พบ “ดร.สายประสิทธิ์ เกิดนิยม” เจ้าของสูตรคำนวณความเร็วรถหรูเฟอร์รารี“บอส อยู่วิทยา” ทายาทกระทิงแดงชนตำรวจตาย ใบอนุญาตวิศวกรหมดอายุตั้งแต่ปี 2559 แต่ยังไปตรวจสอบให้ความเห็นต่อสาธารณะ
วันนี้ (3 ส.ค.) จากกรณีที่ ดร.สายประสิทธิ์ เกิดนิยม อาจารย์ประจำ และหัวหน้าศูนย์วิจัยเฉพาะทางวิศวกรรมการประเมินและความปลอดภัยยานยนต์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ออกมาระบุว่า ผลการตรวจสอบความเร็วของรถเฟอร์รารีที่นายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือบอส ทายาทกระทิงแดง ขับรถยนต์ชน ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ เสียชีวิตเมื่อปี 2555 ว่าความเร็วประมาณ 76.175 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยใช้หลักการตรวจสอบทางวิศวกรรมศาสตร์ว่าด้วยการประเมินและความปลอดภัยทางถนน และหลักการการย้อนรอยอุบัติเหตุ เป็นหลักฐานสำคัญที่อัยการใช้สั่งไม่ฟ้องคดีขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย สร้างความคลางแคลงใจให้แก่สังคม ตามที่ได้นำเสนอข่าวไปแล้วนั้น
อ่านประกอบ : เปิดประวัติ “ดร.สายประสิทธิ์ เกิดนิยม” ผู้ตรวจสอบความเร็วเฟอร์รารี วิ่ง 70 กิโลเมตร/ชั่วโมง ของ “บอส อยู่วิทยา”
ผู้สื่อข่าวตรวจสอบไปยังเว็บไซต์สภาวิศวกร พบว่า นายสายประสิทธิ์ เป็นสมาชิกสามัญของสภาวิศวกร เลขที่สมาชิก 54877 เลขที่ใบอนุญาต ภก.8787 ระดับภาคีวิศวกร สาขาเครื่องกล วันที่ได้รับครั้งแรก 25 ธันวาคม 2535 วันที่เริ่มใช้ 18 ธันวาคม 2554 วันที่หมดอายุ 17 ธันวาคม 2559 สถานภาพใบอนุญาต “ไม่มี” (กรณีต่ออายุแล้วจะขึ้นสถานภาพใบอนุญาต “ปกติ”) ซึ่งกรณีสมาชิกภาพขาดต่ออายุจะส่งผลให้ใบอนุญาตของผู้นั้นสิ้นสุดลงทันที ตามมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติวิศวกร พ.ศ. 2542
เป็นที่น่าสังเกตว่า ดร.สายประสิทธิ์อาจเข้าข่ายประพฤติผิดจรรยาบรรณวิศวกร เพราะใบอนุญาตหมดอายุตั้งแต่ปี 2559 แล้วไม่ได้ไปต่ออายุ แต่ยังไปทำงานวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม ในการตรวจสอบให้ความเห็นต่อสาธารณะ จึงต้องดูท่าทีของสภาวิศวกรว่าเมื่อทราบเรื่องนี้แล้วจะทำการสอบสวนการปฏิบัติงานของ ดร.สายประสิทธิ์ ในฐานะวิศวกรว่าเข้าข่ายกระทำผิดข้อบังคับจรรยาบรรณว่าด้วยการปฏิบัติงานเป็นไปตามมาตรฐานวิชาชีพวิศวกรรมหรือไม่อย่างไรต่อไป เพราะมีโทษทั้งจำคุกและปรับ
อนึ่ง ตามกฎกระทรวง กำหนดสาขาวิชาชีพวิศวกรรมและวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม พ.ศ. 2550 ในข้อ 3 งานในวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมแต่ละสาขา หนึ่งในนั้นคือ (5) งานพิจารณาตรวจสอบ หมายถึง การค้นคว้า การวิเคราะห์ การทดสอบ การหาข้อมูลและสถิติต่างๆ เพื่อใช้เป็นหลักเกณฑ์ หรือประกอบการตรวจสอบวินิจฉัยงาน หรือในการสอบทาน