คณะทำงานอัยการ ตอบข้อสงสัยสังคม คดีทายาทกระทิงแดง พบตัวแปรสำคัญ ทั้งพยานใหม่ หลักฐานความเร็วใหม่ นำไปสู่การสั่งฟ้องในข้อหาใหม่ ย้ำ “ไม่ได้รื้อคดี เพราะคดียังไม่สิ้นสุด”!
ตัวแปรสำคัญ “หลักฐานความเร็วใหม่”
เป็นอีกหนึ่งเรื่องราวที่คนในสังคมกำลังให้ความสนใจ และสะเทือนกระบวนการยุติธรรมของไทยอยู่ขณะนี้ สำหรับคดีของ “วรยุทธ อยู่วิทยา” หรือ “บอส” ทายาทกระทิงแดง ที่ขับรถหรูชน ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ ตำรวจ สน.ทองหล่อ เสียชีวิต เมื่อปี 55
หลังจากที่สังคมตั้งคำถามถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้นมากมาย ล่าสุด คณะทำงานอัยการผู้ตรวจสอบคดีดังกล่าว ตั้งโต๊ะแถลงผลการตรวจสอบข้อเท็จจริง ในกรณีไม่สั่งฟ้องทายาทตระกูลดัง จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมเป็นวงกว้าง ถึงการทำหน้าที่ของ เนตร นาคสุข รองอัยการสูงสุด
อีกทั้งข้อสงสัยถึงประเด็นความเร็วของรถหรูในวันเกิดเหตุ เนื่องจากมีพยานหลายปากที่ให้การไม่ตรงกัน โดยหนึ่งในพยานคดีนี้ คือ พล.อ.ท.จักรกฤช ถนอมกุลบุตร ที่ให้การว่า รถหรูคันดังกล่าวน่าจะขับมาไม่เกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยสาเหตุที่ออกมาให้ข้อมูลหลังเกิดเหตุไปแล้วถึง 3 ปีนั้น เป็นเพราะรักและสงสารทายาทกระทิงแดงเหมือนลูกหลาน
และเมื่อปลายปี 62 ก็ปรากฏพยานใหม่ที่เข้ามาพลิกเหตุการณ์ หลังคดีผ่านไปแล้ว 7 ปี นั่นก็คือ จารุชาติ มาดทอง ที่ปัจจุบันประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตในเวลาไล่เลี่ยกันกับที่คดีถูกนำมาพิจารณาอีกครั้ง ซึ่งก็ให้ข้อมูลในครั้งนั้น ว่า ตนเองเห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยรถหรูของบอส ใช้ความเร็วเพียงแค่ 50-60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
ส่วนคำถามที่ว่า เพราะเหตุใด จารุชาติ เพิ่งจะมาให้ปากคำเพิ่มเติมในภายหลัง ก็ได้คำตอบว่า ก่อนหน้านี้ เขาเดินทางไปทำงานยังต่างประเทศอยู่หลายปี จึงไม่สามารถเข้ามาให้ข้อมูลเพิ่มเติมกับทางเจ้าหน้าที่ได้
แต่ล่าสุด มีพยานสำคัญอีก 1 ปาก ที่มีข้อมูลขัดแย้งกับพยานข้างต้น คือ ดร.สธน วิจารณ์วรรณลักษณ์ อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ออกมาเปิดเผยว่า ตนทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาด้านวิชาการให้กับกองพิสูจน์หลักฐานกลาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
โดยคดีที่เกิดขึ้นเมื่อปี 55 นั้น ได้รับการประสานงานจาก พ.ต.ท.ธนสิทธิ แตงจั่น ให้ไปร่วมตรวจสอบที่เกิดเหตุ และดูกล้องวงจรปิด วัตถุพยานที่บันทึกภาพรถเฟอร์รารี พร้อมกับคิดคำนวณความเร็วของรถที่แล่นไปขณะเกิดเหตุ ซึ่งเขาได้ทำรายงานการคิดคำนวณ ส่งให้กับกองพิสูจน์หลักฐานเพื่อใช้ประกอบคดี โดยยืนยันว่า ขณะเกิดเหตุรถของผู้ต้องหาที่ 1 แล่นไปด้วยความเร็วประมาณ 170 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
ทว่า…ข้อเท็จจริงดังกล่าวของ ดร.สธน กลับไม่ปรากฏในสำนวนการสอบสวน?!
และนี่จึงกลายเป็นพยานหลักฐานสำคัญชิ้นใหม่ ที่สอดคล้องกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา147 ที่บัญญัติไว้ว่า เมื่อมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีแล้ว ยังห้ามมิให้มีการสอบสวนเกี่ยวกับบุคคลนั้นในเรื่องเดียวกันอีก เว้นแต่จะได้พยานหลักฐานใหม่อันสำคัญแก่คดี ซึ่งน่าจะทำให้ศาลลงโทษผู้ต้องหานั้นได้
ทั้งนี้ คณะทำงานของสำนักงานอัยการสูงสุด ย้ำว่า ไม่ได้เป็นการรื้อคดี เนื่องจากคดียังไม่สิ้นสุด เพราะมีพยานหลักฐานใหม่เพิ่มเข้ามา และจะดำเนินการคดีนี้เพื่อทำความจริงให้ปรากฏต่อไป
เพิ่มอีกข้อหา “เสพโคเคน”
สำหรับการตั้งคำถามจากสังคมถึงการทำหน้าที่ไม่สั่งฟ้องของรองอัยการสูงสุดนั้น ทางด้านของ ประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยว่า “คณะทำงานพิจารณาข้อเท็จจริงแล้ว มีความเห็นว่า เนตร นาคสุข ได้มีความเห็นและคำสั่งคดีนี้ไปตามพยานหลักฐานที่พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนและสอบสวนเพิ่มเติม ซึ่งปรากฏอยู่ในสำนวน ไม่ได้สั่งคดีไปตามอำเภอใจ รวมทั้งมีเหตุผลประกอบตามสมควร”
การแถลงข้อเท็จจริงของคณะทำงานอัยการนั้น ยังมีประเด็นที่น่าสนใจอีกเรื่องหนึ่ง นั่นก็คือ “โคเคน” จากกรณีข้างต้นที่แม้จะมีคำสั่งเสร็จเด็ดขาดไม่ฟ้อง ในข้อหาขับรถโดยประมาทเฉี่ยวชนผู้อื่นถึงแก่ความตายแล้ว แต่เมื่อคดียังไม่ถึงที่สุด และมีพยานหลักฐานใหม่ที่สำคัญ ก็จะเป็นอีกตัวแปรสำคัญที่มาพลิกคดีและนำไปสู่สอบสวนต่อไปได้
โดยในวันเกิดเหตุนั้น คณะทำงานตรวจพบว่า ในสำนวนสอบสวนมีการตรวจเลือดของทายาทกระทิงแดง และพบสารประเภท Cocaine (โคเคน) ในเลือด แต่ทางด้านของพนักงานสอบสวน ยังไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหาในข้อหาเสพยาเสพติดให้โทษประเภท 2 Cocaine (โคเคน) ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 58 ประกอบกับมาตรา 91 ซึ่งมีอัตราโทษจำคุก 6 เดือน ถึง 3 ปี (อายุความตามกฎหมาย 10 ปี) จึงสั่งให้มีการดำเนินคดีนี้เพิ่มเข้ามา
นอกจากนี้ จากการสืบค้นเพิ่มเติมยังพบข้อมูลที่น่าสนใจในมิติอื่นอีกว่า ดร.สายประสิทธิ์ เกิดนิยม อาจารย์ประจำ และหัวหน้าศูนย์วิจัยเฉพาะทางวิศวกรรมการประเมินและความปลอดภัยยานยนต์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ผู้ตรวจสอบความเร็วของรถเฟอร์รารีในวันเกิดเหตุ ที่คำนวณได้ว่ามีความเร็วประมาณ 76.175 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และเป็นพยานหลักฐานสำคัญที่อัยการใช้อ้างสั่งไม่ฟ้องคดีก่อนหน้านี้
จากข้อมูลบนเว็บไซต์สภาวิศวกร พบว่า ใบอนุญาตวิศวกรของเขาหมดอายุตั้งแต่ปี 2559 แต่ยังทำงานวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม ในการตรวจสอบและให้ความเห็นต่อสาธารณะ จึงเป็นไปได้ที่ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยยานยนต์ ผู้นี้ อาจเข้าข่ายมีความผิดและอาจถูกลงดาบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
จากพยานหลักฐานเพิ่มเติมและข้อหาใหม่ที่เกิดขึ้น อาจเป็นกุญแจสำคัญที่จะนำไปสู่การพาตัวทายาทตระกูลดัง กลับเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายได้อีกครั้ง และนำความน่าเชื่อถือกลับมาสู่กระบวนการยุติธรรมของไทยก็เป็นได้ หรือไม่งานนี้ อาจมีผู้ถูกดำเนินคดีมากกว่า 1 ราย
ท้ายที่สุดแล้ว มหากาพย์เรื่องนี้จะจบลงอย่างไร คงต้องติดตามกันต่อไป …
ข่าวโดย : ทีมข่าว MGR Live
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **