วงเสวนาวิชาการ มหาวิทยาลัยรังสิต “ความเหลื่อมล้ำกับความยุติธรรม” ชำแหละคดี “บอส วรยุทธ” สะท้อนชัดความเหลื่อมล้ำ-ไร้ความรับผิดชอบ เสนอแยกงานสอบสวนออกจากตำรวจ ชี้ อำนาจเงินยังซื้อความยุติธรรมในไทยได้
วันนี้ (6 ส.ค.) เมื่อเวลา 09.00 น. ที่ห้องออดิทอเรียม (ชั้น 1) มหาวิทยาลัยรังสิต คณะอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม มหาวิทยาลัยรังสิต จะจัดเสวนาวิชาการ “ความเหลื่อมล้ำกับความยุติธรรม” โดยมีวิทยากรร่วมเสวนา ศาสตราจารย์ (พิเศษ) วิชา มหาคุณ คณบดีคณะนิติศาสตร์ ม.รังสิต รองศาสตราจารย์ พันตำรวจโท ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล ผู้ช่วยอธิการบดี และประธานกรรมการคณะอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม ม.รังสิต นายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ศาสตราจารย์ ดร.อุดม รัฐอมฤต อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ และอดีตโฆษกและกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ดร.สธน วิจารณ์วรรณลักษณ์ อาจารย์ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และดำเนินการเสวนาโดย พันตำรวจเอก สุรพงศ์ เปล่งขำ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวินัยนักศึกษา ม.รังสิต
จากกระแสสังคมวิพากษ์วิจารณ์ในคดีที่อัยการสูงสุดสั่งไม่ฟ้องคดี นายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือ บอส ทายาทกระทิงแดง ในข้อหาขับรถชนตำรวจเสียชีวิตเมื่อ 5 ปีก่อน จนกระทั่งต้องมีการตั้งคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริง
นายอุดม รัฐอมฤต อดีตโฆษกและกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า กรณีที่มีคนถูกกล่าวหาหรือว่าปรากฏเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดในคดีทางอาญา กรณี นายวรยุทธ อยู่วิทยา กระทำโดยประมาททำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย หรือว่าขับรถทำให้เกิดความเสียหาย ไม่ว่าจะโดยมึนเมา หรือขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด เมี่อเกิดอุบัติเหตุแล้วไม่ช่วยเหลือผู้ประสบเหตุ เป็นข้อหาที่ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตั้งข้อกล่าวหารวม 5 ข้อ
อย่างไรก็ตาม ถ้ามีคนถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดอาญา โดยปกติการกล่าวหามีได้ทั้งผู้เสียหาย และรัฐเป็นผู้ดำเนินการ ในส่วนกลไกของรัฐได้สร้างตำรวจซึ่งเป็นผู้ที่ทำหน้าที่สอบสวนในคดี และอัยการเพื่อดูว่าคดีต่างๆ สมควรจะดำเนินคดีต่อศาลหรือไม่ ซึ่งจะต้องทำงานร่วมกัน อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่เกิดขึ้นในคดีของนายวรยุทธ อยู่ในชั้นพนักงานที่ยังไม่รู้ว่าเขากระทำความผิดอย่างไรแน่ จึงเป็นที่มาที่พนักงานสอบสวน และพนักงานอัยการจะต้องตรวจสอบพยานหลักฐานต่างๆ แต่ท้ายที่สุดการบังคับใช้กฎหมายในเรื่องวิธีปฏิบัติ ว่า กลไกของรัฐในส่วนพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการ ยังเป็นที่สงสัยว่าดำเนินการไปตามกฎหมายและเหตุผลที่ชอบหรือไม่
นายอุดม กล่าวว่า มีข้อน่าคิดว่า ข้อเท็จจริงถ้าผู้ที่ถูกกล่าวหาไม่ได้กระทำความผิด กลไกของรัฐจะต้องไม่ไปกลั่นแกล้ง ตรงกันข้ามถ้ามีบุคคลที่กระทำความผิดกลไกของรัฐจะต้องดำเนินการไปตามขั้นตอน และวิธีการให้เป็นไปตามกฎหมาย อย่างไรก็ดี คนที่ทำความผิดกฎหมายอาญามีการกระทำที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กน้อย ไปจนถึงเรื่องใหญ่โต เพราะฉะนั้นขั้นตอนของชั้นเจ้าพนักงาน แม้เห็นว่ามีการกระทำความผิดก็เป็นไปได้ที่จะไม่ดำเนินคดีต่อไปยังชั้นศาล จึงต้องใช้ดุลพินิจว่าอะไรเหมาะอะไรควรจะต้องใช้เจตนาที่บริสุทธิ์ ไม่เล่นพรรคเล่นพวกหรือเลือกปฏิบัติ ในกรณีของนายวรยุทธ สะท้อนถึงความไม่ใส่ใจ เพราะเรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อปี 2555 และลากยาวจนทำให้หลายคดีขาดอายุความไม่สามารถดำเนินการ จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่ทราบว่าใครผิดใครถูก ถึงขณะออกมาแถลงว่าพยานหลักฐานที่ปรากฏไม่รู้ว่าสิ่งไหนจริงสิ่งไหนไม่จริง สะท้อนว่า กระบวนการยุติธรรมขาดความรับผิดชอบ ไม่ว่าจะเป็นตัวบุคคล ที่การกระทำอะไรบางอย่างจะต้องมีแรงจูงใจในเรื่องประโยชน์ในทางหนึ่งทางใดเสมอ ทั้งนี้คนจะดีจะชั่วถ้าระบบทำให้ดี จะทำให้คนไม่ดีไม่กล้าทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง
"โดยธรรมชาติของคน ยอมสยบต่ออำนาจหรือคนที่เหนือกว่า แต่การที่จะไม่กระทำไปในทิศทางที่ทำร้ายสังคมจะทำอย่างไร โดยที่ความเลื่อมล้ำเป็นสิ่งที่เราต้องการหลีกเลี่ยงไม่ต้องการให้เกิดขึ้น กระบวนการยุติธรรมในวันนี้ของคดีวรยุทธสะท้อนถึงความไม่ใส่ใจ ที่ใช้เวลามากในคดีซึ่งดูว่าเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ การประสบอุบัติเหตุก่อความเสียหายบนท้องถนนเป็นสิ่งที่เจอเป็นปกติ แต่กรณีนี้สะท้อนถึงความไม่ปกติของผู้ที่รับผิดชอบ หลายคนบอกว่าคดีอาญาเป็นปัญหาที่ไม่ใช่เฉพาะของคุณวรยุทธ มันเป็นปัญหามานานแล้ว เพียงแต่เราจะหยิบยกขึ้นมาพูดหรือไม่ หรือสังคมจะสนใจหรือไม่ เป็นเรื่องปัญหาของระบบ” นายอุดม กล่าว
นายอุดม กล่าวอีกว่า คดีอาญาใกล้ชิดกับการเมืองมาก ใกล้ชิดกับการที่จะพยายามแสวงหาตัวช่วย หรือผู้ที่มีบทบาทความเป็นความตายของผู้ที่เกี่ยวข้อง ถ้ากระบวนการยุติธรรมเป็นเรื่องที่คนจะต้องเข้าไปอ้อนวอนขอความเมตตา ตนเชื่อว่าความยุติธรรมในบ้านเมืองไทยคงหาความสำเร็จได้ยาก เพราะทุกอย่างจะเป็นเรื่องของอำนาจหมด ถ้าสังคมเป็นสภาพแบบนี้อยู่สังคมจะไม่มีหลักประกันความยุติธรรม
ด้าน พ.ต.ท.กฤษณพงค์ พูตระกูล ผู้ช่วยอธิการบดี และประธานกรรมการคณะอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่าความเหลื่อมล้ำในกระบวนการยุติธรรมส่งผลต่อความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ และยิ่งซ้ำเติมสังคมไทยที่มีความเหลื่อมล้ำมากอยู่แล้ว และมองว่าปฏิรูปตำรวจไม่ได้สักที เพราะโครงสร้างตำรวจอยู่ใต้อำนาจฝ่ายบริหาร โดยเสนอว่าต้องแก้กฎหมายตำรวจ โดยเฉพาะในแง่การสอบสวนไม่ให้อยู่ใต้อำนาจฝ่ายบริหาร ส่วนการตรวจสอบองค์กรใด ต้องให้คนภายนอกร่วมตรวจสอบด้วย
ด้าน นายณัฏฐวุฒิ อุทัยเสน อดีตกรรมการจรรยาบรรณ สภาวิศวกร กล่าวว่า คดี “บอส อยู่วิทยา” ใช้สภาวิศวกรมาเป็นตัวช่วยในการคำนวณความเร็วรถผู้ต้องหาหลังจากเกิดเหตุหลายปี พร้อมยืนยันว่า ทุกคนที่ฟังเสวนานี้ สามารถคำนวณได้โดยไม่จำเป็นต้องเป็นวิศวกร โดยคำนวนความเร็วจาก “ระยะทางหารด้วยเวลา” เป็นสูตรคณิตศาสตร์พื้นฐาน
นายณัฏฐวุฒิ กล่าวอีกว่า มีผู้ทำหนังสือถึงสภาวิศวกร ว่า ผู้เป็นพยานที่อ้างตัวว่าเป็นวิศวกรคำนวณความเร็วรถยนต์ผู้ต้องหาให้ตำรวจนั้น ใบอนุญาตวิศวกรหมดอายุตั้งแต่ปี 2559 และพบว่าเป็นจริง ซึ่งบุคคลทั่วไปสามารถตรวจสอบคุณสมบัติของบุคคลดังกล่าวได้ที่เว็บไซต์ของสภาวิศวกร โดยตามมาตรา 45 ของ พ.ร.บ.วิศวกรนั้น การแอบอ้างดังกล่าว มีโทษจำคุกถึง 3 ปี ซึ่งอาจมีผลต่อเจ้าพนักงานและอัยการด้วย ที่เอามาเป็นตัวช่วยในเรื่องนี้ อีกทั้งยังสะท้อนความเหลื่อมล้ำในสังคม เพราะไม่ใช่ทุกคนจะเข้าถึงตัวช่วยในลักษณะนั้นได้
ด้าน นายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การที่ตำรวจไม่เห็นแย้งอัยการกรณีไม่ฟ้อง “บอส อยู่วิทยา” เป็นไปไม่ได้ที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติจะไม่รับรู้ การบอกว่าลูกน้องเป็นคนลงนามไม่เห็นแย้งนั้นฟังไม่ขึ้น และการที่รองอัยการสูงสุดสั่งไม่ฟ้องคดีนั้น ทางสำนักงานอัยการสูงสุดก็ต้องรับรู้ด้วย
นายวัชระ กล่าวอีกว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติและสำนักงานอัยการสูงสุดเป็นตำบลกระสุนตก ที่ประชาชนขาดความเชื่อมั่นไม่ให้ความเชื่อถือ ซึ่งไม่ใช่แค่กรณีที่สั่งไม่ฟ้องคดี “บอส อยู่วิทยา” แต่มีตั้งแต่ตำรวจตั้งด่านลอยเรียกเก็บส่วย หรือไถเงินเเลกกับการไม่ดำเนินคดี และยังกล่าวด้วยว่า กรณีที่ตำรวจสั่งไม่ฟ้องคดีนายตำรวจระดับผู้บังคับบัญชาจะถามว่า "สั่งไม่ฟ้องซองอยู่ไหน" เป็นการตั้งศาลเตี้ยพิพากษาเสร็จสรรพ แต่รับเอาเงินสด หากโอนผ่านบัญชีธนาคารเมื่อถูกจับได้ก็บอกว่าเป็นเงิน “ใช้หนี้” ก็เคยมีมาแล้ว ซึ่งหลายคดีไปไม่ถึงที่สุดก็เพราะเงินและอำนาจ พร้อมยืนยันว่า ตำรวจขึ้นกับการเมือง 100% ไม่ว่าในรัฐบาลประชาธิปไตยหรือรัฐบาลรัฐประหาร ก็ล้วนสั่งตำรวจและอัยการได้ และเห็นพ้องว่า ควรแยกอำนาจการสอบสวนออกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
“ถ้ามีเงินไม่ว่าเป็นคนจากประเทศไหน ก็สามารถซื้อความยุติธรรมในประเทศไทยได้ จึงเห็นว่า ถ้ายึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง ก็จะไม่มีปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำทั้งหลายทั้งปวงนี้” นายวัชระ กล่าว
ด้าน นายวิชา มหาคุณ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายกรณีคำสั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธ กล่าวว่า ตราบใดที่ความยุติธรรมซื้อได้ จะไม่สามารถจัดการเรื่องทุจริตคอรัปชั่นไม่ได้เลย ดังนั้นจึงต้องจัดการให้ความยุติธรรมปราศจากการซื้อได้ด้วยเงิน ถึงจะดำเนินกระบวนการอย่างอื่นให้สำเร็จลุลวงไปได้ กรณีนายวรยุทธ เป็นแบบที่แสดงให้เห็นว่าความเลื่อมล้ำ และความไม่ยุติธรรมยังคงอยู่ ที่เห็นได้ชัดคือความล่าช้าในการดำเนินการในกระบวนการยุติธรรม ไม่มีชาติไหนที่ดำเนินการในคดีที่นานกว่า 8 ปีแบบนี้
อย่างไรก็ตาม ถ้าให้ความยุติธรรมล่าช้าเท่าไหร่ก็จะมีกระบวนการแทรกแซงได้ตลอดเวลา ซึ่งเป็นจุดอ่อนที่สำคัญ ดังนั้น ความเหลื่อมล้ำสามารถแก้ได้ด้วยมนุษย์ที่เป็นส่วนสำคัญ ไม่มีอะไรดีกว่าการที่จะต้องพัฒนามนุษย์ที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมให้ถึงแก่นยกเครื่องใหม่ ระบบแม้มีความผิดพลาด ไม่บูรณาการ ต่างคนต่างทำ แต่การแก้ที่ตัวบุคคลบคือสิ่งที่จำเป็นที่สุด และต้องได้คนดีที่สุดมาอยู่ในกระบวนการยุติธรรม อย่าเอาคนเหลือเลือกเข้ามาอยู่ในกระบวนการนี้ เพราะจะทำให้ราษฎรเดือดร้อน สิ้นหวัง และจะจบลงที่ความเสื่อมสุดของการปกครอง