“เชาว์” ชำแหละคำแถลงอัยการคดี “บอส อยู่วิทยา” โยนบาปให้ตำรวจโยนเผือกร้อนซ่อนเงื่อนให้ศาลยุติธรรม ชี้ทั้งโคเคน-ความเร็วรถ เป็นพยานหลักฐานเก่า แต่รวมสำนวนไม่ครบ อ้างเป็นพยานหลักฐานใหม่รื้อคดีไม่ได้ หวั่นกลายเป็นช่องทางให้ผู้ต้องหาชนะคดีด้วยเทคนิคทางกฎหมายโดยไม่ต้องพิจารณาข้อเท็จจริง ฝากความหวังกรรมการชุด“วิชา” ชี้ให้ชัดกระบวนการทำสำนวนและสั่งคดีไม่ชอบ พยานที่พลิกคดีเป็นเท็จ นำไปสู่การฟ้องคดีใหม่
วันนี้ (5 ส.ค.) นายเชาว์ มีขวด อดีตรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า หลังจากได้ติดตามการแถลงผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงการพิจารณาสั่งคดีนายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือบอส ของคณะทำงานตรวจสอบการพิจารณาสั่งคดีนี้ เป็นการโยนบาปให้ตำรวจ โยนเผือกร้อนให้ศาลยุติธรรม ทำองค์กรเสื่อมทรุดมากขึ้น โดยขอแยกแต่ละประเด็นดังนี้
ประเด็นโยนบาปให้ตำรวจ ที่อัยการอ้างว่าอัยการมีหน้าที่พิจารณาดีตามสำนวนเท่านั้น เท่ากับโยนความบกพร่องทุกอย่างให้ตำรวจเป็นผู้รับผิดชอบ ทั้งที่ในความเป็นจริงอัยการมีหน้าที่กลั่นกรองสำนวน หากพบว่าไม่ครบถ้วน ไม่สมบูรณ์ก็สามารถสั่งให้มีการสอบสวนเพิ่มเติมได้ เหมือนกับที่สั่งให้พนักงานสอบสวนสอบสวนพยานใหม่ในปี 62 จนนำไปสู่การสั่งไม่ฟ้องคดี
ที่สำคัญ เหตุผลที่อัยการนำมาใช้ในการดำเนินคดีใหม่ทั้งเรื่องโคเคน และความเร็วรถนั้น ความจริงปรากฏต่อสาธารณะตั้งแต่ช่วงเกิดเหตุใหม่ๆ ว่าพนักงานสอบสวนชุดแรกไม่ได้รวมเรื่องนี้ไว้ในสำนวน จนกระทั่งพนักงานชุดดังกล่าวถูกร้องเรียนต่อ ป.ป.ช.และ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดวินัยไม่ร้ายแรงไปก่อนหน้านี้แสดงว่าข้อมูลทั้ง 2 ชิ้นนี้ ไม่ใช่พยานหลักฐานใหม่แต่อย่างใด แต่เป็นพยานหลักฐานที่ไม่ได้ดำเนินการสอบสวนให้ครบถ้วน หากบกพร่องก็ต้องถือว่าบกพร่องทั้งพนักงานสอบสวน และอัยการ ที่ไม่มีการสั่งให้สอบสวนเพิ่มเติมให้ครบถ้วน สิ่งที่เกิดขึ้นจึงยิ่งประจานให้เห็นว่าการทำคดีนายบอส อยู่วิทยา มีปัญหาทั้งขั้นตอนการทำสำนวนของตำรวจ และการสั่งคดีของอัยการ
ประเด็นโยนเผือกร้อน ซ่อนเงื่อนให้ศาลยุติธรรม ที่อัยการแถลงให้รื้อคดีขึ้นสอบสวนในข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย เพราะปรากฏพยานหลักฐานสำคัญ คือ ความเห็นของ ดร.สธน วิจารณ์วรรณลักษณ์ อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญพิเศษ ได้ให้ข้อเท็จจริงผ่านสื่อว่ารถยนต์ที่ก่อเหตุวิ่งด้วยความเร็วประมาณ 170 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่ข้อเท็จจริงดังกล่าวไม่ปรากฏในสำนวนการสอบสวน ข้อมูลดังกล่าวถือเป็นพยานหลักฐานใหม่ และเป็นพยานสำคัญที่จะทำให้ศาลลงโทษผู้ต้องหาได้ตามบทบัญญัติประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 147
มีคำถามที่น่าสงสัยเป็นอย่างยิ่งว่า ประเด็นการรื้อคดีขึ้นสอบสวนให้ตาม ป.วิอาญา มาตรา 147 ตามที่อัยการแถลงเมื่อวานนี้ สามารถทำได้หรือไม่แค่ไหนเพียงไร และความเห็นเรื่องความเร็วของ ดร.สธน เป็นพยานหลักฐานเก่าหรือพยานหลักฐานใหม่กันแน่ หรือเป็นการแถลงเพื่อลดกระแสสังคมเอาตัวรอดโดยไม่สนว่ารูปคดีจะออกมาอย่างไร เพราะท้ายที่สุดคนที่พิจารณาเรื่องพยานหลักฐานที่นำมารื้อคดีขึ้นสอบสวนใหม่คือศาล การทำเช่นนี้ของอัยการซึ่งถือเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย เป็นทนายของแผ่นดิน จึงไม่ต่างอะไรจากการปัดเรื่องให้พ้นตัว โยนบาปให้ตำรวจ และโยนเผือกร้อนซ่อนเงื่อนให้ศาลยุติธรรมต้องเป็นผู้วินิจฉัยในปัญหาข้อกฎหมาย ที่ผมได้ทิ้งปมให้เห็นแล้วในข้างต้น
สำหรับผมมองเรื่องนี้เป็นสองประเด็น
1. เรื่องความเร็วรถของ ดร.สธน ที่มีหลักการคำนวณจากภาพที่ปรากฏในกล้องวงจรปิดวิธีเดียวกันกับพยานที่ปรากฏในสำนวนถือเป็นเรื่องที่เคยสอบสวนและมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องไปแล้ว จะนำประเด็นนี้เรื่องนี้มาสอบสวนใหม่ไม่ได้อีก แม้จะเป็นความเห็นใหม่ของผู้เชี่ยวชาญ ไม่ว่าจะมีกี่ปากกี่คนก็ตามเพราะถือเป็นความเห็นในเรื่องเดิม ไม่ถือเป็นพยานหลักฐานใหม่ ตามป.วิอาญา มาตรา 147 ที่บัญญัติ “ห้ามมิให้มีการสอบสวนเกี่ยวกับบุคคลนั้นในเรื่องเดียวกันนั้นอีก เว้นแต่จะได้พยานหลักฐานใหม่อันสำคัญแก่คดี ซึ่งน่าจะทำให้ศาลลงโทษผู้ต้องหานั้นได้"
2. คำแถลงของอัยการที่ระบุว่าความเห็นเรื่องความเร็วรถของ ดร.สธน ไม่ปรากฏอยู่ในสำนวน แต่ข้อเท็จจริงจากการเปิดเผยของ พ.ต.อ.มานะ เผาะช่วย เลขาสมาคมพนักงานสอบสวน ระบุว่าความเห็นของ ดร.สธนมีอยู่ในบัญชีแนบท้ายสำนวน ถ้าเป็นเช่นนี้จริงยิ่งจะเป็นการชี้ชัดว่าความเห็นของ ดร.สธน เป็นพยานหลักฐานเก่าที่เคยสอบสวนมาแล้ว จะปิดประตูตายไม่มีทางที่จะรับฟังเป็นพยานหลักฐานใหม่ได้ และยิ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นว่ากระบวนการทั้งขั้นตอนสอบสวนและการสั่งคดีมีปัญหา ที่ต้องหาความจริงให้ได้ว่า ถ้าความเห็นนี้มีอยู่ในสำนวนตั้งแต่ต้น ตกหล่นระหว่างทางที่ไหน ทำไมอัยการไม่เห็น มีใครดึงออกจากสำนวนหรือไม่
“ผมคิดว่าสังคมต้องระวังเรื่องนี้ให้ดี การรื้อคดีขึ้นสอบสวนใหม่นั้น ถ้าจะคิดแบบมักง่ายเอาตัวรอดนั้นทำง่าย แต่บทสรุปสุดท้ายจะกลายเป็นการยื่นดาบให้แก่ผู้ต้องหาในการที่จะยื่นคำร้องให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมายว่า พยานหลักฐานที่นำมาสอบสวนเป็นพยานหลักฐานเก่าขัดต่อกฎหมาย จะทำให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยชนะคดีโดยไม่จำเป็นต้องต่อสู้ในเนื้อคดี ผมจึงเห็นว่าคณะทำงานของท่านอาจารย์วิชา มหาคุณ ซึ่งแต่งตั้งโดยนายกรัฐมนตรี น่าจะเป็นความหวังเดียว ที่จะนำไปสู่การรื้อคดีใหม่ได้ นั่นคือต้องมีผลสรุปที่ชี้ให้เห็นได้ว่า ทั้งการทำสำนวน และการสั่งคดีไม่ชอบด้วยกฎหมาย รวมถึงพยานหลักฐานชุดที่ 2 ที่รองอัยการสูงสุดนำมาเป็นเหตุผลในการสั่งไม่ฟ้องเป็นพยานหลักฐานเท็จ จึงจะถือเป็นพยานหลักฐานใหม่ที่สามารถรื้อคดีขึ้นมาสอบสวนใหม่ ส่งฟ้องศาลเอาผิดต่อจำเลยได้
สิ่งที่ผมเป็นห่วงในขณะนี้คือ นอกจากทั้งองค์กรตำรวจและอัยการจะได้รับผลกระทบอย่างหนักแล้ว คำแถลงล่าสุดของอัยการยังสร้างปมขัดแย้งใหม่ให้เกิดขึ้นระหว่าง 2 องค์กรด้วย ซึ่งไม่ได้เป็นผลดีต่อใครทั้งสิ้น สิ่งที่ดีที่สุดคือการเผชิญหน้ากับความจริง ยอมรับความผิดพลาดจัดการกับคนที่สร้างปัญหาให้องค์กร ยอมรับความจริงแล้วแก้ไขเถอะครับ” นายเชาว์ระบุทิ้งท้าย