xs
xsm
sm
md
lg

“ศักดิ์สยาม” สั่งลุยเทอร์มินัล 2-ฟื้นโอนกระบี่-หั่นค่า “แลนดิ้ง” 50% หนุนท่องเที่ยว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ว่า ปัจจุบัน ทอท.มีแผนลงทุนพัฒนาเพิ่มขีดความสามารถสนามบินในความรับผิดชอบ 6 แห่ง ได้แก่ สุวรรณภูมิ ดอนเมือง เชียงใหม่ เชียงราย ภูเก็ต และหาดใหญ่ ในอีก 20 ปีข้างหน้ารองรับนักท่องเที่ยวได้ 180 ล้านคน (ระหว่างประเทศ 150 ล้านคน และในประเทศ 30 ล้านคน) โดยปัจจุบันทั้ง 6 แห่งมีขีดรองรับที่ 101 ล้านคน ขณะที่มีผู้โดยสารจริงรวม 141.87 ล้านคน/ปี โดยมีสนามบิน 5 แห่งที่มีผู้โดยสารเกินขีดการรองรับ

สุวรรณภูมิรองรับผู้โดยสารได้ 45 ล้านคน/ปี แต่ใช้บริการจริง 64.71 ล้านคน, ดอนเมืองรองรับได้ 30 ล้านคน ใช้บริการจริง 41.01 ล้านคน, เชียงใหม่รองรับได้ 8 ล้านคน ใช้บริการจริง 11.32 ล้านคน, ภูเก็ตรองรับได้ 12.5 ล้านคน ใช้บริการจริง 17.85 ล้านคน, หาดใหญ่รองรับได้ 2.5 ล้านคน ใช้บริการจริง 4.03 ล้านคน, เชียงรายรองรับได้ 3 ล้านคน ใช้บริการจริง 2.95 ล้านคน

ทั้งนี้ ให้ ทอท.เร่งแผนการพัฒนาขีดความสามารถทุกแห่งให้เป็นไปตามเป้าหมาย โดยในปี 2567 ขีดความสามารถจะรับได้ที่ 171.5 ล้านคน/ปี และยืนยันว่า 6 สนามบินของ ทอท.ไม่มีแผนหยุดการพัฒนาแต่อย่างใดเพราะเชื่อว่าศักยภาพประเทศไทยในการขนส่งทางอากาศยังมีอีกมาก เพียงแต่จะพัฒนาได้ทันหรือไม่เท่านั้น

สำหรับโครงการก่อสร้างเทอร์มินัล 2 สนามบินสุวรรณภูมิ วงเงิน 42,081.564 ล้านบาทนั้น นายศักดิ์สยามกล่าวว่า ไม่ให้เรียกเทอร์มินัล 2 เพราะว่าเป็นการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารต่อขยายไปด้านทิศเหนือของอาคารเทียบเครื่องบิน A (Concourse A) ซึ่งยืนยันเดินหน้า เพราะมีความจำเป็น แม้ว่าจะมีการเปิดอาคารเทียบเครื่องบินรอง (อาคารแซตเทิลไลต์) หลังที่ 1 แต่ยังไม่เพียงพอต่อจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น ซึ่งทอท.ได้ทำเวิร์กชอปชี้แจงทำความเข้าใจกับผู้ที่เกี่ยวข้องต่างๆ หมดแล้ว รวมถึงผู้แทนสภาสถาปนิกแล้ว ซึ่ง ทอท.จะสรุปโครงการให้กระทรวงได้ในเดือน พ.ย. 62

ตามขั้นตอนจะต้องเสนอสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) และต้องทำรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (EIA) และเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งจะใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี หรือเสร็จไม่เกินปี 65

"การพัฒนาสนามบินมีความจำเป็น ให้ ทอท.ประชาสัมพันธ์รูปแบบการพัฒนาเพื่อทำความเข้าใจกับประชาชน และหากมั่นใจว่าทำแล้วได้ประโยชน์ต่อประเทศก็ต้องกล้าตัดสินใจ ไม่ใช่แค่เทอร์มินัล แต่ รันเวย์ที่ 3 ก็ต้องเร่ง อยากให้มองว่าทำเพื่อรองรับอนาคต หากไม่ทำจะเป็นการปิดโอกาส วันนี้สิงคโปร์ เวียดนาม พัฒนากันแล้ว ไทยมีข้อดีเป็นศูนย์กลางอาเซียน หากไม่ยอมทำอะไรก็จะเสียโอกาส”

@ฟื้นแผนโอนสนามบินกระบี่-เร่งเชียงใหม่, ภูเก็ต แห่งที่ 2

นอกจากนี้ ทอท.ยังมีแผนพัฒนาสนามบินภูเก็ตและเชียงใหม่ แห่งที่ 2 รวมทั้งการบริหารสนามบินของกรมท่าอากาศยาน (ทย.) จำนวน 4 แห่ง ได้แก่ อุดรธานี กระบี่ แม่สอด และบุรีรัมย์ ซึ่งได้มอบหมายให้นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม พิจารณารูปแบบบริหารที่เหมาะสมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น รับจ้างบริหาร (Management contract) หรือโอนให้ ทอท.บริหารเต็มรูปแบบ ว่ารูปแบบใดเหมาะสมที่สุด ซึ่งในเดือน พ.ย.จะได้ข้อสรุปชัดเจน


“เรื่องการโอนสนามบิน 4 แห่งของ ทย.ให้ ทอท.ยังไม่จบ ก่อนหน้านี้ได้ให้หารือและศึกษารูปแบบที่เหมาะสม รวมถึงที่ ทอท.ต้องการบริหารสนามบินกระบี่ ก็มีแนวคิดในการรับจ้างบริหาร เรื่องนี้เป็นข้อสั่งการนายกรัฐมนตรีที่ให้โอน ดังนั้นจะโอนหรือใช้วิธีใดก็ต้องศึกษาเพื่อมีข้อมูลเสนอได้”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับนโยบายการโอนสนามบิน 4 แห่งในความรับผิดชอบของกรมท่าอากาศยาน (ทย.) ให้ ทอท.บริหาร ตามข้อสั่งการของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้แก่ อุดรธานี สกลนคร ตาก และชุมพร โดยให้ดำเนินการอย่างถูกต้องและเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย ต่อมา ทอท.ได้ขอเปลี่ยนเป็น อุดรธานี กระบี่ แม่สอด และบุรีรัมย์ ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของกระทรวงคมนาคม

@สั่งลดค่าแลนดิ้ง 50% เที่ยวบินเช่าเหมาลำ หนุนท่องเที่ยว

นายศักดิ์สยามกล่าวว่า ในการสนับสนุนนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวของรัฐบาล จะมีการให้ส่วนลดค่าธรรมเนียมในการขึ้น-ลงของอากาศยาน (Landing Fee) ให้แก่สายการบินที่ให้บริการเที่ยวบินเช่าเหมาลำ (Charter Flight) 50% โดยให้ร่วมมือกับกรมท่าอากาศยาน (ทย.) ในการบูรณาการ จัดตารางการบิน (Slot) ร่วมกันเพื่อให้นำ Charter Flight ที่ไม่สามารถไปลงที่สนามบินหลักของ ทอท.ไปลงสนามบินของ ทย.ที่อยู่ใกล้เคียงได้ จะดำเนินการภายในช่วง 3 เดือนก่อนสิ้นปี 2562 หากสามารถเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวได้จะพิจารณาขยายเวลาออกไปอีก

ทอท.จะเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการ ทอท.ในเดือน พ.ย.นี้ จากปัจจุบันที่จัดเก็บค่าแลนดิ้งสำหรับเครื่องบินขนาดเล็ก 10,000 บาท และเครื่องบินขนาดใหญ่ประมาณ 60,000 บาท พร้อมกันนี้ ให้แนวทางในการพิจารณาบทปรับกรณีที่สายการบินมีการจอง Slot หรือกำหนดตารางบินแล้ว แต่ไม่ทำการบินได้จริง โดยปัจจุบันสายการบินจะยกเลิก Slot ได้ก็ต่อเมื่อไม่ทำการบิน 20% ของเที่ยวบินที่ขอไป ซึ่งไม่อยากให้รอถึง 20% หากกฎหมายหรือระเบียบเปิดช่องให้ทำได้ เพื่อทำให้สายการบินบริหารจัดการ Slot ที่ได้ไป และเพื่อไม่ให้ ทอท.สูญเสียโอกาสในการใช้สนามบิน เพราะยังมีสายการบินอีกมากที่ต้องการ Slot แต่เราไม่มีให้

นอกจากนี้ ให้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพัฒนาระบบตรวจตราคนต่างด้าวที่ต้องการเดินทางเข้าประเทศไทยทางอิเล็กทรอนิกส์ (E-Visa) เพื่ออำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยว และจูงใจให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาประเทศไทยมากขึ้น พร้อมทั้งวางแผนพัฒนาเครือข่ายการเชื่อมต่อระบบราง รถ เรือ อากาศ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวให้มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย และคุ้มราคา

@เพิ่มการใช้ AI แทนคน ลดค่าใช้จ่ายด้านบุคลากร

นายศักดิ์สยามกล่าวว่า ในด้านการปรับปรุงบริการนั้น ให้ ทอท.บริหารจัดการพื้นที่ให้มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งภายในอาคารและในพื้นที่ลานจอด และให้รักษาอันดับท่าอากาศยานของ ทอท.ให้อยู่ในระดับสูงและสามารถแข่งขันกับท่าอากาศยานชั้นนำของโลกได้ และให้ทำแผนในการบริหารด้านบุคลากร เพราะจะมีการนำระบบเทคโนโลยี AI เข้ามาใช้มากขึ้น ความต้องการบุคลากรในอนาคตจะเป็นอย่างไร เพราะจะมีผลต่อการลดค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรลงได้ และสามารถนำเงินพัฒนาประสิทธิภาพได้อีกด้วย

“รายจ่ายด้านคน เป็นปัญหาของทุกองค์กร ส่วนกรณีที่ ทอท.ให้โบนัส 7.25 เดือนนั้น ให้ไปดูว่าการทำงานคุ้มกับรายได้หรือไม่ ก็ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมา ทอท.มีผลประกอบการดีมาก”


กำลังโหลดความคิดเห็น