“ศักดิ์สยาม” เผยนายกฯ ตั้ง “วิษณุ” เป็นประธานคณะทำงานกลั่นกรองแผนฟื้นฟูการบินไทย มีตัวแทนคมนาคม-คลังเข้าร่วม เตรียมชง 4 ขุนพลฝั่งคมนาคมร่วมทีม ยอมรับเหลือเงินหมื่นล้าน สั่งดีดีคุยพนักงานเกลี่ยเงินเดือน
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 19 พ.ค.เห็นชอบให้บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ภายใต้คำสั่งศาลทันทีและเห็นชอบให้กระทรวงการคลังลดสัดส่วนการถือหุ้นให้ต่ำกว่า 50% ซึ่งจะทำให้บริษัท การบินไทย พ้นจากสภาพการเป็นรัฐวิสาหกิจโดยเด็ดขาด โดยมอบให้กระทรวงคมนาคมเป็นผู้กำกับการจัดทำและดูแลแผนฟื้นฟู ซึ่งเป็นไปตามความเห็นของกระทรวงการคลังที่เสนอในคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) เห็นชอบก่อนเสนอ ครม.นั้น
นายศักดิ์สยามกล่าวอีกว่า เมื่อเข้ากระบวนการฟื้นฟู และคลังลดสัดส่วนการถือหุ้นในการบินไทยลงต่ำกว่า 50% การบินไทยจะพ้นสภาพการเป็นรัฐวิสาหกิจ ซึ่งจะไม่มีกฎหมายรองรับในการที่กระทรวงคมนาคมจะไปกำกับดูแลการบินไทย ซึ่งเมื่อเป็นมติ ครม.ที่เห็นชอบตาม คนร.โดยให้กระทรวงคมนาคมกำกับการจัดทำแผนฟื้นฟูได้จะต้องให้กระทรวงการคลังต้องมอบฉันทะ หรือหุ้นที่คลังถือมาให้กระทรวงคมนาคม เหมือนกรณีบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) ซึ่งได้ชี้แจงและขอให้ดำเนินการแล้ว แต่กระทรวงการคลังจะใช้สิทธิในการเป็นผู้ถือหุ้น แต่ทั้งนี้จะต้องแก้มติ คนร.ใหม่โดยตัดความเห็นของกระทรวงการคลังที่ให้กระทรวงคมนาคมกำกับดูแลออกไป ซึ่งจะทำให้กระทรวงการคลังเข้ามากำกับการทำแผนฟื้นฟูได้ในฐานะผู้ถือหุ้น
“คือถ้าคลังไม่แก้ความเห็นนั้น กระทรวงคมนาคมก็จะกำกับแผนฟื้นฟูไม่ได้ เป็นเดดล็อก ไม่มีอำนาจ เพราะไม่มีกฎหมายที่บอกให้กระทรวงคมนาคมไปกำกับบริษัทมหาชนได้ เรื่องนี้ทางคลังรับรู้มาตั้งแต่ต้นแล้ว”
ส่ง 4 ขุนพลร่วมทีม “วิษณุ” กรองแผนฟื้นฟูการบินไทย
นายศักดิ์สยามกล่าวว่า ประเด็นความเห็นของกระทรวงการคลัง ได้รายงานต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีแล้วซึ่งได้มอบนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ประชุมร่วมกับ รมว.กระทรวงคมนาคม และคลัง เมื่อวันที่ 21 พ.ค. ซึ่งนายวิษณุระบุว่า ประเด็นความเห็นคลังไม่จำเป็นต้องแก้มติ ครม. โดยจะมีคณะทำงานที่มีนายวิษณุเป็นประธานขึ้นมาเป็นผู้พิจารณากลั่นกรองประเด็นต่างๆ ก่อนเสนอนายกฯ พิจารณา คือทำหน้าที่คล้ายเป็นซูเปอร์บอร์ด
โดยเบื้องต้น กระทรวงคมนาคมจะเสนอคณะทำงานร่วมกับนายวิษณุ จำนวน 4 คน ประกอบด้วย 1. นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม 2. นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม 3. นายชยธรรม์ พรหมศร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) และ 4. นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เพื่อร่วมกำหนดแผนงานที่เกี่ยวข้องกับกระทรวง และกลั่นกรองรายชื่อคณะผู้ทำแผนฟื้นฟูยื่นศาลก่อนเสนอนายกรัฐมนตรี
ขณะที่กระทรวงการคลังจะส่งผู้แทนเข้าร่วมคณะทำงานของนายวิษณุเช่นกัน นอกจากนี้ นายวิษณุระบุว่าจะคัดเลือกผู้เชี่ยวชาญ เช่น อดีตประธานศาลล้มละลาย ร่วมเป็นคณะทำงานด้วย
25 พ.ค. การบินไทยส่งรายชื่อผู้จัดทำแผนฯ ยื่นศาล
ในส่วนของคณะผู้จัดแผนฟื้นฟูเพื่อยื่นศาลนั้น ทางกระทรวงคมนาคมจะมีการเสนอรายชื่อไปหลังจากนี้ โดยเมื่อวันที่ 20 พ.ค.ที่ผ่านมาได้ประชุมผ่านแอป Zoom กับประธานบอร์ด และนายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี) การบินไทย เพื่อชี้แจงถึงมติ ครม. และมอบให้ไปช่วยพิจารณารายชื่อบุคคลที่จะเสนอเป็นคณะผู้จัดทำแผนฟื้นฟู ซึ่งจะเป็นบุคคลที่มีความรู้เฉพาะทางด้านการบิน ด้านการเงิน ด้านกฎหมาย เป็นต้น โดยทางการบินไทยจะส่งรายชื่อมาให้ในวันที่ 25 พ.ค.นี้
ส่วนการคัดเลือกบริษัทที่ปรึกษาด้านกฎหมายและการเงินนั้น ได้ย้ำให้การบินไทยคัดเลือกตามหลักธรรมาภิบาล ต้องมี TOR เพื่อให้เจ้าหนี้เห็นถึงความตั้งใจในการฟื้นฟู ซึ่งจะส่งผลเมื่อมีการยื่นศาลและเจรจากัน
ผู้สื่อข่าวสอบถามถึงปัญหาสภาพคล่องของการบินไทย นายศักดิ์สยามกล่าวว่า ต้องเร่งให้มีคณะผู้จัดทำแผนฟื้นฟูเข้ามาโดยเร็วที่สุด เพราะจะเป็นผู้เชี่ยวชาญเป็นมืออาชีพ ซึ่งคณะของนายวิษณุ จะพิจารณาหาแนวทางและเสนอนายกฯ เพื่อจะสั่งการไปที่กระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือหุ้นดำเนินการ
เหลือสภาพคล่องหมื่นล้าน มอบ “ดีดี” คุยพนักงาน เกลี่ยเงินเดือน
ส่วนการจ่ายเงินเดือนพนักงานนั้น ได้มอบหมายให้บอร์ดและรักษาการดีดี ไปหารือกับพนักงานว่า จะใช้วิธีเฉลี่ยทุกข์ เฉลี่ยสุข ขณะนี้การบินไทยมี 6 หน่วยธุรกิจที่สามารถหารายได้ ต้องอยู่บนโลกความเป็นจริง หากตั้งเงื่อนไขว่าเคยได้เงินเดือนเท่านี้ แต่บริษัทไม่มีเงินจ่ายพอจะทำอย่างไร หากจ่ายได้เดือนเดียวแล้วไม่มีจ่ายอีกแล้วจะเอาหรือไม่
โดยขณะนี้การบินไทยมีสภาพคล่องเหลืออยู่ประมาณ 10,000 ล้านบาท ขณะที่มีค่าใช้จ่ายประมาณ 6,000 ล้านบาท/เดือน (ค่าใช้จ่ายสูงสุดในการประกอบการปกติ ทั้งเงินเดือนค่าโอที ทุกรายการ) ซึ่งปัจจุบันน่าจะลดลงเนื่องจากหยุดทำการบิน
สำหรับหนี้สินนั้น ได้มอบหมายให้เร่งทำรายละเอียด ได้แก่ 1. จัดทำบัญชีทรัพย์สิน บัญชีหนี้สิน แจงรายละเอียดหนี้ที่ครบดิว มีเท่าไหร่ 2. ทำบัญชีลูกหนี้ ของการบินไทย เช่น พวกเอเยนต์ขายตั๋วต่างๆ