ดูประวัติการศึกษาและการทำงานของ “ดร.สายประสิทธิ์” ผู้ที่คำนวณความความเร็ว “เฟอร์รารี” ของ “บอส อยู่วิทยา” ก่อนชน"ดาบวิเชียร"ได้แค่ 76 กม./ชม. และเป็นพยานหลักฐานสำคัญที่อัยการใช้อ้างสั่งไม่ฟ้องคดี
จากกรณี ดร.สายประสิทธิ์ เกิดนิยม อาจารย์ประจำ และหัวหน้าศูนย์วิจัยเฉพาะทางวิศวกรรมการประเมินและความปลอดภัยยานยนต์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการตอบโจทย์ ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ถึงรายงานการตรวจสอบที่เคยให้ไว้ต่อคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การยุติธรรมและตำรวจ วุฒิสภา ต่อประเด็นการเกิดอุบัติเหตุในคดีที่นายวรยุทธ อยู่วิทยา ขับรถยนต์ชน ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ จนเสียชีวิต เมื่อปี 2555 ว่าทางสถาบันได้รับหนังสือจาก กมธ., สนช. ให้ส่งนักวิชาการเข้าให้ข้อมูลต่อ กมธ. ซึ่งทางสถาบันได้มอบหมายให้ตนในฐานะหัวหน้าภาควิชาเข้าไปให้ข้อมูลตามที่ กมธ.ร้องขอมา โดยไม่ทราบมาก่อนว่าการตรวจสอบของ กมธ.นั้นได้รับเรื่องมาจากทนายความของตระกูลอยู่วิทยา คือ นายธนิต บัวเขียว ตนยืนยันว่าผลการตรวจสอบความเร็วของรถเฟอร์รารีในวันเกิดเหตุมีความเร็วประมาณ 76.175 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยใช้หลักการตรวจสอบทางวิศวกรรมศาสตร์ว่าด้วยการประเมินและความปลอดภัยทางถนน และหลักการการย้อนรอยอุบัติเหตุ
ขณะที่ ดร.สธน วิจารณ์วรรณลักษณ์ อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แจงวิธีคำนวณความเร็วรถ “บอส อยู่วิทยา” ก่อนชน “ดาบวิเชียร” วัดระยะทางจากสถานที่จริง หารด้วยเวลาที่คิดจากเฟรมภาพวงจรปิด ยืนยันความเร็วที่ 177 กม./ชม. บวกลบ 17 สอดคล้องกองพิสูจน์หลักฐานที่ตอนนั้นคำนวณได้ 174 กม./ชม. ย้ำสูตรคำนวณความเร็วมีสูตรเดียว อาจต่างกันที่การวัดระยะทาง แต่แค่คำนวณหยาบๆ ก็ไม่ต่ำกว่า 100 กม./ชม. จนกลายเป็นที่ถกเถียงในโลกออนไลน์
สำหรับ นายสายประสิทธิ์ เกิดนิยม เป็นผู้เชี่ยวขาญด้านออกแบบและการผลิต, ยานยนต์
ระดับการศึกษา - จบการศึกษาระดับปริญญาตรี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ปี 2534 สาขา Mechanical Engineering ด้วยเกียรตินิยมอันดับสอง
ปริญญาโท ที่ Leeds university, England ปี 2539 สาขา Automotive Engineering
ปริญญาเอก ที่ Leeds university, England ปี 2544 สาขา Mechanical Engineering
ด้านการทำงาน
ปี 2546 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
ปี 2534 วิศวกรโรงงาน ฝ่ายซ่อมบำรุง บริษัท นวโลหะไทย จำกัด เครือซิเมนต์ไทย
ปี 2536-2552 อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล สถาบันเทคโนโลยีพระนครเหนือ
ปี 2552 ผู้ประสานงานหลักสูตรวิศวกรรมยานยนต์ ระดับปริญญาโท บัณฑิตวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์นานาชาติสิริธรไทย-เยอรมัน ภาควิชาวิศวรรมยานยนต์ (The Sirindhorn International Thai-German Graduate School of Engineering (TGGS))
ปี 2556-2559 หัวหน้าภาควิชาบัณฑิตวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์นานาชาติสิรินธรไทย-เยอรมัน
ปี 2556-2561 Technical Committee, Asean NCAP
ปี 2559 - 2561 หัวหน้าศูนย์วิจัยวิศวกรรมการประเมินและความปลอดภัยยานยนต์ (Automotive Safety and Assessment Engineering Research Center, ASAE-RC)
ปี 2552 รองศาสตราจารย์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ