อาจารย์ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ แจงวิธีคำนวณความเร็วรถ “บอส อยู่วิทยา” ก่อนชน “ดาบวิเชียร” วัดระยะทางจากสถานที่จริง หารด้วยเวลาที่คิดจากเฟรมภาพวงจรปิด ยืนยันความเร็วที่ 177 กม./ชม. บวกลบ 17 สอดคล้องกองพิสูจน์หลักฐานที่ตอนนั้นคำนวณได้ 174 กม./ชม. ย้ำสูตรคำนวณความเร็วมีสูตรเดียว อาจต่างกันที่การวัดระยะทาง แต่แค่คำนวณหยาบๆ ก็ไม่ต่ำกว่า 100 กม./ชม.
วันนี้ (29 ก.ค.) ดร.สธน วิจารณ์วรรณลักษณ์ อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในรายการโหนกระแส ทางช่อง 33 ดำเนินรายการโดย “หนุ่ม” กรรชัย กำเนิดพลอย เกี่ยวกับความเร็วรถเฟอร์รารีของนายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือ บอส ทายาทเจ้าของธุรกิจเครื่องดื่มกระทิงแดง ที่ขับชน ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ ผู้บังคับหมู่งานปราบปราม สน.ทองหล่อ เสียชีวิต เมื่อปี 2555 ว่า หลังเกิดเหตุ ตนได้รับเชิญในฐานะนักวิชาการให้ไปดูที่เกิดเหตุและดูภาพวงจรปิด จะเห็นว่าหลังรถจักรยานยนต์ มีรถอีกสองคัน มีรถกระบะ 1 คัน รถเก๋ง 1 คัน หลังจากนั้น ก็มีรถวิ่งมาด้านเลนขวาสุดด้วยความเร็ว โดยโจทย์ของเราคือ การหาความเร็วรถจากภาพวงจรปิดดังกล่าว เพราะเราไม่สามารถหาอย่างอื่นได้
ดร.สธน กล่าวว่า หลักการวัดความเร็วคือ ต้องหาระยะห่างจุดเคลื่อนที่หารด้วยเวลา เวลาเป็นโจทย์ที่ง่ายกว่า เนื่องจากว่ากล้องวงจรปิดมีเวลาอยู่ที่มุมข้างบนจะเห็นเลย 34.15 16 และ 17 ถ้าสังเกตคือ สังเกตว่าตอนเข้ามา 17 พ้นไปยังไม่ 18 หลังจากนั้นต้องหาระยะห่างด้วย โดยให้ ตร.พิสูจน์หลักฐานท่านหนึ่งไปยืนตรงต้นไม้สองต้น ต้นใหญ่กับต้นเล็ก ต้นเล็กนำแนวสายตาไปที่จุดที่รถเข้ามาพอดี และให้ ตร.ท่านหนึ่งไปยืนริมเกาะกลางถนน ด้านที่อยู่ตรงกับต้นไม้พอดีในแนวสายตาเดียวกัน อีกคนยืนตรงมุมกรอบด้านซ้ายมือของภาพ ติดอยู่กับกรอบเลย แล้วเอาสายวัดไปวัดความยาวตามแนวเส้นเกาะข้างเกาะกลางถนน ระยะทางได้ 31 เมตร ก็เอาตัวเลขนี้เป็นตัวหลัก เนื่องจากระยะทางรถเข้ามาถึงภาพ ก่อนพ้นภาพบวกลบนิดหน่อยไว้ประมาณ 2 เมตร ระยะทางที่รถวิ่งได้คือ 31 เมตร
ส่วนภาพวงจรปิด ถูกบันทึกในอัตรา 25 เฟรมต่อวินาที ซึ่งต้องนับทีละเฟรม โดยเอากล้องเข้าโปรแกรม แล้วจะแยกเป็นเฟรมๆ ออกมา เพื่อคำนวณเวลาที่รถวิ่ง ถ้าเทียบตั้งแต่วันแรกที่ทำ เรารู้นิดหน่อยแล้วว่าระยะทาง 31 เมตร ใช้เวลาไม่ถึง 1 วินาที ตัวนี้คือ 108 กิโลเมตรต่อ ชม. ถ้าคำนวณหยาบๆ จากวันแรกที่ดู เพราะฉะนั้นตอบได้ทันทีว่าถึงอย่างไรความเร็วเกิน 100 แน่นอน แต่เมื่อคำนวณโดยละเอียด ก็พบว่าระยะทาง 31 เมตรนั้น ใช้เวลา 0.63 วินาที ได้อัตราความเร็วออกมาเป็น 49 เมตรต่อวินาที หรือ 177 กิโลเมตรต่อ ชม. โดยได้เผื่อความคลาดเคลื่อนไว้ว่าอาจเลือกเฟรมภาพผิดอย่างน้อย 2 เฟรม หรือ 0.08 วินาที คำนวณออกมาเป็นบวกลบ 17 เพราะฉะนั้นความเร็วรถจึงอยู่ในช่วง 160-184 กิโลเมตรต่อ ชม.
ดร.สธน กล่าวอีกว่า หลังจากคำนวณความเร็วแล้ว ก็ทำบันทึกส่วนตัวเสนอเข้าไป ซึ่งตอนนั้นก็สอดคล้องกันกับของกองพิสูจน์หลักฐานที่คำนวณได้ 174 กิโลเมตรต่อ ชม. เมื่อออกรายงานก็ออกในนามพิสูจน์หลักฐาน หลังจากนั้น ก็ส่งไปกระบวนการต่อไป ตนก็ไม่ทราบแล้ว เพราะส่วนของตนจบตรงนี้
ส่วนที่มีการคำนวณใหม่พบว่า ความเร็วแค่ 70 กว่าๆ แสดงว่า การคำนวณมีหลายสูตรหรือไม่นั้น ดร.สุธน ยืนยันว่า สูตรคำนวณความเร็วมีสูตรเดียว คือ ระยะทางหารด้วยเวลา แต่การได้มาซึ่งระยะทางและเวลาอาจแตกต่างกัน ตนใช้การวัดจริง แล้วพยายามวัดให้ระยะทางมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ยิ่งมากเท่าไหร่ยิ่งได้ความแม่นยำที่มากขึ้น โดยใช้การวัดจริงจากตัวถนน แต่วิธีอื่นอาจได้ระยะทางอื่นมา ด้วยวิธีใดๆ ก็ตาม ตนก็ไม่ทราบ แต่เวลาน่าจะไม่มีปัญหา เพราะเวลาถูกล็อกไว้ด้วยกล้องวงจรปิด