xs
xsm
sm
md
lg

บทความ

x

การบินไทยในวันที่ไร้กัปตัน สมบัติของชาติที่ไม่มีเจ้าของ

เผยแพร่:   โดย: นพ นรนารถ



การบินไทย สายการบินแห่งชาติ ในวันที่มีอายุครบ 60 ปี เผชิญกับวิกฤตการณ์ครั้งใหญ่ที่สุด อันเนื่องมาจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 เช่นเดียวกับสายการบิน และธุรกิจอื่นๆ ทั่วโลก ที่ต้องปิดกิจการชั่วคราว รายได้หายหมด เหลือแต่รายจ่าย และหนี้สิน

แต่การบินไทย อาการหนักกว่าเพื่อน เพราะติดเชื้อ ในขณะที่ร่างกายอ่อนแอ ไม่มีภูมิต้านทานเลย จากผลการดำเนินงานที่ขาดทุนติดต่อกัน 3 ปีซ้อน ล่าสุดปี 2562 ขาดทุนถึง 12,000 ล้านบาท

ในขณะที่สายการบินโลว์คอสต์ในประเทศ เริ่มกลับมาทำการบินเท่าที่จะทำได้แล้ว หลังจากรัฐบาลผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ แต่เครื่องบินไทยสมายล์ และการบินไทย ทุกลำยังจอดนิ่ง ประกาศหยุดบินในประเทศไปถึงสิ้นเดือนมิถุนายน ส่วนการบินในต่างประเทศ ต้องรอให้การระบาดผ่านพ้นไปเสียก่อนซึ่งไม่รู้ว่านานแค่ไหน แต่การบินไทย ตัดสินใจยกเลิกเส้นทางการบินไปยังเมืองหลักๆ ที่เคยเป็นเส้นทางทำเงินหลายเส้นทางล่วงหน้าอย่างไม่มีกำหนด

เป็นสัญญาณว่า แม้ไวรัสโควิด-19 จะหมดฤทธิ์แล้ว การบินไทยก็ยังไม่พร้อมที่จะบินขึ้นฟ้า เพราะขาดทั้งทรัพยากรที่จำเป็น และที่สำคัญที่สุดคือ ไม่มีกัปตัน เพราะกรรมการผู้อำนวยการ หรือดีดีคนล่าสุด สุเมธ ดำรงชัยธรรม ตัดสินใจสละเรือไปก่อนแล้ว ทิ้งให้นักบินสำรองคนที่ 2 จักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล รองปลัดกระทรวงการคลัง ดูแลเครื่องบินไปก่อน ในฐานะรักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่

ส่วนหัวหน้ากัปตัน คือ ประธานกรรมการ เป็นทหารอากาศ เคยขับแต่เครื่องบินรบ ไม่ถนัดการบินพาณิชย์

การแต่งตั้งพลอากาศเอกชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน อดีตผู้บัญชาการทหารอากาศ เป็นประธานกรรมการแทนนายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ เมื่อต้นปีนี้ นับเป็นครั้งแรกในรอบ 28 ปี นับตั้งแต่การบินไทยเข้าตลาดหุ้น ที่กองทัพอากาศกลับมายึดตำแหน่งประธานกรรมการคืน

ในขณะที่ฝ่ายการเมือง คือ รัฐบาล การบินไทยอยู่ในการกำกับของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ถาวร เสนเนียม ทำได้แค่แต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบปัญหาที่รู้กันทั่วบ้านทั่วเมืองมานานแล้ว คือ ตรวจสอบว่า ทำไมการบินไทยจึงขาดทุน มีการทุจริตหรือไม่ โดยให้ตำรวจคือ อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เป็นประธาน กรรมการเกือบครึ่งหนึ่งจากทั้งหมด 33 คน เป็นตำรวจยศตั้งแต่นายร้อย นายพัน ถึงนายพล น่าเห็นใจนายถาวร ที่ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรกับการบินไทย ที่ตัวเองถูกมอบหมายให้กำกับดูแล เลยทำเท่าที่ทำได้ คือ ตั้งคนที่มีทักษะด้านสืบสวนสอบสวนคดีอาชญากรรม มาตรวจสอบการทำงานของการบินไทย

ปัญหาโครงสร้างความเป็นเจ้าของ โครงสร้างการบริหารของการบินไทยในขณะนี้ เป็นปัญหาร่วมของรัฐวิสาหกิจ ที่เป็นสมบัติของชาติ ที่ไม่มีใครเข้ามาจัดการบริหารอย่างมืออาชีพ นักการเมือง และข้าราชการประจำที่แบ่งเค้กกันมาดูแลนั้น ให้ความสำคัญกับ การจัดซื้อจัดจ้าง แต่พอรัฐวิสาหกิจมีปัญหาต้องแก้ไข นักการเมืองและข้าราชการไม่มีความรู้ ความสามารถ และไม่มีความมุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหา ดังที่เกิดขึ้นกับการบินไทยในขณะนี้ พอมีข้อเสนอว่า ให้ปฏิรูปรัฐวิสหกิจใหม่ ก็จะมีวาทกรรม “แปรรูปแอบแฝง-รัฐวิสาหกิจ เป็นสมบัติของชาติ ไม่ควรแตะต้อง” ปรากฏขึ้นจากกลุ่มเอ็นจีโอ ที่ต่อต้านโดยเปิดเผย และจากกลุ่มอิทธิพลข้าราชการประจำที่ต่อต้านอย่างเงียบๆ แต่ทรงพลัง

การบินไทย อาจจะมีทางออกสำหรับอนาคตของตัวเองมากกว่านี้ หากว่า การจัดตั้ง บรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ ไม่ถูกตัดทิ้งทั้งหมด จาก พ.ร.บ.การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจแห่งชาติ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ต้องการปฏิรูปการบริหารรัฐวิสาหกิจให้มีประสิทธิภาพ ด้วยการตั้งบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติขึ้นมา เป็นโฮลดิ้งคัมปะนี กำหนดนโยบายการบริหาร การแต่งตั้งบุคลากรของรัฐวิสาหกิจที่อยู่ในรูปบริษัท 11 แห่ง รวมทั้ง การบินไทย

การจัดตั้งบรรษัทวิสาหกิจ ถูกต่อต้านจากกลุ่มเอ็นจีโอ และสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ว่า เป็นการแปรรูปรัฐวิสาหกิจแบบเหมาเข่ง เป็นการเอาสมบัติของชาติ ใส่พานให้กลุ่มทุน ในขณะเดียวกัน พ.ร.บ.การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจแห่งชาติ ผ่านการพิจารณาวาระแรกของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2560 แต่ถูกดองอยู่ในคณะกรรมาธิการเกือบ 1 ปีครึ่งก่อนจะผ่านวาระ 2 และ 3 มีผลบังคับใช้เมื่อเดือนพฤษภาคม 2562 แต่หมวดว่าด้วยการตั้งบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ ถูกตัดทิ้งไปทั้งหมด

การประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจหรือ คนร.เมื่อวันที่ 29 เมษายนที่ผ่านมา เป็นการประชุมครั้งแรก ภายใต้กฎหมายการพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจแห่งชาติ ที่ประชุมอนุมัติให้กระทรวงการคลังค้ำประกันเงินกู้วงเงิน 50,000 ล้านบาทของการบินไทย เพื่อแก้ปัญหาสภาพคล่อง

เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เพราะปีนี้ การบินไทยมีหนี้ที่ถึงกำหนดต้องชำระประมาณ 21,000 ล้านบาท ต้องกู้มาจ่ายทั้งหนี้ ทั้งเงินเดือน และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ในขณะที่บริษัทจะไม่มีรายได้เข้ามาเลยอีกหลายๆ เดือน

ส่วนปัญหาระยะยาว ยังไม่มีคำตอบ มีความชัดเจนเพียงแค่การบินไทย ยังเป็นรัฐวิสาหกิจต่อไป แต่จะพ้นจากโคม่าออกจากห้องไอซียูได้เมื่อไร ไม่มีใครรู้

นี่คือ ราคาที่ต้องจ่าย สำหรับการรักษาสมบัติของชาติ


กำลังโหลดความคิดเห็น