xs
xsm
sm
md
lg

5D เพื่อการปฏิรูปตำรวจไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: อาจารย์ ดร. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์


อาจารย์ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
สาขาวิชา Business Analytics and Intelligence
สาขาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์


ผ่านมาสองปีแล้ว คสช. ก็ยังไม่ได้ขยับเรื่องที่มวลมหาประชาชนและแม้กระทั่งพี่น้อง นปช. เสื้อแดง เองก็คาดหวังว่าจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลง นั่นคือ การปฏิรูปตำรวจไทย ผมว่าเรื่องความไร้ประสิทธิภาพ ฉ้อฉล และเลวร้ายของตำรวจไทย เป็นเรื่องที่ทุกคนยอมรับกันทุกฝ่ายการเมือง โดยไม่มีสีแต่อย่างใด ตำรวจนั้นเป็นต้นน้ำลำธารของกระบวนการยุติธรรม ถ้าหากต้นน้ำเน่าเหม็นเสียแล้ว กลางน้ำและปลายน้ำ ย่อมไม่มีวันดีได้ วันนี้จึงขอนำเสนอแนวความคิด 5D ในการปฏิรูปตำรวจไทย

D แรก คือ Division ต้องมีการแบ่งแยกหน่วยงานออกจากกันให้เกิดการตรวจสอบและถ่วงดุล (Check and balance) ที่นิวยอร์กซิตี้ ผมแค่ปั่นจักรยานบนทางเท้า โดน NYPD ขับรถตำรวจไล่ตามเปิดหวอ ลงมาเอาคอมพิวเตอร์เขียนใบสั่งปรับ 50 เหรียญ ผมหยิบเงินยื่นให้ตามที่เคยทำในเมืองไทยเป็นค่าปรับ ตำรวจ NYPD โกรธมากเอามือปัดตบมือผมอย่างแรงจนเงินร่วงแล้วด่าอย่างแรงว่าผมกำลังจะพยายามให้สินบนเจ้าหน้าที่ตำรวจ ผมต้องถือใบสั่งไปยืนรอหน้าศาลท่ามกลางอุณหภูมิติดลบหนาวเหน็บหลายชั่วโมงจนแทบจะเป็นไข้ เจ้าหน้าที่ศาลท่านกรุณาบอกว่าเป็นความผิดครั้งแรกและเป็นลหุโทษ ทั้งเห็นว่ายังเป็นกะเหรี่ยงไทยแลนด์มาอยู่ยังไม่ถึงเดือน ข้อนี้ทำให้ผมออกจะพึงพอใจมาก เพราะการแยกอำนาจในการเปรียบเทียบปรับกับสอบสวนออกมานี้ทำให้เกิดการตรวจสอบถ่วงดุล ตำรวจจับกุมได้ แต่จะปรับเงินหรือสอบสวนไปอยู่อีกหน่วยงาน ตำรวจไทยนั้นทำได้ตั้งแต่ สืบสวน ป้องกัน ปราบปราม จับกุม สอบสวน ยันไปถึงเปรียบเทียบปรับและฝากขัง ในขณะที่สหรัฐอเมริกาทำเช่นนั้นไม่ได้ ผมเห็นด้วยว่าต้องแบ่งแยกอำนาจตำรวจไทยไม่ให้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด เวลาเราทำงานบริษัทเขายังต้องแยก บัญชี จัดซื้อ พัสดุ การเงิน ออกจากกันให้เป็นคนละคน ไม่เช่นนั้น ก็ทำเรื่องจัดซื้อจัดจ้างเอง จ่ายเงินเอง ลงบัญชีเอง จัดเก็บของที่ซื้อมาเองทั้งหมด ไม่เกิดการ check and balance ทำให้เกิดความฉ้อฉลได้ง่าย

อย่างน้อยผมคิดว่างานสอบสวนทำสำนวนคดี ต้องแยกออกมาเป็นเอกเทศ และตำรวจต้องเปรียบเทียบปรับไม่ได้เลย งานพวกนี้เป็นการลงโทษเรียกว่าเป็น Correction ดังนั้นควรไปอยู่กรมราชฑัณฑ์ก็ได้ หรือ ศาลก็ได้ แต่ไม่ควรอยู่กับตำรวจเพราะจะเกิดการชงเองกินเอง ทำให้ประชาชนถูกรังแกได้ง่าย

Decentralization การกระจายอำนาจลงพื้นที่ เราพูดกันมาหลายครั้งว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติมีขนาดใหญ่เกินไปและรวมศูนย์มากเกินไป ในต่างประเทศนั้น ตำรวจขึ้นอยู่กับท้องถิ่นหรืออปท อย่าง NYPD นั้นก็ขึ้นอยู่กับนายกเทศมนตรีนครนิวยอร์ก ไม่ได้มีสำนักงานตำรวจแห่งชาติเหมือนประเทศไทย เรื่องนี้ก็พูดกันเสนอกันมาหลายยุคหลายสมัย แต่ก็ไม่เคยเกิดขึ้นได้เสียที วันหนึ่งตอนที่ผมอยู่อเมริกา หัวหน้าตำรวจเบอร์หนึ่งของเมืองใหญ่ทาง East Coast เกิดไปเมาแล้วขับในอีกเมืองที่ตัวเองไม่ได้ใหญ่ ตำรวจเล็กๆ นั้นจับกุมหัวหน้าตำรวจเบอร์หนึ่งของเมืองใหญ่ และกลายเป็นข่าวโด่งดังเพราะเจ้าหน้าที่ตัวใหญ่ทำเสียเอง เมื่อเป็นข่าวมา หัวหน้าตำรวจเบอร์หนึ่งคนนั้นก็ถูกจับกุม ตำรวจไทยนั้นแต่ละพื้นที่ ผู้ว่าราชการจังหวัดก็บังคับบัญชาอะไรไม่ได้เลย แต่ถ้าจะโยกตำรวจทั้งหมดลงไปท้องถิ่นก็คงจะลำบากเนื่องจากการปกครองส่วนท้องถิ่นเรายังไม่เข้มแข็งพอ ถ้าหากจังหวัดใดพร้อมแล้วก็ควรจะทำ เช่น จังหวัดที่มีศักยภาพทางการเงินสูงเป็นจังหวัดจัดการตนเองได้ อย่างน้อยการกระจายอำนาจลงไปเป็น สำนักงานตำรวจประจำเขตต่างๆ แล้วยกฐานะขึ้นเป็นกรมให้หมด เท่ากับจะมีสำนักงานตำรวจแห่งชาติเพิ่มขึ้นเป็นหลายสิบเขต มีตำรวจได้เลื่อนยศเป็นอธิบดีเพิ่มขึ้นอีกมหาศาล แต่น่าแปลกใจที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติกลับไม่เห็นประโยชน์ของการกระจายอำนาจ

Downsizing การลดขนาดสำนักงานตำรวจแห่งชาติลง ทุกวันนี้ สตช. มีงานที่ไม่ใช่ภารกิจหลักที่ตัวเองเชี่ยวชาญมากมายเหลือเกิน และจริงๆ หน่วยงานที่ต้องดูแลเป็นเจ้าภาพก็มีอยู่แล้ว ทำไมไม่ดูแลเองเพราะจะทำได้ดีกว่า ในสหรัฐอเมริกาหากบอกว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติประกอบด้วย FBI, park ranger, coastal guard, city police และอื่นๆ อีกมาก คนอเมริกันคงงงว่าทำไมตำรวจถึงมีอำนาจอิทธิพลและเป็นหน่วยงานที่ใหญ่โตมากมายขนาดนี้

ตำรวจที่ดูแลคดีอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ คอมพิวเตอร์ ตำรวจท่องเที่ยว ตำรวจน้ำ ตำรวจป่าไม้ ตำรวจรถไฟ ทำไมไม่โอนไปอยู่กับกระทรวงการคลัง การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กระทรวง ICT หรือ Digital กรมทรัพยากรชายฝั่งทะเล การรถไฟแห่งประเทศไทย กรมป่าไม้และกรมอุทยานแห่งชาติ หน่วยงานเหล่านี้มีความรู้ความชำนาญและมีความรู้ด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องและต้องทำหน้าที่บังคับใช้กฎหมายเหล่านั้นอยู่แล้ว การโอนให้หน่วยงานที่ต้องทำงานด้วยกันโดยตรงได้ทำหน้าที่และควบคุมดูแลการปฏิบัติหน้าที่โดยตรงจะลดขั้นตอนในการทำงาน ทำให้การประสานงานดีขึ้น ทุกวันนี้ ผู้ว่าการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยก็สั่งอะไรตำรวจท่องเที่ยวไม่ได้ ตัวอย่างที่ได้มีการลดขนาดและแยกออกไปบ้างแล้วได้แก่ ตำรวจดับเพลิง ในกรุงเทพมหานคร ซึ่งย้ายมาสังกัดกับ กทม ทั้งหมด ต้องยอมรับว่าอุปกรณ์และรถดับเพลิงมีความทันสมัยมากขึ้น ทำงานได้คล่องตัวมากขึ้น ส่วนเรื่องคดีรถดับเพลิงนั้นเราจะเว้นไว้ในฐานที่เข้าใจตรงนี้

Debureaucratization การทำให้ไม่เป็นกองทัพ ไม่เป็นราชการ ตำรวจไม่จำเป็นต้องมียศ ตำรวจไม่ควรต้องเป็นกองทัพที่ 4 เพลงสามัคคีสี่เหล่าทัพนั้นไม่ใช่สิ่งที่จำเป็น งานตำรวจนั้นแท้จริงเป็นงานพลเรือนมากกว่าการทหาร แต่สำนักงานตำรวจไทยไปนำระบบทหารมา ลอกเลียนแบบทหารมากระทั่งโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ถอดแบบมาจากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ประเทศที่เขาพัฒนาแล้วแทบทั้งโลกเขาไม่มี police cadet อย่างประเทศไทย ที่กองทัพตำรวจนั้นเกรียงไกรและยิ่งใหญ่สมัยที่มีคำขวัญว่า ภายใต้ดวงอาทิตย์นี้ ไม่มีสิ่งใดที่ตำรวจไทยทำไม่ได้ ผลของการติดยศทำให้จ่าแก่ๆ ก็มีอำนาจเหนือประชาชนมากเหลือเกินครับ ตำรวจควรใกล้ชิดประชาชนมากกว่านี้ ลดความเป็นกองทัพตำรวจลงไป และแน่นอนความเป็นรัฐตำรวจที่เคยเกิดขึ้นมาในอดีตไม่ว่าจะสมัยหลายสิบปีก่อนหรือในระบอบทักษิณก็ควรต้องไม่มี

Development ต้องมีการพัฒนาตำรวจ โดยเฉพาะด้านบุคลากร ผมมีเพื่อนเป็นตำรวจในอเมริกา เขาต้องจบปริญญาตรีก่อน หลังจากนั้นต้องผ่านการสอบอย่างเข้มข้น ทั้งสอบภาษา คณิตศาสตร์ ทดสอบความสามารถทางร่างกาย ทดสอบความสามารถทางปัญญาหรือไอคิว ผ่านการสอบอย่างเข้มข้น ไม่ต้องจบโรงเรียนนายร้อยตำรวจแต่อย่างใด หลังจากนั้นก็ต้องมาเรียนวิทยาการตำรวจ ฝึกอบรมอย่างเข้มข้นเช่นกัน คนแย่งกันเป็นตำรวจ เพราะรายได้ดี สวัสดิการดี เพื่อนผมคนนี้บอกว่าทำงานมาจะครบ 20 หรือ 25 ปีแล้ว พออายุ 45 สามารถ retire ได้เลย ไปทำอาชีพอื่นได้เลย บำนาญ การรักษาพยาบาล ได้ครบหมดแล้ว ลาออกได้แล้ว เขารักษาประวัติตัวเองมาก ทำแต่สิ่งที่ถูกต้องเพื่อให้ตัวเองอยู่ในตำแหน่งตำรวจได้จน early retire ได้ ทำงานอย่างสุจริตที่สุด เพราะเป็น career ที่ดีมากสำหรับเขา ตำรวจในต่างประเทศจบปริญญาตรีทุกคนครับผม แสดงว่าเป็นระดับสัญญาบัตรครับ ตำรวจที่เดินถนนในประเทศไทย จบ ระดับเทียบเท่ามัธยมศึกษาปีที่ หก หรือ ระดับ ปวส. เช่น โรงเรียนนายสิบ เป็นส่วนใหญ่ ในขณะที่ภารกิจของตำรวจไทยกว้างไพศาล ดูแลกฎหมายเป็นหลายพันฉบับ การมีอำนาจดูแลและบังคับใช้กฎหมายหลายพันฉบับไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องใช้ความรู้ทั้งทางกฎหมายและเนื้อหาในเรื่องนั้นๆ ของกฎหมายแต่ละฉบับ

ผมเห็นชีวิตข้าราชการตำรวจชั้นผู้น้อยแล้วเห็นใจมาก จะเลื่อนขึ้นมาเป็นสัญญาบัตรก็ไม่ใช่ง่าย ที่เคยได้ยินมาว่าต้องส่งส่วยให้นายยิ่งน่าสงสาร หากไม่กินตามน้ำก็จะอยู่ในระบบได้ลำบาก เราต้องพัฒนาในตำรวจชั้นผู้น้อยได้ลืมตาอ้าปาก มีชีวิตและสวัสดิการที่ดีขึ้น ผู้ดูแลกระบวนการยุติธรรมนั้นปากท้องต้องอยู่ได้ก่อน ขงจื้อบอกว่าต้องให้เงินผู้พิพากษาและผู้ดูแลความยุติธรรมให้สูงพอ ตำรวจเองนั้นก็เป็นผู้ดูแลความยุติธรรมแต่ต้นทางเลย หากไม่มีการพัฒนาเรื่องเหล่านี้ จะเกิดปัญหาได้ นำไปสู่การทุจริตได้ ผมคิดว่าต่อไปน่าจะใช้วิธีการแบบสหรัฐอเมริกา คือ ให้โรงเรียนนายร้อยตำรวจและโรงเรียนนายสิบ ปรับบทบาทมาเป็นผู้ฝึกอบรมอย่างเข้มข้นสำหรับผู้ที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรี เพื่อให้มาเป็นตำรวจ การพัฒนาเช่นนี้มีข้อดีสองอย่าง อย่างแรกคือทำให้ตำรวจมีความรู้มากขึ้น อย่างที่สองคือลดความเป็นระบบราชการ และความเป็นกองทัพของตำรวจลงไป

5D เพื่อการปฏิรูปตำรวจนี้ น่าจะเกิดได้จริง มีเพียงตำรวจระดับบริหารผู้ใหญ่ไม่กี่ท่านที่อาจจะเสียอำนาจไป แต่ตำรวจระดับกลางๆ จะได้เลื่อนตำแหน่งกันมากมาย ระดับประทวนก็จะได้ลืมตาอ้าปากขึ้น ประชาชนก็น่าจะได้รับประโยชน์ขึ้นถ้าทำให้ระบบตำรวจดีขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น