
นอกเหนือจากนี้ สิ่งที่น่าสังเกตก็คือ เวลานี้สังคมกำลังหันเหความสนใจไปที่ คดีของนายวรายุทธ หรือ “บอส” อยู่วิทยา ทายาทกระทิงแดง ที่ขับรถชนตำรวจเสียชีวิต ที่อัยการสั่งไม่ฟ้องในข้อหาสำคัญ โดยตำรวจไม่ได้คัดค้าน ซึ่งสังคมมองว่ามีการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน จนเกิดกระแสดวามไม่พอใจในแบบ “อารมณ์ขาดผึง” และล่าสุด นายกรัฐมนตรี สั่งสอบสวนหาความจริงโดยตั้งคณะกรรมการที่ มีนายวิชา มหาคุณ เป็นประธาน และล่าสุดยังสั่งอายัดศพ ที่เคยเป็นพยานปากสำคัญจนพลิกคดีเอาไว้ชันสูตรใหม่
จากคดีดังกล่าวเกิดเป็นกระแสให้ “ปฏิรูปองค์กรตำรวจและอัยการ” กันในเวลานี้ ซึ่งกระแสดังกล่าวอย่างหลังนี้แทบจะเรียกว่าเป็น “อารมณ์ร่วม” พร้อมกัน จนทำให้กลบม็อบมุ้งมิ้งเสียแทบสนิทไปเลย
อีกทั้งความร้อนแรงยังถูกลดทอนลงมาจากการที่มีข้อสรุปในเบื้องต้น ของคณะกรรมาธิการศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ประกอบจากรัฐบาล และทุกพรรคการเมืองเห็นตรงกันว่าจะต้องแก้ไข โดยเฉพาะการแก้ไข มาตรา 265 ที่เหมือนกับเป็นประตูนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ง่ายขึ้น รวมไปถึงอาจมีการตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรนูญ หรือ ส.ส.ร. ยกร่างฉบับใหม่ขึ้นมา ซึ่งถือว่านี่คือ การ “ผ่อนกระแส” ดับเงื่อนไขในเรื่องรัฐธรรมนูญเผด็จการลงไปได้อย่างมาก
ดังนั้น หากพิจารณาจากความเคลื่อนไหวล่าสุดเท่าที่เห็น โดยเฉพาะ “ม็อบมุ้งมิ้ง” ที่ดูเหมือนจะพักเบรกวันหยุด หรือว่า “หมดแรงส่ง” ชั่วคราว หลังจากหมุนเวียนไปหลายมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ และที่สำคัญ ล่าสุด ก็มีความเคลื่อนไหวจากคณะกรรมาธิการศึกษาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มีมติให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่รวมไปถึงการตั้ง ส.ส.ร. ยกร่างใหม่ มันก็ดับเงื่อนไขไปโดยพลัน ประกอบกับกระแสสังคมที่เพ่งมองไปในเรื่องการปฏิรูปตำรวจและอัยการจากคดี “บอส” อยู่วิทยา มันก็เหมือนกับ “พุ่งชน” ม็อบมุ้งมิ้งต้องหยุดไปชั่วคราว !!