พรรคก้าวไกลแถลงค้านรัฐอุ้มการบินไทย ให้คลังค้ำประกันเงินกู้ 54,000 ล้าน ชี้แผนฟื้นฟูใช้เงินสูงถึง 134,000 ล้าน อ้างไม่มีผู้นำชาติไหนใช้ภาษีช่วยสายการบินก่อนตกลงเงื่อนไขการช่วยให้ชัด จี้เปิดรายละเอียดแผน หยันปรับโครงสร้างสำเร็จ ไล่บอร์ดลาออกรับผิดชอบ ให้มืออาชีพทำแทน เห็นพ้อง “ธนาธร” เปิดเสรีน่านฟ้า
วันนี้ (11 พ.ค.) พรรคก้าวไกล ออกแถลงการณ์คัดค้านรัฐบาลอุ้ม บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) โดยระบุว่า กรณีที่คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้เห็นชอบให้กระทรวงการคลังค้ำประกันเงินกู้เพื่อเสริมสภาพคล่องในระยะสั้นจำนวน 54,000 ล้านบาท ให้แก่ บมจ.การบินไทย และคาดว่า จะมีการเสนอแผนการฟื้นฟูการบินไทยให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในวันพรุ่งนี้ (12 พ.ค.) นั้น พรรคเห็นว่าในสถานการณ์ที่ประเทศกำลังประสบปัญหาวิกฤต การใช้เงินภาษีจำนวนมหาศาลโดยไม่รับผิดชอบและไม่รอบคอบเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม โดยเม็ดเงินจริงๆ ที่จะใช้ในแผนฟื้นฟูการบินไทยสูงถึง 134,000 ล้านบาท เป็นอย่างน้อย ไม่ใช่แค่การค้ำประกันเงินกู้ 54,000 ล้านบาทเท่านั้น เพราะตามที่ปรากฏในรายงานของสื่อมวลชนยังมีแผนที่จะเพิ่มทุนอีก 80,000 ล้านบาทด้วย
แม้สายการบินทั่วโลกกำลังเผชิญกับวิกฤตโควิด-19 แต่ไม่มีผู้นำประเทศและรัฐบาลไหนในโลกที่ตัดสินใจใช้เงินภาษีของประชาชนให้ความช่วยเหลือสายการบินก่อนที่จะตกลงเงื่อนไขการให้ความช่วยเหลือได้ชัดเจน การบินไทยนั้นล้มเหลวในการบริหารมาโดยตลอด ขาดทุนต่อเนื่องมา 3 ปี ตั้งแต่ก่อนเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้สังคมตั้งคำถามว่าการอุ้มการบินไทยรอบนี้ จะเป็นการนำเงินภาษีจำนวนมหาศาลไปใช้อย่างสูญเปล่าหรือไม่
พรรคก้าวไกลขอเรียกร้องให้รัฐบาลเปิดเผยแผนฟื้นฟูการบินไทยโดยละเอียดก่อนที่จะมีการอนุมัติ เพื่อให้ประชาชนได้พิจารณาก่อน ทั้งนี้ เราพบว่า แผนฟื้นฟูดังกล่าวไม่ได้มีลักษณะแตกต่างไปจากแผนปฏิรูปการบินไทยเมื่อปี 2558 ซึ่งล้มเหลวมาแล้ว ทำให้ไม่สามารถเชื่อได้ว่าการบินไทยจะสามารถปรับโครงสร้างได้สำเร็จ จึงไม่อาจเชื่อได้ว่านี่คือการช่วยครั้งสุดท้ายตามคำพูดของนายกรัฐมนตรี และเงินในการอุ้มการบินไทยจะมากกว่า 134,000 ล้านบาทอย่างแน่นอน
ปัจจุบันมูลค่าตลาดของการบินไทยเหลืออยู่เพียง 15,000 ล้านบาท หากจะมีการใช้เงินกู้ฉุกเฉิน 54,000 ล้านบาท ต้องทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด และต้องยืนยันสิทธิ์ที่จะได้รับเงินคืนเต็มจำนวน ในระหว่างนี้ต้องมีการเจรจากับเจ้าหนี้เพื่อแปลงหนี้ให้เป็นทุนบางส่วน พร้อมกันนั้น ผู้บริหารการบินไทยชุดเดิมต้องลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบและเปิดให้ผู้บริหารมืออาชีพเข้าทำงานแทนที่เครือข่ายของผู้มีอำนาจ กองทัพ และข้าราชการ จากนั้นก็คงถึงเวลาที่จะต้องทบทวนว่า เรายังจำเป็นต้องมีสายการบินแห่งชาติอยู่อีกหรือไม่ และการบินไทยนั้นได้ทำหน้าที่ของสายการบินแห่งชาติได้ดีแค่ไหน ประชาชนและประเทศได้ประโยชน์อะไร หรือที่ผ่านมาเป็นเพียงแหล่งหาผลประโยชน์ให้แก่เครือข่ายของผู้มีอำนาจ กองทัพ และข้าราชการบนฐานภาษีเท่านั้น
โดยทางเลือกแรก หากเราจะไม่มีสายการบินแห่งชาติอีกต่อไป จำเป็นต้องมีเงื่อนไขการเปิดเสรีน่านฟ้าเพื่อให้เกิดการแข่งขันที่จะนำไปสู่ผลประโยชน์ของผู้บริโภค ส่วนทางเลือกที่เหลือ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีมืออาชีพด้านการกู้ธุรกิจล้มละลายเข้ามาบริหารในช่วงฟื้นฟู ก่อนที่จะกลับมาขายหุ้นบางส่วนให้เอกชนเมื่อฟื้นฟูเสร็จ ซึ่งสัดส่วนหุ้นที่จะขายให้เอกชนจะต้องตัดสินใจว่า หลังจากวิกฤตครั้งนี้รัฐจะยังคงถือหุ้นส่วนใหญ่ในการบินไทยหรือไม่ ถ้าถือหุ้นส่วนใหญ่ยังจะคงสัดส่วนมากกว่าหรือน้อยกว่า 50%