xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

เบื้องหลัง“ศักดิ์สยาม”- ทอท. ผิดคิว สนามบินหาดใหญ่-เชียงรายไม่ยุบ แถมขอกินรวบ “กระบี่” อีกด้วย

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ไม่รู้ว่าเป็นรายการกรณีข่าวใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.จ่อยุบสองสนามบินใหญ่ภูมิภาคคือ “สนามบินหาดใหญ่” และ "สนามบินเชียงราย” เพราะไม่ใช่เป็นข่าวโคมลอยที่หาต้นตอไม่ได้ แต่เป็น “นายใหญ่” แห่ง ทอท. คือ นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บอกเองเลยว่ามีแผนเตรียมการยุบรวมชัดเจน แต่ถัดมาอีกไม่ทันไร นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ก็มีสวนปัดทันควัน ยืนยันไม่มียุบแน่นอน

เหมือนเป็นรายการ “ปืนลั่น” เรียกความสนใจ เพราะดูนัยจากการออกมาแถลงหลังเยี่ยม ทอท. ของนายศักดิ์สยาม แล้ว ก็พอมองเห็นเจตนาที่ซ่อนอยู่

เรื่องยุบสองสนามบินอาจเป็นเป้าลวง ตามเป้าจริงอาจอยู่ที่แผนผันงบไปลงทุนปรับปรุงสนามบินเพิ่มขึ้นตามเป้าสองแสนล้าน และเป้าสำคัญน่าจะอยู่ที่การดึงเอา สนามบินกระบี่ จากอ้อมอกของกรมท่าอากาศยาน (ทย.) เข้ามาอยู่ใต้สังกัด ทอท. รัฐวิสาหกิจจำแลงในรูปบริษัทมหาชน หรือไม่?

ต้องไม่ลืมว่า สนามบินกระบี่ เป็นสนามบินที่ทำรายได้เป็นอันดับ 1 ให้กับ ทย. และที่ผ่านมามีการเปิดศึกชิงสนามบินแห่งนี้ระหว่าง ทอท. กับ ทย. มาแล้วยกหนึ่ง

ไม่เพียงสนามบินกระบี่เท่านั้น สนามบินบุรีรัมย์ ฐานที่มั่นของตระกูล “ชิดชอบ” ก็อยู่แผนโอนย้ายจาก ทย. มาที่ ทอท. ด้วย ซึ่งเรื่องนี้ค้างคามาตั้งแต่สมัยรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ เฟสแรก และมีกำหนดเคาะให้จบในสิ้นเดือนพฤศจิกายนนี้

การโหมประโคมข่าวการยุบและโอนย้ายสนามบินภูมิภาค นอกจากนายศักดิ์สยาม ต้องการทำให้สังคมสนใจแล้ว ยังต้องมองข้ามอีกช็อตเพราะในการแบ่งงานดูแลในกระทรวงคมนาคมนั้น หน่วยงานทางอากาศรวม 7 หน่วยงาน อยู่ในความดูแลของนายถาวร เสนเนียม อดีตแกนนำ กปปส. ที่มานั่งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ที่โลกลืม การเดินหมากตานี้ของนายศักดิ์สยาม จึงชวนสงสัยว่าเบื้องหลังที่ล้ำเข้ามาในงานของรัฐมนตรีต่างพรรค คืออะไรกันแน่?

ไม่แต่เรื่องยุบหรือโอนย้ายสังกัดสนามบินภูมิภาคเท่านั้น ยังเลยไปถึงแผนจัดซื้อเครื่องบินใหม่ 38 ลำ ของการบินไทย ที่ยังค้างคาอยู่ด้วยอีกต่างหาก

ย้อนทวนความชัดเจนในแผนยุบสนามบินหาดใหญ่และเชียงราย เรื่องนี้ นายนิตินัยให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม ที่ผ่านมาถึงแผนพัฒนาสนามบินภายใต้กำกับ ทอท. จำนวน 6 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ดอนเมือง ภูเก็ต เชียงใหม่ หาดใหญ่ และเชียงราย ว่าสนามบินที่มีอัตราการเติบโตดีคือสนามบินที่เป็นจุดศูนย์กลางหรือฮับที่ผู้โดยสารเดินทางเชื่อมต่อไปยังปลายทางได้หลายที่

ส่วนสนามบินที่เป็นเกตเวย์หรือเป็นศูนย์กลางการค้าและเศรษฐกิจที่ไม่ใช่ศูนย์กลางการเดินทางเชื่อมต่อเติบโตได้ไม่ดี ดูจากจำนวนผู้โดยสารและเที่ยวบินที่หดตัวลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันมี 2 แห่งที่เริ่มมีผู้โดยสารลดลง คือ หาดใหญ่ และเชียงราย

นายนิตินัย พูดชัดว่า “ในอนาคตอีก 5-6 ปี ทอท. มีแผนที่จะยุบสนามบินหาดใหญ่ไปรวมกับสนามบินภูเก็ตแทน....” เพราะหาดใหญ่ไม่ใช่ฮับสำหรับเดินทางเชื่อมต่อ เป็นเพียงศูนย์กลางธุรกิจและแหล่งท่องเที่ยวเท่านั้น และในอนาคต ทอท.อาจปรับแผนธุรกิจนำสนามบินหาดใหญ่ไปทำธุรกิจอื่นแทน เช่น ให้เช่าจอดเครื่องบิน เป็นต้น

ทั้งนี้ ปริมาณผู้โดยสารของสนามบินหาดใหญ่ ปีงบประมาณ2562 (ตุลาคม2561 - กันยายน2562 ) มีปริมาณผู้โดยสารทั้งสิ้น4,028,506 คน ขยายตัวลดลง 5.60% เป็นสนามบินที่มีเที่ยวบินลดลงมากที่สุดถึง 7.40% โดยมีเที่ยวบินรวม 2,027 เที่ยวบิน

สำหรับท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย ก็อยู่ในข่ายที่ต้องยุบเช่นเดียวกับหาดใหญ่ เพราะผู้โดยสารไม่สามารถเดินทางต่อไปยังสนามบินอื่นได้ สาธารณูปโภคโดยรอบยังพัฒนาไม่เต็มที่ มีคนสนใจมาเที่ยวน้อยลง เที่ยวบินที่เข้าใช้บริการก็เริ่มลดลง

การเปิดประเด็นของนายนิตินัย เรื่องการยุบสนามบินหาดใหญ่และเชียงราย เรียกแขก เรียกความโกลาหลทั่วทั้งวงการ กระทั่งต่อมาในวันเดียวกันนั้นเอง นายศักดิ์สยาม แถลงหลังตรวจเยี่ยม ทอท. สยบข่าวการปิดสนามบินหาดใหญ่และเชียงราย ว่าทอท.มีแผนพัฒนาศักยภาพสนามบินทั้ง 6 แห่ง คือ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ดอนเมือง เชียงใหม่ เชียงราย ภูเก็ต และหาดใหญ่ ใช้งบลงทุน 200,000 ล้านบาท โดยยืนยันว่าไม่มีนโยบายให้ยุบสนามบินเชียงรายและหาดใหญ่แต่อย่างใด

ปัจจุบันสนามบินทั้ง 6 แห่งมีขีดรองรับผู้โดยสารที่ 101 ล้านคน ขณะที่มีผู้โดยสารจริงรวม 141.87 ล้านคน/ปี โดยมีสนามบิน 5 แห่งที่มีผู้โดยสารเกินขีดการรองรับ โดยสนามบินสุวรรณภูมิรองรับผู้โดยสารได้ 45 ล้านคน/ปี แต่ใช้บริการจริง 64.71 ล้านคน, ดอนเมืองรองรับได้ 30 ล้านคน ใช้บริการจริง 41.01 ล้านคน, เชียงใหม่รองรับได้ 8 ล้านคน ใช้บริการจริง 11.32 ล้านคน, ภูเก็ตรองรับได้ 12.5 ล้านคน ใช้บริการจริง 17.85 ล้านคน, หาดใหญ่รองรับได้ 2.5 ล้านคน ใช้บริการจริง 4.03 ล้านคน, เชียงรายรองรับได้ 3 ล้านคน ใช้บริการจริง 2.95 ล้านคน ทั้งนี้ ให้ ทอท.เร่งแผนการพัฒนาขีดความสามารถทุกแห่งให้เป็นไปตามเป้าหมาย โดยในปี 2567 ขีดความสามารถจะรับได้ที่ 171.5 ล้านคน/ปี

การเขย่าแผนพัฒนาสนามบินดังกล่าวเป็นไฟต์บังคับที่ต้องทำตามงานขันนอตตรวจเยี่ยม แต่ที่น่าจับตา คือ การบริหารสนามบินของกรมท่าอากาศยาน (ทย.) จำนวน 4 แห่ง ได้แก่ อุดรธานี กระบี่ แม่สอด และบุรีรัมย์ ที่นายศักดิ์สยาม มอบหมายให้นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม พิจารณารูปแบบบริหารที่เหมาะสมร่วมกับหน่วยงานเกี่ยวข้องว่ารูปแบบใดเหมาะสมที่สุด เช่น จ้าง ทอท.บริหาร หรือโอนให้ ทอท.บริหารเต็มรูปแบบ ซึ่งภายในเดือนพฤศจิกายนนี้จะได้ข้อสรุปชัดเจน

“เรื่องการโอนสนามบิน 4 แห่งของ ทย.ให้ ทอท.ยังไม่จบ .... รวมถึงที่ ทอท.ต้องการบริหารสนามบินกระบี่ .... เรื่องนี้เป็นข้อสั่งการนายกรัฐมนตรีที่ให้โอน .....” นายศักดิ์สยาม บอกถึงการบ้านที่ต้องทำให้เสร็จ ซึ่งหมายรวมถึงแผนการจัดหาเครื่องบิน 38 ลำ ที่ให้การบินไทยรีบดำเนินการให้เสร็จก่อนแผนที่กำหนดไว้

ขณะที่ศูนย์ซ่อมอากาศยาน (เอ็มอาร์โอ) ระหว่างการบินไทยกับบริษัท แอร์บัส จำกัด คงจะพร้อมยื่นข้อเสนอเรื่องการลงทุนให้พิจารณาได้ในสิ้นปีนี้

ทั้งนี้ นโยบายการโอนสนามบิน 4 แห่งในความรับผิดชอบของกรมท่าอากาศยาน (ทย.) ให้ ทอท.บริหาร ตามข้อสั่งการของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้แก่ อุดรธานี สกลนคร ตาก และชุมพร โดยให้ดำเนินการอย่างถูกต้องและเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย ต่อมา ทอท.ได้ขอเปลี่ยนเป็น อุดรธานี กระบี่ แม่สอด และบุรีรัมย์ ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของกระทรวงคมนาคม

ศึกชิงสนามบินภูมิภาค 4 แห่งดังกล่าว คุกรุ่นมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลที่แล้ว โดยการประชุมระหว่าง ทย. กับ ทอท. ซึ่งมีนายศักดิ์สยาม นั่งหัวโต๊ะ เมื่อเดือนสิงหาคม 2562 ที่ผ่านมา ก็มีมติแล้วว่า สำหรับสนามบินกระบี่ ให้ ทย. บริหารจัดการต่อไป ส่วนท่าอากาศยานอุดรธานี ตาก และบุรีรัมย์ จะให้ ทอท. บริหารในลักษณะ “สัญญาจ้าง” แทนการโอนย้ายสังกัดและเข้าบริหารเต็มตัว ซึ่งสนามบินและทรัพย์สินยังเป็นของกรมท่าอากาศยานเช่นเดิมโดยกำไรที่ได้รับจะนำส่งเข้ากองทุนหมุนเวียนกรมท่าอากาศยาน

แต่การตรวจเยี่ยม ทอท. ล่าสุด นายศักดิ์สยาม ก็ยังถอยหลังย้อนกลับไปว่าให้ปลัดกระทรวงคมนาคม ไปศึกษาก่อนจะเคาะสุดท้ายภายในเดือนพฤศจิกายนนี้อีกรอบ

หากมองตามความเป็นจริง ทย. ยากที่จะปล่อยให้ ทอท. เข้ามาบริหารสนามบินกระบี่ เพราะนี่เป็นแหล่งรายได้หลักของ ทย. เนื่องจากรายได้ในปี 2561 กว่า 852.46 ล้านบาทนั้น กว่า 55% มาจากท่าอากาศยานกระบี่ คิดเป็น 469.40 ล้านบาท จากสนามบินที่ ทย.ดูแลทั้งหมด 28 แห่ง โดยสนามบินกระบี่มีจำนวนเที่ยวบิน 28,639 เที่ยวบิน ผู้โดยสาร 4,193,099 คน ปริมาณขนส่งสินค้า 1,652,285 กิโลกรัม มีสายการบินให้บริการเที่ยวบินในประเทศ 8 สายการบิน และเที่ยวบินระหว่างประเทศ 13 สายการบิน รองรับอากาศยานขนาดสูงสุดได้ถึงโบอิ้ง 747 หรือแอร์บัส A340

ดูกันต่อไปว่ารายการผิดคิวแบบตั้งใจหรือไม่ของนายศักดิ์สยาม และ ทอท. รอบนี้ มีอะไรในกอไผ่? สุดท้ายสนามบินกระบี่ จะหลุดจากมือ ทย. ไปสู่อ้อมกอด ทอท. หรือไม่? โปรดติดตามต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น