xs
xsm
sm
md
lg

เทียบชัดๆ “ฉีดน้ำใส่ม็อบคณะราษฎร” VS “ยิงแก๊สน้ำตาใส่พันธมิตรฯ” 12 ปี 7 ตุลา 51 รุนแรงต่างกัน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ย้อนอดีต 12 ปี 7 ตุลาเลือด เทียบวันสลาย ม็อบคณะราษฎร 2563 ความรุนแรงต่างกันเยอะ ตำรวจยิงแก๊สน้ำตาใส่กลุ่มพันธมิตรฯ ตาย 2 บาดเจ็บกว่า 400 พ่วงขาขาด แขนขาด มาถึงวันนี้ฉีดน้ำแรงดันสูงผสมสารเคมี แค่ปวดแสบปวดร้อน

จากกรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจสลายการชุมนุมของกลุ่มที่ใช้ชื่อว่า “คณะราษฎร 2563” ที่สี่แยกปทุมวัน เมื่อค่ำวันที่ 16 ต.ค. 2563 โดยใช้รถฉีดน้ำแรงดันสูง “จีโน่” สำหรับควบคุมฝูงชน ฉีดน้ำผสมสีน้ำเงินไปยังกลุ่มผู้ชุมนุม ทำให้ผูู้ชุมนุมถอยร่นไปเรื่อยๆ และสุดท้ายประกาศยุติการชุมนุมในเวลาถัดมา เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ในโลกโซเชียลต่างแสดงความไม่พอใจ มองว่า เจ้าหน้าที่ใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุ อ้างว่า ผู้ชุมนุมเป็นเพียงนักเรียน นิสิต นักศึกษา ประชาชนที่ชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ

ขณะที่ตำรวจชี้แจงว่า ได้ดำเนินการตามขั้นตอน จากเบาไปหาหนักตามหลักสากลอย่างเคร่งครัด ส่วนการใช้น้ำผสมสี และสารเคมีฉีดใส่กลุ่มผู้ชุมนุมนั้น เพื่อแยกแยะกลุ่มผู้ชุมนุมดำเนินคดีในอนาคต สารเคมีดังกล่าวเป็นหลักสากลที่ต่างประเทศก็ใช้ สารเคมีดังกล่าวเพื่อระงับยับยั้งและให้กลุ่มผู้ชุมนุมล่าถอยออกไป อาจจะส่งผลต่อผิวหนังระคายเคืองมีอาการแสบบ้าง สามารถใช้น้ำสะอาดล้างเพื่อบรรเทาอาการได้ ไม่มีอันตราย และยืนยันว่า ไม่มีการใช้แก๊สน้ำตาหรือกระสุนยางแต่อย่างใด

เหตุการณ์นี้ สังคมจะโกรธหรือเกลียดต่อการใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุมในเหตุการณ์ครั้งนี้ หรือจะมีเหตุผลอื่นก็เป็นสิทธิของแต่ละคน และความรุนแรงไม่ใช่ทางออกในการแก้ไขปัญหา แต่ใครจะรู้ว่า การสลายการชุมนุมในอดีต โดยเฉพาะเมื่อ 12 ปีก่อน ไม่ได้หน่อมแน้มเหมือนรถฉีดน้ำแรงดันสูงในวันนี้ แต่เป็น “ระเบิดแก๊สน้ำตา” ที่หมดอายุมาแล้ว 15 ปี นำมาใช้สลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2551 กลายเป็นโศกนาฏกรรมที่มีทั้งผู้เสียชีวิตและผู้พิการ

ย้อนกลับไปเมื่อ 12 ปีก่อน เช้าวันที่ 7 ต.ค. 2551 เวลาประมาณ 06.20 น. กองกำลังของตำรวจซึ่งมีทั้งจากฝ่ายปฏิบัติการพิเศษ, ตำรวจตระเวนชายแดน และหน่วยอรินทราช 26 นับพันนาย เปิดฉากด้วยการยิงแก๊สน้ำตาใส่ผู้ชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่ขณะนั้นกำลังส่วนหนึ่งปักหลักพักค้างที่หน้ารัฐสภา ถนนอู่ทองใน และถนนราชวิถี เพื่อไม่ให้นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรีขณะนั้น เข้าประชุมสภาเพื่อแถลงนโยบาย ทำให้ผู้ชุมนุมได้รับบาดเจ็บ หลายคนขาขาด มือขาดต่อหน้าต่อตา นายสมชาย และ ส.ส. ยังคงมีกะจิตกะใจเข้าประชุมสภา โดยไม่สะทกสะท้านต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ขณะที่ตำรวจบางนายในขณะนั้นมีทัศนคติในทางลบกับผู้ชุมนุม กล่าวว่า “มันอยู่ได้ให้มันอยู่ไป ยิงเข้าไป เดินเข้าไป ลุยเข้าไป” และคำว่า “บาดแผลแค่นี้ไม่ตายหรอก” ระหว่างยิงแก๊สน้ำตาใส่ผู้ชุมนุม

นายสมชาย แถลงนโยบายต่อรัฐสภาภายในเวลา 2 ชั่วโมง ก่อนเดินทางกลับ ระหว่างนั้นตำรวจยังคงปะทะกับผู้ชุมนุมโดยยิงแก๊สน้ำตานับร้อยลูกอย่างต่อเนื่อง เพื่อเปิดทางให้นายสมชายหนีเอาตัวรอด พร้อมกับ น.ส.ชินณิชา วงศ์สวัสดิ์ ลูกสาว และนายชูศักดิ์ ศิรินิล เลขาธิการนายกรัฐมนตรีขณะนั้น ขึ้นเฮลิคอปเตอร์ไปยังกองบัญชาการกองทัพไทย ขณะที่ผู้ชุมนุมต่างโกรธแค้นที่ตำรวจใช้ความรุนแรงจนขาขาด แขนขาด โต้กลับด้วยบันดาลโทสะ ระหว่างนั้นเหตุการณ์น่าเศร้าเริ่มต้นขึ้น เมื่อรถยนต์ระเบิดขึ้นบนถนนพิชัย หน้าที่ทำการพรรคชาติไทย เป็นเหตุให้ พ.ต.ต.เมธี ชาติมนตรี หรือ สารวัตรจ๊าบ ที่มาร่วมชุมนุมเสียชีวิต

จากนั้นในช่วงค่ำ เมื่อรัฐมนตรี และ ส.ส. ออกจากรัฐสภาทั้งหมดแล้ว ผู้ชุมนุมจึงเดินเท้ามาสมทบผู้ชุมนุมบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า ปรากฏว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจหน้ากองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) ยิงแก๊สน้ำตาใส่ผู้ชุมนุมอย่างหนักและต่อเนื่อง อ้างว่าเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ชุมนุมบุกมาปิดล้อม บช.น. ส่งผลให้ผู้ชุมนุมได้รับบาดเจ็บ บางรายขาขาด และมีผู้เสียชีวิตรายที่สองเกิดขึ้น คือ น.ส.อังคณา ระดับปัญญาวุฒิ หรือ โบว์ อายุ 27 ปี ระหว่างนำส่งโรงพยาบาลรามาธิบดี เหตุการณ์นี้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย บาดเจ็บ 473 ราย รักษาตัวในโรงพยาบาล 11 แห่ง หนึ่งในผู้บาดเจ็บสาหัส คือ นางรุ่งทิวา ธาตุนิยม ถูกระเบิดแก๊สน้ำตาเข้าที่บริเวณศีรษะ สมองหายไปข้างหนึ่ง พร้อมดวงตาข้างซ้าย และเสียชีวิตเมื่อวันที่ 5 ก.ย. 2559

ขณะที่การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ยังคงถูกคุกคามเป็นประจำแทบทุกคืน ฝ่ายที่ระบุว่าเป็นผู้สนับสนุนอำนาจรัฐในขณะนั้น ยิงระเบิดเอ็ม 79 ใส่ผู้ชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาลเป็นประจำทุกคืน ราวกับเห็นผู้ชุมนุมเป็นผักเป็นปลา รวมทั้งจุดที่ผู้ชุมนุมปักหลักพักค้าง เช่น สนามบินดอนเมือง ซึ่งถูกใช้เป็นทำเนียบรัฐบาลชั่วคราว เป็นเหตุให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตต่อเนื่อง นำมาซึ่งการชุมนุมที่สนามบินสุวรรณภูมิ เพื่อไม่ให้นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เดินทางกลับประเทศ กระทั่งศาลรัฐธรรมนูญมีคำพิพากษายุบพรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตย เมื่อวันที่ 2 ธ.ค. 2551 ทำให้พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยประกาศยุติการชุมนุมในที่สุด

ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาเมื่อปี 2555 ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติและสำนักนายกรัฐมนตรี ชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ชุมนุม นำโดย นายชิงชัย อุดมเจริญกิจ กับพวกรวม 250 คน จำนวน 32,378,296 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี โดยศาลเห็นว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ใช้อาวุธร้ายแรงเข้าสลายการชุมนุมโดยไม่ปฏิบัติตามหลักการสลายการชุมนุม ที่กำหนดไว้ว่าจะต้องดำเนินการจากเบาไปหาหนัก เป็นการจงใจกระทำต่อผู้อื่นโดยผิดกฎหมาย เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายถึงแก่ชีวิตร่างกาย อันเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ชุมนุม ก่อนที่ศาลปกครองสูงสุดจะพิพากษาในปี 2561 ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน รวม 26,205,117.44 บาท ไม่รวมดอกเบี้ย

ขณะที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาเมื่อปี 2560 ยกฟ้อง นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี, พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกรัฐมนตรี, พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ตามที่ ป.ป.ช. สรุปข้อกล่าวหาว่าเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หลังใช้เวลาในการพิจารณาคดียาวนานถึง 9 ปี โดยศาลเห็นว่า ตำรวจได้ปฏิบัติตามขั้นตอนของแผนรักษาความสงบกรกฎ 48 จำเป็นต้องใช้แก๊สน้ำตาเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ติดอยู่ในรัฐสภา แม้จะมีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต แต่ในสถานการณ์เช่นนั้นเป็นการยากสำหรับเจ้าหน้าที่จะทราบว่า แก๊สน้ำตาจะเป็นเหตุให้ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต

ขณะที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย แม้ว่าจะประกาศยุติบทบาทเมื่อปี 2556 แต่ทุกวันที่ 7 ตุลาคมของทุกปี จะมีการจัดกิจกรรมทำบุญตักบาตร อุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้เสียสละในการชุมนุม เพื่อรำลึกเหตุการณ์ความสูญเสียดังกล่าว 12 ปีผ่านไป เหตุการณ์ 7 ตุลาเลือด ที่บางฝ่ายเลือกที่จะพูดความจริงครึ่งเดียว บางฝ่ายไม่คิดที่จะพูดถึง แต่ยังคงตรึงอยู่ในใจ และฝังใจของผู้ที่ผ่านเหตุการณ์เจ็บปวดในอดีต ถือเป็นโศกนาฏกรรม และเป็นบทเรียนว่า ความรุนแรงไม่ใช่ทางออกในการแก้ไขปัญหา ไม่ว่าจะมาจากการยั่วยุของฝ่ายผู้ชุมนุม การล้อมปราบของเจ้าหน้าที่ หรือมาจากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดก็ตาม

อ่านประกอบ : ประวัติศาสตร์ 7 ตุลาฯ คำต่อคำ เอกสารวุฒิสภา “น้องโบว์” เสียชีวิตจากแก๊สน้ำตาจีนหมดอายุ
เปิดเอกสารวุฒิสภา...ใครฆ่า “น้องโบว์”

รายงานพิเศษ : ย้อนรอย 7 ตุลา ...คนฆ่าพันธมิตรฯ ยังลอยนวล























































































































น.ส.อังคณา ระดับปัญญาวุฒิ หรือน้องโบว์ ผู้เสียชีวิต

พ.ต.ต.เมธี ชาติมนตรี หรือ สารวัตรจ๊าบ ผู้เสียชีวิต


กำลังโหลดความคิดเห็น