xs
xsm
sm
md
lg

แย้มทางรอดบินไทย...ฟ้องล้มละลาย-เข้าแผนฟื้นฟู

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ผู้จัดการรายวัน 360 - นายกฯ เผยแนวทางการยื่นฟ้องต่อศาลล้มละลายกลาง เพื่อนำ "การบินไทย" เข้าแผนฟื้นฟูกิจการมีความเป็นไปได้ หากไม่มีวิธีอื่น ขณะนี้อยู่ระหว่างการตัดสินใจ ย้ำยังไม่มีการหารือค้ำประกันเงินกู้ ขอประชาชนอย่ากังวล จะพิจารณาอย่างรอบคอบ 'วิษณุ' ปัดตอบปมยื่นศาลฟ้องล้มละลาย ด้านรมช.คมนาคม “ถาวร” ชี้แผนฟื้นฟูการบินไทย 23 ข้อทำไม่ได้จริง ทั้งขายแอร์บัส 340 / 9 ลำ ภายใน 7 เดือน เพิ่มรายได้ฝ่ายช่าง 50% ระบุค้ำเงินกู้ 2 ก้อนกว่า 1.3 แสนล้านไม่ใช่ทางออก ส่วนยื่นล้มละลายเป็นทางเลือกที่บริษัทจะไปต่อได้

วานนี้ (13 พ.ค.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เปิดเผยถึง ความคืบหน้าแผนฟื้นฟูกิจการบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI ว่า ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าแผนการฟื้นฟูบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการกำลังดำเนินการ ขณะที่ข้อเสนอที่ต้องการให้ยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลางเพื่อขอฟื้นฟูกิจการ เพื่อเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูอย่างแท้จริงนั้น จะต้องดูเรื่องของขั้นตอนทางกฎหมาย เพราะเดิมมีกฎหมายอยู่ 2 ตัว คือ กฎหมายของสหภาพฯ และกฎหมายรัฐวิสาหกิจ ดังนั้น วิธีการที่จะเข้าไปแก้ไขก็ต้องหาวิธี ถ้าหาวิธีอื่นได้ก็ดี แต่ถ้าไม่มีก็ต้องกลับเข้าไปสู่ขั้นตอนของกฎหมาย

ส่วนประเด็นเรื่องให้กระทรวงการคลังค้ำประกันเงินกู้นั้น พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ยังไม่มีการหารือกันเรื่องการค้ำประกันเงินกู้เพื่อนำมาฟื้นฟูตามที่เป็นข่าว ขอประชาชนอย่าเป็นกังวลในเรื่องดังกล่าว สำหรับแผนการฟื้นฟูจะมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ เพราะเกี่ยวข้องกับข้อกฎหมายหลายฉบับ โดยมอบหมายให้คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) และกระทรวงคมนาคมพิจารณาร่วมกัน ซึ่งต้องดำเนินการอีกหลายขั้นตอนก่อนที่จะมีการเห็นชอบในหลักการ เพื่อนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบ

'วิษณุ'โยนคมนาคม-คลังเคลียร์ปม'การบินไทย'

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีมีการเสนอยื่นคำร้องศาลฟ้องล้มละลายการบินไทย ว่า ตนไม่ทราบและไม่ได้เกี่ยวข้อง แต่มีคนอื่นดูเรื่องนี้ ทั้งกระทรวงคมนาคมและกระทรวงการคลัง

“ถาวร”ลุยสอบทุจริตการบินไทยเอาผิดคนชั่ว

นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า แผนฟื้นฟู บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) มี 23 เรื่องซึ่งตนและนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ได้มีการพิจารณาร่วมกันพบว่า แผนแต่ละข้อไม่ชัดเจน ไม่มีรายละเอียดและไม่น่าเชื่อว่าจะดำเนินการได้จริง ซึ่งการบินไทยมีผู้ถือหุ้นเป็นเอกชน ทั้งไทยและต่างชาติสัดส่วน 31 % การที่รัฐจะค้ำประกันเงินกู้ ซึ่งการบินไทยต้องการจำนวน 54,000 ล้านบาท และจำนวน 83,000 ล้านบาท เท่ากับรัฐโดยกระทรวงการคลังต้องค้ำประกันให้เอกชนที่เป็นใครก็ไม่รู้ แบบนี้ส่อเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

สำหรับ 23 เรื่องในแผนฟื้นฟู ยกตัวอย่าง 2 เรื่อง คือ 1. แผนขายเครื่องบิน เพื่อปลดระวาง เครื่องบินแอร์บัส A 340-500 จำนวน 3 ลำ และ แอร์บัส A 340-600 จำนวน 6 ลำ แผนเริ่มต้นเดือนพ.ค. 2563 –พ.ย. 2563 ส่งมอบในเดือนม.ค. 2564 มีเวลา 7 เดือน ถามว่า ใครจะมาซื้อ พิจารณาแผนข้อนี้แล้วจึงไม่น่าเชื่อถือ เพราะนอกจากสถานการณ์ปัจจุบัน เรื่องไวรัสโควิด-19 แล้ว เครื่องบินมีราคาตามมูลค่าทางบัญชี (Book Value) สูง แต่ราคาจริงเหลือไม่ถึง 10% ดังนั้นไม่มีใครกล้าเซ็นขาย และไม่มีคนซื้อ แน่นอน

เครื่องบินชุดนี้สั่งซื้อในยุครัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร แอร์บัส มีจำนวน 10 ลำ แบ่งเป็น A340-500 จำนวน 4 ลำ A 340-600 จำนวน 6 ลำ วงเงินเกือบ 1 แสนล้านบาท ซึ่งตามปกติ การจัดซื้อเครื่องบิน จะต้องมีการวางแผนก่อน จากนั้นจึงจัดซื้อและกำหนดการบิน หรือ Plan- Buy –Fly ซึ่งการบินไทย ใช้บินเส้นทางนิวยอร์ก ปรากฏว่าขาดทุนทุกเดือน บินอยู่เกือบปี ต้องหยุดบินและจอดเครื่องบินไว้เฉยๆ ปัจจุบันขายให้กองทัพอากาศไปแล้ว 1 ลำ คือ A340-500 ที่เหลืออีก 9 ลำ ยังขายไม่ออก ทำให้มีภาระค่าจอด ค่าซ่อม ค่าประกันภัยมาตลอดกว่า 10 ปี

2. แผนปรับปรุงของฝ่ายช่าง การบินไทย โดยการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพย์สิน มีการเพิ่มประสิทธิภาพ (Availability) โรงซ่อมเครื่องบิน (Hangar) ที่สนามบินดอนเมือง รองรับการซ่อมบำรุงทั้งเครื่องบินของไทยและลูกค้าภายนอกเพิ่มเพิ่มรายได้ 50% คำถามคือ จะหาลูกค้าจากไหนบ้าง ขณะที่มีแผนลดค่าใช้จ่ายในการซ่อมอากาศยานลง 11,000 ล้านบาท แต่จากข้อมูลที่ฝ่ายช่างเคยมาชี้แจง ระบุว่า การบินไทยใช้พื้นที่สนามบินดอนเมืองเกือบ 1 แสนตารางเมตร ซึ่งทางบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. คิดค่าเช่าทุกตารางเมตรมีกี่ชั้นคิดหมดทุกตารางเมตร และเพิ่มค่าเช่าอีก 7 เท่า พิจารณาแล้วแผนเพิ่มรายได้ลดรายจ่ายของฝ่ายช่าง เป็นไปได้ยาก

ส่วนแนวทางการฟื้นฟูโดยใช้พ.ร.บ.ล้มละลายนั้น นายถาวรกล่าวว่า หากการบินไทยต้องเข้าสู่กระบวนการตามพ.ร.บ.ล้มละลาย ไม่ได้หมายความว่าบริษัทจะล้ม เพราะวัตถุประสงค์ในการใช้พ.ร.บ.ล้มละลายนั้น เพื่อรักษามูลค่าขององค์กรไว้เป็นหนึ่งเดียว แทนที่จะถูกแยกจำหน่ายเป็นส่วนๆ ซึ่งจะส่งผลต่อมูลค่าของกิจการลดลง และเพื่อให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้อยู่ยุติธรรมและเสมอภาค ส่วนลูกหนี้ยังสามารถดำเนินธุรกิจต่อไป และรักษาสภาพการจ้างงานไว้ เป็นต้น



กำลังโหลดความคิดเห็น