xs
xsm
sm
md
lg

ชะลอแผนฟื้นฟู“บินไทย”เข้าครม – คลังจ่อลดถือหุ้น - นายกฯขู่ให้โอกาสสุดท้าย

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ผู้จัดการรายวัน360- นายกฯเผยแผนฟื้นฟูการบินไทยยังไม่เอาเข้าครม. ซัดให้เวลาปรับโครงสร้าง 5 ปีแล้ว ยังเหลว ยันไม่ได้ก้าวล่วงอำนาจใคร ครั้งนี้เป็นการให้โอกาสครั้งสุดท้าย เตือนสหภาพต่างๆ ต้องร่วมมือ เพราะเป็นความเป็นความตายพวกท่านเอง "อุตตม" แจงฟื้นฟูการบินไทย คลังลดถือหุ้น ไม่การันตีค้ำประกันเงินกู้ โยนปลดพนักงานเป็นหน้าที่ของการบินไทย "ศักดิ์สยาม" แจงยังไม่ชงเข้าครม. เหตุไม่ได้รับมติอย่างเป็นทางการจาก คนร. ย้ำแผนฟื้นฟูต้องมีแนวทางการสร้างรายได้ที่ชัดเจน เพื่อทำให้ธุรกิจฟื้นตัวได้ในระยะยาว

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม แถลงภายหลังประชุมครม. ถึงแผนฟื้นฟูบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) จำนวนแสนล้านบาทว่า เป็นเรื่องของกระทรวงคมนาคม และคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ที่จะเสนอมา เพราะอยู่ในเรื่องของรัฐวิสาหกิจที่รัฐบาลต้องฟื้นฟูอยู่แล้ว ซึ่ง ใช้เวลามานานหลายปีพอสมควร และนี้เป็นโอกาสสุดท้ายที่เราจะดูแลไม่ให้แย่ไปกว่านี้ เพราะมันค่อนข้างยากที่จะมีการปรับทั้งในองค์กร บุคลากร ปรับโครงสร้างต่างๆ ทั้งหมด ซึ่งคณะกรรมการ ผู้บริหารและสหภาพแรงงาน ทุกคนต้องร่วมมือกัน ถ้าท่านยังคงไม่ปฏิบติตามก็จะเกิดปัญหา และลำบากไปกว่านี้ เมื่อถึงเวลาก็มีกฎหมายทุกตัว เมื่อเข้าเกณฑ์ตรงนั้น ก็ต้องไปตรงนั้น รัฐบาลก็เข้าไปดูแลไม่ได้ นี่คือสิ่งที่เป็นเหตุผล และความจำเป็น

นายกฯ กล่าวว่า วันนี้มีประมาณ 10 ประการ ที่เป็นแผนงานฟื้นฟูก็ต้องทำให้ได้ ฉะนั้นการที่จะให้เงินกู้ หรืออะไรต่างๆไป ไม่ใช่ให้ไปแล้วใช้จนหมด แล้วทุกอย่างก็ยังเป็นเหมือนเดิม ฉะนั้นครั้งนี้ท่านต้องปรับโครงสร้างทั้งหมด ตนก็ไม่ได้อย่างไปก้าวล่วงอำนาจของใครทั้งสิ้น เพราะมันมีกฎหมายของท่านอยู่ วันนี้ต้องหามาตรการที่มีความเหมาะสม ในเรื่องของรัฐวิสาหกิจที่มีหลายส่วนเกี่ยวข้องกับการบินเหล่านี้ ก็ขอให้ติดตามความก้าวหน้าต่อไป วันนี้ยังไม่นำเข้าครม. ตนพยายามให้ชี้แจงให้เกิดความชัดเจน แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือความร่วมมือ ขอร้องบรรดาลูกจ้าง พนักงานของการบินไทยทุกคน ต้องร่วมมือกัน ไม่อย่างนั้นไปไม่ได้แน่นอน และมีเหตุผลความจำเป็นต้องมีการบินไทยอยู่ ทั้งนี้ในเรื่องของการขายตั๋ว การจัดตั้งตำแหน่งต่างๆ การลดรายจ่ายต่างๆที่เกินความจำเป็น ต้องนี้ต้องนำมาแก้ไขทั้งหมด

"ผมให้เวลาไปแก้ไข 5 ปีแล้ว ก็ยังไม่สำเร็จ ฉะนั้นครั้งนี้ก็ถือว่าเป็นครั้งสุดท้ายที่รัฐบาลจะต้องดำเนินการให้ได้ตามนั้น ก็ต้องขอความร่วมมือจากบรรดาสหภาพต่างๆ ด้วย เพราะนั่นคือความเป็นความตายของท่าน อันนี้ก็ขอฝากไว้ด้วย และขอทำความเข้าใจด้วย" นายกรัฐมนตรี กล่าว

"อุตตม"เริ่มส่งสัญญาณเป็นนัย! ขายหุ้นการบินไทย

นายอุตตม สาวนายก รมว.การคลัง เปิดเผยว่า เรื่องแผนฟื้นฟูบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI นั้น ยังไม่มีการนำเสนอเข้าสู่การประชุมของคณะรัฐมนตรี(ครม.)วานนี้ (5 พ.ค.) เนื่องจากผู้ถือหุ้น คือ กระทรวงการคลัง และผู้ที่รับผิดชอบโดยกระทรวงคมนาคม ยังพิจารณารายละเอียดของแผนไม่เสร็จ ซึ่งส่วนหนึ่งมีประเด็นเกี่ยวกับการให้กระทรวงการคลังค้ำประกันเงินกู้ 50,000 ล้านบาท ตามที่บริษัทการบินไทยขอมา อย่างไรก็ดี ในเรื่องการเป็นรัฐวิสาหกิจนั้น การบินไทยยังคงมีสถานะเหมือนเดิม แม้สัดส่วนการถือหุ้นของกระทรวงการคลังในการบินไทยอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงไปบ้างในอนาคต

" ประเด็นเกี่ยวกับการปรับลดพนักงานนั้น ตอนนี้กระทรวงคลังไม่มีการหารือ ลดพนักงานเพื่อลดรายจ่าย การจำหน่ายตั๋วโดยสารเพื่อเพิ่มรายได้ รวมถึงการจัดซื้อจัดจ้างให้มีประสิทธิภาพ เพราะเรื่องเหล่านี้การบินไทยต้องดูแลตัวเอง กระทรวงการคลังจะไม่เข้าแตะ" นายอุตตม กล่าว และว่า บริษัทการบินไทยมีปัญหามากก็จริง แต่ยังมีข้อดีอยู่บ้างเช่น การให้บริการภาคพื้น (Ground Service) การบริการด้านอาหารของครัวการบินไทย และการซ่อมบำรุง เป็นต้น ดังนั้น การแก้ปัญหาของการบินไทยในครั้งนี้ กระทรวงการคลังต้องจัดการให้เรียบร้อย รอบคอบ มีประสิทธิภาพและเห็นผลอย่างชัดเจน

"ถือเป็นเวลาที่สำคัญ ของการบินไทยต้องปรับตัว เพราะการบินไทยเหมือนกับสายการบินอื่นๆ ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และก่อนหน้านี้ การบินไทยก็มีปัญหาเรื่องผลการดำเนินงานอยู่แล้ว ดังนั้นในครั้งกระทรวงการคลังต้องแก้ปัญหาให้เรียบร้อย” นายอุตตม กล่าว

อนึ่ง สำหรับผู้ถือหุ้นอันดับ 1 ( ณ วันที่ 01/04/2562) ได้แก่ กระทรวงการคลัง จำนวน 1,113,931,061 หุ้น สัดส่วน 51.03% อันดับ 2 และ 3 เป็น กองทุนรวม วายุภักษ์หนึ่ง โดยบลจ.เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) จำนวนหุ้น รายการละ 165,037,582 หุ้น สัดส่วน 7.56% และอันดับ 4 บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด 71,645,528 หุ้น สัดส่วน 3.28% และอันดับ 5 ธนาคารออมสิน 46,409,885 หุ้น สัดส่วน 2.13% โดยผลการดำเนินงานของบริษัทฯ ขาดทุนสุทธิติดต่อมา 3 ปี

คมนาคมยันยังไม่ได้รับแผนฟื้นฟูฯจากคนร.

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า จากกรณีที่แผนฟื้นฟูของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นสายการบินแห่งชาติ ยังไม่ได้เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีในวานนี้ (5 พ.ค.) นั้น เนื่องจากมติของคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ยังไม่ได้มีการจัดส่งมายังกระทรวงคมนาคม ขณะเดียวกันทางกระทรวงคมนาคม อยู่ระหว่างการพิจารณาการปรับปรุงแผนฟื้นฟูการบินไทยให้มีความชัดเจนมากขึ้น ให้เป็นลักษณะของแผนปฏิบัติการ (Action Alan) ที่จะนำไปสู่การปฏิบัติได้จริง โดยตนได้มอบหมายให้ นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม และ นายชยธรรม์ พรหมศร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ร่วมกันดูในรายละเอียดของแผนฟื้นฟูการบินไทยที่มีการปรับปรุง ก่อนที่จะมีการนำเสนอให้กระทรวงคมนาคมสรุปผลอย่างเป็นทางการก่อนเข้า ครม.อีกครั้งหนึ่ง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับแผนฟื้นฟูของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) นั้นจะพบว่าแผนดังกล่าวไม่มีแผนการสร้างรายได้, แผนการบริหารหนี้, แผนรายจ่ายที่จะต้องดำเนินการตามกรอบเวลาให้เห็นภาพที่ชัดเจน ขณะเดียวกันตามแผนตามยุทธศาสตร์ที่จะดำเนินการทุกแผนของ การบินไทย ระบุว่ามีความเสี่ยงในขณะปฏิบัติงาน ดังนั้นจึงทำให้มีข้อกังวลว่าหากแผนมีการดำเนินการและเกิดความเสี่ยงขึ้น การที่ภาครัฐบาลจะใส่เม็ดเงินเข้าไปช่วยเหลือ ที่จะมีขึ้นในอนาคตก็จะมีความเสี่ยงไปด้วยเช่นกัน

นอกจากนั้นในแผนฟื้นฟูที่การบินไทยทำ ไม่มีการวิเคราะห์ถึงผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่เกิดขึ้น ว่าจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการบินอย่างไรบ้าง และไม่มีการประเมินเปรียบเทียบ หรือระยะเวลา หากการแพร่ระบาดเชื้อโรคโควิดจบที่เดือนไหน ต้องใช้เงินในการฟื้นฟูเท่าไร อย่างไร หรือหากการแพร่ระบาดแล้วเสร็จ การบินไทยจะมีแผนการสร้างรายได้จากธุรกิจที่มีอยู่ หรือจัดตั้งเป็นหน่วยธุรกิจ และจะมีแผนหาพันธมิตรที่จะมาร่วมดำเนินการเพื่อต่อยอดธุรกิจเพิ่มเติมอย่างไรบ้าง ซึ่งแผนที่ทำมาทั้งหมดเห็นได้ชัดว่าไม่มีความชัดเจนที่จะแก้ไขปัญหาและสร้างรายได้ให้กลับมา

อย่างไรก็ตามในส่วนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นกระทรวงการคลัง และกระทรวงคมนาคม ก็พร้อมที่จะเข้าไปช่วยเหลือเพื่อให้การบินไทยกลับมาเป็นสายการบินแห่งชาติที่ยิ่งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง แต่ทางการบินไทย เองก็ต้องช่วยเหลือตัวเองที่จะมุ่งประโยชน์ส่วนรวม รักษาองค์กรให้เดินหน้าต่อไปได้ร่วมกัน ไม่ใช่นึกถึงแต่ประโยชน์ของตัวเองเป็นหลัก



กำลังโหลดความคิดเห็น