“อรรถพล ใหญ่สว่าง” ประธาน ก.อ.ทำหนังสือแจ้ง“วงศ์สกุล” อัยการสูงสุด ชี้คำสั่งไม่ฟ้อง“บอส-วรยุทธ” ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เหตุอดีต อสส.เคยสั่งยุติขอความเป็นธรรมไปแล้ว
วันนี้ (5 ส.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 4 ส.ค.ที่ผ่านมา นายอรรถพล ใหญ่สว่าง ประธานคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) ได้ทำหนังสือบันทึกข้อความถึงนายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ อัยการสูงสุด (อสส.) เรื่องการแถลงข่าวผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงของคณะทำงานตรวจสอบการพิจารณาสั่งคดีนายวรยุทธ หรือบอส อยู่วิทยา ระบุว่าตามที่คณะทำงานฯ แถลงข่าวเกี่ยวกับผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงการพิจารณาสั่งคดีนายวรยุทธ อยู่วิทยา เมื่อวันที่ 4 ส.ค. 2563 ซึ่งสรุปความได้ว่า คณะทำงานฯ เห็นว่าในข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ชนรถผู้อื่นเสียหายและมีผู้ถึงแก่ความตาย น่าจะมีพยานหลักฐานใหม่อันสำคัญแก่คดีตาม ป.วิอาญา มาตรา 147 อันจะทำให้พนักงานสอบสวนสามารถดำเนินคดีอีกครั้งได้ภายในกำหนดอายุความ และควรมีการแจ้งให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่ผู้ต้องหาในข้อหาเสพยาเสพติดให้โทษประเภท 2 (โคเคน) ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 เพิ่มเติมด้วย ส่วนการดำเนินการเกี่ยวกับการใช้ดุลพินิจของพนักงานอัยการผู้ที่เกี่ยวข้องในการสั่งคดี ควรพิจารณาดำเนินการตามนัยพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ. 2553 ต่อไป และมีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการปรับปรุงระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ พ.ศ. 2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ในส่วนที่เกี่ยวกับการร้องขอความเป็นธรรมให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้นนั้น
“ข้าพเจ้าได้พิจารณาแล้วเห็นว่า ยังมีประเด็นอันควรพิจารณาเกี่ยวกับข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุด ว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ พ.ศ. 2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับอำนาจหน้าที่ในการสั่งสำนวนของพนักงานอัยการ กรณีมีคำสั่งไม่ฟ้องและผลของการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องเพิ่มเติมอีก ดังนี้
1. กรณีพนักงานอัยการมีคำสั่งที่ไม่ฟ้อง และคำสั่งนั้นไม่ใช่คำสั่งของอัยการสูงสุด เมื่อผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หรือผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติไม่แย้งคำสั่งไม่ฟ้อง จึงเป็นคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้อง หากมีการแย้งคำสั่งของพนักงานอัยการให้ส่งสำนวนพร้อมกับความเห็นที่แย้งไปยังอัยการสูงสุดเพื่อชี้ขาด เมื่ออัยการสูงสุดชี้ขาดไม่ฟ้อง จึงเป็นคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้อง
คำสั่งในขั้นตอนต่างๆ ดังกล่าวข้างต้น ต้องเป็นคำสั่งโดยถูกต้องตามอำนาจหน้าที่ของผู้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายและระเบียบฯ ที่เกี่ยวข้องด้วย จึงจะสมบูรณ์ตามกฎหมาย
ในกรณีที่เดิมพนักงานอัยการมีคำสั่งฟ้องไว้แล้ว แต่มีการกลับคำสั่งเป็นคำสั่งไม่ฟ้องตามระเบียบฯ ข้อ 6 กำหนดว่า “ในกรณีที่เห็นควรกลับความเห็นหรือกลับคำสั่งเดิม ให้เสนอตามลำดับชั้นจนถึงอธิบดีเพื่อพิจารณาสั่ง เว้นแต่ความเห็นหรือคำสั่งเดิมนั้นเป็นของอธิบดีให้เสนออัยการสูงสุดหรือรองอัยการสูงสุดผู้ได้รับมอบหมาย เพื่อพิจารณาสั่ง”
2. กรณีคดีมีการร้องขอความเป็นธรรมระเบียบฯ ข้อ 48 (การสั่งคดีกรณีร้องขอความเป็นธรรม) ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุด ว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2554 กำหนดว่า “คดีที่มีการร้องขอความเป็นธรรมในกรณีที่จะมีคำสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาทุกข้อหาหรือบางข้อหา ให้เสนอสำนวนพร้อมความเห็นตามลำดับชั้นถึงอธิบดีเพื่อพิจารณาสั่งกรณีที่มีคำสั่งฟ้อง ให้ดำเนินการให้ได้ตัวผู้ต้องหามายื่นฟ้องต่อศาล และให้รีบทำบันทึกส่งคำร้องขอความเป็นธรรม สำเนาความเห็นและคำสั่ง พร้อมทั้งสำเนารายงานการสอบสวนเสนออธิบดีเพื่อทราบ กรณีดังกล่าวในวรรคก่อน หากเป็นกรณีที่ต้องกลับความเห็นหรือกลับคำสั่งเดิม หรือต้องถอนฟ้อง ให้นำความในข้อ 6 วรรคท้าย หรือข้อ 128 มาใช้บังคับแล้วแต่กรณี
3. กรณีตามคดีนี้ได้ความว่า ในการร้องขอความเป็นธรรมหลายครั้งของนายวรยุทธ อยู่วิทยา ผู้ต้องหา การร้องขอความเป็นธรรมในชั้นหลังที่มีประเด็นพิจารณาถึงคำให้การรองศาสตราจารย์ ดร.สายประสิทธิ์ เกิดนิยม และรายงานพิจารณาศึกษาของคณะกรรมาธิการกฎหมาย กระบวนการยุติธรรม และกิจการตำรวจ สภานิติบัญญัติแห่งชาติด้วย อัยการสูงสุด (ร.ต.ต.พงษ์นิวัติ ยุทธภัณฑ์บริภาร) ได้สั่งให้ยุติการพิจารณาคำร้องขอความเป็นธรรมของผู้ต้องหาที่ 1 แล้ว ดังนั้นต้องถือว่าคำสั่งฟ้องที่สั่งไว้มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย
4. หลังจากนั้น หากมีกรณีร้องขอความเป็นธรรมเข้ามาสู่การพิจารณาของพนักงานอัยการอีก การที่พนักงานอัยการคนใดจะหยิบยกเพื่อพิจารณาให้ความเป็นธรรม โดยสั่งให้สอบสวนเพิ่มเติมและมีคำสั่งใดๆ ใหม่ ต้องมีคำสั่งจากอัยการสูงสุดก่อนจึงจะดำเนินการได้ เพราะอัยการสูงสุดได้วินิจฉัยไว้แล้วให้ยุติการพิจารณากรณีร้องขอความเป็นธรรม หากพนักงานอัยการผู้ใดมีการหยิบยกการร้องขอความเป็นธรรมขึ้นพิจารณาอีก และมีคำสั่งให้สอบสวนเพิ่มเติม โดยมิได้ขอความเห็นชอบจากอัยการสูงสุดก่อนไม่น่าจะกระทำได้ และจะมีผลการดำเนินการในขั้นตอนต่อๆ มาทั้งหลายไม่ชอบด้วยกฎหมายและระเบียบฯ ทำให้คำสั่งต่างๆ ที่มีตามมา รวมทั้งคำสั่งไม่ฟ้องไม่อาจมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายได้
5. กรณีที่รองอัยการสูงสุด หยิบยกการร้องขอความเป็นธรรมขึ้นพิจารณาอีกครั้ง ทั้งที่อัยการสูงสุดมีคำสั่งให้ยุติไปแล้ว จึงมีนัยสำคัญที่ควรพิจารณาว่าเกิดผลตามที่กล่าวมาตามข้อ 4 หรือไม่ หากเป็นผลต้องถือว่าคำสั่งไม่ฟ้องยังไม่ชอบด้วยกฎหมายและระเบียบฯ การส่งสำนวนพร้อมความเห็นไปให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หรือผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พิจารณาแล้วไม่แย้งคำสั่ง ก็หาเป็นผลให้เกิดเป็นคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องที่ถูกต้องสมบูรณ์ตามกฎหมายไม่ และคำสั่งฟ้องเดิมของอธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้ ต้องถือว่ายังมิได้ถูกกลับ และมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายอยู่
6. ในการพิจารณากรณีการร้องความเป็นธรรมครั้งหลังจากที่อัยการสูงสุดท่านเดิม (ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริภาร) มีคำสั่งให้ยุติการพิจารณาการร้องขอความเป็นธรรมก่อนหน้านั้นไปแล้ว ดังนั้นพนักงานอัยการผู้มีอำนาจพิจารณาดำเนินการสั่งคดีดังกล่าวได้อีกก็แต่เฉพาะอัยการสูงสุดเท่านั้น รองอัยการสูงสุดที่ได้รับมอบหมายหรือปฏิบัติราชการแทนไม่มีอำนาจสั่งคดีดังกล่าว หากอัยการสูงสุดไม่ได้มีคำสั่งใด คำสั่งฟ้องของอธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้ ก็ยังคงใช้บังคับอยู่เช่นเดิม แต่ถ้าอัยการสูงสุดสั่งให้พิจารณาคำร้องขอความเป็นธรรมอีกครั้งหนึ่ง อัยการสูงสุดก็มีอำนาจสั่งยุติการพิจารณาการร้องขอความเป็นธรรมหรือสั่งสอบสวนเพิ่มเติม หรือกลับคำสั่งฟ้องตามความเห็นเดิมเป็นสั่งไม่ฟ้องก็ได้ตามดุลพินิจที่เห็นว่าถูกต้องเหมาะสมและสอดคล้องกับพยานหลักฐานในสำนวน
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา อนึ่ง เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญและมีผลต่อความเชื่อถือศรัทธาที่ประชาชนมีต่อองค์กรอัยการ จึงใคร่ขอนำความเห็นของข้าพเจ้าตามบันทึกนี้เผยแพร่ทางสื่อต่างๆ ให้ประชาชนได้รับทราบด้วย”