xs
xsm
sm
md
lg

ชี้ “อัยการ-ตำรวจ” คดี ‘บอส เรดบูล’ มีสิทธิติดคุก!?

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เปิดข้อกฎหมาย อัยการ-ตำรวจ ทำคดีมิชอบก็มีสิทธิ “ติดคุก” โทษสูงสุดตลอดชีวิต ด้าน “ทนายรณณรงค์” ชี้พนักงานสอบสวน “คดีบอส” มีความผิดตาม มาตรา 157 เหตุไม่ระบุความเร็วรถ 177 กม./ชม. ทั้งที่เป็นหลักฐานสำคัญสามารถชี้มูลความผิด ขณะที่ “น้ำแท้” เชื่ออัยการไม่กล้าบิดเบือนเพราะคำสั่ง-ความเห็นต้องเป็นลายลักษณ์อักษร หลายฝ่ายดันปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ให้อัยการร่วมกับพนักงานสอบสวนในการรวบรวมพยานหลักฐาน

พลิกอีกครั้งสำหรับการแถลงผลการพิจารณาของคณะทำงานตรวจสอบกรณีอัยการไม่สั่งฟ้อง “นายวรยุทธ อยู่วิทยา” ผู้ต้องหาหนีคดีขับรถชน "ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ" เสียชีวิต ซึ่งระบุว่าคดียังไม่จบ ข้อมูลเรื่องความเร็วรถเฟอร์รารี่ที่นายบอสขับ ซึ่งคำนวณโดย ดร.สธน วิจารณ์วรรณลักษณ์ อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อยู่ที่ 177 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และข้อมูลเรื่องโคเคนที่อยู่ในผลการตรวจเลือดนั้นไม่ได้อยู่ในสำนวนที่พนักงานสอบสวนส่งให้อัยการ จึงถือเป็นหลักฐานใหม่

ดังนั้น จะแจ้งให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีใหม่ใน 2 กรณี คือ ขับรถเร็วเกินกำหนด ถือเป็นการกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ซึ่งยังเหลืออายุความอีก 7 ปี และดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.ยาเสพติด ซึ่งยังเหลืออายุความอีก 2 ปี ส่วนการพิจารณาสั่งไม่ฟ้องของ “นายเนตร นาคสุข” รองอัยการสูงสุดนั้นเป็นการพิจารณาตามพยานหลักฐานในสำนวนที่พนักงานสอบสวนเสนอมา อย่างไรก็ตาม คณะทำงานไม่ได้พิจารณาเรื่องการทำหน้าที่ของนายเนตร โดยเรื่องดังกล่าวเป็นหน้าที่ของอัยการสูงสุดที่จะพิจารณา

ดร.น้ำแท้ บุญสล้าง อัยการจังหวัดสุพรรณบุรี
แม้ผลการพิจารณาครั้งนี้จะช่วยลดกระแสความไม่พอใจของสังคมต่อกระบวนการยุติธรรมของไทยลงได้ระดับหนึ่ง แต่ก็ยังมีคำถามคาใจว่าหากตรวจสอบพบว่าพนักงานสอบสวนหรืออัยการที่ทำคดีนี้ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบจะมีความผิดหรือไม่ และต้องได้รับโทษอย่างไร?

ดร.น้ำแท้ บุญสล้าง อัยการจังหวัดสุพรรณบุรี ชี้แจงว่า แม้อัยการและพนักงานสอบสวนจะอยู่ในฐานะผู้ใช้กฎหมาย แต่ทั้ง 2 องค์กรก็ต้องปฏิบัติหน้าที่อยู่ภายใต้กฎหมายเช่นกัน โดยในส่วนของการทำหน้าที่เสนอความเห็นหรือการสั่งคดีของอัยการในทุกระดับชั้นนั้นจะต้องเขียนเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งตรงนี้จะเป็นหลักฐานที่ชี้ว่าอัยการแต่ละคนปฏิบัติหน้าที่ด้วยความถูกต้องชอบธรรมหรือไม่ จึงเป็นเรื่องยากที่อัยการจะบิดเบือนคดี

“การทำงานของอัยการต้องมีลายลักษณ์อักษร จะสั่งปากเปล่าแบบตำรวจไม่ได้ การเสนอความเห็นของอัยการทุกระดับชั้นจึงเป็นไปโดยอิสระ รัดกุม ตรวจสอบได้ เพราะทุกความเห็นต้องถูกบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งตรงนี้เป็นหลักฐานว่าแต่ละคนมีความเห็นต่อคดีนั้นๆ อย่างไร มีเหตุผลรองรับหรือไม่ แม้แต่อัยการชั้นผู้ใหญ่ก็ไม่สามารถสั่งให้อัยการผู้น้อยเขียนความเห็นอย่างนั้นอย่างนี้ได้เพราะทุกคนต้องรับผิดชอบต่อความเห็นของตน หากอัยการผู้น้อยเสนอความเห็นไปแล้วอัยการผู้ใหญ่ไม่เห็นด้วยก็เขียนแย้งกลับมา” ดร.น้ำแท้ ระบุ

ทนายรณณรงค์ แก้วเพ็ชร์ ประธานเครือข่ายรณรงค์ทวงคืนความยุติธรรมในสังคม
ด้าน ทนายรณณรงค์ แก้วเพ็ชร์ ประธานเครือข่ายรณรงค์ทวงคืนความยุติธรรมในสังคม กล่าวว่า แม้มีตำแหน่งเป็นอัยการก็ติดคุกได้ โดยหากมีหลักฐานว่าอัยการรับเงินเพื่อเป่าคดีก็สามารถดำเนินการเอาผิดตามกฎหมาย แต่หากความผิดพลาดในการพิจารณาคดีเกิดจากดุลพินิจก็จะเข้าข่ายแค่บกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่ไม่ใช่ทุจริต

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบพบว่ามีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานสอบสวนและอัยการมีอยู่ 2 มาตรา คือ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และมาตรา 200

โดยมาตรา 157 ระบุว่า... “ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปีถึง 10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2,000 บาท ถึง 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ขณะที่กฎหมายอาญา มาตรา 200 ระบุว่า... "ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานในตำแหน่งพนักงานอัยการ ผู้ว่าคดีพนักงานสอบสวนหรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดๆ ในตำแหน่งอันเป็นการมิชอบ เพื่อจะช่วยบุคคลหนึ่งบุคคลใดมิให้ต้องโทษ หรือให้รับโทษน้อยลง ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 7 ปี และปรับตั้งแต่ 1,000 บาท ถึง 14,000 บาท

ถ้าการกระทำหรือไม่กระทำนั้นเป็นการเพื่อจะแกล้งให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดต้องรับโทษ รับโทษหนักขึ้น หรือต้องถูกบังคับตามวิธีการเพื่อความปลอดภัย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่ 1 ปี ถึง 20 ปี และปรับตั้งแต่ 2,000 บาท ถึง 40,000 บาท"


ซึ่งที่ผ่านมา ก็เคยมีคดีที่ศาลพิพากษาให้พนักงานสอบสวน หรืออัยการมีความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เช่น คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3509/2549 ที่นายสุกรี สุจิตตกุล จำเลยซึ่งเป็นพนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องบริษัท ส. และ ป.

ที่ถูกกล่าวหาว่าหมิ่นประมาทโจทก์ ทั้งที่หนังสือพิมพ์ ด. ซึ่งบริษัท ส. เป็นเจ้าของและ ป. เป็นบรรณาธิการ ลงข้อความในหนังสือพิมพ์เป็นความเท็จ และก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ เป็นการใช้ดุลพินิจที่มิได้อยู่บนรากฐานของความสมเหตุสมผล แต่เป็นการใช้ดุลพินิจตามอำเภอใจ จึงเกินล้ำออกนอกของเขตของความชอบด้วยกฎหมาย

และในฐานะที่จำเลยเป็นข้าราชการอัยการชั้นสูง จำเลยย่อมทราบดีถึงเกณฑ์วินิจฉัยมูลความผิดของพนักงานอัยการ การใช้ดุลพินิจผิดกฎหมาย ในกรณีนี้จำเลยเห็นได้อยู่ในตัวแล้วว่าเป็นการมิชอบและมีเจตนาเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหาย อีกทั้งเพื่อจะช่วยบริษัท ส. และ ป.มิให้ต้องโทษจากการกระทำความผิดของตนอีกด้วย จำเลยจึงมีความผิดตาม ป.อ.มาตรา 157 และมาตรา 200 วรรคหนึ่ง

ทนายรณณรงค์ ชี้ว่า สำหรับคดีของ “นายวรยุทธ อยู่วิทยา” ซึ่งสังคมวิพากษ์วิจารณ์ถึงความผิดปกติในการทำคดีนั้น หากพิจารณาจากการทำหน้าที่ทั้งของพนักงานสอบสวนและอัยการแล้วต้องถือว่ามีความผิดทั้งคู่ เนื่องจากในส่วนของพนักงานสอบสวนไม่ได้ระบุข้อมูลเรื่องความเร็วรถของนายวรยุทธ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญคำนวณว่าอยู่ที่ 177 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ในสำนวนที่ส่งให้อัยการ ทั้งที่ประเด็นนี้ถือเป็นข้อมูลสำคัญที่มีผลต่อคดี ซึ่งตรงนี้ถือว่าเป็นความผิดตามมาตรา 157 นอกจากนั้น ปกติในการทำคดีพนักงานสอบสวนจะต้องรวบรวมข้อมูลหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับคดีทั้งหมดไว้ในสำนวนเพื่อส่งให้อัยการใช้ประกอบในการพิจารณาคดี มิใช่เลือกเพียงพยานหลักฐานบางส่วนเท่านั้น

ขณะที่อัยการเมื่อดูสำนวนที่พนักงานสอบสวนส่งมาซึ่งระบุว่า พยานให้การว่านายวรยุทธ ขับรถด้วยความเร็วประมาณ 70-90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง อัยการก็สามารถพิจารณาได้ว่าข้อมูลดังกล่าวมีความน่าเชื่อถือหรือไม่ เนื่องจาคดีนี้เป็นข่าวดังจึงเป็นไปไม่ได้ที่อัยการจะไม่รู้เห็นข้อมูลอื่นๆ ที่มากกว่าข้อมูลที่ระบุมาในสำนวน เช่น สภาพความเสียหายของรถ สภาพของผู้ตาย ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่หากขับรถมาด้วยความเร็ว 70-90 กิโลเมตรต่อชั่วโมงจะก่อให้เกิดความเสียหายขนาดนั้น

“เป็นเรื่องผิดปกติที่อัยการไม่สงสัยตัวเลขความเร็วที่พนักงานสอบสวนส่งมา ซึ่งในการทำคดีทั่วไปอัยการจะไม่ได้พิจารณาเฉพาะพยานหลักฐานที่ระบุในสำนวนเท่านั้น แต่จะพิจารณาปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ ด้วย ถ้าข้อมูลไม่น่าเชื่อถือ หรืออัยหารเห็นว่าพยานหลักฐานไม่สอดคล้องต่อความเป็นจริง หรือต้องการพยานหลักฐานเพิ่มเติมก็สามารถสั่งให้พนักงานสอบสวนไปหาหลักฐานมาใหม่ได้ หรืออัยการจะลงไปดูสถานที่เกิดเหตุเองก็ได้ ถ้าอัยการทำคดีโดยพิจารณาไปตามสำนวน ไม่ต้องสืบหาข้อเท็จจริงอะไรเลย จะเอาใครมาเป็นอัยการก็ได้ ถ้าตำรวจจับแพะมา อัยการก็ส่งฟ้องแพะอย่างนั้นหรือ แล้วที่ผ่านมา ตำรวจ สน.ทองหล่อ ทั้ง 7 นายที่ถูกกล่าวหาว่าช่วยเหลือคดีนายวรยุทธ ก็ถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด” ทนายรณณรงค์ กล่าว


จากกรณีปัญหาการทำคดีนายวรยุทธ ซึ่งส่งผลให้กระบวนการยุติธรรมของไทยถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักทั้งในเรื่องความเที่ยงธรรม และข้อครหาเรื่องการเรียกรับผลประโยชน์ ทำให้หลายฝ่ายออกมาเรียกร้องให้มีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ

โดย ดร.น้ำแท้ ระบุว่า ตนเคยเสนอให้มีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม โดยให้อำนาจอัยการในการร่วมสอบสวนคดีและรวบรวมพยานหลักฐานกับพนักงานสอบสวนด้วย เนื่องจากข้อมูลและพยานหลักฐานที่พนักงานสอบสวนระบุในคดีนั้นบางครั้งไม่สอดคล้องต่อข้อเท็จจริง และบางครั้งไม่ตรงปก เช่น เสนอให้อัยการฟ้อง แต่ทำสำนวนและพยานหลักฐานมาอ่อน อัยการจะฟ้องได้อย่างไร เวลาให้สัมภาษณ์ก็บอกว่าเสนอไปแล้วให้อัยการฟ้อง แต่อัยการไม่ฟ้อง ขณะที่คนทั่วไปก็ไม่รู้ว่าเหตุที่ไม่ฟ้องเพราะพยานหลักฐานมันอ่อน

“ต้องยอมรับว่าการวิ่งเต้นเพื่อพลิกคดีนั้นมีอยู่จริง แต่ส่วนใหญ่ไม่ได้มาถึงชั้นอัยการ โดยจะวิ่งเต้นในชั้นพนักงานสอบสวน เพราะเป็นคนทำสำนวนและรวบรวมพยานหลักฐาน เพราะถ้าพยานหลักฐานอ่อน มาถึงอัยการก็ส่งฟ้องไม่ได้ ขณะเดียวกัน อัยการก็มักถูกอ้างชื่อว่า นอกจากวิ่งกับพนักงานสอบสวนแล้วถ้าจ่ายเท่านั้นเท่านี้อัยการจะช่วยเป่าคดีด้วย ผู้ต้องหาก็หลงเชื่อ พอสำนวนอ่อน ไม่ถูกฟ้อง เขาก็มั่นใจว่าอัยการช่วย ผมเองก็เคยถูกอ้าง โดยมีทนายฝ่ายจำเลยเข้ามาคุยเรื่องเตะบอล พอผมออกไปนอกห้องพิจารณาคดีญาติของจำเลยก็เข้ามาถามว่าที่เรียก 5 หมื่นน่ะขอให้ลดลงหน่อยได้ไหม ผมก็ถามว่าผมไปเรียกรับอะไรตอนไหน เขาก็บอกว่าก็ที่ทนายเข้าไปคุยไง ผมถึงรู้ตัวว่าถูกอ้างชื่อ” ดร.น้ำแท้ ระบุ

ด้าน ทนายรณณรงค์ เสนอว่า ควรปฏิรูปโดยแยกงานสอบสวนออกมาจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยโอนพนักงานสอบสวนมาอยู่ภายใต้อัยการเพื่อให้กระบวนการฟ้องร้องทั้งหมด ตั้งแต่การรวบรวมพยานหลักฐาน การเขียนสำนวน และพิจารณาฟ้องร้อง อยู่ในส่วนงานเดียวกันเพื่อให้การทำงานมีเอกภาพ




กำลังโหลดความคิดเห็น