คดี “บอส” หรือนายวรยุทธ อยู่วิทยา ทายาทกระทิงแดง ขับรถชนด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ สน.ทองหล่อเสียชีวิต คงปิดสำนวนไปแล้ว ถ้าสังคมไม่ลุกฮือขึ้นมาตั้งคำถามถึงกระบวนการยุติธรรม จนนำไปสู่การฟื้นคดีขึ้นมาใหม่
คำสั่งไม่ฟ้องของอัยการ และตำรวจไม่มีความเห็นค้านนั้น น่าจะทำให้คดีทายาทกระทิงแดงเป็นที่สิ้นสุดแล้ว แต่เพราะกระแสเรียกร้องให้ตรวจสอบตำรวจ และอัยการที่ดังกระหึ่มทั่วประเทศ คดีจึงปิดไม่ลง
เพราะมีข้อมูลใหม่เกี่ยวกับการเสพโคเคนของนายวรยุทธ รวมทั้งความเร็วของรถหรูที่นายวรยุทธขับขณะชนรถจักรยานยนต์ของด.ต.วิเชียรที่ระดับ 179 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งอัยการอ้างว่า ไม่มีในสำนวนสอบสวนที่ตำรวจส่งมายังอัยการ
เมื่อมีข้อมูลใหม่ คดีจึงสามารถเดินหน้าต่อไป หมายถึงนายบอสอาจตกอยู่ในฐานะผู้ต้องหาอีกครั้ง ซึ่งจะทำให้ความพยายามวิ่งเต้นเพื่อตัดตอนคดีตลอดระยะเวลา 8 ปีที่ผ่านมา เป็นการลงทุนที่สูญเปล่า
อย่างไรก็ตาม แม้นายบอสจะถูกฟ้อง แต่คงไม่สามารถนำตัวมารับโทษได้ เพราะนายบอสหลบหนีอยู่ต่างประเทศต่อไป โดยที่หมายจับคงทำอะไรไม่ได้
การลุกฮือของคนทั้งประเทศในการเรียกร้องให้ตรวจสอบคดีนายบอส สุดท้ายจะไม่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงใดๆ มากนัก แม้แต่การเปลี่ยนแปลงภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และอัยการ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ทำลายความน่าเชื่อถือของกระบวนการยุติธรรม
ความจริงสังคมต้องขอบคุณทายาทกระทิงแดง เพราะเป็นผู้จุดชนวนให้คนทั้งประเทศหันมาให้ความสนใจคดีนี้ จนนำไปสู่การขุดคุ้ย ตีแผ่ และเงื่อนงำของคดี
ตำรวจ และอัยการตกเป็นจำเลยของสังคม และเกิดกระแสเรียกร้องให้ปฏิรูปทั้งสองหน่วยงานอย่างจริงจัง เพื่อให้ประชาชนมีความมั่นใจในกระบวนการยุติธรรม โดยกฎหมายสามารถบังคับใช้กับทุกคน ไม่ใช่เลือกปฏิบัติกับบรรดาอภิสิทธิชน และมีแต่คนจนหรือคนด้อยโอกาสเท่านั้นที่จะติดคุก
การตัดตอนคดีในขั้นตอนการสอบสวนของตำรวจ หรือการเป่าคดีในขั้นตอนการพิจารณาสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องของอัยการนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะคดีทายาทกระทิงแดงเป็นคดีแรก แต่ไม่รู้กี่ร้อยกี่พันกี่หมื่นคดีแล้วที่ถูกกระบวนการยุติธรรมถูกตัดตอนในชั้นตำรวจและอัยการ โดยคนกระทำผิดถูกปล่อยให้ลอยนวล คนถูกไม่ได้รับความยุติธรรม
แม้คดีนายบอสจะถูกฟื้นขึ้นมาใหม่ แต่ใครจะรับประกันได้ว่า จะไม่มีการตัดตอนในกระบวนการยุติธรรมอีก จะมั่นใจอย่างไรว่า ตำรวจและอัยการจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความยุติธรรม ไม่ค้าคดี ไม่ใช้ตำแหน่งหน้าที่แสวงหาประโยชน์ ช่วยให้เศรษฐีไม่ต้องติดคุก
แต่บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดเฉพาะคนที่ไม่มีเงินฟาดหัวเจ้าหน้าที่รัฐ
คดีทายาทกระทิงแดง เป็นการตีแผ่การทำงานของตำรวจ และอัยการ สะท้อนให้เห็นถึงจุดบอดของกระบวนการยุติธรรม และจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องแก้ไข โดยการปฏิรูปตำรวจและอัยการ
การลุกฮือของสังคมครั้งนี้ ไม่ควรจะหยุดนิ่งที่คดีทายาทกระทิงแดง แต่จะต้องขับเคลื่อนสู่การเรียกร้องให้ปฏิรูปตำรวจ และอัยการอย่างจริงจัง
อย่าปล่อยให้เป็นหน่วยงานอภิสิทธิ์ที่ใครแตะต้องไม่ได้ อย่าปล่อยให้มีอำนาจมากเกินไป จนไม่มีใครควบคุมได้ ไม่มีหน่วยงานมดเข้ามาถ่วงดุลอำนาจ และอย่าปล่อยให้เป็นต้นตอสำคัญที่ทำให้สังคมเต็มไปด้วยความอยุติธรรม
การใช้ฐานะความเป็นทายาทมหาเศรษฐี วิ่งเต้นจนรอดพ้นคดี อาจทำให้พฤติกรรมของนายบอส อยู่วิทยา เป็นที่ชิงชังของสังคม
แต่จำเลยที่น่าชิงชังจากสังคมมากกว่าคือ เจ้าหน้าที่ที่ร่วมในขบวนการตัดตอนคดีนายบอส ไม่ว่าจะเป็นตำรวจหรืออัยการ เพราะอาจเปลี่ยนขาวให้เป็นดำ เปลี่ยนผิดให้เป็นถูก โดยตัดตอนคดีต่างๆ มาแล้วนับไม่ถ้วน
คดีนายบอสจะรื้อฟื้นได้หรือไม่ จะนำตัวนายบอสกลับมาลงโทษได้หรือไม่ ยังไม่มีความสำคัญเท่ากับประเทศนี้จะมีการปฏิรูปตำรวจและอัยการอย่างจริงจังหรือไม่มากกว่า เพราะถ้าไม่มีการปฏิรูปตำรวจและอัยการ การตัดตอนคดีในลักษณะเดียวกับนายบอส จะเกิดขึ้นต่อไป
เงินยังซื้อความยุติธรรมได้ คนรวยจะอยู่เหนือกฎหมาย คนจนเท่านั้นที่มีสิทธิเสวยทุกข์ในคุก
คดีบอสที่ปลุกให้คนทั้งประเทศลุกฮือเรียกร้องให้รื้อค้นกระบวนการยุติธรรมนั้น เป็นโอกาสดีที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะชิงโอกาสโหนกระแส เพื่อสร้างผลงานชิ้นแรกให้ตัวเองในรอบ 6 ปี โดยสั่งปฏิรูปใหญ่ตำรวจ และอัยการ
ยิ่งมีคดีฆ่ากันตายในบ่อนใหญ่กลางกรุง โดยมีนายตำรวจที่เข้าไปเล่นในบ่อนเสียชีวิต และมีความพยายามทำลายหลักฐานการเป็นบ่อน ยิ่งโหมกระแสการปฏิรูปตำรวจ
โอกาสที่จะแสดงความเป็นผู้นำที่ดีและทำตามเสียงเรียกร้องของประชาชนมาถึงแล้ว เพียงแต่พล.อ.ประยุทธ์จะกล้าปฏิรูปตำรวจ และอัยการหรือไม่เท่านั้น