อนาคตบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) มืดมนลงทุกที เพราะแผนฟื้นฟูการดำเนินงานที่ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ถูกรัฐบาลตีกลับ เนื่องจากไม่มีแนวทางการแก้ปัญหาที่ชัดเจนในหลายด้าน ทำให้แผนระดมเงินจำนวน 50,000 ล้านบาท เพื่อเสริมสภาพคล่องต้องสะดุดลง
สายการบินแห่งชาติ “การบินไทย” ประสบภาวะขาดทุนติดต่อกันหลายปี เนื่องจากเป็นสายการบินที่มีต้นทุนค่าใช้จ่ายสูง โดยสองปีที่ผ่านมา ขาดทุนปีละกว่า 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งคาดว่าปีนี้ จะขาดทุนหลายหมื่นล้านบาท
ผลประกอบการที่ขาดทุนหนักและต่อเนื่อง ทำให้บริษัทประสบปัญหาสภาพคล่อง ซึ่งตามแผนฟื้นฟูฯ จะต้องกู้เงินเสริมสภาพคล่องประมาณ 50,000 ล้านบาท แต่เมื่อแผนฟื้นฟูฯ ยังไม่ผ่านความเห็นชอบของ ครม.การกู้เงินมาชำระหนี้และใช้เป็นทุนหมุนเวียนจึงชะลอไว้ก่อน และจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานตามมา
ปัญหาของการบินไทยกลายเป็นเผือกร้อนของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพราะมีกระแสต่อต้านการเข้าไปอุ้ม โดยเฉพาะการค้ำประกันเงินกู้ 50,000 ล้านบาท
ส่วนการลดสัดส่วนการถือหุ้นของกระทรวงการคลังจาก 51% ของทุนจดทะเบียน เพื่อพ้นจากการเป็นรัฐวิสาหกิจ และแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนเต็มตัว สหภาพแรงงานการบินไทยก็ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้าน ทำให้การแก้วิกฤตเจอแต่ทางตัน
โจทย์ของการบินไทย เป็นโจทย์ยาก เพราะภาระหนี้ท่วมตัว โดยมีหนี้ประมาณ2.44 แสนล้านบาท ขณะที่ผลดำเนินงานขาดทุนอย่างหนัก มียอดขาดทุนสะสมกว่า 1.9 หมื่นล้านบาท และมีแนวโน้มจะขาดทุนสะสมเพิ่มขึ้น
เสียงคัดค้านการอุ้มการบินไทย เนื่องจากเห็นว่า เงินที่รัฐบาลใส่เข้าไป จะสูญเปล่า เพราะการบินไทยกลายเป็นบริษัทที่ถมไม่เต็ม เว้นแต่จะพลิกฟื้นผลดำเนินงานให้กลับมามีกำไร ซึ่งมองไม่เห็นว่า จะเกิดขึ้นได้อย่างไร โดยเฉพาะในวิกฤตไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้สายการบินทั่วโลกทยอยกันล้มละลาย
แผนผ่าตัดใหญ่การบินไทยเกิดขึ้นหลายรอบและดำเนินการมาหลายปีแล้ว แต่ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง เพราะไม่สามารถลดต้นทุนค่าใช้จ่าย ไม่อาจจะพลิกผลประกอบการให้มีกำไร ยิ่งถูกผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ซ้ำเติม ทำให้สถานการณ์ในปีนี้วิกฤต จนจำเป็นต้องระดมเงินก้อนโตเพื่อพยุงฐานะด่วน
ทางรอดเฮือกสุดท้ายของการบินไทยอยู่ที่ความช่วยเหลือจากรัฐบาล แต่รัฐบาลแสดงท่าทีแล้วว่า ไม่อยากจะแบกภาระสายการบินแห่งชาติแห่งนี้ต่อไป และต้องการแปรรูปเป็นบริษัทเอกชน โดยลดสัดส่วนการถือหุ้นของกระทรวงการคลังลง
หรือปล่อยให้การบินไทยเข้าสู่ภาวะล้มละลาย ตามที่หลายฝ่ายเสนอแม้จะเป็นแนวทางแก้ปัญหาที่ดี เพื่อเริ่มต้นกระบวนการฟื้นฟู แต่รัฐบาลต้องยอมรับในผลกระทบที่จะตามมา
สถาบันการเงินจะมีหนี้เสียมากขึ้น สหกรณ์ออมทรัพย์ที่ลงทุนในหุ้นกู้การบินไทยกว่า 70 แห่ง จะแบกรับความเสียหาย
กองทุนวายุภักษ์ และผู้ถือหุ้นรายย่อยจำนวน 106,958 ราย จะเกิดความสูญเสีย
การบินไทยเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2535 โดยเป็นหุ้นรัฐวิสาหกิจรุ่นแรกๆ ที่แปรรูปเข้าตลาดหุ้น หลังจากนำหุ้นเสนอขายประชาชนในราคา 60 บาท และได้รับความสนใจอย่างล้นหลาม จนปริมาณหุ้นที่นำมาจัดสรรไม่เพียงพอต่อความต้องการ ต้องปันส่วนให้จองซื้อได้คนละ 200 หุ้น แต่เมื่อหุ้นเข้ามาซื้อขาย ราคากลับปรับตัวลงต่ำกว่าราคาจองหรือต่ำกว่า 60 บาท
ปัจจุบันยังมีนักลงทุนจำนวนไม่น้อยที่ถือหุ้นการบินไทย ในราคาจองหรือราคาต้นทุน 60 บาทอยู่ โดยหวังว่า ราคาหุ้นจะฟื้น แต่ราคาหุ้นกลับฟุบลง และปิดเมื่อวันอังคารที่ผ่านมาในราคา 5.70 บาท ซึ่งเมื่อปลายเดือนมีนาคมเคยทรุดลงไปต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 2.74 บาท
อย่างไรก็ตาม ช่วง 1 เดือนเศษที่ผ่านมา หุ้นการบินไทยกลับสู่ความคึกคักอีกครั้ง มีการซื้อขายเก็งกำไรจากข่าวแผนฟื้นฟูกิจการ ทั้งที่แผนการกอบกู้วิกฤตยังไม่มีความชัดเจน และรัฐบาลยังไม่สามารถทำให้นักลงทุนเกิดความมั่นใจว่า จะช่วยให้การบินไทยรอดได้อย่างไร
ถ้าไม่สามารถลดความเทอะทะขององค์กร ไม่ลดค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรลงได้ และดำรงความเป็นสายการบินต้นทุนสูงต่อไป การพลิกฟื้นผลดำเนินงานให้กลับมามีกำไรคงเป็นไปไม่ได้
ในทางธุรกิจ การบินไทยอยู่ในภาวะที่อุ้มไม่ไหว เดินต่อไปไม่ได้ และควรปล่อยให้ล้มละลาย เพื่อหยุดความสูญเสีย เพราะไม่คุ้มที่จะทุ่มเงินเข้าไปพยุง
ภาษีของประชาชนถูกใช้เพื่อช่วยให้การบินไทยอยู่รอดมานานนับสิบปีแล้ว ตอนนี้ประชาชนกำลังจะไม่รอด เพราะผลกระทบจากเชื้อไวรัส “โควิด”
ถ้าจะต้องใส่เงินช่วยการบินไทยอีก นำเงินมาเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจาก “โควิด” ไม่ดีกว่าหรือ ไม่มีใครด่ารัฐบาลด้วย