อาจารย์ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและบริหารความเสี่ยง
สาขาวิชา Business Analytics and Intelligence
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
http://as.nida.ac.th/th/
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและบริหารความเสี่ยง
สาขาวิชา Business Analytics and Intelligence
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
http://as.nida.ac.th/th/
ความย้อนแย้งแห่งความยากจนในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา หรือที่รู้จักกันในนามของ Red-Blue Paradox เป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจยิ่ง Red นั้นเป็นสีของพรรค Republican ส่วน Blue นั้นเป็นสีของพรรค Democrat ความย้อนแย้งดังกล่าวนั้นพบว่า คนร่ำรวยมีแนวโน้มจะเลือกพรรค Republican ในขณะที่คนยากจนมีแนวโน้มจะเลือกพรรค Democrat แต่รัฐที่ร่ำรวยมีแนวโน้มจะเลือกพรรค Democrat ในขณะที่รัฐที่ยากจนมีแนวโน้มจะเลือกพรรค Republican เหตุไฉนจึงเกิดความย้อนแย้งเช่นนั้น คนร่ำรวยเลือกพรรค Republican ส่วนรัฐที่ร่ำรวยกลับเลือกพรรค Democrat
ปรากฎการณ์นี้มีผู้สนใจศึกษาเป็นศาสตราจารย์ทางรัฐศาสตร์และสถิติที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบียชื่อ Andrew Gelman และได้เขียนหนังสือชื่อ Red state, blue state, rich state, poor state : Why Americans vote the way they do. ขึ้นมาในปี 2008 และ ขยายเนื้อหาและตีพิมพ์ซ้ำอีกในปี 2010
สำหรับรัฐที่ร่ำรวยมีแนวโน้มจะโหวตให้พรรค Democrat และพรรคที่ยากจนมีแนวโน้มจะโหวตให้พรรค Republican ดังแสดงในภาพด้านซ้ายมือ สำหรับคนร่ำรวยมีแนวโน้มจะโหวตให้พรรค Republican และคนที่ยากจนมีแนวโน้มจะโหวตให้พรรค Democrat
Andrew Gelman ได้วิเคราะห์แยกผลการเลือกตั้งของสหรัฐอเมริกาหรือการวิเคราะห์แยกชั้นภูมิ (Stratified Analysis) โดยสมมุติว่า กรณีที่ (1) ให้คนร่ำรวยเท่านั้นมีสิทธิ์ในการเลือกตั้ง กรณีที่ (2) ให้คนที่มีฐานะปานกลางเท่านั้นที่มีสิทธิ์ในการเลือกตั้ง และ กรณีที่ (3) ให้คนยากจนเท่านั้นที่มีสิทธิ์ในการเลือกตั้ง
สำหรับกรณีที่ (1) ให้คนร่ำรวยเท่านั้นมีสิทธิ์ในการเลือกตั้ง จะพบว่ามีเพียงรัฐทางฝั่ง West Coast เช่น California และรัฐทางฝั่ง East Coast เพียงสามรัฐคือ New York, Connecticut, และ Massachusetts เท่านั้นที่พรรค Democrat ชนะเลือกตั้ง โดยที่ประธานาธิบดี George Bush Junior จาก Republican จะชนะการเลือกตั้งแทบทั้งสหรัฐอเมริกา ดังแผนที่ที่มีแต่สีแดงทางด้านซ้ายข้างล่างนี้ ในขณะที่ค่าสหสัมพันธ์ระหว่างสัดส่วนการโหวตให้ George Bush Junior กับ รายได้เฉลี่ยประชาชนในแต่ละรัฐ แสดงในผังภาพการกระจาย (Scatter Plot) ในด้านขวากลับพบค่าสหสัมพันธ์ติดลบมากๆ
สำหรับกรณีที่ (2) ให้คนที่มีฐานะปานกลางเท่านั้นมีสิทธิ์ในการเลือกตั้ง จะพบว่ามีรัฐบางรัฐที่พรรค Democrat ได้รับชัยชนะเพิ่มเติม ในฝั่ง West Coast คือ รัฐ Oregon และ Washington ใน Midwest คือรัฐ Minnesota รัฐ Illinois รัฐ Wisconsin และรัฐ Michigan ในฝั่ง East Coast คือ รัฐ Pennsylvania รัฐ Maryland รัฐ Delaware รัฐ New Jersey และรัฐในกลุ่ม New England คือ รัฐ New Hampshire รัฐ Vermont รัฐ Rhode Island และรัฐ Maine ดังแผนที่ที่มีสีฟ้าเพิ่มขึ้นทางด้านซ้ายข้างล่างนี้ ในขณะที่ค่าสหสัมพันธ์ระหว่างสัดส่วนการโหวตให้ George Bush Junior กับ รายได้เฉลี่ยประชาชนในแต่ละรัฐ แสดงในผังภาพการกระจาย (Scatter Plot) ในด้านขวากลับพบค่าสหสัมพันธ์ติดลบพอสมควร แต่ค่าสหสัมพันธ์ดังกล่าวไม่ได้ติดลบมากเท่ากับเมื่อให้เฉพาะคนร่ำรวยมีสิทธิ์เลือกตั้ง
สำหรับกรณีที่ (3) ให้คนยากจนเท่านั้นมีสิทธิ์ในการเลือกตั้ง จะพบว่าในแผนที่แทบจะระบายด้วยสีฟ้าทั้งหมดหรือพรรค Democrat จะชนะถล่มทลาย ในขณะที่ค่าสหสัมพันธ์ระหว่างสัดส่วนการโหวตให้ George Bush Junior แสดงในผังภาพการกระจาย (Scatter Plot) ในด้านขวากลับพบค่าสหสัมพันธ์ระหว่าง % Vote for Bush กับ รายได้เฉลี่ยประชาชนในแต่ละรัฐแทบจะไม่ติดลบ
Andy นั้นอธิบายว่า คนร่ำรวยในรัฐร่ำรวยนั้นมีแนวโน้มจะเป็นเสรีนิยม (Liberal) ซึ่งมีแนวโน้มจะเลือกพรรค Democrat ในขณะที่คนร่ำรวยในรัฐที่ยากจนนั้นมีแนวโน้มที่จะเป็นอนุรักษ์นิยม (Conservative) ซึ่งมีแนวโน้มจะเลือกพรรค Republican
สิ่งที่สำคัญคือความแตกต่างหรือความแปรผันระหว่างรายได้ระหว่างรัฐแท้จริงแล้วมีน้อยกว่าภายในรัฐ ที่น่าสนใจมากคือเมื่อปรับผลของค่าครองชีพ (Cost of living) ที่แตกต่างกันระหว่างรัฐออกไปแล้วก็ตาม รายได้เฉลี่ยของรัฐที่รวยที่สุดก็มีค่ามากกว่ารายได้เฉลี่ยของรัฐที่จนที่สุดเพียง 1.5 เท่า (หรือสองเท่าหากไม่ได้ปรับผลของค่าครองชีพที่แตกต่างกันออกไป) ความแตกต่างระหว่างรัฐเรื่องรายได้จึงไม่ใช่ประเด็นสำคัญ แต่ทว่าในแต่ละรัฐนั้นความแตกต่างในเรื่องการออกเสียงเลือกตั้งระหว่างคนร่ำรวยกับคนยากจนยังคงมีอยู่ชัดเจน พูดง่ายๆ คนร่ำรวยที่สุดในแต่ละรัฐมีรายได้มากกว่าคนยากจนที่สุดในแต่ละรัฐเป็นหลายพันหลายหมื่นเท่า แต่รายได้เฉลี่ยของรัฐที่จนที่สุดกับรัฐที่ร่ำรวยที่สุดแตกต่างกันไม่มากนัก
ความแตกต่างหรือความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ภายในแต่ละรัฐนั้นมีมาก โดยเฉพาะในรัฐที่ร่ำรวย ซึ่งมีคนจนมากมายและมีคนร่ำรวยกระจุกตัวเพียงเล็กน้อย ผลดังกล่าวทำให้เมื่อวิเคราะห์แยกให้เฉพาะคนร่ำรวยมีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งจึงทำให้เฉพาะรัฐ California, New York, Connecticut, และ Massachusetts ซึ่งเป็นรัฐที่ร่ำรวยชนะการเลือกตั้ง เนื่องจากคนร่ำรวยในรัฐที่ร่ำรวยมีแนวโน้มจะเป็น Liberal มากกว่าคนร่ำรวยในรัฐที่ยากจน (ซึ่งมักจะเป็น Conservative)
สิ่งที่พึงสังเกตคือรายได้มีความสัมพันธ์ทางบวกกับ % Vote for Republican มากกว่าในรัฐที่ยากจน (Income matters in the poor states) ในรัฐ Connecticut ซึ่งเป็นรัฐที่มีรายได้เฉลี่ยของประชากรสูงสุดในสหรัฐอเมริกานั้น ความสัมพันธ์ระหว่างฐานะทางเศรษฐกิจกับ % Vote for Republican นั้นไม่สูงมากนัก ดังที่เราสังเกตเห็นว่าเส้นแทนข้อมูลของ Connecticut จะไม่ค่อยชันมากนัก ในขณะที่เส้นแทนข้อมูลของ Mississippi ซึ่งเป็น poor states มีความชันสูงกว่ากันมาก
สิ่งที่ Andy ตั้งข้อสังเกตไว้น่าสนใจมากคือ ในอดีต (ปี 1976) ความสัมพันธ์ระหว่างรายได้เฉลี่ยของประชาชนในแต่ละรัฐกับ % Vote for Republican นั้นไม่มีเลย (ค่าสหสัมพันธ์เป็นศูนย์) ดังแสดงในรูปด้านล่างนี้
ทำไมจึงมีความย้อนแย้งแห่งความยากจนกับผลการเลือกตั้งดังกล่าว? Andy ให้ความเห็นว่าในการเมืองอเมริกันนั้นมีการแบ่งแยก (Divide) หลายประการ เช่น รัฐทางเหนือกับรัฐทางใต้ซึ่งมีประวัติการต่อสู้กันมาอย่างยาวนานในการรวมประเทศสหรัฐอเมริกา รัฐทางใต้รวมกันเป็น Confederation และไม่อยากรวมเป็น United States of America เช่นเดียวกันกับการเกิดสงครามกลางเมืองซึ่งรัฐทางใต้นิยมทำการเกษตรเช่น ปลูกฝ้ายต้องการแรงงานทาสมากกว่าจึงไม่ได้สนับสนุนการเลิกทาสในสมัย Abraham Lincoln เป็นประธานาธิบดี รัฐทางใต้มีแนวโน้มจะเป็นอนุรักษ์นิยมในขณะที่รัฐทางเหนือมีแนวโน้มจะเป็นเสรีนิยม นอกจากนี้ยังมีความแตกต่างที่เกิดจากศาสนาและเชื้อชาติ โดยเฉพาะประเด็นของผู้อพยพ
การแบ่งแยกเช่นนี้ทางการเมือง (Political Divide) มีอยู่ทั่วโลก ในเม็กซิโกทางเหนือคนส่วนใหญ่จะทำอุตสาหกรรมและมีฐานะทางเศรษฐกิจดีกว่าทางใต้ของเม็กซิโก อย่างไรก็ตามทางเหนือของเม็กซิโกกลับเป็นอนุรักษ์นิยมทางการเมืองมากกว่าทางใต้ ประเทศอังกฤษเองก็มี Rich South และ Poorer North เช่นเดียวกัน แม้กระทั่งในอินเดียก็มีบางรัฐที่บางพรรคการเมืองได้รับความนิยมแตกต่างกันระหว่างคนร่ำรวยกับความยากจนและความย้อนแย้งดังกล่าวก็กลับพบในรัฐที่ร่ำรวยและรัฐที่ยากจนในอินเดีย เช่นกัน
ย้อนกลับมาที่ในสหรัฐอเมริกา การแบ่งแยกระหว่างคนร่ำรวยกับคนยากจน (Rich-Poor Divide) ในรัฐที่ยากจนทางใต้เช่น Mississippi นั้นสอดคล้องไปในทางเดียวกันกับการแบ่งแยกทางเชื้อชาติ (Racial Divide) โดยคนขาว versus คนดำ ซึ่งคนขาวมีแนวโน้มจะเลือก Republican และคนดำมีแนวโน้มจะเลือก Democrat ทั้งนี้คนดำมีแนวโน้มจะมีรายได้ต่ำกว่าคนขาวจึงเป็นเหตุให้ความแตกต่างระหว่างพฤติกรรมการเลือกตั้งระหว่างคนร่ำรวยกับคนยากจนกลับมีสูงมากขึ้นในรัฐที่ยากจนทางใต้เหล่านี้ ซึ่งโดยปกติเราพบเสมอว่ารายได้มีความสัมพันธ์กับเชื้อชาติอยู่แล้วอย่างชัดเจนในทุกรัฐ
แม้กระทั่งการแบ่งแยกทางศาสนา (Religion Divide) ก็น่าจะมีผลเช่นกัน ในรัฐที่ยากจน คนที่ร่ำรวยกว่ามีแนวโน้มจะไปโบสถ์หรือเข้าร่วมกิจกรรมทางศาสนามากกว่าคนร่ำรวยในรัฐที่ร่ำรวย คนร่ำรวยที่เคร่งศาสนาในรัฐที่ยากจนนั้นมีแนวโน้มจะเป็นอนุรักษ์นิยมจึงมีแนวโน้มที่จะเป็นอนุรักษ์นิยมสูงกว่าคนที่ร่ำรวยในรัฐที่ร่ำรวย ซึ่งทำให้คนร่ำรวยในรัฐที่ยากจนมีแนวโน้มสูงมากในการที่ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งให้ Republican มากกว่าคนที่ร่ำรวยที่อยู่ในรัฐที่ร่ำรวย
การแบ่งแยกระหว่างรวยและจน (Rich-Poor Divide) เองก็มีผลชัดเจนมาก ในประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกา รัฐที่ร่ำรวยในทาง Northeast ทาง Midwest และทาง West Coast เองมีประวัติศาสตร์การก่อตั้งสหภาพค่อนข้างสูงมากโดยเฉพาะในเมืองใหญ่หรือในย่านใกล้ๆ เมืองใหญ่ นอกจากนี้เมืองใหญ่และเมืองใกล้ๆ เมืองใหญ่เหล่านี้ มีประวัติศาสตร์การอพยพของผู้อพยพมาอย่างยาวนาน ย่อมทำให้ผู้ที่อยู่อาศัยในเมืองใหญ่ที่ร่ำรวยเหล่านั้นมีแนวโน้มที่จะเป็นเสรีนิยมซึ่งจะออกเสียงเลือกพรรค Democrat มากกว่า เพราะมีปฏิสัมพันธ์และการปะทะทางความคิดจนทำให้เป็นเสรีนิยมมากกว่า ซึ่งมีข้อสังเกตได้ชัดเจนว่าในมหานครใหญ่มีแนวโน้มจะเลือกพรรค Democrat มากกว่าในเมืองเล็กๆ ที่ยากจนอย่างชัดเจนเพราะผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งมีแนวโน้มจะเป็นเสรีนิยมมากกว่า
ความแตกต่างทางการเมืองระหว่างผู้มีสิทธิเลือกตั้งระหว่าง Democrat กับ Republican มีมากที่สุดในกลุ่มที่มีฐานะปานกลางและร่ำรวย เพราะคนเหล่านี้สามารถเลือกได้ว่าจะอาศัยอยู่ในบริเวณใด ดังนั้นความเชื่อ ค่านิยม ความเป็นปัจเจกบุคคลของแต่ละคนจะมีผลต่อการเลือกพรรคการเมืองพรรคใดพรรคหนึ่งมากกว่าความร่ำรวยหรือยากจน
สำหรับประเทศไทย ความย้อนแย้งดังกล่าวมีจริงหรือไม่ เขตเลือกตั้งที่มีรายได้เฉลี่ยสูงมีแนวโน้มจะเลือกพรรคเพื่อไทยหรือพรรคประชาธิปัตย์ และประชาชนที่มีรายได้สูงมีแนวโน้มจะเลือกพรรคเพื่อไทยหรือพรรคประชาธิปัตย์ คำถามนี้เราคงต้องตอบกันต่อไปในอนาคต