นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคมนาคม พร้อมด้วยนายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ตรวจเยี่ยมการดำเนินงาน พร้อมมอบนโยบายแก่บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ในการฟื้นฟูกิจการของบริษัทฯ เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดการบินโลก โดยบริษัท การบินไทยฯ ต้องหา Position ของตนเองในอุตสาหกรรมการบินโลกให้ชัดเจน เพื่อสร้างมาตรฐานการบริการให้กลับมาเป็นสายการบินชั้นนำของโลกดังที่เคยเป็นมาในอดีต (Brand Rejuvenation) หาจุดแข็งและสร้างความแข็งแกร่งเพื่อตอบสนองความต้องการและสร้างความพึงพอใจสูงสุดให้แก่ลูกค้า การวางตำแหน่งทางการตลาดทั้งราคาและคุณภาพการให้บริการให้สามารถแข่งขันกับสายการบินชั้นนำของโลก มีการตรวจสอบคุณภาพการให้บริการอย่างสม่ำเสมอโดยให้ความสำคัญต่อการรับฟังความเห็นของผู้ใช้บริการผ่านช่องทาง Social Media
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม กล่าวว่า การบินไทยได้ทำแผนฟื้นฟูค่อนข้างสมบูรณ์ อยู่ในระหว่างการแปรไปสู่การปฏิบัติ ซึ่งได้เน้นในเรื่องบุคลากรที่มี ว่าปฏิบัติหน้าที่เต็มประสิทธิภาพแล้วหรือไม่ ด้านขวัญกำลังใจพนักงานมีน้อยหรือมากไปอย่างไร ต้องพิจารณาปรับปรุงเพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย รวมไปถึงอุปกรณ์ เครื่องมือ ของใช้บนเครื่องบิน ให้ดูทุกเรื่องเพื่อลดต้นทุนในการดำเนินงาน
ส่วนการจัดหาเครื่องบินใหม่นั้น การบินไทยต้องพิจารณาเครื่องบินที่มีอยู่ก่อนว่ามีเครื่องบินจอดซ่อมบำรุงแค่ไหน ศักยภาพในการซ่อมบำรุงเพียงพอหรือไม่ เป้าหมายเพื่อให้ใช้เครื่องบินที่มีให้เต็มประสิทธิภาพที่สุดเพราะจะสร้างรายได้เข้ามา
นอกจากนี้ การนำเทคโนโลยีมาใช้เพิ่ม และทำแผนบริหารบุคลากรให้สอดคล้อง ซึ่งได้สอบถามกรณีที่มีการรับสมัครพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน แต่มีข่าวว่าพนักงานต้อนรับที่มีเกินจำนวนเครื่องบิน ทำไมรับเพิ่มอีก ซึ่งทางผู้บริหารได้ชี้แจงว่าเป็นการทำควบคู่เพื่อทดแทนพนักงานที่ครบวาระ ซึ่งได้มอบนโยบายด้านบุคลากรและการทำงาน (Job description) เนื่องจากมีข้อมูลว่ามีพนักงานบางคนไม่เคยขึ้นบิน แต่มีการแลกเปลี่ยนเพื่อให้ได้รับสิทธิ์ต่างๆ ดังนั้นต้องหามาตรการแก้ไข เพราะจะทำให้สายการบินสูญเสียในด้านบุคลากร และเพิ่มค่าใช้จ่ายของบริษัทฯ
“ตอนนี้บอร์ดและผู้บริหารการบินไทยลดสวัสดิการของตัวเองลง ก็ถามว่าลดไปถึงพนักงานด้วยได้หรือไม่ เพราะต้องยอมรับว่าขณะนี้บริษัทเป็นอย่างไร ต้องช่วยกันทุกคน หากต่างอยากได้ประโยชน์ตัวเองแล้วสุดท้ายปล่อยให้องค์กรล่มสลาย ไม่อยากให้การบินไทยเหมือนสายการบินบางประเทศที่ต้องการสายการบินแห่งที่ 2 แล้วปล่อยให้สายการบินแห่งชาติมีปัญหา การบินไทยมีกำแพงหลายชั้นทำให้เป็นอุปสรรคในการฟื้นฟูองค์กร แต่เชื่อมั่นในความสามารถของประธานบอร์ดและดีดีในการแก้ปัญหา วันนี้ผมยังเชื่อว่าการบินไทยจะฟื้นขึ้นมาได้”
สำหรับแผนจัดหาเครื่องบินใหม่ 38 ลำ มูลค่า 1.56 แสนล้านบาท นายศักดิ์สยามกล่าวว่าให้เร่งรัด ซึ่งเวลา 6 เดือนที่นายถาวร เสนเนียม รมช.คมนาคมให้กรอบเวลาไว้นั้น การบินไทยสามารถทำได้เร็วกว่า เพราะการจัดหาเครื่องบินใหม่จะสร้างศักยภาพการแข่งขันของการบินไทยได้ โดยให้ดูเรื่องมาตรฐานและมีประสิทธิภาพเหมาะสมกับธุรกิจ และเหมาะสมกับเส้นทางที่จะนำมาใช้
นอกจากนี้ได้มอบหมายให้ นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม ตั้งคณะทำงาน ประกอบด้วย การบินไทย, บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย (บวท.), บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เพื่อบูรณาการในการทำแผนธุรกิจแผนงานส่งเสริมการท่องเที่ยวตามนโยบายของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวให้มากขึ้น และให้คณะทำงานชุดนี้ประสานความเข้าใจระหว่างการบินไทยกับหน่วยงานในกระทรวงทั้งหมด โดยให้กรอบเวลา 3 เดือนในการดำเนินการดังกล่าวให้แล้วเสร็จ
@เจรจาแอร์บัส เร่งสรุปข้อเสนอ ร่วมทุน MRO ปลายปีนี้
ส่วนด้านความคืบหน้าศูนย์ซ่อมอากาศยาน (MRO) วงเงิน 1 หมื่นล้านบาทในพื้นที่อู่ตะเภา ขณะนี้ได้หารือกับแอร์บัส ซึ่งมีความคืบหน้าไปมากแล้ว เช่นเดียวกับสัญญา RFP ที่มีการเสนอบอร์ดอีอีซีให้พิจารณาแล้ว ซึ่งล่าสุดได้พบและหารือในประเด็นนี้กับทูตฝรั่งเศสซึ่งมีความเข้าใจร่วมกัน
นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท การบินไทย กล่าวว่า คณะกรรมการคัดเลือกฯ จะสรุป RFP ของศูนย์ซ่อมอากาศยาน (MRO) โดยเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อนได้หารือร่วมกับแอร์บัส โดยให้ความมั่นใจว่าภายในสิ้นปี 62 แอร์บัสจะยื่นข้อเสนอ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือร่วมกัน
สำหรับแผนฟื้นฟูบริษัทในช่วงก่อนสิ้นปี 62 มี 3 เรื่องที่จะดำเนินการ ได้แก่ 1. เรื่องการเพิ่มรายได้ โดยจะใช้ Data Analytic เพื่อนำมาเสนอขายตั๋วให้ได้มากที่สุดให้เต็มลำได้ทุกลำ 2. เร่งรัดหารายได้ด้าน E-Commerce ให้ได้ตามแผน แม้จะยังไม่ส่งผลต่อรายได้ในปีนี้มากนัก แต่จะส่งผลไปในปีหน้า 3. ลดค่าใช้จ่าย โดยเจรจายืดชำระค่าใช้จ่ายที่ยังไม่จำเป็นออกไปก่อน ตัดค่าใช้จ่ายที่ทำได้ ลดค่าตอบแทนผู้บริหารและบอร์ด และอยู่ระหว่างดำเนินการ ลดวันหยุดงาน 1 วัน
นอกจากนี้ จะเป็นการเร่งดำเนินการค่าเสียหายกับโรลส์-รอยซ์, สรุปแผนจัดหาเครื่องบินก่อนกรอบเวลา 6 เดือน, สร้างความเข้าใจกับพนักงาน ผู้ถือหุ้น ผู้โดยสาร ถึงสถานะและการแก้ปัญหาของบริษัท, ปรับปรุงโครงสร้างองค์กรให้รับกับ MRO
ขณะที่แผนในปี 2563 จะมุ่งสร้างรายได้จากโปรแกรมสะสมไมล์ของการบินไทย หรือ ROP, เพิ่มรายได้จากธุรกิจเสริม E-Commerce, ครัวการบิน, คาร์โก้, วิเคราะห์จุดบินให้สามารถแข่งขันได้ ทั้งเส้นทางไกลและใกล้, ใช้ Digital Marketing เพื่อปรับรูปแบบการขายโดยใช้ Online Sales เพิ่มยอดขายทางอินเทอร์เน็ต
ส่วนการลดค่าใช้จ่าย เป้าหมายลดการจัดซื้อจัดจ้างทั้งหมดลง 5-10%, ปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงาน ลดต้นทุนแต่ต้องเพิ่มประสิทธิภาพ และใช้ Data Analytic เต็มรูปแบบให้สามารถเสนอบริการได้ตรงความต้องการผู้โดยสาร, ขายทรัพย์สินที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ และปรับโครงสร้างองค์กร ซึ่งภายใน 3 เดือนจะทำไทม์ไลน์ และตัวชี้วัด (KPI) เสนอ รมว.คมนาคม