เปิดเอกสารของวุฒิสภา สรุปการเสียชีวิตของ “น้องโบว์” อังคณา ระดับปัญญาวุฒิ ในเหตุการณ์ตำรวจสลายการชุมนุมพันธมิตรฯ 7 ตุลา 51 ระบุชัดมาจาก “ระเบิดแก๊สน้ำตา” ของตำรวจ ที่หมดอายุมานานถึง 15 ปี แต่กลับนำมาใช้จนเกิดโศกนาฏกรรมขึ้น
อ่านประกอบ : เปิดเอกสารวุฒิสภา...ใครฆ่า “น้องโบว์”
สรุปผลการพิจารณากรณีการเสียชีวิตของ นางสาวอังคณา ระดับปัญญาวุฒิ จากเหตุการณ์การสลายกลุ่มผู้ชุมนุมเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551
ตามที่ได้เกิดเหตุการณ์การสลายการชุมนุมหน้าบริเวณรัฐสภา ต่อเนื่องไปที่หน้าลานพระบรมรูปฯ ในวันที่ 7 ตุลาคม 2551 จนทำให้มีผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ดังกล่าว โดยคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา ซึ่งมีอำนาจหน้าที่พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ กระทำกิจการพิจารณาสอบสวน หรือศึกษาเรื่องใดๆ ที่เกี่ยวกับการสาธารณสุข การพัฒนาระบบสุขภาพ การบริการสาธารณสุขที่เหมาะสมและได้มาตรฐาน โดยรวมถึงการรักษาพยาบาล การควบคุมและการป้องกันโรค การฟื้นฟู การส่งเสริมสุขภาวะและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เห็นว่า เหตุการณ์ดังกล่าวมีความเกี่ยวข้องด้านการแพทย์และการสาธารณสุข จึงควรมีการพิสูจน์การบาดเจ็บและการเสียชีวิตในเหตุการณ์ดังกล่าว
ในการนี้ คณะกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา ได้เห็นความสำคัญของสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายของผู้ชุมนุม จึงเห็นควรให้มีการพิจารณาศึกษาเพื่อพิสูจน์การบาดเจ็บและการเสียชีวิตของประชาชน อาศัยอำนาจตามความในข้อ 47 ของข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ. 2551 จึงแต่งตั้งคณะอนุกรรมาธิการขึ้นมาคณะหนึ่ง เพื่อศึกษาการพิสูจน์สาเหตุการเสียชีวิตของนางสาวอังคณา ระดับปัญญาวุฒิ ในเหตุการณ์ดังกล่าว โดยคณะอนุกรรมาธิการคณะนี้ประกอบด้วย
1. ศาสตราจารย์นายแพทย์ วิรัติ พาณิชย์พงษ์ ประธานคณะอนุกรรมาธิการ
2. แพทย์หญิง พรพันธุ์ บุณยรัตพันธุ์ รองประธานคณะอนุกรรมาธิการ
3. พลตำรวจโท นายแพทย์ เลี้ยง หุยประเสริฐ อนุกรรมาธิการ
4. นายแพทย์ หม่อมหลวง สมชาย จักรพันธุ์ อนุกรรมาธิการ
5. พลอากาศตรี นายแพทย์ วิชาญ เบี้ยวนิ่ม อนุกรรมาธิการ
6. นายไพบูลย์ นิติตะวัน อนุกรรมาธิการ
7. นายเจษฎา อนุจารี อนุกรรมาธิการ
8. นางสาววิไลลักษณ์ อัญมณีรัตน์ อนุกรรมาธิการ
9. นายคำนูณ สิทธิสมาน อนุกรรมาธิการ
10. นายนุกูล นุกิจรังสรรค์ อนุกรรมาธิการและเลขานุการ
ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการ
1. นายแพทย์ อนันต์ อริยะชัยพาณิชย์
2. นายพิเชต สุนทรพิพิธ
3. พลตำรวจตรี เกริก กัลยาณมิตร
4. พลตำรวจตรี สุเทพ สุขสงวน
5. พลตำรวจโท อัมพร จารุจินดา
6. นายแพทย์ เศวต กรรณล้วน
ในการพิจารณาศึกษาของคณะอนุกรรมาธิการฯ นั้น ได้มีการรวบรวมหลักฐานเอกสารต่างๆ พร้อมทั้งเชิญผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้ที่เกี่ยวข้อง และผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์มาให้ข้อมูลต่อคณะอนุกรรมาธิการฯ ประเด็นต่างๆ อย่างละเอียดรอบคอบ โดยสรุปผลการพิจารณาศึกษาของคณะอนุกรรมาธิการฯ ดังนี้
กรณีการเสียชีวิตของนางสาวอังคณา ระดับปัญญาวุฒิ (น้องโบว์)
เหตุแห่งการเสียชีวิต
เป็นไปได้หรือไม่ที่น้องโบว์เสียชีวิตจากระเบิดที่พกมาเอง
เวลาประมาณ 19.25 น. นางสาวอังคณา ระดับปัญญาวุฒิ ได้ถูกส่งตัวมาที่โรงพยาบาลรามาธิบดี ลักษณะที่มาถึงโรงพยาบาลนั้นมีกระเป๋าสะพายอยู่ที่แขนด้วย ประกอบกับกระเป๋าดังกล่าวยังอยู่ในสภาพที่ดี ภายในกระเป๋ามีโทรศัพท์อยู่ด้วย ซึ่งโทรศัพท์ดังกล่าวเป็นสิ่งที่บ่งบอกว่าเป็นบุคคลใด เนื่องจากได้มีญาติของนางสาวอังคณา ระดับปัญญาวุฒิ โทรติดต่อเข้ามาที่เครื่องดังกล่าว จึงทำให้สามารถสื่อสารกับญาติของบุคคลดังกล่าวได้
ดังนั้น จากภาพที่ นางสาวอังคณา ระดับปัญญาวุฒิ ถูกนำส่งมาที่โรงพยาบาลพร้อมทั้งกระเป๋าสะพายติดตัวมาด้วยในสภาพดีนั้น จึงเป็นไปไม่ได้ที่บุคคลดังกล่าวจะพกระเบิดมาในกระเป๋าสะพายตามคำบอกเล่าของผู้ที่เกี่ยวข้องในช่วงแรก เนื่องจากหากมีการพกระเบิดไว้ในกระเป๋าสะพาย ไม่ว่าจะเป็นระเบิดลูกเกลี้ยง หรือระเบิดปิงปอง เมื่อเกิดการระเบิดขึ้นกระเป๋าจะไม่คงอยู่ในสภาพดี รวมทั้งจะพบเศษโลหะติดอยู่ตามร่างกาย แต่สภาพในขณะที่นำลงมายังโรงพยาบาลกระเป๋าสะพายยังอยู่ในสภาพดี
ผลการชันสูตรศพ
จากข้อมูลดังกล่าวนำมาสู่การพิจารณาถึงผลการชันสูตรพลิกศพ เพื่อหาสาเหตุแห่งการเสียชีวิตของน้องโบว์ ปรากฏรายละเอียดดังนี้
สภาพศพภายนอก
- หญิง น้ำหนัก 42 กิโลกรัม ส่วนสูง 150 เซนติเมตร
- สวมเสื้อคอกลมสีเหลือง พบรอยไหม้และฉีกขาดบริเวณแขนเสื้อด้านซ้าย เสื้อชั้นในด้านซ้าย
- กางเกงยีนส์สีน้ำเงิน พบรอยไหม้และฉีกขาดบริเวณปลายขากางเกงซ้าย
- ไม่พบเลือดออกใต้เยื่อบุตาขวา
- เยื่อบุตาขาวซีด ไม่เหลือง
- หน้าแข้งและเท้าทั้งสองข้างไม่บวม
การตรวจอวัยวะภายใน
ศีรษะ - แก้วหูข้างซ้ายทะลุ
ช่องอก - กระดูกซี่โครงข้างซ้ายด้านข้างหักทุกซี่ 12 ซี่
พบเลือดออกในช่องเยื่อหุ้มปอดข้างซ้ายประมาณ 100 มล.
ปอดข้างซ้ายฉีกขาดและฟกช้ำ ปอดข้างขวากลีบล่าง ฟกช้ำและเลือดออก
เยื่อหุ้มหัวใจฉีกขาด
ผนังหัวใจช่องล่างซ้ายฉีกขาด
ช่องท้อง - กระเพาะอาหารฉีกขาดทะลุ
ม้ามฉีกขาด
ไตข้างซ้ายฉีกขาด
ตับอ่อนส่วนปลายฉีกขาด
แขนขา - กระดูกต้นแขนข้างซ้ายหัก
บาดแผลภายนอก
- บาดแผลฉีกขาดขอบไม่เรียบขนาดใหญ่ที่บริเวณหน้าอกด้านซ้ายอย่างต่อเนื่องถึงต้นแขนซ้ายด้านใน ขนาด 40 x 14 เซนติเมตร ลึกถึงกระดูกซี่โครง และพบเขม่าดำและรอยไหม้เป็นหย่อมๆ ที่บาดแผล
- บาดแผลฉีกขาดขอบไม่เรียบที่บริเวณหลังเท้าด้านซ้ายขนาด 3 x 2 เซนติเมตร และที่บริเวณนิ้วโป้งเท้าซ้ายขนาด 1.5 x 1 เซนติเมตร
- บาดแผลถลอกบริเวณบั้นเอวด้านขวาขนาดยาว 2.5 เซนติเมตร
ความเห็นของ พลอากาศตรี นายแพทย์ วิชาญ เปี้ยวนิ่ม หัวหน้าหน่วยนิติเวช ภาควิชาพยาธิวิทยา โรงพยาบาลรามาธิบดี
ในกรณีของ นางสาว อังคณา ระดับปัญญาวุฒิ นั้น ได้ถูกส่งตัวมาที่โรงพยาบาลรามาธิบดี โดยได้ส่งเข้าไปที่ห้องฉุกเฉิน มีการใส่ท่อช่วยหายใจสำหรับช่วยชีวิตเมื่อเข้าห้องฉุกเฉิน แต่สันนิษฐานว่าน่าจะเสียชีวิตตั้งแต่ก่อนมาถึงโรงพยาบาลแล้ว
โดยในช่วงที่เข้าไปบริเวณห้องชันสูตรศพ เจ้าหน้าที่ชันสูตรศพจะมีความรู้สึกแสบตามากต้องทำการล้างศพหลายครั้ง จึงทำการชันสูตรศพได้ และในขณะที่ชันสูตรศพมีแก๊สน้ำตาลอยคละคลุ้งอยู่เป็นจำนวนมาก กระจายไประยะประมาณ 1-2 เมตร
จากผลการชันสูตรศพนั้น ปรากฏรายละเอียด ดังนี้ ลักษณะศพมีบาดแผลฉีกขาดขอบไม่เรียบ ขนาดใหญ่บริเวณหน้าอกด้านซ้ายต่อเนื่องถึงต้นแขนซ้ายขนาด 40 x 14 เซนติเมตร ที่บาดแผลมีรอยไหม้กระจายไปทั่วบาดแผล เสื้อนอกและเสื้อในฉีกขาด ที่รอยขาดของเสื้อผ้ามีเขม่า มีรอยไหม้ พบต้นแขนข้างซ้ายหัก
จากลักษณะของบาดแผลแสดงว่า วัตถุที่มากระทบน่าจะมากระทบทางด้านหน้า แขนซ้ายน่าจะอยู่ในท่างอข้อศอกในขณะถูกกระแทก มีรอยดำๆ จากการไหม้ กระดูกต้นแขนหัก มีเขม่าดำเป็นหย่อมๆ ในตัวบาดแผล ลักษณะบาดแผลต่อเนื่องถึงด้านหลัง ผิวหนังฉีกขาดเป็นลักษณะของบาดแผลที่ถูกกระทบเข้ามาทางด้านหน้าออกด้านหลัง พบกระดูกซี่โครงด้านซ้ายซี่ที่ 1-12 หักเป็นแนวยาวในแนวดิ่งของร่างกาย เนื้อปอดข้างซ้ายฟกช้ำและฉีกขาด หัวใจทะลุ นอกจากนี้ ยังพบแก้วหูข้างซ้ายทะลุ ม้ามฉีกขาด ไตซ้ายฉีกขาด และตับอ่อนบริเวณด้านซ้ายฉีกขาด จากลักษณะบาดแผลสันนิษฐานว่าเกิดจากของแข็งกระแทกซึ่งมีความร้อนและมีแรงอัดซึ่งเข้าได้กับแรงระเบิด
นอกจากนี้ จากผลของการตรวจเขม่าดำที่ติดอยู่ที่เสื้อผ้า ซึ่งได้ส่งไปตรวจที่กองพิสูจน์หลักฐาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ รายงานว่า พบสารเคมีที่เป็นวัตถุระเบิดชนิดซีโฟร์อยู่ในเสื้อสีเหลือง และเสื้อชั้นในสีครีม ส่วนกางเกงยีนส์ก็พบสารเคมีชนิด RDX ซึ่งเป็นสารประกอบของวัตถุระเบิดติดอยู่ด้วย กล่าวโดยสรุปคือ พบสารเคมีชนิด RDX ซึ่งเป็นสารประกอบของวัตถุระเบิดในเสื้อผ้าด้วย
สรุปสาเหตุการเสียชีวิต
ลักษณะบาดแผลดังกล่าวสรุปสาเหตุของการเสียชีวิตไว้ว่า น้องโบว์เสียชีวิตจากแรงระเบิด
อาวุธที่เจ้าหน้าที่นำมาใช้
จากสาเหตุแห่งการเสียชีวิตที่สรุปว่า เป็นการเสียชีวิตจากแรงระเบิดนั้น เชื่อมโยงมาสู่ประเด็นในการพิจารณาต่อไปถึงอาวุธเจ้าหน้าที่ใช้ในการสลายผู้ชุมนุม จนนำมาซึ่งการส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตดังกล่าวนั้น คืออาวุธชนิดใด และแรงระเบิดมาจากที่ไหน โดยที่ปรากฏตามสื่อมวลชนนั้นพบว่าอาวุธที่เจ้าหน้าที่นำมาใช้ คือ ลูกระเบิดแก๊สน้ำตา โดยลูกระเบิดแก๊สน้ำตามีด้วยกันหลายชนิด และจากหลายแหล่งผลิต ปรากฎรายละเอียด ดังนี้
แก๊สน้ำตา (TEAR GAS)
ข้อมูลโดย พลตำรวจโท อัมพร จารุจินดา
ลูกระเบิดแก๊สน้ำตาชนิดยิงและชนิดขว้าง Tear Gas ที่ใช้ในการปราบจราจลหรือการควบคุมฝูงชน ถือเป็น Hand Grenade แบบ Chemical ซึ่งมีระบบการทำงานอยู่ 2 แบบ คือ
1. Burning Type พวกนี้จะจุดชนวนชนิดระเบิดแรงต่ำ ถ่วงเวลา 1.2-2 วินาที เมื่อชนวนทำงานจะเกิดประกายไฟ ไปจุดส่วนผสมที่เป็นเชื้อเพลิง ทำให้เกิดแรงดันภายในขับดัน ควันหรือ Tear gas ที่บรรจุอยู่ภายใน ทะลุผ่านเทปที่ปิดรูระบาย gas ออกสู่ภายนอก ระเบิดชนิดนี้ ห้ามใช้ในห้องปิด หรือ ที่อับอากาศ เพราะการเผาไหม้ จะทำให้ Oxygen ในอากาศน้อย หรือ หมดลง เป็นอันตรายถึงชีวิตแก่ผู้ก่อเหตุ และ ผู้ปราบ
2. Bursting Type พวกนี้จะจุดระเบิดแบบชนวนถ่วงเวลา ชนิด High Explosive และ อาจมี Booster ช่วยขยายการระเบิด เพื่อทำให้ตัวภาชนะห่อหุ้มแตกออก ก่อให้เกิดเสียงดังข่มขวัญ และช่วยกระจาย ควัน หรือ Tear gas ที่บรรจุอยู่ภายใน ให้กระจายออกไปอย่างรวดเร็ว ระเบิดแบบนี้จะมีอันตรายต่อร่างกายและชีวิตของผู้ก่อเหตุ ดังนั้น ผู้ใช้จะต้องได้รับการฝึกฝน และปฏิบัติตามข้อห้ามโดยเคร่งครัด
Tear Gas: หมายถึงสารเคมีใดๆ ที่ใช้ทำให้บุคคลหมดความสามารถชั่วขณะ โดยก่อให้เกิดการระคายเคือง แสบร้อน ต่อ ผิวหนัง ดวงตา และระบบหายใจ อย่างรุนแรง และ รวดเร็ว ซึ่งตำรวจทั่วโลกใช้ Taer Gas ในการสยบคนร้าย หรือ สลายการจราจล โดยใช้ในรูปของ Spray ฉีด ควัน หรือ ระเบิด
สารเคมีที่นิยมใช้ในปัจจุบัน เพราะมีพิษน้อยและได้ผลดี มีอยู่ 4 ชนิด คือ
1. Chloroacetophenone, codename CN
2. Orto-chlorobenzylidene-malononitrile, codename CS
3. Dibenz (b,f)-1,4-oxazepine, codename CR
4. Oleoresin Capsicum, codename OC-Spray หรือ Pepper Spray.
โดย Tear gas: - ที่มีความเข้มข้นน้อยๆ จะก่อให้เกิดอาการ เจ็บ แสบตา น้ำตาไหล ลืมตาไม่ขึ้น และทำให้ระบบหายใจขัดข้อง จะใช้เฉพาะในการฝึกทางทหาร และปราบจราจลเท่านั้น
จากเหตุการณ์สลายกลุ่มผู้ชุมนุมที่เกิดขึ้นนั้นอาวุธที่เชื่อว่าน่าจะเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของน้องโบว์นั้น คือ ลูกระเบิดแก๊สน้ำตาของจีน ซึ่งเมื่อผ่าออกมาจะพบส่วนประกอบต่างๆ คือ ส่วนท้ายจะระบุรายละเอียดว่าผลิตจากโรงงานไหน ในปีอะไร เมื่อผ่าไปภายในจะเห็นแก๊ปตัวที่เริ่มการจุดระเบิดของกระสุนอยู่ตรงท้าย (ตรงกลาง) ด้านในถัดไปเป็นถุงบรรจุดินดำ ซึ่งเมื่อได้รับเปลวไฟจากการระเบิดของแก๊ปเมื่อถูกยิง ก็จะติดไฟขึ้นเปลวไฟจะไปจุดสายชนวนเวลา (Time Fuse) ที่มองเห็นเป็นสีน้ำตาลแก่ ซึ่งปลายข้างหนึ่งเสียบอยู่ในแก๊ปหรือเชื้อประทุชนวน (Non-Electric Blasting Cap) ที่เป็นหลอดอลูมิเนียมสีขาว ภายในบรรจุด้วยวัตถุระเบิดแรงสูง (ตัวหลอดอลูมิเนียมดังกล่าว หากจุดระเบิดในกำมือจะสามารถทำลายนิ้วมือให้ขาดออกจากมือได้) ทำหน้าที่จุดระเบิดดินขยายการระเบิด (Booster) ซึ่งแก๊ปเสียบอยู่, ดินขยายการระเบิดที่เห็นเป็นสีเหลืองอ่อนๆ มีน้ำหนัก 7 กรัม เป็นวัตถุระเบิดแรงสูง มีส่วนประกอบของสาร RDX (น่าเชื่อว่าเป็นสารระเบิดแบบ C4) ซึ่ง Booster จำนวน 7 กรัม มีอำนาจการระเบิดรุนแรงเพียงพอที่จะทำให้เกิดบาดแผลดังกล่าวข้างต้นได้ ส่วนที่เห็นเป็นสีส้มแดง เป็นดินน้ำมันที่ใส่ไว้แทนผงแก๊สน้ำตาแบบ CN บรรจุอยู่ ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมาจะบรรจุอยู่ในหลอดพลาสติกสีขาวขุ่น โดยชิ้นส่วนเหล่านี้เมื่อเกืดการระเบิดแล้วจะเข้าไปฝังในบาดแผลและร่างกายของผู้ถูกยิง ซึ่งสาร CN ไม่ละลายน้ำ จะทำให้บาดแผลหายยาก เนื่องจากผลข้างเคียงจากวัตถุแปลกปลอมที่เป็นสารเคมี
โดยการที่พบสาร RDX ซึ่งเป็นสารที่มีานุภาพเป็นวัตถุระเบิดแรงสูง ประกอบกับผลการพิสูจน์ที่น่าเชื่อว่ามีองค์ประกอบ C4 อยู่ด้วย แต่ไม่สามารถยืนยันได้ว่าเป็นชิดไหนแน่นอน โดยยืนยันได้ว่าเป็นองค์ประกอบเดียวกับ C4 ซึ่ง C4 เป็นวัตถุระเบิดทางทหารที่มีสาร RDX ประกอบอยู่ประมาณ 90%
นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเพิ่มเติมของการนำลูกระเบิดแก๊สน้ำตาจากจีนที่หมดอายุแล้วมาใช้นั้น ซึ่งลูกระเบิดแก๊สน้ำตาดังกล่าวได้สั่งซื้อมาเป็นเวลานานแล้ว ในความจริงแก๊สน้ำตาจะมีอายุใช้งานประมาณ 5 ปี จะเสื่อมสภาพ แต่สารระเบิด C4 สามารถเก็บไว้ใช้ได้นานนับ 100 ปี ซึ่งแก๊สน้ำตาที่หมดอายุนี้สามารถนำมาใช้งานได้ เพียงแค่ประสิทธิภาพของแก๊สน้ำตาจะลดต่ำลง แต่สารระเบิด C4 ประสิทธิภาพยังคงรุนแรงเช่นเดิม
สรุปประสิทธิภาพของอาวุธที่นำมาใช้
จากข้อมูลทางวิชาการของลูกระเบิดแก๊สน้ำตาที่ได้เสนอมาแล้วข้างต้น จึงสามารถสรุปได้ว่าลูกระเบิดแก๊สน้ำตานั้น มีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะส่งผลให้เกิดการระเบิดและนำมาซึ่งบาดแผลที่เกิดขึ้นดังกล่าว โดยการนำอาวุธมาใช้นั้น สิ่งสำคัญคือ ผู้ใช้ต้องได้รับการฝึกฝนเป็นอย่างดี และห้ามยิงหรือขว้างตรงไปยังบุคคล
นอกจากนี้ จากบาดแผลดังกล่าวที่มีขนาดใหญ่ ลักษณะการฉีกขาด และซี่โครงหักเป็นแนวยาวตรง เดียวกันถึง 12 ซี่ นั้น เป็นไปไม่ได้ที่จะเกิดจากระเบิดปิงปอง แต่น่าจะเป็นการระเบิดจากลูกระเบิดแก๊สน้ำตาของจีน ซึ่งเกิดการระเบิดบริเวณใกล้ลำตัว แต่ไม่ได้เกิดการระเบิดในลักษณะติดลำตัว
การเบิกอาวุธมาใช้ในการสลายกลุ่มผู้ชุมนุม
จากการสรุปดังกล่าวที่สันนิษฐานได้ว่าการเสียชีวิตของน้องโบว์ มีสาเหตุจากแรงระเบิด ซึ่งอาวุธที่เป็นสาเหตุของการระเบิดดังกล่าวคือ ลูกระเบิดแก๊สน้ำตาจากจีน จึงได้มีการตรวจสอบถึงการสั่งซื้อและเบิกอาวุธลูกระเบิดแก๊สน้ำตามาใช้จากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ปรากฎข้อมูลโดยสรุป ดังนี้
ลูกระเบิดแก๊สน้ำตาผลิตในประเทศจีน
1. กองพลาธิการและสรรพาวุธ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เป็นหน่วยงานที่จัดซื้อลูกระเบิดแก๊สน้ำตาจากประเทศจีน โดยระหว่างปี 2536-2538 ได้จัดซื้อดังนี้
1.1 ลูกระเบิดแก๊สน้ำตาชนิดขว้างจำนวน 17,631 ลูก
- สัญญาซื้อเลขที่ สพ. 41/2536 ลงวันที่ 29 มีนาคม 2536 จำนวน 1,552 ลูก
- ซื้อเพิ่มในปี 2537 จำนวน 1,090 ลูก ยังไม่พบสัญญา
- ซื้อเพิ่มในปี 2538 จำนวน 14,989 ลูก ยังไม่พบสัญญา
1.2 กระสุน (ลูก) ยิงแก๊สน้ำตาขนาด 38 มม. ซื้อในปี 2536 ตามสัญญาซื้อ เลขที่ สพ. 41/2536 ลงวันที่ 29 มีนาคม 2536 จำนวน 40,800 ลูก
2. กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (บช.ตชด.) เบิกแก๊สน้ำตาผลิตในประเทศจีนจากกองพลาธิการและสรรพาวุธ ระหว่างปี 2536-2538
2.1 ลูกระเบิดแก๊สน้ำตาชนิดขว้าง จำนวน 3,674 ลูก
2.2 กระสุนยิงแก๊สน้ำตาขนาด 38 มม. จำนวน 4,598 ลูก
3. ประจำการปฏิบัติหน้าที่ รอง ผบ.ตร. (มค.1) สตช. ขอการสนับสนุนแก๊สน้ำตาจากกองบัญชาการตำรวจภาค 1 (ภ.1) ภ.2, ภ.7 และกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (บช.ตชด.) รวม 4 หน่วยงานตามหนังสือประจำ ตร. ปฏิบัติหน้าที่รอง ผบ.ตร. (มค.1) ด่วนที่สุด ที่ 001/(มค.1)/202 ลงวันที่ 27 พฤษภาคม 2551 เพื่อใช้ในการควบคุมฝูงชนและรักษาความสงบเรียบร้อย ดังนี้
3.1 ลูกระเบิดแก๊สน้ำตาชนิดขว้าง ผลิตในประเทศจีนจำนวน 50 ลูก
3.2 ลูกระเบิดแก๊สน้ำตาชนิดขว้างขาวคาดส้มของอเมริกา จำนวน 40 ลูก
3.3 ลูกยิงแก๊สน้ำตาซึ่งใช้กับปืนขนาด 38 มม. ถึง 40 มม. จำนวน 25 ลูก
4. หน่วยงานที่ตรวจสอบมีหลักฐานให้การสนับสนุนคือ บช.ตชด. อีก 3 หน่วยงานตามข้อ 3 ไม่ได้ตรวจสอบ
5. บช.ตชด. สามารถให้การสนับสนุนแก๊สน้ำตาผลิตในประเทศจีน โดยได้ส่งให้กับกองบังคับการตรวจปฏิบัติงานพิเศษ (บก.ตปพ.) บช.น. เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2551 ตามหนังสือ บก.สสน.บช.ตชด. ที่ 0030.732/1618 ลงวันที่ 29 พฤษภาคม 2551 ซึ่ง บก.ตปพ. ได้รับในวันเดียวกัน ดังนี้
5.1 ลูกกระสุนแก๊สน้ำตาชนิดขว้าง จำนวน 50 ลูก
5.2 กระสุนยิงแก๊สน้ำตาขนาด 3 มม. จำนวน 25 ลูก
จากการสืบสวนหาข้อมูลเกี่ยวกับการขอซื้อและเบิกลูกระเบิดแก๊สน้ำตาข้างต้น ได้พบข้อมูลสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ ในการสลายกลุ่มผู้ชุมนุมได้มีการระบุชัดเจนว่า ต้องการเบิกลูกระเบิดแก๊สน้ำตาจากจีนมาใช้งาน ซึ่งลูกระเบิดแก๊สน้ำตาจากจีนได้จัดซื้อมาตั้งแต่ปี 2536 ผลิตจากจีน ซึ่งผู้ที่ขอเบิกนั้นอาจจะทราบถึงสภาพรวมถึงประสิทธิภาพของอาวุธดังกล่าว แต่เมื่อเบิกมาแล้วเจ้าหน้าที่ผู้ใช้งานจะไม่ทราบถึงข้อมูลดังกล่าว ประเด็นจึงอยู่ที่ว่าเหตุใดในการเบิกจึงต้องเจาะจงว่าเป็นลูกระเบิดแก๊สน้ำตาที่ผลิตจากจีน ซึ่งสั่งซื้อมาเป็นเวลานานจนหมดอายุแล้ว ทั้งนี้ ลูกระเบิดแก๊สน้ำตาที่หมดอายุแล้วนั้นไม่ควรนำมาใช้งาน แต่ควรมีการรวบรวมเพื่อทำลายทิ้งป้องกันการนำกลับมาใช้อีก ซึ่งมีข้อสังเกตว่าการนำลูกระเบิดแก๊สน้ำตาจากจีนมาใช้อีกในวันที่ 7 ตุลาคม 2551 จะเกี่ยวข้องกับสารระเบิด C4 ที่ยังมีประสิทธิภาพสูงหรือไม่??
สถานที่เกิดเหตุและทิศทางการยิงลูกระเบิดแก๊สน้ำตา
หลังจากที่ได้ทราบถึงประเด็นเกี่ยวกับเหตุแห่งการเสียชีวิต ประกอบกับอาวุธที่นำมาใช้แล้ว คณะอนุกรรมาธิการฯ ได้ศึกษาเพิ่มเติมถึงสถานที่เกิดเหตุเพื่อหาสาเหตุของอาวุธ ซึ่งได้แก่ ลูกระเบิดแก๊สน้ำตาจากจีน ว่ามีลักษณะการยิงมาจากทิศทางไหน โดยได้มีการสอบถามข้อมูลจากผู้ที่อยู่ในที่เกิดเหตุ ภาพข่าวจากสถานีโทรทัศน์ ตลอดจนการบันทึกภาพจำลองเหตุการณ์ ปรากฏผลดังนี้
จากการบอกเล่าและภาพข่าวที่ปรากฏออกมา คือ ภาพที่มีผู้พบน้องโบว์ภายหลังจากการยิงลูกระเบิดแก๊สน้ำตาแล้วนั้น พบว่า น้องโบว์อยู่ในลักษณะหมอบคุกเข่าลงอยู่บนถนน และจากการมาประมวลภาพจำลองเหตุการณ์นั้น น้องโบว์อยู่ในท่าดังกล่าวโดยหันเท้าไปทาง บช.น. และหันศีรษะไปทางด้านสวนอัมพร ประกอบกับสภาพบาดแผลที่อยู่บริเวณระหว่างหน้าอกและซอกแขน ซึ่งเป็นการระเบิดใกล้ตัวแต่ไม่ชิดลำตัวนั้น สันนิษฐานได้ว่าทิศทางการยิงลูกระเบิดแก๊สน้ำตาพุ่งออกมาจาก บช.น. แล้วตกกระทบลงที่พื้นข้างตัวของน้องโบว์ หลังจากนั้นจึงแฉลบไปที่บริเวณรักแร้ จึงทำให้เกิดบาดแผลดังกล่าว
ข้อมูลการบาดเจ็บและการตายจากสาเหตุการณ์สลายการชุมนุมหน้ารัฐสภา 7 ตุลาคม 2551
1) วัน/เวลาที่รวบรวมข้อมูล : แบ่งเป็น 2 ช่วง คือ
9 ตุลาคม 2551 ณ เวลา 12.00 น.
และ
24 ตุลาคม 2551 ณ เวลา 09.00 น.
1.1 ข้อมูลวันที่ 9 ตุลาคม 2551 (เวลา 12.00 น.)
- ข้อมูลการบาดเจ็บและการตายจาก ร.พ. 11 แห่ง ในกรุงเทพฯ และการตามที่เกิดนอก ร.พ.
- ผู้บาดเจ็บรวมทั้งสิ้น 473 ราย
- ในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย
1 รายเสียชีวิตที่โรงพยาบาล (น.ส.อังคณา ระดับปัญญาวุฒิ)
1 รายเสียชีวิตที่ริมถนนข้างพรรคชาติไทย (พ.ต.ท.เมธี ชาติมนตรี)
(บาดเจ็บ 471 ราย ต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล 6 ราย แบ่งเป็น ตำรวจ 14 ราย ประชาชน 72 ราย)
1.2 ข้อมูลวันที่ 24 ตุลาคม 2551 (เวลา 09.00 น.)
- จากโรงพยาบาล 11 แห่งเช่นเดิม
- ยังไม่มีผู้เสียชีวิต
จำนวนผู้บาดเจ็บ 497 ราย
ที่รักษาตัวในโรงพยาบาล 91 คน
(ผู้ที่ยังรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลในปัจจุบัน แบ่งเป็น ตำรวจ 10 คน ประชาชน 32 คน)
รักษาแล้วให้กลับบ้าน 406 ราย
2) ลักษณะการบาดเจ็บ (จากกลุ่มที่ admit)
ในประชาชน - ประมาณ 32% เป็นแผลฉีกขาดตามร่างกายบางคนเป็นแผลมีรอยไหม้ นอกจากนั้นเป็นบาดแผลทะลุตามอวัยวะต่างๆ (Penetrating wound) กระดูกหัก แขน ขา เบ้าตา นิ้วมือ อวัยวะขาด เช่น แขน ขา มือ (นิ้ว)
ตำรวจ - ส่วนใหญ่เป็นแผลมีรอบทะลุ เหมือนแผลถูกยิงที่บริเวณต่างๆ ของร่างกาย เช่น คอ ขา ช่องท้อง
- แผลถูกแทง
- แผลเปิด
- ซี่โครงหัก