xs
xsm
sm
md
lg

สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 11-17 ต.ค.2563

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



1.ช็อกหัวใจคนไทย! ขบวนเสด็จ “พระราชินี-พระองค์ที” ถูกม็อบคณะราษฎรล้อม-ชูสามนิ้ว ด้านโพลชี้ คนส่วนใหญ่รับไม่ได้ ม็อบหยาบคาย-ละเมิดสถาบัน!

สถานการณ์การเมืองสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากกลุ่มการชุมนุมในนาม คณะราษฎร 2563 นำโดย น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง, นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน, นายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์, นายอานนท์ นำภา ฯลฯ ได้นัดชุมนุมในวันที่ 14 ต.ค. ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อเรียกร้อง 3 ข้อ คือ 1. ประยุทธ์ต้องออกไปจากการเป็นนายกรัฐมนตรี รวมถึงทุกองคาพยพด้วย 2.เปิดประชุมวิสามัญทันที เพื่อรับร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญจากประชาชนทั้งฉบับ และ 3.ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ โดยอ้างว่า เพื่อให้กลับมาอยู่ตามครรลองภายใต้รัฐธรรมนูญระบบประชาธิปไตยที่แท้จริง แม้ว่าในวันดังกล่าว จะมีขบวนเสด็จก็ตาม แต่นายอานนท์ กล่าวว่า คาดว่าประชาชนอาจจะไม่เต็ม ดังนั้นถ้ารถทั่วๆไปผ่านได้ ขบวนเสด็จก็สามารถผ่านได้ ไม่มีการขัดขวางขบวนเสด็จ

แต่ยังไม่ทันถึงวันที่ 14 ต.ค. ปรากฏว่า ในวันที่ 13 ต.ค. กลุ่มคณะราษฎร นำโดยนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน พร้อมมวลชนกว่า 100 คน ได้มาตั้งเต็นท์ชุมนุมบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยก่อนแล้ว ทั้งที่หน้าร้านแมคโดนัลด์ และหน้าโรงเรียนสตรีวิทยา โดยมีนายไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ หรือแอมมี่ เดอะบอตทอมบลูส์ มาร่วมด้วย ซึ่งในเวลาต่อมา เจ้าหน้าที่ได้เดินทางมาเจรจา ขอให้ผู้ชุมนุมนำรั้วเหล็กออกจากถนน เนื่องจากกีดขวางการจราจร ขอให้ผู้ชุมนุมขึ้นไปบนฟุตปาธ แต่ไม่เป็นผล ผู้ชุมนุมได้ชู 3 นิ้วใส่ พร้อมยืนยันจะปักหลักชุมนุมที่นี่ แม้เจ้าหน้าที่จะเจรจาขอคืนพื้นที่อีกครั้ง เนื่องจากจะมีภารกิจสำคัญ แต่ก็ไม่เป็นผลอีก สุดท้ายตำรวจควบคุมฝูงชนได้ตั้งแถวเดินเข้าประชิดผู้ชุมนุม และควบคุมตัวไผ่ ดาวดิน ลงจากเวทีปราศรัย รวมทั้งควบคุมตัวผู้ชุมนุมบางส่วน รวมทั้งนายไชยอมร หรือแอมมี่ ด้านผู้ชุมนุมได้สาดสีน้ำเงินจากถังเข้าใส่เจ้าหน้าที่ จนสีเลอะทั้งเสื้อผ้าและใบหน้า รวมถึงพื้นถนน

ทั้งนี้ วันเดียวกัน (13 ต.ค.) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภาฯ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติฯ ยังพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ในพระบรมมหาราชวัง ในการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุปทาน เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พุทธศักราช 2563

ด้านนายอานนท์ นำภา ไม่พอใจที่เจ้าหน้าที่ควบคุมตัวแกนนำและผู้ชุมนุมบางส่วนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จึงได้ปลุกระดมให้มวลชน นักเรียน นิสิตนักศึกษา ไปชุมนุมกันที่หอศิลป์ กทม.เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยผู้ถูกควบคุมตัว ซึ่งภายหลัง นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน แกนนำคณะราษฎร ได้นำมวลชนเคลื่อนจากหน้าหอศิลป์ ไปยังหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก่อนที่ผู้ชุมนุมจะนำสีสาดใส่ตำรวจและป้ายสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

วันต่อมา (14 ต.ค.) ทางกลุ่มคณะราษฎรได้เลื่อนเวลานัดหมายชุมนุม จาก 14.00 น.บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เป็น 08.00 น. ซึ่งบรรยากาศทั่วไป นอกจากมีมวลชนกลุ่มคณะราษฎรแล้ว ตามจุดต่างๆ ยังมีประชาชนสวมใส่เสื้อเหลืองจำนวนมากมารอเฝ้าฯ รับเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภาฯ และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติฯ ในการเสด็จฯ ไปในการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลตั้งเปรียญ ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จฯ แทนพระองค์ไปในการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดราชโอรสาราม เขตจอมทอง

แต่แล้ว เหตุการณ์ที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อนว่าจะเกิดขึ้นได้ในเมืองไทย ก็คือ ขณะที่ขบวนเสด็จของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ที่กำลังเสด็จฯ แทนพระองค์ไปในการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดราชโอรสาราม เขตจอมทอง โดยมีสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติฯ โดยเสด็จด้วย เคลื่อนมาถึงบริเวณสะพานชมัยมรุเชษฐ ข้างทำเนียบรัฐบาล ได้พบกับผู้ชุมนุมกลุ่มคณะราษฎร ที่กระจายตัวไปทั่วเพื่อเคลื่อนมายึดทำเนียบรัฐบาล ปรากฏว่า ผู้ชุมนุมได้ล้อมและกีดขวางเพื่อไม่ให้ขบวนเสด็จผ่านไปได้ ขณะที่เจ้าหน้าที่พยายามอารักขาขบวนเสด็จ เพื่อไม่ให้ผู้ชุมนุมเข้าถึงรถพระที่นั่งได้ เป็นที่น่าสังเกตว่า ผู้ชุมนุมไม่เพียงขัดขวางขบวนเสด็จ แต่ยังชู 3 นิ้ว บ้างชูนิ้วกลาง รวมทั้งกล่าวถ้อยคำที่หยาบคาย จาบจ้วงล่วงละเมิดสถาบัน ทั้งยังมีการพาดพิงไปถึงในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มีคลิปวิดีโอที่หลายคนบันทึกไว้ได้ ประชาชนทั่วประเทศที่รักสถาบัน เมื่อได้ดูคลิป ต่างรู้สึกปวดใจ ไม่คิดว่า คนไทยจะกระทำต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ได้ถึงเพียงนี้ หลายคนดูคลิปด้วยความลุ้นระทึกว่า หากเจ้าหน้าที่กันผู้ชุมนุมไม่อยู่ จะเกิดอะไรขึ้น อย่างไรก็ตาม ภาพและการกระทำของผู้ชุมนุมดังกล่าว กลับไม่ถูกเผยแพร่หรือพูดถึงจากฝ่ายผู้ชุมนุมกลุ่มคณะราษฎร รวมถึงนักการเมืองฝ่ายค้านที่สนับสนุนผู้ชุมนุมแต่อย่างใด

เป็นที่น่าสังเกตว่า แม้ขบวนเสด็จของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี จะถูกผู้ชุมนุมล้อมกรอบ พร้อมแสดงสัญลักษณ์ที่ไม่บังควร แต่พระองค์ยังทรงยิ้ม และโบกพระหัตถ์ทักทายให้ผู้ชุมนุมด้วยความเมตตา

ขณะที่ได้มีปฏิกิริยาจากคนไทยที่รักสถาบันแสดงออกผ่านสื่อโซเชียลจำนวนมาก ได้แก่ ผู้ใช้เฟซบุ๊ก Lek Foto ซึ่งเป็นช่างภาพหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง โพสต์ข้อความระบุว่า “ผมขอระบายหน่อยเถอะแ...งอึดอัดเต็มที่แล้ว ทำงานเป็นช่างภาพการเมืองมาเกือบครึ่งชีวิตแล้ว ผ่านการเฉียดตายก็หลายม็อบ แต่ไม่เคยเจอะเจอม็อบไหนที่ทั้งเถื่อน ถ่อย สถุน ทำตัวเหนือกฎหมาย จาบจ้วงสถาบันฯ ที่เป็นศูนย์รวมใจของคนไทยเท่ากับม็อบเด็กเปรต ชิงหมาเกิดพวกนี้...”

ขณะที่นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย โพสต์เฟซบุ๊กว่า “ม็อบเจตนาขัดขวางขบวนเสด็จ ถือเป็นการหมิ่นเบื้องสูง ต้องจัดการอย่างเฉียบขาดโดยไม่ละเว้น เพราะถือว่า การชุมนุมครั้งนี้ เป็นการบ่อนทำลายชาติและความสงบสุขของประชาชน”

ส่วนนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตแกนนำม็อบ กปปส.และผู้ก่อตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย โพสต์ภาพพร้อมข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า “เมื่อเห็นคลิปที่ผู้ชุมนุมกระทำต่อขบวนเสด็จเมื่อวันที่ 14 ต.ค.ที่ผ่านมาแล้ว ขอตัดสินใจทำหน้าที่ประชาชน ผู้จงรักภักดีพิทักษ์สถาบันพระมหากษัตริย์ ขอเชิญชวนพี่น้องผู้ร่วมอุดมการณ์ เตรียมพร้อมลุกขึ้นปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ร่วมมือกันทุกฝ่ายที่มีอุดมการณ์เดียวกัน”

ทั้งนี้ สำนักวิจัยซูเปอร์โพล ได้เผยผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง ความรู้สึกประชาชนกับม็อบ 14 ต.ค. โดยศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ จำนวน 1,831 ตัวอย่าง พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 98.9 รู้สึกแย่ รับไม่ได้ กับม็อบประชาธิปไตย หยาบคาย คุกคาม จาบจ้วงล่วงละเมิดสถาบัน เสาหลักของชาติ


2.“บิ๊กตู่” ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินร้ายแรงในเขต กทม.หลังม็อบกระทบสถาบันฯ ด้านม็อบยังนัดชุมนุม แม้ถูก ตร.ฉีดน้ำกระชับพื้นที่!


หลังจากผู้ชุมนุมกลุ่มคณะราษฎร ได้เคลื่อนเข้าบุกยึดทำเนียบรัฐบาลเมื่อวันที่ 14 ต.ค. โดยก่อนหน้านั้น ได้มีการล้อมและขัดขวางขบวนเสด็จของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติฯ บริเวณสะพานชมัยมรุเชษฐ ข้างทำเนียบรัฐบาล ซึ่งกำลังเสด็จฯ แทนพระองค์ไปในการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดราชโอรสาราม เขตจอมทอง โดยผู้ชุมนุมได้กระทำการจาบจ้วงล่วงละเมิดด้วยถ้อยคำที่หยาบคาย รวมถึงการชู 3 นิ้ว และชูนิ้วกลาง รวมทั้งยังกล่าวพาดพิงไปถึงในหลวงรัชกาลที่ 9 ด้วย ส่งผลให้คนไทยที่รักสถาบันทั่วประเทศปวดหัวใจและรับไม่ได้ พร้อมแสดงความรู้สึกผ่านโซเชียลมากมาย ไม่คิดว่า จะเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นในประเทศไทย กับสถาบันหลักที่คนไทยเคารพเทิดทูนมาช้านาน หลายคนตั้งข้อสังเกตว่า การกระทำดังกล่าวของม็อบคณะราษฎร ที่ปากเรียกร้อง ต้องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่การกระทำกลับส่อว่า ต้องการล้มสถาบันมากกว่า จึงเรียกร้องให้มีการดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ชุมนุมกลุ่มนี้อย่างเด็ดขาด 

ทั้งนี้ ช่วงดึกคืนวันที่ 14 ต.ค. นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้มอบหมายให้ตำรวจดำเนินกับผู้ที่ขัดขวางขบวนเสด็จพระราชดำเนิน และผู้ที่กระทำอื่นใดในลักษณะที่เป็นการหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยจะต้องถูกดำเนินการตามกฎหมายอย่างเฉียบขาดโดยไม่ละเว้น

หลังจากนั้น ในเวลาต่อมา พล.อ.ประยุทธ์ ได้ออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตกรุงเทพฯ โดยให้เหตุผลว่า เนื่องจากมีบุคคลหลายกลุ่มได้เชิญชวน ปลุกระดม และดำเนินการให้มีการชุมนุมสาธารณะโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายในกรุงเทพฯ โดยใช้วิธีการและช่องทางต่างๆ ก่อให้เกิดความปั่นป่วนวุ่นวาย และความไม่สงบเรียบร้อยของประชาชน มีการกระทำที่กระทบต่อขบวนเสด็จพระราชดำเนิน มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า มีการกระทำที่มีความรุนแรง กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยในชีวิตหรือทรัพย์สินของรัฐหรือบุคคล อันมิใช่การชุมนุมโดยสงบ ที่ได้รับการรับรองตามรัฐธรรมนูญ ทั้งยังกระทบโดยตรงต่อการควบคุมการระบาดของโควิด-19 อันส่งผลกระทบโดยตรงต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจที่อยู่ในภาวะเปราะบาง จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีมาตรการเร่งด่วน เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวให้ยุติได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที เพื่อให้มีการปฏิบัติตามกฎหมายและรักษาความสงบเรียบร้อยและประโยชน์ส่วนรวม อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 และ 11 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 จึงให้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ตั้งแต่วันที่ 15 ต.ค.2563 ตั้งแต่เวลา 04.00 น.เป็นต้นไป

ทั้งนี้ ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินดังกล่าว ส่งผลให้ห้ามชุมนุมหรือมั่วสุม ณ ที่ใดๆ ตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป, ห้ามเสนอข่าวที่บิดเบือนหรือทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว ไม่ว่าจะสื่อสิ่งพิมพ์หรือข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์, ห้ามใช้เส้นทางคมนาคมตามที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบประกาศกำหนด, ห้ามใช้หรือเข้าสถานที่ใดๆ ตามที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบประกาศกำหนด โดยมอบหมายให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ เป็นกำกับการปฏิบัติงานของหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง

หลังนายกฯ ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เจ้าหน้าที่ได้เข้ากระชับพื้นที่เพื่อขอคืนพื้นที่บริเวณทำเนียบรัฐบาล พร้อมคุมตัวแกนนำและผู้ชุมนุมบางส่วนจำนวน 22 คน โดยเป็นแกนนำ 4 คน คือ นายประสิทธิ์ ครุธาโรจน์ หรือเจมส์ ตามหมายจับศาลเชียงใหม่, นายอานนท์ นำภา หรือทนายอานนท์ ตามหมายจับศาลเชียงใหม่, นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน ตามหมายจับศาลธัญบุรี และ น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง ตามหมายจับศาลธัญบุรี

แม้จะมีการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และแกนนำบางส่วนถูกควบคุมตัว ขณะที่พื้นที่ทำเนียบฯ ถูกขอคืนพื้นที่ไปแล้ว แต่ม็อบคณะราษฎรยังเดินหน้านัดหมายชุมนุมที่แยกราชประสงค์ต่อในช่วงเย็นวันที่ 15 ต.ค. ซึ่งแม้เจ้าหน้าที่จะขอให้ผู้ชุมนุมยุติการชุมนุม เพราะผิดกฎหมาย แต่ก็ไม่เป็นผล กระทั่งช่วงดึกคืนเดียวกัน หลังม็อบสลายตัว ได้มีการนัดหมายชุมนุมอีกครั้งที่แยกราชประสงค์ในวันที่ 16 ต.ค.

อย่างไรก็ตาม วันที่ 16 ต.ค. เจ้าหน้าที่ได้นำกำลังเข้าพื้นที่แยกราชประสงค์ก่อนจะถึงเวลานัดของผู้ชุมนุม ด้านแกนนำผู้ชุมนุมจึงได้เปลี่ยนจุดนัดหมายไปชุมนุมบริเวณแยกปทุมวันแทน ซึ่งภายหลังเจ้าหน้าที่ได้ประกาศให้ผู้ชุมนุมยุติการชุมนุม ไม่เช่นนั้นจะผิดกฎหมาย ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เมื่อเตือนแล้ว แต่ผู้ชุมนุมไม่ยอมยุติ เจ้าหน้าที่จึงต้องใช้รถฉีดน้ำแรงดันสูงเข้าใส่ ซึ่งเป็นการปฏิบัติตามหลักสากล จากเบาไปหาหนัก แต่ผู้ชุมนุมก็ไม่ยอมยุติ เจ้าหน้าที่จึงได้ฉีดน้ำผสมสีฟ้าเข้าใส่ผู้ชุมนุม เพื่อเป็นการแยกผู้ชุมนุมออกจากประชาชนทั่วไป โดยมีรายงานว่า สีดังกล่าว หากถูกตัวผู้ชุมนุม จะติดอยู่นาน 3-7 วัน จะสามารถยืนยันตัวบุคคลได้ว่า เป็นผู้ชุมนุม ซึ่งในที่สุด ผู้ชุมนุมได้ถอยร่น และกระจัดกระจาย สลายตัวไปในที่สุด

เป็นที่น่าสังเกตว่า การกระชับพื้นที่ดังกล่าว หลายฝ่าย โดยเฉพาะฝ่ายผู้ชุมนุม นิสิตนักศึกษา รวมถึงพรรคฝ่ายค้าน นักวิชาการ และผู้สนับสนุนผู้ชุมนุม ต่างออกมาประณามว่า เป็นการใช้ความรุนแรงต่อผู้ชุมนุม ขณะที่หลายฝ่ายมองว่า การสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ครั้งนี้ ถือว่าเบาที่สุดแล้ว ไม่เหมือนเมื่อครั้งเจ้าหน้าที่สลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ ที่เจ้าหน้าที่ใช้ระเบิดแก๊สน้ำตาจากจีน ส่งผลให้ผู้ชุมนุมแขนขาขาด และเสียชีวิต

ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ ได้ย้ำถึงความจำเป็นต้องประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ “เมื่อมีสถานการณ์ที่ไม่ปกติเกิดขึ้น มันก็มีความจำเป็นต้องประกาศใช้ และผมมุ่งหวังว่าจะใช้ให้สั้นที่สุด วันนี้ก็ประกาศใช้เพียงแค่ 1 เดือน หรือ 30 วัน หรือน้อยกว่านั้น ถ้าสถานการณ์สามารถคลี่คลายได้โดยเร็ว อันนี้เป็นหลักการสำคัญ ไม่ได้มุ่งหวังที่จะไปทำร้ายใคร ท่านต้องดูทุกวันที่เกิดขึ้นมามีใครถูกทำร้ายบ้าง คือเจ้าหน้าที่เป็นผู้ถูกกระทำเกือบทั้งสิ้น ทุกอย่างแสดงให้เห็นว่าสถานการณ์มันไม่ใช่ปกติแล้ว และเหตุการณ์สำคัญอื่นได้เกิดขึ้น ผมคงไม่ต้องกล่าว ณ ที่นี้ ทุกคนทราบดีอยู่ในสายตาสื่อทุกคน ฉะนั้นขอให้ช่วยกันทำให้บ้านเมืองนั้นสงบสุขได้หรือไม่ สร้างความมีเสถียรภาพได้หรือไม่ และที่สำคัญที่สุด เป็นห่วงบรรดาผู้บริสุทธิ์ต่างๆ ทั้งหมด ใครบริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์ก็รู้กันอยู่”

ขณะที่ฝ่ายผู้ชุมนุม ยังเดินหน้านัดชุมนุมต่อเนื่อง โดยล่าสุด วันนี้ (17 ต.ค.) ได้นัดรวมตัวกันตามสถานีรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ ตั้งแต่เวลา 15.00 น. โดยให้มีจุดหลักอยู่ที่สถานีลาดพร้าว สถานีอุดมสุข และ สถานีวงเวียนใหญ่ ด้านบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส ได้ประกาศปิดบริการชั่วคราวทุกสถานีตั้งแต่เวลา 15.00 น. เป็นต้นไป

เป็นที่น่าสังเกตว่า กระแสโซเชียลมีเดียได้มีการแชร์ภาพม็อบถูกจับมัดมือไพล่หลัง ซึ่งมีการอ้างว่า เป็นผู้ชุมนุมในไทยถูกตำรวจจับ ส่งผลให้มีการแชร์ต่อกันอย่างกว้างขวาง และสร้างความไม่พอใจให้ฝ่ายผู้สนับสนุนม็อบคณะราษฎรเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม ภายหลังปรากฏความจริงว่า ภาพดังกล่าวไม่ใช่เหตุการณ์ในไทย แต่เป็นกรณีที่ตำรวจฮ่องกงจับม็อบที่ฮ่องกง ซึ่งกรณีนี้ ซึ่งกรณีนี้ เริ่มมีการถามไปยังนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล แล้ว โดย ดร.กิตติธัช ชัยประสิทธิ์ นักวิชาการอิสระ และอาจารย์ด้านสถาปัตยกรรม สอนพิเศษด้าน ปรัชญาการเมือง โพสต์เฟซบุ๊ก ว่า “เอาภาพตำรวจฮ่องกงจับม็อบให้นั่งคุกเข่าหันหลัง มาอ้างว่า เป็นเหตุการณ์ในไทย แล้วประกาศผ่านสื่อแบบนี้เพื่ออะไรครับ? เป็นผู้แทนราษฎร และเป็นถึงขนาดเป็นหัวหน้าพรรคการเมือง ที่เรียกตัวเองว่า "ก้าวหน้า/ก้าวไกล" ต้องมีคำตอบให้สังคมว่า สร้าง Fake News แบบนี้ขึ้นมาทำไม?”

3.ผู้ว่าฯ ตาก ประกาศล็อกดาวน์ "แม่สอด" ชั่วคราว หลังพบชาวเมียนมาในไทยติดโควิด-19 แล้ว 5 ราย!



เมื่อวันที่ 16 ต.ค. มีรายงานว่า มีการพบผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ในชุมชนชายแดนแม่สอด จ.ตาก 2 ราย ต่อมา นายธนิตพล ไชยนันทน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผยว่า เบื้องต้นพบว่าผู้ป่วยติดเชื้อดังกล่าวเป็น 2 สามีภรรยาในชุมชน อ.แม่สอด จ.ตาก โดยสามีอายุ 63 ปี ภรรยาอายุ 54 ปี ทำงานอยู่ในส่วนที่มีประวัติเคยสัมผัสกับคนขับรถส่งของชาวพม่าที่ตรวจพบติดเชื้อโควิด-19 มาก่อนหน้านี้ โดยการตรวจพบผู้ติดเชื้อสามี ภรรยาดังกล่าว เนื่องจากมีการตรวจสอบตามมาตรการเชิงรุก อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ทีมสอบสวนโรคอยู่ระหว่างการสอบสวนโรคและปฏิบัติตามมาตรการควบคุมป้องกันโรคเพิ่มเติม

ล่าสุด วันนี้ (17 ต.ค.) นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก แถลงถึงผลการตรวจหาโควิด-19 ของบุคคลที่สัมผัสใกล้ชิดอยู่บ้านเดียวกับสองสามีภรรยาแรงงานชาวเมียนมาที่พบการติดเชื้อในพื้นที่ อ.แม่สอด 9 คนโดยยืนยัน พบการติดเชื้อเพิ่มอีก 3 คน โดยเป็นลูก 1 คน และหลาน 2 คน รวมแล้วพบชาวเมียนมาที่อยู่ใน อ.แม่สอด ติดโควิด 19 รวมทั้งสิ้น 5 ราย และมีผู้สัมผัสที่ต้องเฝ้าระวัง 55 ราย

นอกจากนี้ ผู้ว่าฯ ได้สั่งการปิดด่านถาวรสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา แห่งที่ 2 ซึ่งเป็นด่านที่ใช้ขนส่งสินค้าเป็นการชั่วคราว รวมถึงด่านช่องทางธรรมชาติ ตลอดแนวชายแดนมีทั้งหมด 33 จุด พร้อมทั้งจะประกาศงดศาสนกิจใน 5 ชุมชนมัสยิด งดการเรียนการสอนของโรงเรียนในชุมชน 5 แห่ง และศูนย์เด็กเล็กอีก 1 แห่ง เป็นเวลา 1 สัปดาห์ ตั้งแต่ในวันที่ 19 ต.ค.นี้ ส่วนสถานบริการ ขอให้งดเปิดบริการเป็นเวลา 7 วัน เพราะเป็นจุดรวมคนที่อาจมีความสุ่มเสี่ยงสูง ทั้งนี้ ยอมรับว่า หากมีการปิดด่าน การลักลอบจะมีมากขึ้น ดังนั้นจะยกระดับการลาดตระเวนเพิ่มขึ้น

4.ครม.ไฟเขียว 3 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ หวังช่วยปากท้องคนไทยผ่านพ้นช่วงเวลายากลำบาก!



เมื่อวันที่ 12 ต.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้แถลงผลประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุมได้อนุมัติหลายเรื่องทางเศรษฐกิจ เพื่อช่วยดูแลปัญหาเศรษฐกิจ ปากท้อง ช่วยคนไทยหลายสิบล้านคน ให้ผ่านพ้นช่วงเวลาที่ยากลำบาก ช่วยผู้มีรายได้น้อยให้มีเงินใช้จ่าย ช่วยให้คนที่มีรายได้มาก แต่ไม่อยากใช้ ให้ออกมาใช้เงิน เพื่อดึงเงินเข้าหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ

สำหรับมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศที่ ครม.ได้อนุมัติ ได้แก่ 1.มาตรการเติมเงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐให้ประชาชน 14 ล้านคน คนละ 1,500 บาท ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนของการดำเนินการ 2.การมาตรการคนละครึ่ง กระตุ้นค่าใช้จ่าย โดยประชาชนจ่ายครึ่งหนึ่ง รัฐบาลช่วยออกอีกครึ่งหนึ่ง นี่คือผู้มีรายได้น้อย ร้านค้าปลีก แต่ต้องขึ้นทะเบียน จะเป็นการจ่ายเงินตรงด้วยระบบอีวอลเล็ต 3.มาตรการช้อปดีมีคืน ประชาชนสามารถนำค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้า 30,000 บาท ไปลดภาษีได้ แต่ถ้าขอ 50,000 บาท คงไม่ไหว เอา 30,000 บาทไปละกัน อันนี้จะให้ช่วยกันซื้อสินค้าคงทน อันแรกเป็นการซื้อสินค้าทั่วๆ ไป ซึ่งจะเห็นได้ว่า จะมีมีมาตรการเฉพาะกลุ่มอกมาและจะทยอยออกมาเรื่อยๆ

ด้านนายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลประชุม ครม.ว่า มาตรการช้อปดีมีคืน จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 23 ต.ค.-31 ธ.ค.2563 คาดว่าจะมีผู้ใช้สิทธิ์ 3.7 ล้านคนจากฐานผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา รัฐจะสูญเสียรายได้ภาษีประมาณ 14,000 ล้านบาท แต่จะทำให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจประมาณ 111,000 ล้านบาท ช่วยเพิ่มจีดีพีประมาณ 0.30%

นอกจากนี้ ครม.ได้เห็นชอบปรับปรุง “โครงการกำลังใจ และโครงการเราเที่ยวด้วยกัน” เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว โดยขยายระยะเวลาถึง 31 ม.ค.2564 และเปิดให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขกว่า 3,000 คน เข้าร่วมได้ และยังใช้บริการโรงแรม ซื้อสินค้าในจังหวัดภูมิลำเนาได้

5.ศาลพิพากษาจำคุก "น้ำอุ่น" 8 ปี คดีกักขังหน่วงเหนี่ยว "ลันลาเบล" จนถึงแก่ความตาย ส่วนผู้สนับสนุนอีก 5 เจอคุกคนละ 5 ปี 4 เดือน!



เมื่อวันที่ 14 ต.ค. ศาลอาญาธนบุรี ได้อ่านคำพิพากษาคดีที่พนักงานอัยการคดีอาญาธนบุรี 2 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายรัชเดช วงศ์ทะบุตร หรือ น้ำอุ่น, นายชัยพล พรรณนา เจ้าของงานปาร์ตี้บ้านบางบัวทอง, นายนที สถิตพงษ์สถาพร, น.ส.พิกุลทอง บุญภา แฟนสาวของคิว, นายกฤษฎา โลหิตดี, นายโกเศศ ฤทธิ์นิธิฤกษ์ เป็นจำเลยที่ 1-6 ในความผิด 4 ข้อหา ฐานเป็นซ่องโจร, พาผู้อื่นไปเพื่อการอนาจารโดยใช้กำลังประทุษร้าย ใช้อำนาจครอบงำผิดคลองธรรมหรือใช้วิธีข่มขืนใจด้วยประการใดๆ, กระทำอนาจารแก่บุคคลอายุกว่า 15 ปี โดยใช้กำลังประทุษร้าย โดยบุคคลนั้นอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้, หน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่นหรือกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย และเป็นเหตุให้ผู้ถูกหน่วงเหนี่ยวถูกกักขังหรือต้องปราศจากเสรีภาพในร่างกายนั้นถึงแก่ความตาย ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 210, 213, 278, 284, 310 ประกอบมาตรา 83, 91

โดยคดีนี้ มารดาผู้ตายได้ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ และยื่นคำร้องขอให้จำเลยทั้งหกชดใช้ค่าสินไหมทดแทนด้วย

ทั้งนี้ โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 16 ก.ย. 2562 เวลากลางวัน จำเลยทั้งหกมีงานเลี้ยง มีการดื่มสุรา ที่บ้านแห่งหนึ่งใน อ.บางบัวทอง แล้วจ้าง น.ส.ธิติมา นรพันธ์พิพัฒน์ หรือลันลาเบล อายุ 26 ปี ให้มาเป็นพริตตี้ชงเหล้าร่วมเต้นรำและร่วมดื่มสุรา โดยจำเลยทั้งหกมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ น.ส.ธิติมา ดื่มสุราจนเมาและอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ แล้วนายรัชเดช จำเลยที่ 1 ได้พาพริตตี้ลันลาเบล ซึ่งขณะนั้นมีปริมาณแอลกอฮอล์อยู่ในเลือดสูงมาก อยู่ในภาวะมึนเมา โดยใช้กำลังประทุษร้ายไปอนาจาร และอุ้มแบกออกจากบ้านหลังดังกล่าว ไปขึ้นรถยนต์ของจำเลยที่ 1 แล้วพาไปที่ห้องพักคอนโดย่านดาวคะนอง เขตธนบุรี กทม. แล้วจำเลยที่ 1 พาลันลาเบล พริตตี้สาว ซึ่งอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ไปบนห้องพัก เป็นเหตุให้ถูกหน่วงเหนี่ยวกักขัง ต้องปราศจากเสรีภาพในร่างกายและถึงแก่ความตาย โดยจำเลยที่ 2 ถึง 6 ร่วมกันสนับสนุนการกระทำผิดของจำเลยที่ 1 เนื่องจากไม่ได้ขัดขวางหรือเข้าห้ามปราม อันเป็นการให้ความช่วยเหลือ หรือให้ความสะดวกแก่นายรัชเดช

ทั้งนี้ ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานแล้วเห็นว่า รับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ได้กระทำอนาจารผู้ตาย โดยใช้กลอุบายหลอกล่อให้ผู้ตายดื่มสุราในปริมาณมาก เพื่อให้ผู้ตายหมดสติอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ และได้พาผู้ตายซึ่งหมดสติขึ้นรถยนต์ไปที่คอนโดของจำเลยที่ 1 โดยมีเจตนาที่จะล่วงละเมิดทางเพศผู้ตาย

อีกทั้งพยานโจทก์ปากนายแพทย์ผู้ชันสูตรพลิกศพให้ความเห็นว่า ผู้ตายเสียชีวิตในช่วงเวลา 15.00-19.00 น. สาเหตุการตายเกิดจากภาวะการหายใจล้มเหลวอันเนื่องจากพิษของเอทิลแอลกอฮอล์ (เอทานอล) อย่างฉับพลัน ผู้ตายมีปริมาณเอทานอลในเลือดสูงถึง 431.76 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ เป็นปริมาณที่มากกว่าการดื่มสุราตามปกติ ซึ่งทำให้เสียชีวิตได้ แต่หากมีการนำตัวส่งโรงพยาบาลเพื่อทำการรักษา ก็สามารถที่จะช่วยชีวิตได้ ประกอบกับผู้ตายสวมใส่นาฬิกาสมาร์ทวอตช์ ซึ่งจับการทำงานของหัวใจได้ว่ามีเลือดไหลเวียนครั้งสุดท้ายในเวลา 17.10 น. เชื่อว่า ผู้ตายถึงแก่ความตายในระหว่าง เวลา 17.10-19.00 น. ระหว่างที่จำเลยที่ 1 พาผู้ตายขณะหมดสติไปยังห้องในคอนโดของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ย่อมเล็งเห็นได้ว่าผู้ตายอาจจะได้รับอันตรายถึงชีวิตหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการหน่วงเหนี่ยวกักขังเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย

คำพิพากษาระบุอีกว่า การที่จำเลยที่ 2 ถึง 6 เคยเข้าร่วมงานเลี้ยงในลักษณะนี้มาก่อน รู้ว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนามอมเหล้าผู้ตาย แต่ไม่ขัดขวางห้ามปราม กลับชักชวนให้ผู้ตายดื่มสุรา และยอมให้จำเลยที่ 1 พาผู้ตายซึ่งหมดสติออกไปจากงานเลี้ยง การกระทำของจำเลยที่ 2 ถึง 6 ดังกล่าว ถือว่าเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่จำเลยที่ 1 จึงเป็นผู้สนับสนุนจำเลยที่ 1 กระทำความผิด

การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการกระทำกรรมเดียว แต่ผิดต่อกฎหมายหลายบท จึงให้ลงโทษบทหนักสุด คือฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่นฯ ให้จำคุกนายรัชเดช หรือน้ำอุ่น จำเลยที่ 1 เป็นเวลา 8 ปี ส่วนจำเลยที่ 2 ถึง 6 เป็นผู้สนับสนุนให้จำเลยที่ 1 กระทำผิด ให้จำคุกจำเลยที่ 2 ถึง 6 ฐานเป็นผู้สนับสนุนจำเลยที่ 1 คนละ 5 ปี 4 เดือน และให้จำเลยทั้งหกร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วม จำนวน 748,660 บาทด้วย ส่วนข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก

ด้านนายรัชเดช หรือน้ำอุ่น กับพวกทั้งหมดได้ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์และกรมธรรม์ประกันภัย ขอประกันตัวระหว่างอุทธรณ์สู้คดี ซึ่งศาลพิจารณาแล้วอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวนายรัชเดช จำเลยที่ 1 โดยตีราคาประกัน 350,000 บาท ส่วนจำเลยที่ 2 ถึง 6 ตีราคาประกันคนละ 150,000 บาท


กำลังโหลดความคิดเห็น