xs
xsm
sm
md
lg

บทความ

x

การบินไทยยุค New Normal

เผยแพร่:   โดย: นพ นรนารถ



วันศุกร์ที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมา กระทรวงการคลังขายหุ้นบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ให้กองทุนรวมวายุภักษ์ 69 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 4.03 บาท รวมมูลค่าประมาณ 278 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 3.17% ทำให้กระทรวงการคลังถือหุ้นการบินไทยจาก 51.03% เหลือ 47.86%

วันนี้ การบินไทยพ้นจากความเป็นรัฐวิสาหกิจแล้ว แต่ยังเป็นกิจการของรัฐที่มีกระทรวงการคลังถือหุ้นใหญ่ 47.86 เปอร์เซ็นต์ กองทุนวายุภักษ์ซึ่งเป็นกองทุนในการดูแลของกระทรวงการคลังถือหุ้นประมาณ 18% และธนาคารออมสินซึ่งเป็นธนาคารรัฐ ในกำกับของกระทรวงการคลังถือหุ้น 2.13% รวมทั้งหมดเกือบ 70% ของหุ้นการบินไทยยังอยู่ในมือของรัฐบาล

รัฐบาลจึงยังมีอำนาจ และหน้าที่ในการกำหนดทิศทางการทำแผนฟื้นฟูฯ การเลือกผู้ทำแผน การเลือกผู้บริหารแผนโดยใช้อำนาจผ่านคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจแห่งชาติ หรือ คนร.ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และบอร์ดการบินไทยซึ่งมีอำนาจหน้าที่โดยตรงในการเสนอผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการ ในฐานะ “ลูกหนี้” ต่อเจ้าหนี้ และศาลล้มละลาย

การพ้นจากความเป็นรัฐวิสาหกิจ เพื่อทำให้การฟื้นฟูกิจการมีความคล่องตัว ไม่ติดขัดด้วยเงื่อนไขข้อกฎหมาย เช่น การขายทรัพย์สิน การควบรวม การลดต้นทุนด้านพนักงาน ฯลฯ ไม่เกิดความลักลั่นของอำนาจการจัดการระหว่าง คนร.ที่มีหน้าที่กำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ ตามกฎหมายรัฐวิสาหกิจกับผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการตามกฎหมายล้มละลาย

เจ้าหนี้มีบทบาทสำคัญในการอนุมัติแผนฟื้นฟูฯ และตัวผู้ทำแผน หากแผนฟื้นฟูกิจการไม่มีความเป็นไปได้ การปรับโครงสร้างหนี้ มีเจ้าหนี้บางรายเห็นว่า ไม่เป็นธรรมกับตัวเอง แนวทางของแผนฟื้นฟูฯ ไม่ชัดเจน เจ้าหนี้ไม่เชื่อมั่นในตัวผู้บริหารแผน ก็อาจจะรวบรวมเสียงคว่ำแผนฟื้นฟูกิจการ และผู้บริหารแผนได้ หากเป็นเช่นนั้น ศาลล้มละลายก็จะต้องมีคำสั่งยกเลิกแผนฟื้นฟูฯ และการบินไทยก็จะเข้าสู่กระบวนการล้มละลายจริงๆ

ทีมผู้ทำแผน และผู้บริหารแผนจึงมีความสำคัญมาก โดยเฉพาะในสถานการณ์หลังการระบาดของโควิด ที่อุตสาหกรรมการบินของโลกต้องเผชิญกับภาวะ New Normal ที่ไม่รู้ว่า การเดินทางโดยเครื่องบินจะกลับมาอีกเมื่อไร เมื่อกลับมาแล้ว จะมีความต้องการเท่าเดิมหรือน้อยกว่าเดิมอย่างไร

สัปดาห์ที่ผ่านมา กระทรวงคมนาคมพยายามสร้างข่าว เพื่อสร้างภาพให้สังคมเข้าใจว่า รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมมีบทบาทในระดับหนึ่งในการเสนอตัวผู้ทำแผน ผู้บริหารแผนให้นายกรัฐมนตรีพิจารณา เพราะว่า การบินไทยเป็นรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงคมนาคม

ข่าวการเสนอรายชื่อผู้ที่เหมาะสมจะเป็นผู้บริหารแผน 15 คน ให้นายกรัฐมนตรีเลือก ต่อมาก็เพิ่มเป็น 30 คน ตามมาด้วยข่าวตั้งซูเปอร์บอร์ดควบคุมการบริหารแผนอีกชั้นหนึ่ง ล้วนแต่เป็นความพยายามที่ขัดแย้งกับความต้องการของสังคม และรวมถึงขัดแย้งกับความต้องการของเจ้าหนี้ด้วย

สิ่งที่สังคมเรียกร้องมาโดยตลอด ในกรณีของการบินไทยและรัฐวิสาหกิจอื่นๆ คือ ไม่ต้องการให้นักการเมือง และข้าราชการประจำมามีบทบาทเกี่ยวข้องการบริหาร แต่ไม่เคยสำเร็จ แม้แต่ในยุค คสช.ที่พยายามจะปฏิรูปการกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ แยกฝ่ายนโยบาย ฝ่ายกำกับดูแลออกจากผู้ปฏิบัติ คือ ผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ ด้วยการตั้งบรรษัท รัฐวิสาหกิจแห่งชาติ ก็ถูกทำแท้งไปในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

การนำการบินไทยเข้าแผนฟื้นฟูกิจการในครั้งนี้ เป็นโอกาสดีที่วิกฤตไวรัสโควิด สร้างให้ที่จะสลัดนักการเมือง ข้าราชการประจำจากกระทรวงคมนาคม และกองทัพอากาศออกไปจากการบริหารงานของการบินไทย อย่างน้อยที่สุด ก็ในช่วงที่อยู่ในแผนฟื้นฟูฯ 5 ปี

เป็น New Normal ด้านบวกของการบินไทย ที่จะได้ปลอดจากระบบอุปถัมภ์ของนักการเมือง และข้าราชการเสียที อย่างน้อยก็เป็นการชั่วคราว

ในความเป็นจริง นายกรัฐมนตรีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะประธาน คนร. คือ ผู้ตัดสินใจเลือกผู้บริหารแผน ซึ่งได้เลือกแล้ว

ประเทศไทยประสบความสำเร็จในการควบคุมการระบาดของไวรัสโควิด-19 หลังจากพล.อ.ประยุทธ์ ตัดสินใจดึงอำนาจจากพรรคภูมิใจไทยและพรรคประชาธิปัตย์ ที่คุมกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงพาณิชย์มาไว้กับตัวเอง และใช้ข้าราชการประจำของกระทรวงสาธารณสุขกับกระทรวงมหาดไทย และกองทัพเป็นกลไกขับเคลื่อน

หวังว่า การยึดอำนาจจากพรรคภูมิใจไทย และพรรคประชาธิปัตย์ไม่ให้มายุ่งกับการฟื้นฟูฯ การบินไทย โดยใช้ผู้บริหารแผนฟื้นฟูฯ เป็นผู้แก้ไขปัญหา จะประสบความสำเร็จเช่นเดียวกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น