สหภาพการบินไทยหนุนยื่นศาลฟื้นฟูกิจการ แต่คัดค้านคลังลดสัดส่วนหุ้นต่ำกว่า 50% ชี้กระทบเชื่อมั่นนักลงทุนและเจ้าหนี้ ขณะที่สหภาพฯ จะถูกยุบ กระทบต่อการดูแลสิทธิประโยชน์ และการคุ้มครองแรงงาน
วันนี้ (18 พ.ค.) สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทยได้ออกแถลงการณ์เรื่อง จุดยืนของสหภาพฯ ในเรื่องแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัท การบินไทย ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอให้คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา จากการติดตามความคืบหน้าล่าสุดของแผนฟื้นฟูฯ ที่มี 2 ประเด็นหลัก คือ 1. เสนอให้บริษัท การบินไทย ใช้กระบวนการฟื้นฟูกิจการซึ่งบรรจุอยู่ในกฎหมายล้มละลาย โดยผ่านกระบวนการศาลล้มละลายกลาง โดยสหภาพฯ เห็นด้วยกับข้อเสนอดังกล่าว และเชื่อมั่นว่าข้อเสนอนี้จะส่งผลดีต่อบริษัท การบินไทย ที่จะฟื้นฟูได้จริงและสามารถกลับมาดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพและผลกำไรดีกว่าเดิม
2. ประเด็นที่กระทรวงคมนาคมเสนอให้กระทรวงการคลังลดสัดส่วนการถือครองหุ้นลง 2% นั้น สหภาพฯ ขอแสดงจุดยืนคัดค้านข้อเสนอดังกล่าวของกระทรวงคมนาคม เนื่องจากการบินไทยกำลังเข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการโดยกระบวนการทางศาล ดังนั้น การที่กระทรวงการคลังจะลดสัดส่วนการถือครองหุ้นในเวลานี้อาจส่งผลให้เจ้าหนี้ยื่นคัดค้านการร้องขอต่อศาลในการขอฟื้นฟูกิจการ โดยอาศัยบทบัญญัติในกฎหมายล้มละลายได้ เนื่องจากการที่บริษัทสามารถออกหุ้นกู้ และ/หรือขอกู้เงินจากสถาบันการเงินทั้งในและต่างประเทศ เจ้าหนี้และนักลงทุนมีความเชื่อมั่นในบริษัทฯ ได้ก็โดยอาศัยสถานะความเป็นรัฐวิสาหกิจของบริษัทฯ ดังนั้น การลดสัดส่วนหุ้นของกระทรวงการคลังในช่วงที่บริษัทกำลังจะเข้าแผนฟื้นฟูจึงเป็นการทำลายความเชื่อมั่นของบริษัทในสายตาของเจ้าหนี้และนักลงทุน
และการลดสัดส่วนหุ้นของกระทรวงการคลังลงเหลือต่ำกกว่า 50% จะส่งผลทำให้สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทยถูกยุบไปตามกฎหมาย (พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ 2543) ซึ่งจะส่งผลทำให้พนักงานของบริษัทไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานในช่วงการดำเนินการตามแผนฟื้นฟู ซึ่งในแผนฟื้นฟูจะต้องมีการปรับลดพนักงาน ลด หรือยุบ บางตำเหน่งงาน รวมถึงลดสิทธิประโยชน์และสวัสดิการอื่นๆ บางประการของพนักงาน ดังนั้น การลดสัคส่วนหุ้นของคลังในช่วงนี้จึงอาจทำให้ถูกมองได้ว่ารัฐไม่มีความจริงใจในการสนับสนุนการคุ้มครองแรงงานตามวิถีทางของกฎหมายคุ้มครองแรงงาน และเลือกปฏิบัติในแนวทางที่ไม่คำนึงถึงสิทธิของลูกจ้าง
สหภาพฯ จึงไม่เห็นด้วยในการลดสัดส่วนการถือหุ้นของกระทรวงการคลังและจะคัดค้านจนถึงที่สุด