xs
xsm
sm
md
lg

“สามารถ” ชี้ “การบินไทย” ยื่นฟื้นฟูกิจการเป็นทางออกดีสุด ลั่นอันตรายมากหากครั้งนี้ไม่สำเร็จต้องล้มละลายของจริง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“สามารถ ราชพลสิทธิ์” ชี้เป็นทางออกที่ดีที่สุด “การบินไทย” ยื่นศาลฟื้นฟูกิจการ แจงไม่ใช่ขั้นตอนล้มละลาย มีข้อดีคือบินได้ปกติ พร้อมกับเจรจาหนี้ได้ และเมื่อพักชำระหนี้ได้ จากที่ต้องกู้เงิน 5.4 หมื่นล้าน จะเหลือแค่ 1.7 หมื่นล้านเท่านั้น จับตา “ผู้จัดทำแผน” ปัจจัยสำคัญว่าจะฟื้นฟูสำเร็จหรือไม่ ลั่นอันตรายมากหากครั้งนี้ล้มเหลว จะต้องเข้าสู่การล้มละลายของจริง

วันที่ 18 พ.ค. 63 ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ร่วมสนทนาผ่านทางโทรศัพท์ ในรายการ “คนเคาะข่าว” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ช่อง “นิวส์วัน” ในหัวข้อ “การบินไทย บนเส้นทางฟื้นฟูกิจการ”

โดย ดร.สามารถ กล่าวถึงกรณี คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) มีมติเป็นเอกฉันท์ ให้บริษัท การบินไทย เข้าสู่กระบวนการพื้นฟูกิจการตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย ว่า เป็น ทางออกที่ดีสุดแล้วตอนนี้ ขั้นตอนนี้ไม่ใช่ขั้นตอนล้มละลาย เป็นขั้นตอนฟื้นฟูกิจการการบินไทย แต่ใช้กฎหมายล้มละลายเท่านั้น มีข้อดีเพราะ 1. การบินไทยสามารถบินรับส่งผู้โดยสารได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ 2. สามารถเจรจาเจ้าหนี้ ให้ลดหนี้ ผ่อนหนี้ ยืดระยะเวลาชำระหนี้ แล้วก็แปลงหนี้เป็นทุนได้ พักชำระหนี้ได้ เจ้าหนี้จะมาทวงเงินช่วงนี้ไม่ได้เด็ดขาด

ช่วงนี้การบินไทยต้องปรับโครงสร้างการทำงานให้ดีที่สุด เพื่อฟื้นฟูกิจการให้ได้ เอาเงินมาคืนเจ้าหนี้ นั่นเป็นวัตถุประสงค์ของกระบวนการฟื้นฟูกิจการ การบินไทย ย้ำว่าไม่ใช่ขั้นตอนล้มละลาย

ดร.สามารถ กล่าวอีกว่า ปัจจัยความสำเร็จในการฟื้นฟู อยู่ที่การเอาจริงเอาจังของการบินไทย คนทำแผนนั้นสำคัญที่สุด การบินไทยเป็นผู้ไปร้องขอต่อศาลล้มละลายกลาง ขอให้มีผู้จัดทำแผนขึ้นมา อยู่ที่การทำแผนตรงนี้ว่าจะดีแค่ไหน แน่นอนว่าการบินไทยต้องยอมเจ็บตัว ถ้าไม่เจ็บก็ต้องจบเท่านั้น ต้องปรับโครงสร้างคน โครงสร้างเงินเดือน ลดสิทธิผลประโยชน์ต่างๆ

ส่วนกรณีที่สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย คัดค้านการลดสัดส่วนการถือหุ้นของกระทรวงการคลัง ซึ่งอาจทำให้การบินไทยไม่ได้มีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจ เวลานี้ กระทรวงการคลัง ถือหุ้น 51.03% เท่ากับเป็นรัฐวิสาหกิจอยู่ ตาม พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ มีความหมายต่อสหภาพฯ ก็คือ สามารถจัดตั้งสหภาพแรงงานได้ตาม พ.ร.บ.นี้ และมีการตกลงว่าจ้าง มีข้อตกลงระหว่างการบินไทยกับสหภาพแรงงาน ว่าจะมีอัตราค่าจ้างอย่างไร แต่ถ้าไม่มี พ.ร.บ.ตัวนี้ คือ การที่กระทรวงการคลังถือหุ้นน้อยกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ก็ยังคงเป็นรัฐวิสาหกิจ แต่ไม่ใช้ พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ แต่เป็น พ.ร.บ.งบประมาณ, พ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะ เป็นต้น จะทำให้สิทธิประโยชน์ของสหภาพฯ เสียไป

แต่ได้ข่าวมาว่า พรุ่งนี้ (19 พ.ค.) นำเข้า ครม.แค่ประเด็นเดียวเท่านั้น คือ ให้การบินไทยเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย ไม่มีการเสนอการลดสัดส่วนการถือหุ้นของกระทรวงการคลังให้น้อยกว่า 50%

เมื่อถามว่า การให้กระทรวงการคลังลดสัดส่วนการถือหุ้น ควรทำก่อนการบินไทยเข้าสู่แผนฟื้นฟู หรือระหว่างแผน ดร.สามารถ กล่าวว่า ควรทำก่อน หรือแล้วแต่ตกลงกัน ระว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ สมมติการบินไทยต้องการกู้ 5.4 หมื่นล้าน ต้องการให้กระทรวงการคลังค้ำประกัน แต่พรุ่งนี้ไม่มีวาระพิจารณาการค้ำประกันเข้าสู่ที่ประชุม ครม. แน่

หลังจากนั้น เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ การบินไทยจะเอาเงินจากที่ไหน ต้องตกลงกัน ทำแผนฟื้นฟูขึ้นมา แต่เงิน 5 หมื่นกว่าล้าน จะลดลง เพราะพักชำระหนี้ได้ ถ้าเข้าแผนฟื้นฟู จาก 5.4 หมื่นล้าน จะเหลือประมาณ 1.7 หมื่นล้านเท่านั้น ถึงตอนนั้น กระทรวงการคลังก็พิจารณาเลย อาจให้กู้ก็ได้ แต่ต้องเป็นไปตามคำสั่งศาล ตามแผนฟื้นฟูนั้น อย่างน้อยรัฐบาลก็มีอำนาจศาลเป็นหลังพิงอยู่ อยู่ๆ จะไปค้ำประกันเงินกู้ในบริษัทมหาชน ที่มีเอกชนถือหุ้นอยู่ด้วย อาจเป็นปัญหาก็ได้ แต่นี่ทำตามคำสั่งศาล

ดร.สามารถ กล่าวต่อด้วยว่า สหภาพแรงงานฯ กลัวว่า ถ้ากระทรวงการคลังลดสัดส่วนการถือหุ้นลง ความเชื่อมั่นของนักลงทุนจะลดลง อันนั้นเป็นความกังวลของสหภาพแรงงานฯ แต่ก็อาจเป็นข้อกังวลของผู้ถือหุ้น และเจ้าหนี้บ้างก็เป็นไปได้ แต่คิดว่ากระทรวงการคลัง ถ้าจะลดการถือหุ้น คงเหลือไม่น้อย ต้อง 40 กว่าเปอร์เซ็นต์ขึ้นไป แล้วหุ้นที่ลดลงก็ไปให้รัฐวิสาหกิจอื่นถือ ไปขายให้หน่วยงานอื่นที่รัฐบาลถือหุ้นเกิน 50% อยู่ รวมทั้งหมดแล้วภาครัฐก็ถือหุ้นเกิน 50% อยู่ ยังคงสภาพเป็นรัฐวิสาหกิจเหมือนเดิม แต่ว่าประเภทต่างไป ใช้ พ.ร.บ.คนละฉบับเท่านั้น คือใช้ พ.ร.บ.งบประมาณ, พ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะ แล้วก็ไปดูคำจำกัดความของ พ.ร.บ. ฉบับนั้นๆ ว่ารัฐวิสาหกิจมีคำนิยามว่าอย่างไร

ต่อข้อถามว่า การเป็นรัฐวิสาหกิจเป็นปัจจัยหนึ่งในการฟื้นฟูฐานะการบินไทยช่วงที่ผ่านมาไหม ดร.สามารถ ตอบว่า ก็เป็นปัจจัยหนึ่ง เป็นไปได้ในเรื่องการแต่งตั้งบอร์ด เมื่อคลังถือหุ้นมากสุด แน่นอนก็อาจมีผู้แทนจากกระทรวงการคลังไปนั่งในบอร์ดนั้น โดยตำแหน่งอะไรต่างๆ เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ ว่าทำให้การบริหารงานไม่คล่องตัวหรือไม่

ดร.สามารถ กล่าวอีกว่า คาดว่า การบินไทยต้องใช้เวลาฟื้นฟูเป็นปี ต้องดูว่าจะเสนอใครเป็นผู้จัดทำแผน ต้องท่มเทสรรพกำลังทั้งหลายทำให้เร็วที่สุด อย่าลืมว่า การบินไทยมีแผนฟื้นฟูมาหลายครั้งแต่ไม่สำเร็จ ครั้งนี้ถ้าไม่สำเร็จ อันตรายมาก ถ้าแผนฟื้นฟูซึ่งเป็นสวนหนึ่งของกฎหมายล้มละลายเกิดล้มเหลวขึ้นมา ก็ต้องเดินเข้าสู่ขั้นตอนการล้มละลาย ศาลล้มละลายก็จะตั้งพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขึ้นมา ไปจัดทำบัญชีทรัพย์สินต่างๆ มีเท่าไหร่เอาไปขาย ขายได้เอามาแบ่งกับเจ้าหนี้ ตามสัดส่วนการถือหุ้น ถ้าถึงเวลานั้นเจ้าหนี้จะได้รับเงินน้อย ฉะนั้น ต้องช่วยกันให้สำเร็จในขั้นตอนการฟื้นฟูกิจการ


กำลังโหลดความคิดเห็น