"ปัญญาพลวัตร"
"พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"
ภาวการณ์มุ่งไปสู่การใกล้ล่มสลายของ “การบินไทย” เป็นภาพแสดงให้เห็นถึงอิทธิฤทธิ์ของระบบอุปถัมภ์และการขาดธรรมาภิบาลในการบริหารองค์การว่ามีพลานุภาพมหาศาลเพียงใดต่อการบั่นทอนและทำลายองค์การที่มีประวัติยาวนาน รุ่มรวยด้วยทรัพย์สิน มากทรัพยากร และพรั่งพร้อมบุคลากรให้ประสบกับความล้มเหลวอย่างต่อเนื่อง จนก้าวไปสู่ปากเหวของการล้มละลายอยู่รอมร่อในปัจจุบัน
ในปี พ.ศ. ๒๕๐๓ ประเทศไทยมีบริษัทการบินแห่งชาติในฐานะที่เป็นรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงคมนาคมเกิดขึ้น หลังเปิดบริการไม่นาน การบินไทยเป็นหนึ่งในรัฐวิสาหกิจที่ได้รับการกล่าวขานว่าเป็นหน้าเป็นตาและความภูมิใจของประเทศ และได้รับการยกย่องในระดับนานาชาติในฐานะที่เป็นสายการบินระดับแนวหน้าของโลก ในท่ามกลางภาพลักษณ์ที่ดูดี การบินไทยมีจุดอ่อนที่ร้ายแรงบางอย่างแฝงเร้นอยู่ในระดับลึก ที่มีศักยภาพในการบั่นทอนสมรรถนะการแข่งขันขององค์การในระยะยาว นั่นคือระบบการบริหารที่ถูกครอบงำด้วยระบบอุปถัมภ์และปัญหาธรรมาภิบาล
จากข้อมูลที่มีการเผยแพร่ในสาธารณะ การบินไทยประสบการขาดทุนมหาศาลสะสมอย่างต่อเนื่อง โดยในปี ๒๕๕๑ ขาดทุน ๒๑,๓๗๙ ล้านบาท จากนั้นในปี ๒๕๕๒ และ ๒๕๕๓ กลับมามีกำไรชั่วคราวสองปีคือ กไไร ๗,๓๔๔ ล้านบาท และ ๑๔,๗๔๔ ล้านบาท ทว่า กลับขาดทุนอีก ในปี ๒๕๕๔ จำนวน ๑๐,๑๙๗ ล้านบาท ต่อมาในปี ๒๕๕๕ กำไร ๖,๒๙๙ ล้านบาท และตั้งแต่ปี ๒๕๕๖ เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน การบินไทยก็เดินเข้าสู่ปากเหวของความหายนะอย่างต่อเนื่องโดยขาดทุนติดต่อกันสามปี ในปี ๒๕๕๖ ๒๕๕๗ และ ๒๕๕๘ จำนวน ๑๒,๐๔๗ ล้านบาท ๑๕,๖๑๒ ล้านบาท และ ๑๓,๐๖๘ ล้านบาท ตามลำดับ และแม้ว่าในปี ๒๕๕๙ จะมีกำไรเล็กน้อย ๑๕ ล้านบาท แต่ก็หวนกลับสู่ภาวะการขาดทุนอย่างมหาศาลอีกครั้งในปี ๒๕๖๐ i จำนวน ๒,๐๗๒ ล้านบาท ในปี ๒๕๖๑ii ขาดทุนเพิ่มเป็น ๑๑,๖๐๕ ล้านบาท และในปี ๒๕๖๒iii ขาดทุนถึง ๑๒,๐๔๐ ล้านบาท
หากนำผลการประกอบการของการบินไทยพิจารณาร่วมกับกลุ่มอำนาจที่บริหารประเทศ ภาพที่เราเห็นคือ ในปี ๒๕๕๗ ถึง ๒๕๖๒ เป็นยุคที่ คสช.ครองอำนาจและมี “พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา” เป็นนายกรัฐมนตรี การบินไทยขาดทุนรวม ๕๔,๓๘๒ ล้านบาท ส่วนในปี ๒๕๕๑ ๒๕๕๕ และ ๒๕๕๖ เป็นยุคที่รัฐบาลกลุ่มทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ ขาดทุนรวม ๒๗,๑๙๗ ล้านบาท ขณะที่ระหว่างปี ๒๔๕๒ ถึง ๒๕๕๔ ในยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ กลับกำไรรวม ๑๑,๘๙๑ ล้านบาท
ภาพหนึ่งที่เราเห็นคือ รัฐบาลเผด็จการทหาร และรัฐบาลเลือกตั้งของกลุ่มทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ที่มีองค์ประกอบของกลุ่มทุนธุรกิจการเมืองสูงมีความสัมพันธ์กับภาวะการขาดทุนของการบินไทยทั้งคู่ เพียงแต่สมัยที่รัฐบาลเผด็จการทหารบริหารประเทศ ดูเหมือนว่าการบินไทยขาดทุนสูงกว่ารัฐบาลกลุ่มทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ประมาณสองเท่า ขณะที่ยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ซึ่งมีองค์ประกอบเป็นรัฐบาลผสมหลายพรรคและมีความเป็นธุรกิจการเมืองต่ำกว่า ตัวเลขการประกอบการรวมของการบินไทยกลับมีกำไร
ตัวเลขการขาดทุนสะสมต่อเนื่องอย่างยาวนานของการบินไทยย่อมเป็นสิ่งบ่งชี้ความล้มเหลวของการบริหารได้อย่างชัดเจนที่สุด เป็นความล้มเหลวที่เรียกได้ว่าน่าอับอายอย่างยิ่ง เพราะในช่วงสิบปีที่ผ่านมามีการเติบโตของธุรกิจการท่องเที่ยวอย่างมหาศาล ซึ่งทำให้การทางระหว่างประเทศและภายในประเทศด้วยเครื่องบินขยายตัวอย่างไม่เคยมีมาก่อน ปรากฏการณ์นี้ในทางการบริหารองค์การถือได้ว่าเป็น “โอกาสทอง” ในการสร้างการเติบโตให้แก่องค์การ แต่กลับกลายไปว่า นอกจากการบินไทยไร้ความสามารถในการนำโอกาสที่เกิดขึ้นมาสร้างเป็นยุทธศาสตร์ที่มีประสิทธิผลและยังประโยชน์แก่องค์การแล้ว กลับทำลายโอกาสเหล่านั้นลงอย่างสิ้นเชิง และทำให้บริษัทกลายเป็น “ผู้แพ้” ในสนามการแข่งขันอย่างเหลือเชื่อ โดยเฉพาะการพ่ายแพ้ต่อบริษัทการบินของเอกชนที่เพิ่งเข้ามาสู่สนามการแข่งขันในละแวกนี้หลายบริษัททีเดียว
องค์การที่ไร้ความสามารถในการนำโอกาสมาสร้างเป็นยุทธศาสตร์เชิงรุกขยายการเติบโตได้ย่อมบ่งชี้ว่า ผู้บริหารองค์การและคณะกรรมการขององค์การนั้นไร้วิสัยทัศน์และไม่มีสมรรถนะในการบริหารอย่างสิ้นเชิง คำถามคือ ทำไมการบินไทยจึงเต็มไปด้วยกลุ่มบุคคลที่ด้อยความสามารถมาทำหน้าที่กำหนดโยบาย ยุทธศาสตร์และการบริหารได้ คำตอบหลักที่ดูเหมือนชัดแจ้งเป็นอย่างมากคือกลุ่มบุคคลเหล่านั้นมาจากโครงสร้างของการบริหารประเทศที่มีแกนกลางเป็นระบบอุปถัมภ์ และการบริหารบ้านเมืองที่ไร้ธรรมาภิบาลนั่นเอง
รูปธรรมที่สะท้อนระบบอุปถัมภ์และขาดธรรมาภิบาลแสดงออกตั้งแต่การแต่งตั้งคณะกรรมการบริษัทไปจนถึงระบบการบริหารภายในองค์การ การแต่งตั้งบุคคลเข้าไปเป็นคณะกรรมการบริษัทเป็นไปโดยอาศัยเครือข่ายสายสัมพันธ์ภายในกลุ่มอำนาจทางการเมือง ซึ่งเชื่อมโยงด้วยค่านิยมเชิดชูระบบพวกพ้องยิ่งกว่าระบบคุณธรรม ช่วงเวลาใดที่นักการเมืองมาจากการเลือกตั้งบริหารประเทศ กรรมการบริษัทส่วนใหญ่ก็เป็นบุคคลที่มีความสัมพันธ์กับพรรคการเมืองที่ครองอำนาจรัฐ ช่วงเวลาใดที่คณะรัฐประหารมีอำนาจบริหารประเทศ คณะกรรมการทั้งหมดก็มาจากเครือข่ายอำนาจภายในกลุ่มรัฐประหาร การแต่งตั้งกรรมการที่กอปรด้วยวิสัยทัศน์ ความรู้และความสามารถในการบริหารองค์กรธุรกิจการบินนานาชาติเป็นสิ่งที่คนเหล่านั้นจินตนาการไปไม่ถึงและยากที่จะเกิดขึ้นได้
ผลที่ตามมาคือ การกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ของการบินไทยมีทิศทางที่ผิดพลาดอย่างใหญ่หลวง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการซื้อเครื่องบินหรือการกำหนดเส้นทางการบินก็ตาม และที่ร้ายยิ่งกว่าคือการตัดสินใจที่มีแนวโน้มในลักษณะที่อาศัยการบินไทยเป็นแหล่งแสวงหาผลประโยชน์แก่ตนเองและเครือข่ายอำนาจที่แต่งตั้งพวกตนเองเข้ามา และในบางยุคสมัยคณะกรรมการกลับขยายบทบาทอำนาจหน้าที่เข้าไปแทรกแซงการบริหารภายในการบินไทยแบบที่เรียกกันว่า “ล้วงลูก” ซึ่งมีการใช้อำนาจนอกเหนือจากขอบเขตอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการด้วยซ้ำ อันทำให้ปัญหาเลวร้ายยิ่งขึ้นไปอีก
หลักฐานการแทรกแซงการบริหารของคณะกรรมการบริษัทได้ถูกเปิดเผยต่อสาธารณะอย่างชัดเจนโดย “นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์” อดีตกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทการบินไทย ช่วง ๒๕๕๒-๒๕๕๕ นายปิยสวัสดิ์ได้กล่าวต่อสาธารณะภายหลังถูกปลดจากตำแหน่งเมื่อปี ๒๕๕๕ว่า สิ่งที่เป็นห่วงการบินไทยคือปัญหาธรรมาภิบาลในการบริหารงาน โดยเฉพาะการล้วงลูกการบริหารของคณะกรรมการบริษัทในการแต่งตั้งบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งหลายระดับ ทั้งที่บทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการบริษัทคือการกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ และแต่งตั้งบุคคลในระดับรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่เท่านั้น
ด้านการบริหารภายในก็มีอาการหนักไม่แพ้กัน ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนคือ ระบบการคัดเลือกบุคลากรเข้าไปทำงาน ซึ่งมีส่วนผสมระหว่างการคัดเลือกด้วยระบบคุณธรรมกับระบบเส้นสาย บุคคลที่ได้รับการคัดเลือกไปด้วยระบบคุณธรรมก็กลายเป็นกลุ่มที่ต้องทำงานหนักและเป็นเสาหลักที่ค้ำยันสถานภาพของการบินไทยเอาไว้ระดับหนึ่ง ส่วนกลุ่มคนที่เข้าไปด้วยระบบเส้นสายก็กลายเป็นปาราสิตที่เกาะกินสูบเลือกเนื้อของการบินไทยให้ค่อย ๆ เหือดแห้งไป ที่สำคัญมีความเป็นไปได้สูงว่า กลุ่มที่เข้าไปด้วยระบบเส้นสายจะเติบโตในองค์การยิ่งกว่ากลุ่มคนที่เข้าไปด้วยความสามารถของตนเอง เพราะว่าโครงสร้างส่วนบนของการบริหารที่ครอบการบินไทยอยู่นั้นเป็นระบบพวกพ้อง การแต่งตั้งโยกย้ายจึงแอบอิงกับบรรทัดฐานของการเป็นพวกเดียวกัน ยิ่งกว่าบรรทัดฐานของความสามารถนั่นเอง
การเดินไปสู่ภาวะใกล้ล้มละลายของการบินไทยเป็นบทเรียนราคาแพงของประเทศไทย และเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ไม่มีใครปฏิเสธได้เลยว่า ระบบอุปถัมภ์ การเล่นพรรคเล่นพวก และการบริหารที่ไร้ธรรมาภิบาลนั้นเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อการบริหารองค์การรัฐวิสาหกิจ และอันที่จริงภยันตรายที่เกิดขึ้น มิได้จำกัดขอบเขตอยู่เพียงแต่ในระดับองค์การเท่านั้น หากแต่ยังส่งผลต่อภาพรวมของประเทศด้วย สังคมการเมืองใดที่การบริหารประเทศยังถูกครอบงำด้วยระบบอุปถัมภ์ การเกื้อหนุนผลประโยชน์แก่พวกพ้อง และปราศจากธรรมาภิบาล สังคมนั้นก็ย่อมมีความเสี่ยงต่อการล้มละลายเช่นเดียวกัน
การล้มละลายของสังคมย่อมสร้างความเสียหายกว่าการล้มละลายขององค์การหลายเท่า เพราะสิ่งที่ตามมาคือความขัดแย้งและความรุนแรงทางสังคม อันเป็นความเสียหายที่มิอาจประมาณได้ และสิ่งที่น่าเป็นห่วงสำหรับสังคมไทยในเวลานี้คือ สัญญาณบางอย่างของการล้มละลายของสังคมเริ่มเผยตัวออกมาบ้างแล้ว
แหล่งอ้างอิง
- https://mgronline.com/daily/detail/9620000023280 - https://en.wikipedia.org/wiki/Thai_Airways - https://www.thansettakij.com/content/423233 - https://thaipublica.org/2012/06/piyasawat-email/