“ถาวร” ยันแผนฟื้นฟูการบินไทย 23 ข้อทำไม่ได้จริง เช่น ขายแอร์บัส 340/9 ลำภายใน 7 เดือน เพิ่มรายได้ฝ่ายช่าง 50% ย้ำค้ำเงินกู้ 1.3 แสนล้านไม่ใช่ทางออก ส่วนยื่นล้มละลายเป็นทางเลือกที่บริษัทจะไปต่อได้ ลั่นเดินหน้าสอบหาคนทุจริตมาลงโทษ เผยยุค “ทักษิณ” ซื้อแอร์บัส 340 ต้นตอทำขาดทุน
นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า แผนฟื้นฟู บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) มี 23 เรื่อง ซึ่งตน และนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ได้มีการพิจารณาร่วมกันพบว่า แผนแต่ละข้อไม่ชัดเจน ไม่มีรายละเอียดและไม่น่าเชื่อว่าจะดำเนินการได้จริง ซึ่งการบินไทยมีผู้ถือหุ้นเป็นเอกชนทั้งไทยและต่างชาติสัดส่วน 31% การที่รัฐจะค้ำประกันเงินกู้ ซึ่งการบินไทยต้องการจำนวน 54,000 ล้านบาท และจำนวน 83,000 ล้านบาท เท่ากับรัฐโดยกระทรวงการคลังต้องค้ำประกันให้เอกชนที่เป็นใครก็ไม่รู้ แบบนี้ส่อเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
สำหรับ 23 เรื่องในแผนฟื้นฟู ขอยกตัวอย่าง 2 เรื่อง คือ 1. แผนขายเครื่องบินเพื่อปลดระวางเครื่องบินแอร์บัส A340-500 จำนวน 3 ลำ และแอร์บัส A340-600 จำนวน 6 ลำ แผนเริ่มต้นเดือน พ.ค. 2563-พ.ย. 2563 ส่งมอบในเดือน ม.ค. 2564 มีเวลา 7 เดือน ถามว่าใครจะมาซื้อ พิจารณาแผนข้อนี้แล้วจึงไม่น่าเชื่อถือ เพราะนอกจากสถานการณ์ปัจจุบัน เรื่องไวรัสโควิด-19 แล้ว เครื่องบินมีราคาตามมูลค่าทางบัญชี (Book Value) สูง แต่ราคาจริงเหลือไม่ถึง 10% ดังนั้นไม่มีใครกล้าเซ็นขาย และไม่มีคนซื้อแน่นอน
เครื่องบินชุดนี้สั่งซื้อในยุครัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร แอร์บัสมีจำนวน 10 ลำ แบ่งเป็น A340-500 จำนวน 4 ลำ A340-600 จำนวน 6 ลำ วงเงินเกือบ 1 แสนล้านบาท ซึ่งตามปกติการจัดซื้อเครื่องบินจะต้องมีการวางแผนก่อน จากนั้นจึงจัดซื้อและกำหนดการบิน หรือ Plan-Buy-Fly ซึ่งการบินไทยใช้บินเส้นทางนิวยอร์ก ปรากฏว่าขาดทุนทุกเดือน บินอยู่เกือบปีต้องหยุดบินและจอดเครื่องบินไว้เฉยๆ ปัจจุบันขายให้กองทัพอากาศไปแล้ว 1 ลำ คือ A340-500 ที่เหลืออีก 9 ลำยังขายไม่ออก ทำให้มีภาระค่าจอด ค่าซ่อม ค่าประกันภัยมาตลอดกว่า 10 ปี
2. แผนปรับปรุงของฝ่ายช่างการบินไทย โดยการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพย์สิน มีการเพิ่มประสิทธิภาพ (Availability) โรงซ่อมเครื่องบิน (Hangar) ที่สนามบินดอนเมือง รองรับการซ่อมบำรุงทั้งเครื่องบินของไทยและลูกค้าภายนอกเพื่อเพิ่มรายได้ 50% คำถามคือ จะหาลูกค้าจากไหนบ้าง ขณะที่มีแผนลดค่าใช้จ่ายในการซ่อมอากาศยานลง 11,000 ล้านบาท แต่จากข้อมูลที่ฝ่ายช่างเคยมาชี้แจง ระบุว่าการบินไทยใช้พื้นที่สนามบินดอนเมืองเกือบ 1 แสนตารางเมตร ซึ่งบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.คิดค่าเช่าทุกตารางเมตรมีกี่ชั้นคิดหมดทุกตารางเมตร และเพิ่มค่าเช่าอีก 7 เท่า พิจารณาแล้วแผนเพิ่มรายได้ลดรายจ่ายของฝ่ายช่าง เป็นไปได้ยาก
ส่วนแนวทางการฟื้นฟูโดยใช้ พ.ร.บ.ล้มละลายนั้น นายถาวรกล่าวว่า หากการบินไทยต้องเข้าสู่กระบวนการตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย ไม่ได้หมายความว่าบริษัทจะล้ม เพราะวัตถุประสงค์ในการใช้ พ.ร.บ.ล้มละลายนั้นเพื่อรักษามูลค่าขององค์กรไว้เป็นหนึ่งเดียว แทนที่จะถูกแยกจำหน่ายเป็นส่วนๆ ซึ่งจะส่งผลต่อมูลค่าของกิจการลดลง และเพื่อให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้อยู่ยุติธรรมและเสมอภาค ส่วนลูกหนี้ยังสามารถดำเนินธุรกิจต่อไป และรักษาสภาพการจ้างงานไว้ เป็นต้น ซึ่งสายการบินเจแปนแอร์ไลน์ได้เข้ากระบวนการล้มละลาย มีการเจรจากับเจ้าหนี้ขอลดหนี้ ชะลอจ่ายหนี้ หรือเปลี่ยนเป็นทุน เพื่อให้ธุรกิจเดินต่อไปได้ ดังนั้น กรณีสหภาพฯ การบินไทยขอให้รัฐช่วย คือการเอาภาษีจากประชาชนไปช่วยการบินไทย ซึ่งจะไม่เป็นธรรมต่อประชาชน
นายถาวรกล่าวว่า ธุรกิจการบินไทยมีมูลค่า 2 แสนล้านบาท โดยเป็นเงินเดือน 4-5 หมื่นล้านบาท นอกจากนั้นเป็นการจัดซื้อ เป็นค่าใช้จ่ายอื่นๆ ซึ่งล้วนมีช่องโหว่ทำให้เกิดการรั่วไหลทั้งสิ้น ประกอบกับการบริหารไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้ตั้งคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงในการบริหารกิจการของบริษัทและปัญหาการทุจริต ที่มี พล.ต.ท.ชาญเทพ เสสะเวช เป็นหัวหน้าคณะทำงาน ซึ่งมีการเปิดรับข้อมูล 3 ช่องทาง ทั้งทางอีเมล บัตรสนเท่ห์ หรือจะเข้ามาพบและให้ข้อมูลด้วยตัวเองก็ได้
“ยืนยันการกวาดล้างคนทำทุจริตเป็นเรื่องที่ต้องทำ เพราะหากจะฟื้นฟูการบินไทยแล้วคนชั่วยังมีอำนาจอยู่ ใส่เงินเข้าไปเท่าไรก็มีปัญหาเหมือนเดิม ดังนั้นเพื่อให้การเริ่มต้นใหม่ของการบินไทย และแผนฟื้นฟูทำไปแล้วบริษัทอยู่รอด พนักงานมีงานทำ มีสายการบินแห่งชาติต่อไปได้ ต้องตรวจสอบเพื่อแยกคนไม่ดีออกไป ต้องมีข้อมูลที่จะบอกว่า ตั้งคนนี้ได้ ตั้งคนนี้ไม่ได้ และหากพบคนทำทุจริตก็ต้องมีการลงโทษ และหากติดตามยึดทรัพย์คืนได้ก็ต้องทำ” นายถาวรกล่าว